CEO ARTICLE
ผู้ประกันตนคือหุ้นส่วน
ผู้ส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมในอีกความหมายหนึ่งคือ หุ้นส่วนในกองทุนประกันสังคมที่ควรได้รับ “ความช่วยเหลือ” ทุกคนเป็นลำดับแรกในช่วง Covid-19
วันที่ 17 เม.ย. 63 กรมแรงงานได้ออกกฎกระทรวงให้การแพร่ระบาดของ Covid-19 เป็น “เหตุสุดวิสัย” ในข้อ 3 ให้ลูกจ้างที่ต้องว่างงาน หรือไม่ได้ทำงานในช่วงกักตัวได้รับ “เงินทดแทน” กรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวันแต่ไม่เกิน 90 วัน (โดยสรุป)
ส่วนข้อ 6 ให้ลูกจ้างไม่ได้รับเงินทดแทนเมื่อลูกจ้างลาออก ถูกเลิกจ้าง หรือสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง (โดยสรุป)
การแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้ทุกคนเดือดร้อนไม่ต่างกัน ต่อให้ยังมีงานทำ ต่อให้คนหรือกิจการที่ได้ประโยชน์ ชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน การเดินทางในช่วงการแพร่ระบาดและภายหลังก็ไม่เหมือนเดิม การระมัดระวังตัว และภาวะความเครียดก็ถูกกระทบ
สิ่งที่ไม่เคยซื้อ ไม่เคยใช้ ก็ต้องซื้อ ต้องใช้ เช่น เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย เสื้อผ้าที่เปลี่ยนบ่อย ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก
ทุกคนต้องมีรายจ่ายมากกว่าปกติ เงินจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน เงินทดแทนจากการว่างงานจึงเป็นเพียง “เงินทดแทน” ตามข้อตกลง ไม่ใช่ “เงินช่วยเหลือ”
เงินช่วยเหลือจึงควรเป็นเงินช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง
รัฐบาลกำลังช่วยเหลือผู้เดือดร้อนที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม แล้วผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมล่ะ ทำไมประกันสังคมจึงไม่ช่วยเหลือให้มากกว่า “เงินทดแทน” ???
หากมองในมุมข้อเท็จจริงโดยไม่ใช้กฎหมายบังคับ ผู้ประกันตนควรมีฐานะเป็นหุ้นส่วนในกองทุนประกันสังคมมากกว่าแค่เป็นเป็นผู้ซื้อประกันที่ถูกบังคับเท่านั้น
เว็บไซต์ https://www.thebangkokinsight.com/334149/ รายงานเมื่อวันที่ 14 เม.ย. 63 ให้ข้อมูลว่า กองทุนประกันสังคมมีเงินอยู่ในกองทุนที่เก็บสะสมจากลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2534 จนถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 เป็นเงินถึง 2,177,473 ล้านบาท
ผู้ประกันตนในมาตรา 33 ต้องส่งเงินโดยบังคับในอัตราร้อยละ 5 ของเงินเดือน (มีเกณฑ์ขั้นต่ำและขั้นสูงกำหนดไว้) แม้ก่อนหน้านี้จะไม่ถึงร้อยละ 5 ก็ตาม
สมมติ ผู้ประกันตนมีเงินเดือน 10,000 บาท ผู้ประกันตนต้องส่งเงิน 500 บาท ไม่รวมส่วนของนายจ้างทุกเดือน
หากคำนวณย้อนหลังไปหลายปี ผู้ประกันตนต้องส่งเงินปีละหลายพันบาท แต่หากมีอัตราเงินเดือนสูงว่า 10,000 บาท เงินที่ต้องส่งเข้ากองทุนตลอดมาก็ต้องมากนับหมื่นนับแสนบาทต่อคน
ขณะที่ผู้ประกันในมาตรา 39 ต้องส่งเงินในอัตรา 432 บาท แบบตายตัว และผู้ประกันตนในมาตรา 40 ต้องส่งเงินในอัตรา 100 – 150 บาทต่อเดือน
ผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33, 39 และ 40 ได้จ่ายเงินรวมแล้วมากกว่า 2 ล้านล้านบาทข้างต้น
ด้านสิทธิประโยชน์ที่จะได้จากกองทุนประกันสังคม ผู้ประกันตนทุกคนในทุกมาตราจะได้สิทธิประโยชน์มากน้อยไม่เท่ากัน แต่ที่เหมือนกันคือ การได้เงินเมื่อ “ทุพพลภาพและเสียชีวิต”
ทุพพลภาพได้เงินมาก็ใช้ไป แต่เสียชีวิตเมื่อได้เงินมาก็ไม่ได้ใช้ เงินไปตกอยู่กับทายาท
หากกรมแรงงานนำเงินที่ผู้ประกันตนจะได้รับในอนาคตในกรณี “ทุพพลภาพและเสียชีวิต” มาเป็นเงินส่วนช่วยเหลือจาก Covid-19 ก็จะกลายเป็นความช่วยเหลือที่แท้จริง
การช่วยเหลือเฉพาะผู้ประกันตนที่เดือดร้อนในช่วง Covid-19 เพียงเงื่อนไขง่าย ๆ ข้อเดียวคือ ผู้ประกันตนต้องไม่ใช่ “ผู้มีฐานะดี” เช่น มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือเป็นผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาน้อยกว่าปีละ 5,000 บาท (ตัวเลขสมมุติ) หรือเงื่อนไขอื่น
ผู้ประกันตนที่อยู่ในเงื่อนไขดังกล่าวจะได้รับการช่วยเหลือโดยไม่ต้องแสดงตน ส่วนผู้มีฐานะดีที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขจะไม่ได้รับความช่วยเหลือ แต่ต้องแสดงตนทางเว็บไซต์ภายใน 7 วัน
วิธีการนี้จะให้ความสะดวกต่อผู้ประกันตนจำนวนมากที่ควรได้รับความช่วยเหลือ ไม่ต้องวุ่นวายมาลงทะเบียนเพราะกรมแรงงานมีฐานข้อมูลที่ Update ทุกเดือนดีอยู่แล้ว
เมื่อครบกำหนดการแสดงตนใน 7 วัน กรมแรงงานก็จ่าย “เงินช่วยเหลือ” ให้ผู้ประกันตนทุกมาตราและทุกคนที่มีรายชื่อในบัญชีไปก่อนทันที ขอย้ำว่าจ่ายทันทีเพื่อความรวดเร็ว
กรมแรงงานจะให้ “เงินช่วยเหลือ” ในอัตราไหนก็ได้ หรือจะเลียนแบบกระทรวงการคลังที่ช่วยเหลือผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบกองทุนประกันสังคมในอัตรา 5,000 บาทต่อเดือน รวม 3 เดือนเบื้องต้น หรือจะแยกเงินช่วยเหลือให้แตกต่างระหว่างมาตรา 33, 39 และ 40 ก็ได้
การให้ไปก่อนเป็นการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ไม่เกี่ยวกับการถูกเลิกจ้าง ถูกลดเงินเดือน หรือการว่างงานจาก Covid-19 ที่ต้องได้เงินทดแทนอยู่แล้ว
จากนั้น กรมแรงงานจึงตรวจสอบคุณสมบัติในภายหลัง ใครที่อยู่ในเงื่อนไขการไม่มีสิทธิ์ก็ให้มาคืนเงินที่ได้รับพร้อมดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดภายใน 30 วัน เพื่อไม่เสียดอกเบี้ย
หากผู้ประกันตนที่ไม่มีสิทธิ์ รับเงินไปแล้ว และไม่คืน กรมแรงงานก็เพียงตั้งเขาให้เป็นลูกหนี้ของกองทุนเพื่อนำไปหักออกจาก “เงินทุพพลภาพหรือเสียชีวิต” ที่เขาจะได้รับในอนาคตเท่านั้น
หากมองในมุมผู้ประกันตนมีฐานะเป็นหุ้นส่วนในกองทุนและเป็นลูกหนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
หากทำได้แบบนี้ ผู้ประกันตนย่อมรู้สึกถึงศักดิ์ศรีที่ตนส่งเงินเข้ากองทุนด้วยความภักดีทั้งที่ถูกบังคับ และได้รับ “เงินช่วยเหลือ” ที่ไม่ใช่ “เงินทดแทน” อย่างเดียว
ส่วนผู้ประกันตนที่ไม่มีสิทธิ์ หรือคิดว่าตนเองไม่มีสิทธิ์ซึ่งมีส่วนน้อยก็จะรีบตรวจสอบ รีบสละสิทธิ์ หรือรีบคืนเงินที่ได้รับเพราะสุดท้ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกเดือนทุกปี และทำให้เงินที่จะได้รับในอนาคตจากการ “ทุพพลภาพหรือเสียชีวิต” หรือในกรณีมาตรา 33 ที่จะได้การเจ็บป่วย คลอดบุตร อุบัติเหตุ ชราภาพ หรืออื่น ๆ ถูกหักออกไปมาก
การให้ความช่วยเหลือก่อนโดยตรวจสอบในภายหลังพร้อมดอกเบี้ย จะบรรเทาความเดือดร้อนที่ผู้ประกันตนได้รับ และให้ความรู้สึกที่ดีกว่าการคัดกรองและตรวจสอบก่อนอย่างที่หน่วยงานอื่นกำลังทำในเวลานี้
นี่คือ การคิดนอกกรอบโดยไม่ยึดกฎหมายมากเกินไปจนความช่วยเหลือที่ควรมีในยามนี้กลับดูไม่น่าเป็นไปได้เลย หรือ “การคิดในมุมต่าง”
หากกระทรวงแรงงานจะคิดนอกกรอบบ้างโดยนำแนวคิด “ผู้ประกันตนมีฐานะเป็นหุ้นส่วน” ที่กล่าวถึงข้างต้นมาให้ “ความช่วยเหลือ” และตอบแทนบุญคุณผู้ประกันตนที่ส่งเงินเข้ากองทุนทุกเดือนในยาม Covid-19 ก็จะเป็นพระคุณต่อผู้ประกันตนที่ไม่ใช่คนร่ำรวยอย่างยิ่ง
ในทำนองเดียวกัน หากผู้ประกันตนเห็นด้วยกับแนวคิดนอกกรอบนี้จะช่วยแชร์บทความนี้ออกไป เอาให้ถึงผู้มีอำนาจในกรมแรงงานก็จะเป็นการส่งเสริมแนวคิดนอกกรอบอีกทางหนึ่ง
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Logistics
รายงานจากสำนักงานศุลกากรจีนเปิดเผยว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมา การค้าระหว่างประเทศของจีนได้พัฒนาอย่างมั่นคง โดยมีมูลค่าสูงถึง 31.54 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เมื่อเที่ยบกับปีที่แล้ว โดยแยกเป็นการส่งออกมีมูลค่าสูงถึง 17.23 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 สำหรับการนำเข้ามีมูลค่าสูงถึง 14.31 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ซึ่งจีนได้ดุลการค้าจำนวน 2.92 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 โดยภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของจีนในปี 2562 สามารถสรุปได้ ดังนี้ 1. หากพิจารณาตามรายโตรมาส พบว่า มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีนมีการเติบโตขึ้นตามรายโตรมาส โดยในไตรมาสที่ 1/2562 การค้าระหว่างประเทศของจีนมีมูลค่า 7.03 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.28 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ในไตรมาสที่ 2/2562 การค้าระหว่างประเทศของจีนมีมูลค่า 7.68 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.33 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ในไตรมาสที่ 3/2562 การค้าระหว่างประเทศของจีนมีมูลค่า 8.26 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.17 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ในไตรมาสที่ 4/2562 การค้าระหว่างประเทศของจีนมีมูลค่า 8.59 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.22 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด
2. หากพิจารณาตามประเภทบริษัท พบว่า มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของบริษัทเอกชนยังครองอันดับ 1 คิดเป็นมูลค่า 13.48 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.7 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ในขณะเดียวกัน มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของบริษัทลงทุนจากต่างชาติรวม 12.57 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.9 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีน สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของรัฐวิสหกิจรวม 5.32 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.9 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด
3. หากพิจารณาจากประเทศคู่ค้าหลัก พบว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้โครงสร้างประเทศคู่ค้าหลักของจีนมีการเปลี่ยนแปลง โดยสหภาพยุโรปยังคงเป็นประเทศคู่ค้าอันดับแรกของจีน การค้าระหว่างจีนสหภาพยุโรปมีมูลค่า 4.86 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.41 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีน รองมาคือ อาเซียน โดยการค้าระหว่างจีนอาเซียนมีมูลค่า 4.43 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.05 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีน อันดับที่สาม คือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการค้า 3.73 ล้านล้านหยวน ลดลงร้อยละ 10.7 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.83 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีน อันดับที่สี่คือ ญี่ปุ่น โดยการค้าระหว่างจีน-ญี่ปุ่นมีมูลค่า 2.17 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.88 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีน นอกจากนี้ การค้าระหว่างจีนกลุ่มประเทศบนเขตเศรษฐกิจในแถบ One Belt and One Road มีมูลค่าสูงถึง 9.27 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8
ผลกระทบ/ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.
เฉิงตู ในปี 2562 ตลาดจีนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับที่ 2 ของไทย คิดเป็นมูลค่า 29,172.27 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.85 ของการส่งออกของไทย และจีนเป็นตลาดนำเข้าอันดับหนึ่งของไทย คิดเป็นมูลค่า 50,327.47 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.27 ของการนำเข้าของไทย การค้าระหว่างอาเซียนจีน มีแนวโน้มที่ดี โดยเห็นได้จากมูลค่าการค้าระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามผลจากการระบาดของไวรัส COVID 19 ส่งผลให้การนำเข้าส่งออกของจีนชะลอตัว เมื่อสถานการณ์การระบาดอยู่ในระดับที่ควบคุมได้แล้ว รัฐบาลจีนจะมีมาตรการต่างๆ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจที่หยุดชะงักไป ซึ่งจะทำให้การค้าระหว่างประเทศของจีนจะกลับมาในทิศทางที่ดี โดยคาดว่าจีนจะมีการนำเข้าสินค้าหลายชนิดเพื่อทดแทนสินค้าต่างๆ ในช่วงที่อุตสาหกรรมในจีนต้องปิดทำการและไม่สามารถผลิตได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรใช้โอกาสของ FTA ASEAN-China ในการส่งออกมายังจีน นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลจีนได้เร่งผลักดันความร่วมมือและขยายการค้าระหว่างประเทศภายใต้นโยบาย “Belt and Road Initiative : BRI” ส่งผลให้ความร่วมมือด้านการค้า การเงิน การให้บริการ พลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานระหว่างจีนและประเทศบนเขตเศรษฐกิจในแถบ ขยายตัวมากขึ้น ประเทศไทยในฐานะประเทศหนึ่งที่ตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ของเส้นทาง จึงควรใช้ประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าวในการสร้างความร่วมมือด้านการค้าโดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์และการค้าออนไลน์กับจีน
แหล่งข้อมูล : http://dy.163.com/v2/article/detail/F5OFHC640519811T.html
ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/584837/584837.pdf&title=584837&cate=413&d=0
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!