CEO ARTICLE
ราคาซื้อขาย
“ฟิลิปปินส์ประกาศสงครามการค้ากับไทย เตรียมขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์”
ราวปลายเดือน พ.ย. 62 ก่อนที่ศาลอาญาชั้นต้นจะตัดสินคดี “บุหรี่มอร์ริส” โดยสั่งปรับจำเลยเป็นเงินถึง 1,225 ล้านบาท ประเทศฟิลิปปินส์ได้ออกประกาศขู่ประเทศไทยด้วยข้อความข้างต้น (ไทยโพสท์ https://www.posttoday.com/economy/news/606332)
คำขู่ของฟิลิปปินส์ข้างต้นมิได้ทำให้ “การสำแดงราคาซื้อขายต่ำ” ของ “บุหรี่มอร์ริส” มีสถานการณ์ดีขึ้น ทั้ง ๆ ที่ก่อนการตัดสิน คณะผู้พิจารณาของ WTO ก็มีมติทั้งชั้นต้นและอุทธรณ์ให้ฟิลิปปินส์ชนะตามที่ร้องขอ
WTO มิให้ไทยนำ “การสำแดงราคาซื้อขายต่ำ” ของ “บุหรี่มอร์ริส” มาประเมินภาษีอากรใหม่ แต่ศาลอาญาชั้นต้นของไทยกลับเชื่อข้อมูลที่กรมศุลกากรนำสืบจนตัดสินให้จำเลยชำระค่าปรับ 1,225 ล้านบาทตามที่เป็นข่าว
เรื่องนี้จึงควรเป็นบทเรียนให้ผู้นำเข้าทั่วไปเข้าใจถึงความสำคัญของ “ราคาซื้อขาย” ที่ใช้สำแดงเพื่อชำระค่าภาษีอากรขณะนำเข้า
หากพิจารณาตามหลักการแล้ว การนำ “ราคาซื้อขาย” มาคำนวณเป็นค่าภาษีอากรนั้นถือว่าเป็นธรรมต่อผู้นำเข้าที่บริสุทธิ์ใจมากที่สุด แต่ประเด็นคือการพิสูจน์
การพิสูจน์ว่า ราคานำเข้านั้นเป็นราคาที่แท้จริงตามนัยแห่งกฎหมาย
สิ่งที่ผู้นำเข้าควรเข้าใจคือ ความสามารถในการต่อรองราคาสินค้าของผู้นำเข้าแต่ละรายมีไม่เท่ากัน สินค้าชนิดเดียวกัน มีต้นกำเนิดเหมือนกัน มีคุณภาพ มีปริมาณ และมีลักษณะอื่นเหมือนกัน ผู้นำเข้าแต่ละรายอาจได้ “ราคาซื้อขาย” ต่างกันซึ่งเป็นเรื่องปกติของการค้า
แต่ในทางภาษีอากร ในทางกฎหมายกลับไม่ใช่
กฎหมายมีหลักเกณฑ์และมีความเสมอภาค สินค้าเหมือนกันก็ต้องชำระภาษีอากรเท่ากันโดยใช้ “ราคาศุลกากร” เป็นเกณฑ์การคำนวณ
นั่นคือความเสมอภาคที่เป็นธรรม
ผู้นำเข้าบางรายอาจทราบ บางรายอาจทราบไม่ชัดเจน หรืออาจไม่ทราบเลยก็ได้
ส่วนใหญ่เมื่อได้ “ราคาซื้อขาย” มาแล้วก็นำราคาซื้อขายนั้นมาคำนวณเป็นค่าภาษีอากรและจะไม่พอใจเมื่อถูกศุลกากรใช้ “ราคาศุลกากร” มาประเมินใหม่จนทำให้ภาษีอากรเพิ่มและอาจมีค่าปรับอย่างกรณี “บุหรี่มอร์ริส” ที่ถูกสั่งปรับถึง 1,225 ล้านบาทเป็นต้น
“ราคาศุลกากร” จึงถูกบัญญัติให้เป็นกฎหมาย
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 16 กำหนดให้ “ราคาศุลกากร” กรณีนำเข้าให้หมายถึง “ราคาแห่งของเพื่อความมุ่งหมายในการจัดเก็บอากรตามราคาอย่างใดอย่างหนึ่ง”
คำว่า “อย่างใดอย่างหนึ่ง” นั้น กฎหมายกำหนดไว้ถึง 6 ทางโดยให้ใช้ทางที่ 1 ที่มีความสำคัญที่สุดก่อน ทางที่ 1 หรือวิธีที่ 1 ที่บัญญัติไว้คือ
(ก) ราคาซื้อขายของที่นําเข้า
ความหมายคือ กฎหมายให้เกียรติ “ราคาซื้อขาย” ที่ผู้นำเข้าสำแดงก่อนโดยมีเงื่อนไขว่า “ราคาซื้อขาย” นั้นต้องมีหลักฐานการชำระเงินที่แท้จริงซึ่งได้รวมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และรวมถึงค่านายหน้า ค่าสิทธิอื่น ๆ ไปด้วย
ผู้นำเข้าที่เข้าใจและต้องการใช้ประโยชน์จากกฎหมายข้อนี้จึงควรเตรียม “หลักฐานการชำระเงินที่แท้จริงและเชื่อถือได้” ไว้เสมอ เช่น สัญญาซื้อขายระหว่างประเทศที่ชัดเจน หรือ L/C (Letter of Credit) เพื่อการชำระเงิน เป็นต้น
การโอนเงินค่าสินค้ากันเองโดยไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือรองรับ หรือหลักฐานไม่ชัดเจน หรือมีความน่าสงสัยก็เป็นเหตุให้ศุลกากรไม่เชื่อ ไม่ยินยอมนำ “ราคาซื้อขาย” ในลำดับที่ 1 มาใช้เป็น “ราคาศุลกากร”
ในที่สุดก็หันไปใช้ “ราคาศุลกากร” ที่กำหนดในลำดับที่ 2 และลำดับต่อไปตามกฎหมายและข้อตกลง GATT (General Agreement of Tariff and Trade) ของ WTO ซึ่งเป็นแนวทางที่กรมศุลกากรใช้ในการนำสืบจนศาลตัดสินในคดี “บุหรี่มอร์ริส”
ลำดับ “ราคาศุลกากร” ที่ผู้นำเข้าควรทราบประกอบด้วย
(ก) ราคาซื้อขายของที่นําเข้า
(ข) ราคาซื้อขายของที่เหมือนกัน
(ค) ราคาซื้อขายของที่คล้ายกัน
(ง) ราคาหักทอน
(จ) ราคาคํานวณ
(ฉ) ราคาย้อนกลับ
หากท่านผู้นำเข้าของไทยไม่มีเจตนาซ่อนเร้นราคาซื้อขายใด ๆ หรือท่านมีเจตนาจะชำระภาษีอากรด้วยความถูกต้องอย่างแท้จริง การทำความเข้าใจเพื่อสร้าง “ราคาซื้อขายของที่นำเข้า” ให้เป็น “ราคาศุลกากร” ก็เป็นสิ่งที่ท่านผู้นำเข้าควรเข้าใจอย่างมาก
ข้อตกลงของ GATT ก็ดี การจัดการของ WTO ก็ดี และการต่อสู้ของ “บุหรี่มอร์ริส” ก็ดี ทั้งหมดนี้คือแนวทางการศึกษาเพื่อป้องกันความผิดพลาดมิให้เกิดจากความบริสุทธิ์ใจได้ง่าย ๆ
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
ป.ล. วิกิพีเดียให้ข้อมูลของกิจการฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนลโดยย่อดังนี้
“เป็นบริษัทข้ามชาติ ผลิตบุหรี่และยาสูบ สัญชาติอเมริกัน ผลิตภัณฑ์มียอดขายมากกว่า 180 ประเทศนอกเหนือจากสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่รู้จักและมียอดจำหน่ายดีที่สุดของบริษัทคือ มาร์ลโบโร”
ฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล จึงเป็นบริษัทข้ามชาติที่ใหญ่โตมาก มีโรงงานผลิตในหลายประเทศรวมทั้งฟิลิปปินส์ และมีตัวแทนนำเข้าในประเทศไทย
Logistics
สมอ. เตรียมบังคับให้ “พาวเวอร์แบงค์” ทุกยี่ห้อต้องได้มาตรฐาน
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งดำเนินการกำหนดให้พาวเวอร์แบงค์เป็นมาตรฐานบังคับ หลังพบเกิดเหตุระเบิดบ่อยครั้ง คาดพฤษภาคม 2563 กฎหมายมีผลบังคับใช้ เตือนผู้ประกอบการให้ยื่นขอ มอก. ได้ตั้งแต่บัดนี้ เมื่อมาตรฐานมีผลบังคับใช้จะได้สามารถจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าว พาวเวอร์แบงค์ระเบิดและเกิดเพลิงไหม้ตามมาอยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่วางไว้อยู่ในรถที่ตากแดดเป็นเวลานาน หรือชาร์ททิ้งไว้ในบ้านพักแล้วเกิดเหตุระเบิดจนไฟลุกไหม้ที่พักอาศัย สร้างความเสียหายแก่ตนเองและประชาชนในละแวกใกล้เคียง
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า ไม่ได้นิ่งนอนใจและได้ประกาศให้มาตรฐานพาวเวอร์แบงค์เป็นมาตรฐานทั่วไปแล้วคือมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย มอก. 2879-2560 โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562 ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นขอ มอก. เพื่อรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ของท่านได้ ขณะเดียวกัน สมอ. อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งรัดให้มีการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าว โดยคาดว่ากฎหมายจะมีผลบังคับประมาณเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งจะส่งผลให้พาวเวอร์แบงค์ในท้องตลาดทุกยี่ห้อ ต้องมีเครื่องหมาย มอก.รับรอง ผู้ทำ ผู้นำเข้า ต้องทำและนำเข้าสินค้าตามที่มาตรฐานกำหนดเท่านั้น รวมถึงผู้จำหน่ายก็ต้องจำหน่ายเฉพาะสินค้าที่มีเครื่องหมาย มอก. ทั้งนี้ สมอ. ได้เตรียมความพร้อมในการให้การรับรองตามมาตรฐาน มอก. 2879-2560 แล้ว
โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นขอรับการรับรองได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพราะขณะนี้มาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานทั่วไป เมื่อประกาศเป็นมาตรฐานบังคับ ผู้ประกอบการก็สามารถมายื่นเปลี่ยนเป็นใบอนุญาตมาตรฐานบังคับได้ทันที ทำให้การจำหน่ายสินค้าเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาตรฐานพาวเวอร์แบงค์ที่ สมอ. กำหนดนั้นจะมีการทดสอบด้านความปลอดภัยในการใช้งานในกรณีต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น กรณีที่ลืมชาร์จทิ้งไว้นาน แบตเตอรี่ที่อยู่ภายในสามารถชาร์จไฟต่อเนื่องได้ถึง 28 วัน โดยไม่เกิดไฟลุกไหม้และไม่เกิดระเบิดขึ้น หรือหากทำตกจากที่สูงและเกิดแรงกระแทก แบตเตอรี่จะต้องไม่เกิดไฟและไม่ระเบิด นอกจากนี้ พาวเวอร์แบงค์ที่ได้มาตรฐานจะทนความร้อนสูงได้โดยไม่เกิดไฟลุกไหม้หรือระเบิดขึ้น
แม้อยู่ในที่ที่ร้อนมากๆ เป็นต้น
เลขาธิการ สมอ. กล่าวฝากถึงผู้บริโภคว่า “ถึงแม้ว่า สมอ. จะกำหนดให้พาวเวอร์แบงค์เป็นมาตรฐานบังคับ แต่ผู้บริโภคก็ควรใช้ให้ถูกวิธีตามข้อแนะนำในการใช้งาน เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายและเกิดความสูญเสียตามมา เช่น ไม่ควรเก็บพาวเวอร์แบงค์ไว้ใกล้แหล่งความร้อน ความชื้น น้ำหรือของเหลว หลีกเลี่ยงการวางไว้ในที่ที่ โดนแดดโดยตรง หรือวางใกล้แก๊สที่ติดไฟได้ และควรระวังการถูกกระแทก กดทับ หรือเจาะ และไม่ใช้งานขณะที่พาวเวอร์แบงค์เปียกหรือได้รับความเสียหาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ใช้งาน และสร้าง ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง”
ที่มา : สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!