CEO ARTICLE
อากรร้อยละ 0
หากสินค้าอุปโภค บริโภคและวัตถุดิบเพื่อการผลิตนำเข้ามีอัตราอากรร้อยละ 0
คนไทยที่ได้รับผลประทบจ าก Covid-19 จะได้ประโยชน์เพียงใด ???
อากรขาเข้าด้านหนึ่งทำหน้าที่เป็นกำแพงกั้นมิให้สินค้า และวัฒนธรรมการบริโภคของต่างชาติไหลเข้าประเทศไทยง่าย ๆ จนทำให้เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของไทยผิดเพี้ยน
อีกด้านหนึ่ง อากรขาเข้าก็เป็นทั้งรายได้ของรัฐและเป็นทั้งต้นทุนของผู้ประกอบการ
เมื่อเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ ต้นทุนก็จะนำไปบวกกับราคาสินค้านำเข้าจนทำให้ราคาขายสูงขึ้นโดยเฉพาะสินค้าจำพวกอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นต่อประชาชน
มาถึงตรงนี้ ใคร ๆ ก็ประเมินออกว่าทั้งระหว่างและภายหลังการแพร่ระบาดของ Covid-19 เศรษฐกิจทั่วโลกจะตก คนจะตกงาน ขาดเงิน ขาดรายได้ การค้า การขายจะฝืดเคืองและส่งผลให้คนไทยเข้าถึงสินค้าอุปโภคและบริโภคได้ยากขึ้น
หากรัฐบาลประกาศให้การนำสินค้าอุปโภคและบริโภค และวัตถุดิบเข้ามาเพื่อการผลิตลดอัตราอากรเหลือร้อยละ 0 ก็จะทำให้คนไทยเข้าถึงสินค้าที่จำเป็นได้ง่ายขึ้น
การมอบเงินและมาตรการการช่วยเหลืออื่นจากรัฐบาลก็เรื่องหนึ่ง ตอนนำเงินไปซื้อสินค้าจำเป็นที่มีราคาสูงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ราคาสูงก็ยิ่งทำให้รัฐบาลต้องยิ่งช่วยเหลือมากขึ้น
หากเป็นไปได้ รัฐบาลอาจลดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ให้เหลือร้อยละ 5 – 6 ก็จะยิ่งทำให้ราคาสินค้าถูกลง
รัฐบาลทำได้แต่เพียงการกำหนดนโยบายหรือแนวทาง แต่การสร้างเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเป็นเรื่องของผู้ประกอบการมากกว่า
หากแนวทางนี้ทำได้ 2 ปี ก็เหมือนการติดปีกให้ผู้ประกอบการที่จะกลับมาสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต กระตุ้นการบริโภค ส่วนประชาชนก็ได้ประโยชน์จากสินค้าจำเป็นที่มีราคาถูกลง
แม้การนำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภค และวัตถุดิบเพื่อการผลิตจากประเทศที่มีข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA (Free Trade Agreement) กับไทยส่วนใหญ่จะได้ลดหย่อนอากรขาเข้าเหลือร้อยละ 0 อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีกระบวนการ มีความเสี่ยง และมีภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ดี
แนวทางอากรร้อยละ 0 มิใช่ว่าจะเกิดขึ้นง่าย ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
วันที่ 1 เมษายน 2563 กรมศุลกากรมีหนังสือที่ กค 0508/4834 ถึงประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เพื่อตอบข้อเรียกร้อง 5 ประเด็นตามหนังสือ สรท. 112/2563 วันที่ 24 มีนาคม 2563 เฉพาะประเด็น 1 และ 2 เป็นเรื่องที่น่าสนใจ
ประเด็นที่ 1 สรท. ขอให้กรมศุลกากรยกเว้นอากรขาเข้าเพื่อส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตเพื่อจัดจำหน่ายในประเทศและส่งออก เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ และลดราคาสินค้าในประเทศให้ประชาชนมีสินค้าเพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภคในระดับราคาที่เหมาะสมโดยขอให้มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่เดือนเมษยน 2563 ถึง มีนาคม 2565 เป็นระยะเวลา 2 ปี
ประเด็นนี้ กรมศุลกากรตอบว่า ระยะแรกกรมศุลกากรได้ยกเว้นอากรขาเข้าให้กับหน้ากากอนามัยรวมถึงวัตถุดิบเพื่อการผลิตตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ถึง 20 กันยายน 2563 ไปแล้วตามประกาศกระทรวงการคลัง และระยะต่อไปจะเสนอให้มีการยกเว้นอากรสำหรับสินค้าที่นำเข้ามาเพื่อรักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อ Covid-19
สรท. ขอให้ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภค และวัตถุดิบเพื่อการผลิตสำหรับสินค้าที่จำเป็นอื่นทั้งหมดเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ แต่กรมศุลกากรตอบเพียงหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เป็นระยะแรก
แต่ก็พอเข้าใจได้ว่า กรมศุลกากรไม่มีอำนาจยกเว้นอากรให้กับสินค้าใด เว้นแต่จะมีคำสั่งหรือประกาศจากหน่วยงานที่เหนือกว่า เช่น กระทรวงการคลัง หรือมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น
ประเด็นที่ 2 สรท. ขอให้กรมศุลกากรยกเว้นหรือปรับลดขั้นตอนที่เกี่ยวกับใบรับรอง ใบอนุุญาต และเอกสารอื่น ๆ เพื่อความสะดวกต่อการนำเข้าและส่งออก (ข้อความเต็มให้ดูจากหนังสือที่อ้างถึง)
ประเด็นนี้ กรมศุลกากรตอบว่า ได้มีประกาศกรมศุลกากรที่ 47/256 ลว. 3 มีนาคม 2563 สรุปให้ผู้นำเข้าสามารถยื่นสำเนาหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) ประกอบพิธีการและรับสินค้าไปก่อนได้ ส่วนต้นฉบับให้นำมายื่นภายหลัง
รายละเอียดของหนังสือ สรท. และกรมศุลกากรยังมีอีกมาก หากท่านสนใจก็สามารถหาอ่านได้จากเว๊บไซต์ที่เกี่ยวข้องตามเลขที่ที่กล่าวถึงข้างต้น
ข้อมูลนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ และสมควรขอบคุณต่อ สรท. อย่างยิ่ง
หากท่านผู้ประกอบการเห็นด้วยกับแนวทางลดอัตราอากรสำหรับสินค้าอุปโภคและบริโภคและวัตถุดิบเพื่อการผลิตลงเหลือร้อยละ 0 เพื่อขายภายในประเทศ ท่านก็ควรสนับสนุนแนวคิดนี้ด้วยการส่งต่อบทความนี้ไปยังสมาคม ชมรม หรือสภาธุรกิจที่ท่านอยู่ในสังกัดเพื่อร่วมกันเรียกร้องไปยังรัฐบาล
การเรียกร้องในฐานะสมาคม ชมรม หรือสภาธุรกิจที่เป็นต้นสังกัดของท่านจะทำให้พลังมีมากกว่าและน่าเชื่อถือกว่า
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการที่ต้องการฟื้นตัวจาก Coivd-19 ให้ถูกทาง ท่านก็ควรติดตามข่าวไม่ว่าจาก สรท. หรือจากต้นสังกัดของท่าน หรือจากแหล่งข่าวอื่น ๆ เพื่อการวางแผนธุรกิจของท่านเป็นไปอย่างถูกทาง
การร่วมมือกันอย่างพร้อมเพรียงกันทุก ๆ สมาคม ชมรม หรือสภาธุรกิจ นอกจากจะทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นลำบากเป็นไปได้ง่ายขึ้นแล้ว ก็ยังเป็นบุญคุณต่อประชาชนผู้บริโภคภายหลัง Covid-19 และส่งผลให้ท่านฟื้นตัวจากพิษเศรษฐกิจได้เร็วขึ้นอีกด้วย
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Logistics
ส้มว่อกานกว่างซี “โกอินเตอร์” ไปไกลถึงแคนาดา
ส้มว่อกาน (Wogan Orange/沃柑) ผลไม้ที่ได้รับการขนานนามเป็น “ราชานีแห่งส้ม” เป็นผลไม้ชนิดแรกที่เปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของการส่งออกไปต่างประเทศด้วยแบรนด์และผู้ส่งออกท้องถิ่นของนครหนานหนิง เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2563 ส้มว่อกานน้ำหนัก 20 ตัน มูลค่า 40,700 ดอลลาร์สหรัฐ ได้ผ่านการตรวจกักกันโรคจากศุลกากรยงโจว (ศุลกากรประจำนครหนานหนิง) เพื่อมุ่งหน้าไปยังแคนาดา
ส้มล็อตนี้มาจากไร่ Ming Ming GuoYuan Group (鸣鸣果园) ในเขตอู่หมิงของนครหนานหนิง และผ่านการคัดบรรจุโดยบริษัท Guangxi Dongming Agricultural Development Co., Ltd.(广西东鸣现代农业发展有限公司)
ศุลกากรยงโจวเป็น key success factor ของการค้าและการส่งออกส้มว่อกานในครั้งนี้ โดยทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับไร่ส้ม ทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางและข้อปฏิบัติในด้านการส่งออก เพื่อให้มั่นใจว่าระบบตรวจสอบและควบคุมกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นไปตามมาตรฐาน เช่น
แนะนำให้บริษัทเข้าร่วมแพลตฟอร์มการจำหน่ายที่พัฒนาขึ้นโดยสมาคมควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (China Entry & Exit Inspection and Quarantine Association) เพื่อขยายช่องทางการตลาดในประเทศ
ประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการรับรู้เกี่ยวกับนโยบายการส่งออกผลไม้และข้อกำหนดด้านการตรวจสอบและกักกันโรคในต่างประเทศที่เป็นปัจจุบัน และให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการตรวจกักกันโรคเพื่อยกระดับศักยภาพการตรวจสอบและควบคุมโรคด้วยตนเอง
ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดเตรียมเอกสารประกอบการส่งออกให้ครบถ้วน และให้บริการนัดหมายศุลกากรล่วงหน้าสำหรับ “สินค้าเกษตรสด” โดยใช้รูปแบบยื่นสำแดงปุ๊บตรวจปล่อยปั๊บ ซึ่งช่วยลดเวลาการผ่านพิธีการศุลกากรให้เร็วมากขึ้น
รู้หรือไม่… ประเทศจีนมีพื้นที่ปลูก “ส้มว่อกาน” ราว 833,333 ไร่ โดยเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงและมณฑลยูนนานเป็นแหล่งปลูกส้มว่อกานแหล่งใหญ่ของประเทศ มีพื้นที่ปลูกรวมกันถึง 90% ของทั้งประเทศ คาดว่าในฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 อัตราการติดผลของส้มว่อกานจะมีสูงถึง 85% (ต้นส้มใหม่ที่ติดผลเป็นครั้งแรกจะมีอัตราการติดผลสูง) และผลผลิตส้มว่อกานทั้งประเทศจะมีประมาณ 4.25 ล้านตัน
สำหรับเขตฯ กว่างซีจ้วง มีพื้นที่การปลูกส้มว่อกานราว 5.25 แสนไร่ คิดเป็น 63% ของประเทศ (มณฑลยูนนานมีพื้นที่ 2.25 แสนไร่ คิดเป็น 27%) แหล่งผลิตส้มว่อกานที่มีชื่อเสียงของมณฑลอยู่ในเขตอู่หมิงของนครหนานหนิง ซึ่งมีพื้นที่ปลูกส้มเกือบ 1.66 แสนไร่ คิดเป็นสัดส่วน 20% ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ หมายความว่า ส้มว่อกาน 5 ผลในจีน มี 1 ผลมาจากเขตอู่หมิง
นอกจากนี้ “ส้มว่อกานอู่หมิง” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” (Geographical Indications – GI) เมื่อเดือนธันวาคม 2562
“ส้มว่อกาน” ถือเป็นก้าวแรกของธุรกิจผลไม้ท้องถิ่นของนครหนานหนิงที่โกอินเตอร์ไปต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานคุณภาพผลไม้ของกว่างซี และโอกาสทางการค้าสำหรับภาคธุรกิจนำเข้าของไทยสำหรับการค้าแบบสองทาง เนื่องจากปัจจุบัน การส่งออกผลไม้ไทยมายังประเทศจีนด้วยการขนส่งทางบกผ่านเส้นทาง R9 และ R12 นั้นส่วนใหญ่จะเป็นการตีรถเปล่ากลับประเทศไทย ซึ่งเป็นต้นทุนเสียเปล่า หากมีสินค้าขากลับจะช่วยส่งเสริมให้การค้าระหว่างสองประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ที่มา : https://thaibizchina.com/
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!