CEO ARTICLE
คณากับธนา
“สมาชิกเพื่อไทยส่อแยกวงตั้งพรรคใหม่ ประชาธิปัติย์แยกไปตั้งพรรคแล้ว ก้าวไกลยังก้าวไปไม่ถึงไหน ส่วนพลังประชารัฐกำลังวุ่นภายในส่อให้พรรคอื่นอยู่ไม่สุขตามไปด้วย”
เนื้อหาเหล่านี้ส่อเค้าเป็นวังวนทางการเมืองไม่รู้จบ อะไรและใครกันที่เป็นต้นเหตุ ???
คำถามแบบนี้ คนที่มีความรู้ความเข้าใจระบบการเมืองไทยก็ตอบได้ไม่ยาก แต่หากจะให้ตอบแบบง่าย ๆ พอจะเข้าใจก็คงตอบว่า
“ต้นเหตุมาจากคนเพียง 2 คนเท่านั้น คนหนึ่งเรียกว่านายคณา ส่วนอีกคนเรียกนายธนา”
ใคร ๆ ก็รู้ว่า การปกครองทุกระบอบทั่วโลกมีทั้งดีและเลวควบคู่กัน แต่ประชาธิปไตยถือว่าเป็นระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด ทั้งนี้เพราะระบอบนี้ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน
ความหมายง่าย ๆ ก็คือ ประชาชนเป็นผู้เลือกตัวแทนของตนให้เข้ามาออกกฎหมาย และเลือกรัฐบาลของตนเพื่อนำกฎหมายนั้นมาบังคับใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนเอง
นั่นคือโลกของทฤษฏี แต่ในโลกแห่งความจริงประโยชน์ที่ว่าจะเป็นของใครมันอีกเรื่องหนึ่งทั้งนี้เพราะยังมีคำกล่าวต่อว่า “ชนใดออกกฎหมายก็มักออกกฎหมายเพื่อชนกลุ่มนั้น”
สหรัฐและอังกฤษเป็นต้นแบบประชาธิปไตยที่ดี แต่ช่วง Covid-19 ประชาชนกลับติดเชื้อ ล้มตาย และอดยากจำนวนมหาศาล นี่คงไม่ใช่ประโยชน์ที่คนในสหรัฐและอังกฤษคาดหวังแน่
ส่วนของไทยมีรากฐานต่างกัน มีที่มาของอำนาจและมีวัฒนธรรมที่ต่างกัน ความต่างกันนี้ทำให้นายคณาถือกำเนิดขึ้นในปี 2475
นายคณาเป็นใคร ???
นายคณา คือ ตัวแทนของคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งที่เป็นชนชั้นปกครองมีทั้งทหารและพลเรือนร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย
มาถึงวันนี้ ไม่มีใครยืนยันชัด ๆ ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นเกิดจากความยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่ายจริงหรือไม่ และประชาชนต้องการอย่างนั้นจริงหรือไม่ แต่อำนาจการเมืองการปกครองเปลี่ยนมาอยู่ในมือตัวแทนของนายคณา
จากนั้นมานับสิบ ๆ ปี นายคณาก็คลอดตัวแทนออกมาทดแทนไม่รู้จบ ไม่ว่าจากการรัฐประหาร หรือการเลือกตั้ง ประชาชนก็เลือกตัวแทนของนายคณาเรื่อยมา
ดังนั้นผลประโยชน์ที่ประชาชนควรได้ตามความหมายประชาธิปไตยกลับเป็นผลประโยชน์ของนายคณามากกว่า เป็นผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองมากกว่า
การเมืองในเวลานั้นกล่าวกันว่า ไม่ใช่ประชาธิปไตยแต่เป็นคณาธิปไตยซึ่งหมายถึงระบอบการปกครองของนายคณา โดยนายคณา และเพื่อนายคณา
เวลาผ่านไประยะหนึ่งนายธนาก็ถือกำเนิดตามมา นายธนาคือใคร ???
นายธนา คือ กลุ่มคนที่มีธนบัตร มีทรัพย์ และมีธุรกิจที่ต้องพึ่งอำนาจของนายคณา อยากมีอำนาจเป็นของกลุ่มตัวเอง จึงสร้างตัวแทนของตนมาให้ประชาชนเลือกแข่งกับตัวแทนนายคณา
ด้วยความที่ประชาชนยังมีความรู้ความเข้าใจไม่มาก ทุกครั้งที่ตัวแทนนายคณาและนายธนาออกมาแข่งกันสร้างสีสรรค์ หรือเสนอโครงการที่เห็นว่าเพื่อประชาชน ประชาชนส่วนใหญ่ก็นึกว่า “มันใช่” มันคือ “ความหวัง” นี่คือ “ประชาธิปไตย” ความดีใจจึงเลือกตัวแทนเหล่านั้น
ด้วยความรู้ความเข้าใจที่ไม่ทั่วถึง ประเทศไทยจึงมีนักการเมืองสลับไปมาระหว่างตัวแทนของนายคณากับนายธนาเท่านั้น
ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านไป ตัวแทนดี ๆ ที่ประชาชนเลือกก็มีแต่น้อย ไม่สามารถออกกฎหมายและสร้างโครงการให้ต่อเนื่องได้
ในที่สุด รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมาจึงให้บทบาทพรรคการเมืองมากขึ้น
มาปี 2544 หรือเกือบ 70 ปี จากปี 2475 ประชาชนส่วนหนึ่งพอเข้าใจประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจอยู่ดี แล้วอยู่ ๆ ก็มีตัวแทนรุ่นใหม่ของนายธนาเสนอตัวให้เลือกทำให้ปีนั้นตัวแทนของนายธนาชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย
ตั้งแต่ปีนั้น ตัวแทนนายธนาครองเมืองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ต้องสลับไปมากับตัวแทนของนายคณาอีก ช่วงนั้น กฎหมายออกมามากและเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มของนายธนาก็มาก
นับแต่นั้น ประเทศไทยก็เปลี่ยนยุคจาก “คณาธิปไตย” ไปสู่ยุค “ธนาธิปไตย” แทนที่
การเมืองจึงเป็นเรื่องของเงินและผลประโยชน์เป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้การซื้อขายสินค้าและบริการมากตามไปด้วย ประชาชนจึงมีความสุขจากตัวแทนของนายธนาจนทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู
ตัวแทนนายธนาเหลิงในอำนาจจนสะดุดขาตัวเองเกิดการรัฐประหารอีก ครั้งนี้ตัวแทนนายคณาเข้ามามีอำนาจแทน จนมาถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2562
ตัวแทนคณารู้ว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป เงินมีอำนาจมาก จึงเริ่มจับมือกับตัวแทนนายธนาบางส่วน ต่างฝ่ายต่างส่งตัวแทนของตนให้ประชาชนเลือก ดังนั้น ไม่ว่าประชาชนจะเลือกใคร จะเลือกอย่างไร หรือเลือกพรรคไหน มันก็หนีไม่พ้นตัวแทนของ 2 กลุ่มนี้อยู่ดี
แม้ประเทศไทยจะมีนักการเมืองดี ๆ ไม่น้อย แต่มันก็น้อยเกินไปในการออกกฎหมาย และบริหารประเทศได้ นักการเมืองดีจึงมักถูกครอบงำไม่ว่าจากตัวแทนนายคณาหรือนายธนา
มาถึงวันนี้ หากใครอยากได้อำนาจการเมืองการปกครองประเทศก็ต้องยึดพรรคการเมืองให้ได้ก่อน การทะเลาะเบาะแว้งเหมือนเด็ก การสาดโคลนกัน การแย่งตำแหน่ง และการชิงอำนาจในพรรคการเมืองจึงเกิดขึ้นไม่เว้นวันจนประชาชนที่รู้การเมืองไม่มากชักเบื่อหน่าย
ไม่ว่าใครจะได้อำนาจนั้น มันก็เป็นตัวแทนนายคณาหรือนายธนาที่เข้ามาสืบต่ออำนาจต่อ ๆ ไปเท่านั้น ประเทศไทยจึงหนีวังวนพันธุ์นี้ไปไม่ได้
การจะดูว่า พรรคการเมืองไหนเป็นตัวแทนของนายคณา หรือนายธนา หรือของประชาชนกันแน่ก็ให้ดูที่เจ้าของพรรค เจ้าของพรรคตัวจริงเป็นของใคร ตระกูลไหน กลุ่มไหน
คำถามง่าย ๆ ใคร ๆ ก็ดูออก หากพรรคมีเจ้าของ พรรคนั้นก็ไม่เป็นของประชาชน พรรคนั้นย่อมไม่ใช่ประชาธิปไตย และพรรคนั้นเป็นเพียงตัวแทนของนายคณาหรือนายธนาเท่านั้น
แต่ทั้งที่ดูออก ประชาชนส่วนใหญ่ก็เลือก เลือกด้วยความชอบ เลือกด้วยอารมณ์ ด้วยคำหอมหวาน มันจึงหมายความว่าประเทศไทยยังต้องอยู่กับตัวแทนนายคณาและนายธนาไปอีกนาน
ดังนั้น การนำคำ “ฝ่ายประชาธิปไตย” มากล่าวอ้างจึงเป็นการใช้ประโยชน์จากคำเท่านั้นทั้งที่รู้ว่า วันนี้ตัวแทนบางส่วนของทั้ง 2 ฝ่ายจับมือกันได้แล้ว
การเมืองของไทยจะยังคงอยู่กับ “คณาธิปไตย” และ “ธนาธิปไตย” เรื่อยไปจนกว่าวันหนึ่ง ประชาชนจะตื่นตัวจริง ๆ จะมีพรรคการเมืองจริง ๆ และจะมีนักการเมืองที่เริ่มจากประชาชน เป็นของประชาชน ทำทุกอย่างโดยประชาชน และทำเพื่อประชาชนมาให้ประชาชนเลือกอย่างแท้จริง
เวลานั้นนั่นล่ะ ประเทศไทยจึงจะหนีวังวนของตัวแทนนายคณาและนายธนาไปได้
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Logistics
พลาสติกจากเปลือกกุ้ง พัฒนาการของบรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต
ปัจจุบันภาครัฐและภาคเอกชนออสเตรเลียให้ความร่วมมือในการสนันสนุนให้ชาวออสเตรเลียหันมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable plastics) เพิ่มมากขึ้น เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณขยะพลาสติกและระดับมลพิษในอากาศ รวมถึงส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนในอนาคต โดยเมื่อปี 2561 ออสเตรเลียได้กำหนดเป้าหมายในการลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบ single-use และกระตุ้นให้ชาวออสเตรเลียหันมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบ reusable, recyclable และพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable plastics) ภายในปี 2568 ภายใต้พันธสัญญา 2025 National Packaging Targets โดยมีหน่วยงาน Australian Packaging Covenant Organisation (APCO) เป็นผู้กำกับดูแล
อย่างไรก็ตาม บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่มีจำหน่ายและใช้อยู่ในตลาดปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ผลิตจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี(Petroleum-based biodegradable plastics) และพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ผลิตจากวัตถุดิบมวลชีวภาพ (Bio-based biodegradable plastics) ที่ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีในการย่อยสลายตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับชนิด องค์ประกอบของวัตถุดิบและสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อต่อระยะเวลาในการย่อยสลายอีกด้วย ดังนั้น ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ จึงได้คิดค้นพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติมากขึ้น เพื่อให้สามารถย่อยสลายได้ง่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนักศึกษา (Michelle Demers, Jared Wood และ Kimberly Bolton)ได้รับรางวัล “Inventing the Future program” จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ในการพัฒนาการผลิต Biodegradable plastics ที่ใช้เวลาในการย่อยสลายได้เร็วขึ้น โดยนำแนวคิดการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากเปลือกกุ้ง (Shrimple solutions) ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ยั่งยืนและสามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ภายใน 90 วัน มาพัฒนาต่อยอด เพื่อให้สามารถนำมาใช้บรรจุอาหารในภาคอุตสาหกรรมต่างๆได้จริง เพื่อลดปริมาณขยะเหลือทิ้งให้เป็นศูนย์ หรือการนำเอาขยะมา Recycle หรือพัฒนาให้เกิดประโยชน์ใช้สอยที่คุ้มค่าแทนการถูกนำไปฝังกลบโดยเปล่าประโยชน์ โดยนำเงินรางวัลมาเป็นทุนในการจัดตั้งบริษัท Carapac เพื่อพัฒนา Phototypes บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวก่อนนำสู่ตลาด
ปัจจุบันบริษัท Carapac อยู่ระหว่างการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารสดเป็นหลัก โดยได้สำรวจความต้องการของตลาดในแต่ละอุตสาหกรรมต่างๆ พบว่า ตลาดออสเตรเลียมีความต้องการบรรจุภัณฑ์ประเภท Punnet (สำหรับผักและผลไม้สด) บรรจุภัณฑ์แบบถุง (Pouches) Clingwrap ถุงบรรจุช้อนและส้อมในธุรกิจร้านอาหาร ถุงขยะและถุงพลาสติก เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการในตลาดมากที่สุด เนื่องจากต้นทุนในการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากเปลือกกุ้งหรือเปลือกของสัตว์น้ำประเภท Crustacean ค่อนข้างสูงกว่าการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Non compostable) ถึง 3 เท่า และคาดว่า เมื่อตลาดมีความต้องการบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงตามลำดับ
ทั้งนี้ การวิจัยของบริษัท Carapac ยังพบว่า บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากเปลือกกุ้งหรือเปลือกของสัตว์น้ำประเภท Crustacean มีประโยชน์ ดังนี้
** Waste Based
ผลิตจากขยะเหลือทิ้งที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเปลือกกุ้งและเปลือกของสัตว์น้ำประเภท Crustacean เป็นขยะที่ถูกทิ้งจากอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลแช่แข็งในภูมิภาคเอเชียจำนวนมากเฉลี่ย 8.1 ล้านตันต่อปี ทำให้สามารถนำไคโตซานที่ได้จากเปลือกของสัตว์น้ำประเภท Crustacean ที่เป็นขยะถูกทิ้งมาเป็นวัตถุดิบทางเลือกในการผลิต Biodegradable plastics เพื่อใช้ในการบรรจุอาหาร
** Antifungal & Antibacterial & Extends Fresh Food Shelf Life
ผลการวิจัยของ Carapac ยังพบว่า เปลือกกุ้งมีคุณสมบัติต่อต้านการเกิดเชื้อรา ซึ่งหากนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์จะช่วยป้องกันไม่ให้อาหารในบรรจุภัณฑ์เกิดเชื้อราได้ง่าย ช่วยยืดอายุสินค้าบนชั้นวางได้นานถึง 14 วัน ขึ้นอยู่กับประเภทของอาหาร และเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารสด
** Shellfish Allergy Safe
บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากเปลือกกุ้งนั้นมีความปลอดภัยสำหรับผู้ที่แพ้อาหารประเภท shellfish เนื่องจากสารโปรตีนที่ก่อให้เกิดการแพ้ได้ถูกแยกออกไปในระหว่างกระบวนการสกัดสารไคตินแล้ว
** Plantable & Ocean Safe
บรรจุภัณฑ์จากเปลือกกุ้งนั้นเมื่อถูกฝังกลบจะย่อยสลายตามธรรมชาติกลายเป็นปุ๋ยในดินที่ช่วยให้พืชเจริญเติบโต และหากถูกทิ้งลงในทะเลก็จะย่อยสลายโดยเร็วและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ทะเลที่กินเข้าไป
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจออสเตรเลีย
สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสและมาตรการควบคุมต่างๆที่เกี่ยวข้อง COVID-19 ส่งผลให้ภาคธุรกิจร้านอาหารต้องมีการปรับตัวทางธุรกิจและเน้นการให้บริการในรูปแบบ Takeaway/ Delivery เป็นหลักทำให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์ในภาคธุรกิจร้านอาหารเพิ่มสูงขึ้น เพื่อสุขอนามัยและความปลอดภัยของประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน
อีกทั้ง Department of the Environment and Energy ได้รายงานผลสำรวจปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก Recycle Australian Plastics Recycling Survey (APRS) ปี 2560 พบว่า ชาวออสเตรเลียใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกประมาณ 3.5 ล้านตัน ขยะพลาสติกร้อยละ 58 ได้ถูกนำกลับมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติก Recycle ส่วนที่เหลือถูกฝังกลบและส่งออกไปจีน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันจีนได้กำหนดมาตรฐานการนำเข้าขยะพลาสติกที่เข้มงวดทำให้ปริมาณการส่งออกขยะพลาสติก Recycle ลดลง ทำให้ออสเตรเลียต้องเผชิญปัญหาปริมาณขยะสะสมที่ต้องฝังกลบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จึงนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจและประชาชนในการผลักดันการลดปริมาณขยะพลาสติกลงในทุกภาคส่วนตั้งแต่การปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการใช้บรรจุภัณฑ์ของแหล่งผลิตสินค้า ร้านค้าปลีกและผู้บริโภค เพื่อให้ออสเตรเลียเข้าสู่การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความเป็นอยู่อย่างยั่งยืนโดยสมบูรณ์ ซึ่งกระแสดังกล่าวก าลังเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนในออสเตรเลียต่างให้ความสำคัญอย่างมาก
ผลกระทบต่อการส่งออกไทย
แนวโน้มการเติบโตของตลาดบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติในออสเตรเลีย เป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทยต่อการส่งออกบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ กระดาษ เยื่อไผ่ มันสำปะหลัง รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ Biodegradable plastics อื่นๆ มายังตลาดออสเตรเลียเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพตลาดในปัจจุบัน อีกทั้ง ปัจจุบันออสเตรเลียสนับสนุนให้ภาคธุรกิจร้านค้าหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ Biodegradable และส่งเสริมให้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ทั้งคุณสมบัติด้านความคงทน ดีไซน์ทันสมัยและความเหมาะสมกับสินค้าในแต่ละประเภท ดังนั้น บรรจุภัณฑ์ที่จะเข้ามาทำตลาดในออสเตรเลียจึงควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆข้างต้น ในการพัฒนาและผลิตสินค้าให้เหมาะสมกับการใช้งานและพฤติกรรมของผู้บริโภค
นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าในกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพและสินค้าออร์แกนิค ผู้ส่งออกควรให้ความสำคัญในทุก Supply Chain ของสินค้า ตั้งแต่การเพาะปลูก การผลิต รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและมูลค่าเพิ่มให้สินค้า
ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/620403/620403.pdf&title=620403&cate=413&d=0
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!