CEO ARTICLE
บริหารความเสี่ยง
ไม่กี่วันที่ผ่านมา เรือสำราญชื่อ “เวสเตอร์ดัม” ถูกนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ขึ้นท่าเทียบเรือแหลมฉบัง
เรือสำราญลำนี้ถือสัญชาติอเมริกัน/อังกฤษ ต้องการมาจอดที่ท่าเรือแหลมฉบังแบบฉุกเฉินนอกเส้นทางปกติเพื่อให้ผู้โดยสารเกือบ 2,000 คนขึ้นจากเรือเดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศนานาชาติกรุงเทพฯ เพื่อกลับประเทศของแต่ละคน
ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป มีคนจีนเล็กน้อย และมีคนไทยเพียง 2 คน หากรวมลูกเรือด้วยตามข่าวจะมีคนไทยในเรือนั้นถึง 21 คน
ทันทีที่การปฏิเสธของไทยเกิดขึ้น ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็ออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงตำหนิขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ออกข่าวในเชิงตัดพ้อ
“อนุญาตก็ถูกตำหนิ ไม่อนุญาตก็ถูกตำหนิ”
ท่านรัฐมนตรีอาจมองที่ความปลอดภัยของคนไทยซึ่งก็น่าจะถูกของท่าน แต่พอถูกลากเข้าสู่การเมือง ไม่ว่าอะไรที่รัฐบาลทำหรือไม่ทำ และไม่ว่าจะทำไปในทิศทางไหน
ทุกทางก็มักถูกฝ่ายต่อต้านนำมาขยายผล
การปฏิเสธของรัฐบาลครั้งนี้ก็เช่นกัน แม้คนไทยบางท่านอาจไม่เห็นด้วย แต่พอมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง คนที่อยากจะแสดงความคิดเห็น อยากเสนอแนะด้วยความบริสุทธิ์ใจก็ต้องหยุดนิ่งเพื่อมิให้ถูกดึงสู่การเมือง
แต่หากมองในมุมต่างโดยไม่มีการเมืองและผลประโยชน์ทับซ้อน การอนุญาตให้เรือเทียบท่าภายใต้การบริหารความเสี่ยงจะทำให้ชื่อเสียงของไทยกระจายไปทั่วโลก ระดับการบริหารจัดการของไทยจะเป็นที่ยอมรับมากขึ้น นำไปสู่ความเป็นผู้นำในทางสากลส่งผลให้การส่งออก การท่องเที่ยว การแพทย์ และเศรษฐกิจของไทยให้ดีขึ้นภายหลัง
ภายใต้การบริหารความเสี่ยง รัฐบาลสามารถตั้งเงื่อนไขได้มากมายเพื่อความปลอดภัย เช่น กำหนดท่าเทียบเรือที่เห็นว่าควบคุมได้ดี วิธีการจัดการฆ่าเชื้อในเรือและผู้โดยสาร กำหนดวิธีการขึ้นจากเรือ กำหนดวิธีการเดินทางจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังสนามบิน กำหนดวิธีการจัดเที่ยวบิน เที่ยวบินอาจเป็นการเช่าเหมาลำจากไทยออกไป และวิธีการขึ้นเครื่องบินให้ปลอดภัย เป็นต้น
ประเด็นสำคัญคือ การช่วยเหลือคนไทยทั้ง 21 คน และการแสดงให้เห็นว่า ไทยบริหารควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสโคโรน่าได้ดีและการบริหารความเสี่ยงที่แสดงให้เห็น
รัฐบาลสามารถแยกกักตัวคนไทยไปดูแลเช่นเดียวกับคนไทยที่กลับจากอู่ฮั่นก่อนหน้านี้ การดูแลคนไทยโดยรัฐบาลไทยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ด้วยเงื่อนไขมากมายเช่นกัน เรืออาจปฏิเสธไม่รับก็ได้หรืออาจยอมรับก็ได้
หากปฏิเสธก็ถือว่ารัฐบาลไทยพยายามช่วยเหลือแล้ว เรือปฏิเสธเอง แต่หากตอบรับ ไทยย่อมมีค่าใช้จ่ายเป็นธรรมดา
หากการบริหารความเสี่ยงได้ผลเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ สิ่งที่ได้กลับคืนมาย่อมคุ้มค่ากับรายจ่ายที่เสียไปอย่างแน่นอน
ไม่กี่วันหลังทางการไทยปฏิเสธ เรือลำนี้ก็ได้รับอนุญาตจากประเทศกัมพูชาให้เทียบท่าได้ โดยไม่รู้ว่ารัฐบาลกัมพูชายื่นเงื่อนไขอะไรบ้างเพื่อการบริหารความเสี่ยงของตน
หลังจากนั้นก็ตรวจพบคนในเรือมีไข้สูงเกินกำหนดราว 20 คน บางคนมีเพียงอาการปวดท้องเท่านั้นโดยยังไม่รู้ว่า คนที่มีไข้สูงจะเป็นเพียงไข้ธรรมดาหรือมีเชื้อโคโรน่าหรือไม่ แต่ก็ทำให้ไทยขาดโอกาสในการตรวจและยกระดับการรักษาให้สูงขึ้น
ผลสุดท้าย หากคนในเรือถูกตรวจพบการติดไวรัสโคโรน่ามากจนเกินเยียวยา รัฐบาลไทยก็อาจตัดสินใจถูกในการปฏิเสธครั้งนี้ แต่หากมองในมุมต่าง การตัดสินใจถูกก็เป็นการตัดโอกาสไทยให้ไม่ได้ฝึกฝนการบริหารความเสี่ยงเช่นกันซึ่งเป็นสิ่งที่คนในรัฐบาลไทยควรฝึกฝนให้มากขึ้น
ทุกวันนี้โลกและประเทศไทยมักมีเหตุการณ์วิกฤติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และทุก ๆ วิกฤติย่อมมีโอกาสแฝงอยู่ การฝึกฝนการบริหารความเสี่ยงจะทำให้รัฐบาลมองหาโอกาสได้ง่ายขึ้น
เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ผ่านพ้นประเทศไทยไปแล้ว ผมและคนไทยก็เพียงหวังในอนาคตว่า วิกฤติที่อาจมีอีก รัฐบาลจะสามารถมองหาโอกาสให้พบและนำมาฝึกฝนการบริหารความเสี่ยงให้มากขึ้นเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและการยอมรับความเป็นประเทศผู้นำในอาเซียนของไทย
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Logistics
ไทยติดโผ Top 10 ประเทศชั้นนำดัชนีด้านโลจิสติกส์ระดับโลก
Agility GIL เผยอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนามติดโผกลุ่มประเทศชั้นนำในดัชนีด้านโลจิสติกส์ระดับโลก หรือดัชนี Agility Emerging Markets Logistics Index ประจำปีที่ 11 ซึ่งเป็นดัชนีวัดศักยภาพทางการแข่งขันเมื่อประเมินจากจุดแข็งด้านระบบโลจิสติกส์และคุณสมบัติพื้นฐานในการทำธุรกิจ
ภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจและข้อได้เปรียบสำคัญ ทำให้ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศอยู่ในอันดับต้น ๆ ของดัชนี โดยเป็นรองยักษ์ใหญ่อย่างจีนที่ติดอันดับ 1 และอินเดีย อันดับ 2
ดัชนีดังกล่าวได้จัดอันดับประเทศทั้งหมด 50 ประเทศ โดยพิจารณาจากปัจจัยที่ดึงดูดผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ตัวกลางระหว่างผู้นำเข้าและส่งออก สายการเดินเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ผู้ดำเนินการขนส่งและผู้กระจายสินค้าทางอากาศ ในกลุ่มประเทศอาเซียน อินโดนีเซีย (อันดับ 4) มาเลเซีย (อันดับ 5) ไทย (อันดับ 9) และเวียดนาม (อันดับ 11) มีศักยภาพที่แข็งแกร่ง ขณะที่ฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 22 ในดัชนี้ปีนี้
ท่ามกลางสถานการณ์ด้านการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน บริษัทผู้ตอบแบบสอบถามได้เลือกเวียดนามเป็นประเทศที่บริษัทจะย้ายไปหากต้องหยุดดำเนินกิจการในจีน เมื่อปีที่แล้ว ผู้ประกอบอาชีพด้านโลจิสติกส์ 56% ระบุว่าประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้ประโยชน์จากสถานการณ์ระหว่างสหรัฐกับจีน แต่ในปี 2020 นี้ สัดส่วนของผู้ที่ตอบเช่นนั้นได้ลดลงเหลือ 42%
Andy Vargoczky รองประธานอาวุโสฝ่ายการขายและการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Agility GIL ชี้ว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพึ่งพาตลาดส่งออกในยุโรปและอเมริกาเหนือน้อยลง เนื่องจากประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการพัฒนา บูรณาการ และบริโภคสิ่งที่ประเทศตนเองผลิตมากขึ้น และหันไปพึ่งพาภาคบริการกันมากขึ้นจนเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน “กลุ่มประเทศอาเซียนทำได้ดีแม้จะอยู่ในสถานการณ์ความไม่แน่นอนระดับโลกเช่นนี้” Vargoczky กล่าว “อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ล้วนเป็นกลุ่มประเทศที่ติด 10 อันดับแรกหรือไม่ก็เกือบติด และจะยิ่งทวีความสำคัญในอุปทานโลกและห่วงโซ่คมนาคมมากขึ้น”
การสำรวจความคิดเห็นประจำปีของผู้ประกอบอาชีพในห่วงโซ่อุปทาน 780 รายโดย Agility ได้สะท้อนให้เห็นความคาดหวังโดยรวมในแง่ลบต่อเศรษฐกิจโลก โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 64% ระบุว่า มีแนวโน้มจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยระดับโลก ขณะที่ผู้บริหารเพียง 12% ระบุว่าไม่น่าจะเกิดภาวะถดถอยดังกล่าว แรงกดดันที่ทำให้ปริมาณการค้าของโลกลดลง แนวโน้มการเติบโตที่ไม่แน่นอน ตลอดจนสถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยังคงดำเนินไป ต่างมีส่วนส่งเสริมมุมมองเช่นนี้
ที่มา: https://www.ryt9.com/s/iq29/3093754
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!