CEO ARTICLE

ชดเชยสงกรานต์


Follow Us :

    

“จีนปิดประตู หันมาค้าขายกับตัวเอง ไม่ให้คนของเขาออกมาเที่ยวข้างนอก”
“ประเทศที่เคยได้ทัวร์จีนเป็นลูกค้ามากมาย จากนี้ไปก็จะไม่มีเหลือเลย ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น แม้กระทั่งไทย”

ข่าวลักษณะข้างต้น (SNIPER NEWs) ถูกส่งต่อ ๆ กันในโลกออนไลน์ที่มีทั้งภาพและเสียงพร้อมข้อมูลที่ว่า จีนเบื่อสงครามการค้ากับชาติตะวันตก จะไม่อ่อนข้อให้อีก จะไม่เน้นการส่งออก จะมุ่งตลาดภายใน จะปล่อยการค้าเสรีให้เป็นอดีต และจะเร่งสร้างระบบการบริโภคภายใน
การแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้เศรษฐกิจจีนและทั่วโลกตกมาก หลายประเทศกำลังฟื้นฟู ขณะที่ไทยก็กำลังฟื้นฟูและกำลังวางแผนเปิดประเทศอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
การฟื้นฟูเศรษฐกิจมากกว่าเพื่อปากท้องประชาชนเป็นสิ่งจำเป็นจริง ๆ ในยามนี้
ท่ามกลางการวางแผนฟื้นฟู อยู่ ๆ ก็มีข่าวที่ไม่รู้ว่าจริงหรือปลอมเรียกร้องให้มีการประกาศวันหยุดชดเชยเทศกาลสงกรานต์ของไทย 9 วันที่นับรวมเสาร์อาทิตย์ในเดือน ก.ค. นี้
แม้ไม่มีการปฏิเสธ แต่ก็มีข่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมกำลังคิดจะเสนอให้หยุด 3 วัน อย่างไม่ต่อเนื่องและไม่ใช่เดือน ก.ค. นี้
การหยุดชดเชย หรือหยุดติดต่อกันหลายวันไม่ว่าเทศกาลอะไรย่อมส่งผลดีธุรกิจการท่องเที่ยวโดยตรงจริง
แต่ในด้านตรงกันข้ามกลับทำให้ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแต่กำลังเข้าจะสู่ New Normal Start Up ต้องหยุดงานติดต่อกันหลายวันตามไปด้วยและได้รับผลเสีย
ระหว่างการแพร่ระบาด Covid-19 ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง คนว่างงาน อาชีพอิสระ เกษตรกรและผู้ยากไร้ต่างได้รับความช่วยเหลือมากบ้าง น้อยบ้าง ไม่ได้รับบ้างตามการจัดสรรแต่ละกรณี
นายจ้างกลับเป็นกลุ่มถูกยกเว้นการช่วยเหลือ ทั้งที่เป็นผู้ได้รับความเสียหายเต็ม หลายสิบ หลายร้อย หรือหลายพันเท่า
นายจ้างคล้ายถูกละเลย ไม่ได้รับการเหลียวแลมากนักนอกจากเงินกู้ด้วยดอกเบี้ยอัตราต่ำเพื่อให้เริ่มต้นธุรกิจใหม่ ส่วนนายจ้างที่ต้องเลิกกิจการไปจำนวนมากคงไม่ต้องการเงินกู้ใด ๆ อีก
การหยุดชดเชยยาว ๆ จึงส่งผลเสียต่อนายจ้างที่ไม่ใช่ธุรกิจท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ยิ่งไปกว่านั้น ขณะเขียนบทความนี้ หลายประเทศที่เหมือนกับปลอดภัยแล้วก็กลับมีผู้ติดเชื้อรอบใหม่ขึ้นมาอีก
รวมความแล้ว ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากทุกวันที่ผ่านเลข 7 ล้านและกำลังเข้าสู่เลข 8 ล้านคน ส่วนผู้เสียชีวิตก็มากกว่า 4 แสนคน
ในหลายประเทศเหล่านั้นก็ยังมีคนไทยจำนวนมากติดค้างกลับไม่ได้อยู่จำนวนมาก
จากรายงานข่าวทำให้ทราบว่า คนไทยที่ต้องการกลับประเทศต้องลงทะเบียนออนไลน์ไปยังสถานทูตก่อน เมื่อได้จำนวนพอกับเที่ยวบินและผ่านความเห็นชอบก็จะมีเครื่องบินไปรับโดยคนไทยต้องจ่ายค่าโดยสารเอง เมื่อมาถึงไทยก็ต้องถูกกักตัวอีก 14 วัน
แล้วก็ยังพบว่าประเทศไทยยังมีผู้ติดเชื้อจากศูนย์กักตัวของรัฐเกือบทุกวัน แม้การแพร่ระบาดในประเทศลดลงมากจนดูปลอดภัย แต่เชื้อนำเข้าจากต่างประเทศก็ยังมีจริง เสี่ยงจริง และเสี่ยงมากด้วย รอเพียงมีการเปิดประเทศที่เปิดโอกาสให้เชื้อเล็ดรอดเข้ามาได้อีก
หากมีการประกาศหยุดชดเชยสงกรานต์หลายวัน นอกจากนายจ้างจะเสียโอกาสจากการธุรกิจที่เพิ่งเริ่มแล้ว การหยุดหลายวันก็อาจทำให้เชื้อที่หลบซ่อนแพร่กระจายได้
ไม่ต้องดูอื่นไกล เอาแค่วันหยุดแรกของการเปิดล็อคในวันที่ 3 มิ.ย. 63 ที่ผ่านมา มีการเปิดหาดบางแสน และมีคนเข้าไปพักผ่อนแน่นขนัดจนต้องประกาศปิดเพียงครึ่งวัน
หรือตอน Covid-19 แพร่ระบาดใหม่ ๆ มีการประกาศปิดห้างสรรพสินค้าและปิดกิจการทั่วประเทศในเดือน มี.ค. ภาพคนแห่ออกจากกรุงเทพฯ และเมืองเศรษฐกิจกลับบ้านก็เกิดขึ้นจนคล้ายเป็น Covid Delivery ไปสู่ญาติพี่น้องก็มีให้เห็นแล้ว
การหยุดชดเชยสงกรานต์ยาว ๆ จึงเป็นโอกาสให้เชื้อที่หลบซ่อนโผล่ออกมาแล้วกลายเป็น Super Speader ที่รัฐบาลกลัว
หากมองให้มุมการว่างงาน จากพิษ Covid-19 วันนี้ทั่วโลกมีคนตกงานน่าจะเกิน 100 ล้านคนเข้าไปแล้ว เฉพาะที่จีนตามข่าวมีคนตกงานเกือบ 10 ล้านคน
ดังนั้น การชดเชยสงกรานต์เป็นเรื่องความรู้สึกประชาชน เป็นเรื่องดี แต่การหยุดสงกรานต์ยาว ๆ หลายวัน นอกจากจะเป็นการซ้ำเติมนายจ้างธุรกิจอื่นแล้ว รัฐบาลก็ยังต้องปวดหัวกับสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยอีกด้วย
ตอนช่วงการแพร่ระบาด นายจ้างเกือบทุกธุรกิจ ยกเว้นอาหาร Delivery ต้องหยุดกิจการยาว ๆ มากกว่า 3 เดือน พอกำลังจะเริ่มเปิดใหม่ก็จะให้หยุดยาว ๆ อีกแล้ว
หากประเทศชาติอยู่ไม่ได้ ประชาชนก็อยู่ไม่ได้ หากประชาชนอยู่ไม่ได้ ประเทศก็อยู่ไม่ได้
หากนายจ้างอยู่ไม่ได้ ลูกจ้างก็อยู่ไม่ได้ และหากลูกจ้างอยู่ไม่ได้ นายจ้างก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน
ทุกอย่างมันสัมพันธ์กันอย่างนี้ รัฐบาลจึงต้องปวดหัวกับการตัดสินใจในครั้งนี้
ระบบการปกครองจีนเป็นคอมมิวนิสต์ มีสภาประชาชนเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่สามารถออกกฎหมายได้ตามความต้องการของฝ่ายบริหาร ความรวดเร็วและความเด็ดขาดจึงเกิดขึ้นง่าย
จีนมีวันหยุดยาว ๆ อยู่หลายช่วงไม่ต่างจากไทย เช่น วันตรุษจีน วันเช็งเม้ง และวันชาติ
วันตรุษจีนและวันเช็งเม้งของปี 63 ผ่านไปแล้ว ข่าวที่ออกมาก็ยังไม่เห็นจีนเสนอวันหยุดชดเชยให้แก่วันดังกล่าวแต่อย่างใด คงเหลือแต่วันชาติในวันที่ 1 ตุลาคมที่กำลังจะถึงนี้เท่านั้น
มันอยู่ที่รัฐบาลจีนจะสั่งอย่างไร นี่คงเป็นความสะดวกของการปกครองแบบจีนก็ได้
ด้วยแนวคิด “จีนปิดประตู หันมาค้าขายกับตัวเอง ไม่ให้คนของเขาออกมาเที่ยวข้องนอก” ทำให้เชื่อว่า การท่องเที่ยวของไทยในปลายปีนี้คงต้องหวังพึ่งคนไทยด้วยกันเอง วันหยุดชดเชยยาว ๆ จึงเป็นการช่วยเหลือการท่องเที่ยวให้คนไทยเที่ยวกันเองโดยตรง
ควรชดเชยวันหยุดยาว ๆ ให้สงกรานต์ดีหรือไม่ ???
หากถามลูกจ้างคำตอบก็อยากให้หยุด แต่หากถามนายจ้างที่ไม่ใช่ธุรกิจท่องเที่ยวคำตอบก็จะตรงข้าม มันเป็นเหรียญ 2 ด้านที่กระทรวงวัฒนธรรมและรัฐบาลต้องร่วมกันคิดหนัก ต้องปวดหัว และต้องทำความเข้าใจกับประชาชน
สังคมประชาธิปไตยแม้จะแฝงด้วยคณาธิปไตยและธนาธิปไตยแบบไทย ๆ ก็เป็นแบบนี้ ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง ต่างคนต่างยึดผลประโยชน์ของตนเอง
ดังนั้น ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลในยามนี้ก็ต้องปวดหัวกับการประกาศชดเชยวันหยุดสงกรานต์ในครั้งนี้เป็นแน่

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

ผลจากการระบาดของ COVID-19 ความต้องการเครื่องปรุงรสของครัวเรือนจีนเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสในจีนได้สัมพันธ์กับธุรกิจร้านอาหาร/ภัตตาคารอย่างใกล้ชิด ที่ผ่านธุรกิจอาหารภัตตาคารพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการเครื่องปรุงรสเพิ่มขึ้นไปด้วย อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจร้านอาหารภัตตาคารถูกปิด รายได้ของผู้บริโภคลดลง ส่งผลให้กระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสในตลาดจีนโดยภาพรวม
อย่างไรก็ตาม พบว่ามีผู้ประกอบการหลายรายที่ดำเนินธุรกิจเครื่องปรุงรสในช่วงไตรมาสแรกของปี มีผลประกอบการเพิ่มขึ้น เช่น แบรนด์ Haitian Food, Teway Hengshun Vinegar, Qianhe Food โดยแบรนด์ Qianhe Food มีผลประกอบการเพิ่มขึ้นมากที่สุด (รายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.65 YoY และ กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.33 ) โดยแรงขับเคลื่อนหลักคือผู้บริโภคจีนหันมาทำอาหารรับประทานเองเพิ่มขึ้น เพื่อสุขภาพและความปลอดภัย อีกทั้งผู้จัดจำหน่ายระดับท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการเจาะตลาด
ข้อมูลสถิติระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม – เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผลประกอบการเครื่องปรุงในแพลตฟอร์ม JD.com เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 129 โดยยอดขายรวมของเครื่องปรุงรสต่าง ๆ เช่น ซอสถั่วเหลือง น้ำส้มสายชูและ Shisanxiang (เครื่องเทศสิบสามอย่าง) เพิ่มขึ้นมากกว่า 8 เท่า
วงการเครื่องปรุงจะรู้ดีว่า แบรนด์ Haitian Food เน้นร้านอาหารภัตคาร ส่วน Qianhe Food เน้นครัวเรือน คนในวงการเครื่องปรุงรสกล่าวว่า ช่องทางการจำหน่ายของ Qianhe Food คือซุปเปอร์มาร์เก็ต เน้นขายผู้บริโภคครัวเรือน ในขณะที่ตลาดหลักของ Hengshun Vinegar ก็เป็นครัวเรือนเช่นกัน นอกจากนี้เมื่อพิจารณารายงานทางการเงินของแต่ละบริษัทแล้ว พบว่า ผลประกอบการจำหน่ายเครื่องปรุงรสให้แก่ร้านอาหารภัตคารค่อนข้างน้อย แต่การกระตุ้นการบริโภคในระดับครัวเรือน ช่วยสนับสนุนให้บริษัทดังกล่าวมีผลประกอบการเพิ่มขึ้น
คุณ Chen Xiaolong ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดเครื่องปรุงรสได้วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสฯอย่างรุนแรง ทางการจีนได้ปิดถนนหลายสาย จำกัดการเดินทางของรถยานพาหนะ ผู้ประกอบการขนาดเล็กไม่สามารถอุปทานการตลาดทั่วประเทศ ซุปเปอร์มาร์เก็ตจัดหาสินค้าจากผู้จัดจำหน่ายเครื่องปรุงรสในท้องถิ่น แต่แบรนด์ Haitian Food มีผู้จัดจำหน่ายครอบคลุมการตลาดใน 2,000 เมือง ซึ่งอุปสรรคข้างต้นแทบจะไม่มีผลกระทบต่อยอดขายของแบรนด์ Haitian Food

อนึ่ง เมื่อการขนส่งและโลจิสติกส์เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น อินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนวีธีการบริโภคแบบดั้งเดิม การจำหน่ายเครื่องปรุงรสผ่านช่องทางออนไลน์ถือเป็นการตลาดใหม่สำหรับแบรนด์เครื่องปรุงรสที่ต้องแข่งขันกันอย่างรุนแรงมากขึ้น

ความเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน :
ในปี 2562 ตลาดจีนนำเข้าเครื่องปรุงรสและเครื่องเทศ (HS Code 2103) 195.745 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 11.94%) โดยนำเข้าจากเกาหลีใต้มากที่สุด ( 31.69 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.56% รองลงมาคือ ประเทศไทย (23.416 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.48% และช่วงปี 2560 – จีนนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง) ญี่ปุ่น (เพิ่มขึ้น 28.20% และไต้หวัน (ลดลง 8.53% ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการที่ชาวจีนเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศเพิ่มขึ้นส่งผลให้ตลาดจีนมีความต้องการนำเข้าเครื่องปรุงรสและเครื่องเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากมีความประทับใจในอาหารที่ได้ลิ้มลองในต่างประเทศจึงต้องการบริโภคอาหารดังกล่าวอีกเมื่อเดินทางกลับมายังจีน แน่นอนว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายการเดินทางอันดับต้นของนักท่องเที่ยวจีน ทำให้เครื่องปรุงรสและเครื่องเทศไทยจึงมีความต้องการเพิ่มขึ้นในจีนตามไปด้วย ทั้งจากความต้องการของร้านอาหาร/ภัตตาคาร และความต้องการของครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2563 ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ท าให้เดือนมกราคม เมษายน จีนนำเข้าเครื่องปรุงรสจากไทยมูลค่า 5.502 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง 13.84% แต่พบว่ามูลค่าการนำเข้ารายเดือน ช่วงเดือนมกราคม เมษายน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนมกราคม จีนนำเข้าเครื่องปรุงรสและเครื่องเทศไทย 1.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน จีนนำเข้าเครื่องปรุงรสและเครื่องเทศไทย 1.50 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 11.86%ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่ล้วนเป็นความต้องการบริโภคของครัวเรือน เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว ธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารส่วนใหญ่ปิดกิจการ แสดงให้เห็นว่า เพื่อสร้างความหลากหลายในการปรุงอาหารรับประทานเองผู้บริโภคจีนได้หันมาปรุงอาหารโดยใช้เครื่องปรุงรสไทยเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในระยะยาว คาดว่า เมื่อการระบาดของไวรัสฯได้สิ้นสุดลง ตลาดจีนจะมีความต้องการเครื่องปรุงรสและเครื่องเทศไทยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงเป็นโอกาสของผู้ส่งออกสินค้าไทยในกลุ่มสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้ ส่วนสำคัญที่จะทำให้เครื่องปรุงรสและเครื่องเทศไทยในตลาดจีนขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น การส่งเสริมให้อาหารไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นในจีน ตลอดจนในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปเที่ยวประเทศไทย โดยการชูจุดเด่นของวัตถุดิบในการทำอาหารไทย รสชาติอาหารไทยที่เป็นเอกลักษณ์ และคุณค่าทางโภชนการของอาหารไทย เป็นต้น

ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/623033/623033.pdf&title=623033&cate=413&d=0

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.