CEO ARTICLE
รัฐบาลอ่อนแอ
‘ขยะพลาสติก’ ถูกขนมายังประเทศมาเลเซียกว่า 3,300 ตัน ได้อย่างไร ?
ข่าวจากผู้จัดการออนไลน์เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2562 ระบุว่า มาเลเซียประกาศจะส่งขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้กว่า 3,300 เมตริกตันกลับประเทศต้นทาง
ในข่าวได้นำเรื่องราวของประเทศฟิลิปปินส์ที่เกิดวิวาทะระหว่าง ‘ดูเตอร์เต’ ผู้นำฟิลิปปินส์ กับรัฐบาลแคนาดาในเรื่องขยะที่เกิดขึ้นช่วงปี 2013-2014
เอกชนแคนาดารายหนึ่งขนสิ่งปฏิกูลเน่าเสียใส่ตู้คอนเนอร์ประมาณ 100 ตู้มาส่งยังท่าเรือฟิลิปปินส์โดยสำแดงเป็น ‘ขยะรีไซเคิล’
ต่อมาพบว่า ขยะดังกล่าวกลายเป็นสิ่งปฏิกูลที่มีเจตนานำมาทิ้งไว้ในประเทศฟิลิปปินส์จนเกิดจากต่อสู้ การประท้วง การเรียกทูตแคนาดาเข้าพบ และการประกาศสงครามอย่างเอาจริงเอาจังกับแคนาดา
ในที่สุด รัฐบาลแคนาดาก็ยอมรับและยินยอมขน ‘ขยะเน่า’ กลับประเทศแคนาดาเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา
การเอาจริงเอาจังของฟิลิปปินส์ต่อปัญหา ‘ขยะเน่า’ ที่ถูกส่งมาทิ้งทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ถูกเปิดเผยมากขึ้น
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ระบุว่า ทั่วโลกมีการผลิตพลาสติกราว 300 ล้านตันต่อปี โดยขยะพลาสติกส่วนใหญ่จะถูกนำไปฝังกลบ หรือไม่ก็ถูกทิ้งลงแม่น้ำลำคลองจนไหลออกสู่ทะเล
สิ่งนี้คือต้นเหตุของขยะที่ลอยเกลื่อนแม่น้ำลำคลองในประเทศแถบอาเซียน รวมถึงปัญหาสัตว์ทะเลล้มตายเพราะกินเศษขยะเหล่านี้เข้าไป องค์การฯได้กระตุ้นให้ทั่วโลกหันมาตื่นตัวกับปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกมากขึ้น
ขณะที่รัฐบาลมาเลเซียก็ได้ประกาศส่งขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้กว่า 3,300 ตันกลับไปยังประเทศต้นทาง ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย, บังกลาเทศ, แคนาดา, จีน, ญี่ปุ่น, ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอเมริกา
สิ่งปฏิกูลเน่าเสียจากอุตสาหกรรม การค้า และการบริโภคกลายเป็นขยะเน่า เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม และขยะส่วนใหญ่จะมีเป้าหมายส่งมาทิ้งที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเอกชนของประเทศต้นทางมาเปิดกิจการ ‘รีไซเคิล’ และลักลอบนำเข้ามาทิ้งไว้
เมื่อใดที่รัฐบาลของประเทศปลายทางอ่อนแอ ข้าราชการที่เกี่ยวข้องต่อขบวนการนำเข้าก็จะอ่อนแอตามไปด้วย
การลักลอบนำเข้าจึงอาศัยความอ่อนแอนี้อย่างไม่เหลือบ่ากว่าแรง
แต่หากรัฐบาลเข้มแข็ง เอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ขบวนการลักลอบนำเข้าก็จะทำงานยากขึ้น
นี่คือต้นเหตุที่ ‘ขยะพลาสติก’ กว่า 3,300 ตัน ถูกขนมายังประเทศมาเลเซีย
หากเอาจริงเอาจังแบบฟิลิปปินส์จนถึงขั้นเรียกทูตเข้าพบ และประกาศสงครามอย่างเอาจริงเอาจัง ในที่สุดก็ส่งคืน ‘ขยะเน่า’ ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ก็น่าจะได้กลับคืนต้นทาง
ขยะพลาสติก ขยะเน่า และสิ่งปฏิกูลนับร้อย นับพันตันต่อปีเป็นปัญหายังวนเวียนทั่วโลกโดยมีประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทยเป็นเป้าหมาย
การลักลอบนำเข้าจะทำได้ง่ายเมื่อประเทศปลายทางมีรัฐบาลอ่อนแอโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ความร่วมมือของข้าราชการประจำที่ไม่สุจริต และเอกชนจากประเทศต้นทางทำหน้าที่เป็นผู้นำเข้า
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นคล้ายกันเกือบทุกประเทศ
เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย
ปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะเน่าที่เกิดจากพลาสติกและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ถูกตรวจพบบ่อยครั้งในอดีต
วิธีการลักลอบนำเข้าก็ไม่ต่างไปจากวิธีการที่ทำกันในประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศมาเลเซีย และประเทศอื่น คือ การสำแดงเป็น ‘ขยะรีไซเคิล’ ขณะนำเข้า แต่ภายในตู้คอนเทนเนอร์กลับอัดแน่นไปด้วยขยะเน่า
เมื่อนำเข้าประเทศได้แล้ว ขยะเน่าเหล่านั้นจะมีสภาพที่ไม่สามารถรีไซเคิลหรือทำลายได้จึงถูกทิ้งไว้อย่างนั้น
ขยะเน่ารอเพียงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือการตรวจพบจะเกิดขึ้น
ใครจะไปคิดว่า ปัญหารัฐบาลอ่อนแอจะเป็นต้นเหตุของการละเลยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เป็นต้นเหตุปัญหาขยะเน่า ของปัญหาอื่นที่ตามมาอีกมากมาย
แน่นอน ในอดีตประเทศไทยก็เคยมีรัฐบาลอ่อนแอมาก่อน
รัฐบาลที่หมกหมุ่นกับเรื่องการเมือง เรื่องพรรค เรื่องผลประโยชน์ส่วนตนต่างก็เป็นเหตุให้เกิดภาวะรัฐบาลอ่อนแอในด้านการบริหารประเทศ
2-3 ที่ผ่านมา ประเทศไทยตรวจพบขยะเน่า เกิดการเอาจริงเอาจังกระทั่งเกิดการประกาศห้ามนำเข้าขยะรีไซเคิลบางประเภท
แต่ไม่ถึงขั้นเรียกทูตของประเทศต้นทางเข้าพบ ไม่มีการประกาศสงคราม และไม่มีการส่งขยะเน่ากลับคืนประเทศต้นทาง
กระทั่งถึงปี 2562 ภายหลังการเลือกตั้งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปัญหาการเมืองลุกลามไปเป็นปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลและส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ
ความวุ่นวายทางการเมืองเข้าสู่ต้นเดือนมิถุนายน 2562 ก็มีทีท่าว่า รัฐบาลใหม่อาจตั้งได้ แต่อาจขาดเสถียรภาพ และอาจกลายเป็นรัฐบาลอ่อนแอขึ้นมาเมื่อไรก็ได้
รัฐบาลอ่อนแออาจกำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยอีกแล้ว
ในเมื่อประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเป้าหมายของการนำขยะเน่ามาทิ้งอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อไรที่รัฐบาลอ่อนแอ การบังคับใช้กฎหมายของข้าราชการประจำก็จะอ่อนแอตามไปด้วย
เมื่อถึงวันนั้น การลักลอบนำเข้าขยะเน่าก็จะเกิดขึ้นอีก
แม้รัฐบาลไทยได้ประกาศแยกประเภทขยะรีไซเคิล และกำหนดประเภทที่ห้ามนำเข้าไว้แล้ว แต่ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยที่ไม่รู้ว่าจะยาวนานแค่ไหน ปัญหาการลักลอบนำขยะเน่าเข้ามาในประเทศไทยก็อาจเกิดตามมา
ความช่วยเหลือของเอกชนจึงเป็นส่วนสำคัญในการป้องกัน
ธุรกิจการขนส่งระหว่างประเทศ การขนส่งภายในประเทศ ชิปปิ้ง (Shipping) ตัวแทนออกของศุลกากร (Customs Broker) และผู้ให้บริการ Logistics ทุกระดับ ธุรกิจเหล่านี้ล้วนต้องสัมผัสกับส่วนใดส่วนหนึ่งของขยะเน่าหากมีการนำเข้าทั้งสิ้น
ขยะเน่าไม่สามารถเดินเข้าประเทศไทยได้ด้วยตนเอง
หากผู้ประกอบการเหล่านี้มีความเข้าใจเรื่องขยะเน่า รู้ข้อกฎหมาย ร่วมกันสอดส่องเป็นหูเป็นตา และร่วมป้องกันการลักลอบนำเข้า
การลดขยะเน่าลักลอบนำเข้าประเทศไทยก็น่าจะลดลงได้
ปัจจุบัน รัฐบาลของหลายประเทศพยายามเอาจริงเอาจัง ขณะที่รัฐบาลไทยในอนาคตมีท่าทีจะอ่อนแอ การยืนหยัดและความร่วมมือของเอกชนจึงทางออกหนึ่ง
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วยเหลือประเทศไทยในยามที่รัฐบาลอาจจะอ่อนแอขึ้นมา
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
LOGISTICS
การท่าเรือ Rotterdam เสริมความสามารถในฐานะท่าเรือขนถ่ายสินค้าสำหรับอุตสาหกรรมเกษตร
การท่าเรือ ROTTERDAM เสริมสร้างความสามารถในฐานะท่าเรือขนถ่ายสินค้าสำหรับอุตสาหกรรมเกษตร พืชสวน และสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันตก โดยส่วนหนึ่งของกลยุทธ์นี้คือ การเปิดตัวศูนย์กลางด้านอาหารของ Rotterdam (Rotterdam Food Hub) ที่ Calandkanaal บริเวณทางเข้าของ Maasvlakte โดยศูนย์กลางอุตสาหกรรมดังกล่าวมีขนาดราว 600,000 ตารางเมตร สำหรับการตั้งศูนย์ปฏิบัติการสำหรับบริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับสินค้าเกษตรและอาหาร (agrofood) โดยมีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับที่ดินจัดสรรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นเกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าว จากปริมาณประชากรและความอุดมสมบูรณ์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ ส่งผลให้ agrofood กลายเป็นตลาดที่มีการเติบโต รองจากสหรัฐอเมริกา ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถือเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยในปี 2017 มีการค้าขายมูลค่ากว่า 92 พันล้านยูโร ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ท่าเรือ Rotterdam ซึ่งมีปริมาณการขนถ่ายสินค้าสูงกว่า 16 ล้านตันต่อปี กลายเป็นผู้นำในยุโรปตะวันตก
ที่มา: http://thai.logistics-manager.com/