CEO ARTICLE
ส.ว. มีไว้ทำไม
“ศึกชิงอำนาจในพรรคพลังประชารัฐเดือด ส่อแวว 3 ป. ยึดพรรค ???”
พอการแพร่ระบาดของ Covid-19 ทุเลาลง การเมืองก็เริ่มเดือดขึ้นมา ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวการแยกตัว การเปลี่ยนหัวหน้าพรรค การรวมพรรค การลาออก การชิงอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นภายในพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชาชาติไทย และพรรคอื่น ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า การเมืองเป็นเรื่องของการชิงอำนาจ และการชิงอำนาจทางการเมืองก็เหมือนไฟที่สุมขอนไว้ รอเพียงจังหวะและเวลาที่เหมาะสม การเมืองก็พร้อมจะระเบิดทันที
การชิงอำนาจที่เห็นส่วนใหญ่มิใช่เพื่อประโยชน์ของประชาชนจริง ๆ มิใช่ประชาธิปไตยจริง ๆ แต่เป็นชิงอำนาจเพื่อประโยชน์ภายในกลุ่มทั้งคณาธิปไตยและทั้งธนาธิปไตยเอง
ระบบการเมืองจึงต้องมี ส.ว. หรือสมาชิกวุฒิสภาเพื่อให้มากำกับนักการเมืองให้ใช้อำนาจด้วยความถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และเป็นการอธิบายโดยหลักการว่า
“ส.ว. มีไว้ทำไม”
ประเทศไทยที่ผ่านมามี ส.ว. มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจากการแต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจในเวลานั้น หรือจากการเลือกตั้งของประชาชน
แต่ทั้งที่มี ส.ว. คอยกำกับดูแล การเมืองของไทยก็ยังวนอยู่กับคณาธิปไตยและธนาธิปไตย
ส.ว. หรือสมาชิกวุฒิสภา มาจากคำภาษาอังกฤษว่า Senate หรือ “สภาคนแก่” ซึ่งถูกใช้ในสมัยโรมัน (รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
ในความหมายนี้ ส.ว. จึงต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องมีความรู้ความสามารถ และต้องปลอดจากการเมืองเพื่อใช้อำนาจในการตรวจสอบและควบคุมการทำงานของ ส.ส. และนักการเมือง
ประเทศไทย มี ส.ว. อย่างเป็นทางการตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ทำหน้าที่เป็น “สภาพี่เลี้ยง” และคอยตรวจสอบการทำงานให้กับ ส.ส. แต่ในเวลานั้นก็กลับเป็นเครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นโดย “คณะราษฎร์” เพื่อทำหน้าที่ค้ำประกันคณาธิปไตยของตน
หลังปี 2516 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลง อำนาจทางการเมืองของไทยเกิดการแชร์กันไปมาระหว่างคณะบุคคลที่เรียกว่า “คณาธิปไตย” กับคนมีเงินที่เรียกว่า “ธนาธิปไตย”
การรัฐประหารและการเลือกตั้งจึงเกิดขึ้นสลับไปมา ส่งผลให้อำนาจของคณาธิปไตยกับธนาธิปไตยสลับกันเป็นใหญ่ไปมาเช่นกัน
คณาธิปไตยและธนาธิปไตยใช้อาวุธในการชิงอำนาจต่างกัน คณาธิปไตยถนัดใช้กำลังเป็นอาวุธ ส่วนธนาธิปไตยถนัดใช้เงินเป็นอาวุธ
ท่ามกลางการขาดความรู้ ความเข้าใจ และมองผลประโยชน์เบื้องหน้าของประชาชนส่วนใหญ่ที่จะได้รับจากนักการเมืองทำให้คำว่า “คณาธิปไตย” และ “ธนาธิปไตย” จึงไม่หนีหายไปจากประเทศไทยได้ง่าย ๆ
หากมองในมุมหลักการ ทุกครั้งที่มีการเลือก ส.ส. ประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่า ส.ส. ที่ตนเลือกนั้นดี ประชาชนจะเอาเวลาหรือจะหาวิธีการอะไรมาตรวจสอบ ส.ส. ให้ใช้อำนาจที่ได้รับเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงตามหลักการประชาธิปไตย
หากประชาชนเข้าใจระบบนี้จริง ๆ ก็จะเลือก ส.ว. ที่อยู่ตรงข้าม ส.ส. ในพื้นที่ หรือ ส.ว. ที่มีความเป็นกลาง หรือมีความสามารถในการตรวจสอบเพื่อให้มากำกับดูแล ส.ส. แทนประชาชน
แต่พอมีการเลือก ส.ว ประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจก็มักตกอยู่ในอำนาจอิทธิพลการเมืองจึงมักเลือก ส.ว. ตามการชี้นำของ ส.ส. หรือนักการเมืองในพื้นที่
อย่างนี้แล้วการกำกับดูแลและตรวจสอบ ส.ส. และนักการเมืองจาก ส.ว. จะเกิดได้อย่างไร
ภาพในอดีตทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ส.ว. เราจึงได้เพียงผู้ค้ำประกันธนาธิปไตย ในทำนองเดียวกันทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร เราก็ได้ ส.ว. ให้เป็นเพียงผู้ค้ำประกันคณาธิปไตยไม่ต่างกัน
มันสลับกันไปมาเพื่อการค้ำประกันอย่างนี้ และเป็นสิ่งอธิบายในทางผิด ๆ ว่า
“ส.ว. มีไว้ทำไม ???”
หากจะกล่าวง่าย ๆ ก็คือ ส.ว. ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือการแต่งตั้งแล้วไม่ทำหน้าที่กำกับดูแล ส.ส. และนักการเมืองให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง แท้จริง ตามระบอบประชาธิปไตย ส.ว. ก็จะถูกฝ่ายตรงข้ามไม่ว่าจะเป็นธนาธิปไตยหรือคณาธิปไตยโจมตีทุกครั้ง
แต่หากคณาธิปไตยและธนาธิปไตยตกลงกันได้ แชร์อำนาจกันได้ จัดสรรผลประโยชน์กันได้ การโจมตี ส.ว. ไม่ว่าจะมาจากการแต่งตั้งหรือการเลือกตั้งก็จะลดลง
วันนี้ การแก่งแย่งอำนาจในพรรคการเมืองเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน ประชาชนมีทั้งชื่นชอบและก่นด่าตามอารมณ์ แต่ไม่ว่าจะชื่นชอบหรือก่นด่าอย่างไร สุดท้ายการชิงอำนาจของแต่ละคนจะจบลงแค่การแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่ไปไกลถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เหตุผลง่าย ๆ เพราะ ส.ว. ชุดปัจจุบันนี้เป็นชุดที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะ คสช. มันจึงไม่มีเหตุผลอื่นใดที่จะไม่ค้ำประกันพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาให้ดำรงอยู่ต่อไป
การชิงอำนาจทางการเมืองของทุกพรรคในเวลานี้จึงคล้ายการดูหนังดูละครฉากหนึ่ง คนนี้ขึ้นคนโน้นลง แล้วคนนี้ลงคนโน้นก็ขึ้น วนเวียนกันอยู่เช่นนี้โดยมีประชาชนเป็นเพียงข้ออ้าง
ปัญหาจึงตกอยู่ที่ตัวพลเอกประยุทธ์ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ท่านควรมี ส.ว. ค้ำประกันหรือไม่ ???
หากประชาชนมองอย่างเข้าใจ อย่างไม่ถูกชี้นำโดยนักการเมืองตรงข้าม มองอย่างบริสุทธิ์ใจ มองเห็นผลงานการบริหารประเทศว่าดี การมี ส.ว. ค้ำประกันนายกฯ ก็เป็นเรื่องดีทางหนึ่ง
แต่หากมองด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้วเห็นว่า การบริหารประเทศไม่ดี การมี ส.ว. ค้ำประกันก็เป็นเรื่องไม่ดีเช่นกัน
ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับการมองอย่างบริสุทธิ์ใจของประชาชน มิใช่มองด้วยผลประโยชน์ของนักการเมือง
โดยหลักการประชาธิปไตยแล้ว ส.ว. มีหน้าที่ตรวจสอบเพื่อประโยชน์ของประชาชนที่มิใช่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของผลประโยชน์ในระบอบคณาธิปไตยและธนาธิปไตยอย่างที่เห็น
หากจะยึดหลักการประชาธิปไตยให้การมี ส.ว. ด้วยความถูกต้องแล้ว มันก็ต้องรอจนกว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะมีความเข้าใจในระบบการเมือง มีความรู้ในการเลือก ส.ว. เลือกโดยไม่อิงการเมืองเพื่อให้ ส.ว. มาควบคุมและตรวจสอบการทำหน้าที่ของ ส.ส. และนักการเมือง
เวลานั้นนั่นล่ะ คำถามที่ว่า “ส.ว. มีไว้ทำไม ???” จึงจะมีคำตอบที่ถูกต้องได้
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Logistics
ผู้เชี่ยวชาญแนะ มณฑลเสฉวนควรสร้างความร่วมมือกับไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางสำคัญในนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนของมณฑลเสฉวนมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ในปี 2562 การนำเข้าและส่งออกของมณฑลเสฉวนทะลุ 600,000 ล้านหยวน โดยคู่ค้าสำคัญ 3 อันดับ ได้แก่ สหรัฐฯ อาเซียน และสหภาพยุโรป ตามลำดับ มูลค่าการนำเข้าและส่งออกพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนรวมอยู่ที่ 780 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 62.5 ขณะที่นครเฉิงตูมีมูลค่าการทำธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนอยู่ที่ 102.51 ล้านหยวน เติบโตขึ้นจากปี 2561 กว่าร้อยละ 102.5 นับเป็นปีที่ 4 ที่นครเฉิงตูมีอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 100
เมื่อเร็ว ๆ นี้ อาจารย์มู่ เหล่ย อาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเฉิงตูได้กล่าวถึงข้อดีด้านโลจิสติกส์ของรถไฟด่วนสายหรงโอว (เฉิงตู – ยุโรป) ต่อการสร้างช่องทางการค้าเพื่อเชื่อมโยงยุโรปและอาเซียนผ่านการขนส่งที่ผสมผสานระหว่างทางทะเลและทางบก โดยประยุกต์ใช้ข้อได้เปรียบจากนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของประเทศไทย (EEC) ในการสร้างความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนกับประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อเป็นเวทีใหม่สำหรับการค้าพหุภาคีระหว่างประเทศ
อาจารย์มู่ฯ ระบุว่า หากมองในแง่ของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ มณฑลเสฉวนถือเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระหว่างยุโรปและอาเซียน โดยทางตอนเหนือ สามารถขนส่งไปยังยุโรปได้ผ่านรถไฟด่วนสายหรงโอว (เฉิงตู – ยุโรป) และทางตอนใต้ สามารถขนส่งไปยังอาเซียนได้ผ่านเส้นทางท่าเรือฝางเฉิง หรือ อ่าวเป่ยปู้ ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เชื่อว่าช่องทางการขนส่งที่ครอบคลุมและสะดวกสบายดังกล่าว จะทำให้มณฑลเสฉวนกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญอีกแห่งหนึ่งของนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”
นอกจากนั้น อาจารย์มู่ฯ ยังกล่าวด้วยว่า ข้อดีของการสร้างพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนระหว่างมณฑลเสฉวนและไทยหรือภูมิภาคอาเซียน จะทำให้ (1) ปริมาณบรรจุสินค้าของรถไฟด่วนสายหรงโอว (เฉิงตู – ยุโรป) เพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสทธิภาพให้มากขึ้น และลดอัตราพื้นที่ว่างตู้บรรจุสินค้า นอกจากนั้น ในด้านวิธีการรวบรวมและขนส่งสินค้า หากสามารถเพิ่มปริมาณแหล่งสินค้าที่มาจากไทยหรือสหภาพยุโรปได้ ก็จะทำให้การขนส่งมีความหลากหลายและประสิทธิภาพดีขึ้น (2) ทำให้มณฑลเสฉวนกลายเป็นศูนย์กระจายสินค้าระหว่างอาเซียนและยุโรป ไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อด้านเศรษฐกิจของมณฑลเสฉวนเท่านั้น แต่ยังสามารถพัฒนาไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้ อาทิ อุตสาหกรรมการขนส่ง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การจัดนิทรรศการ เป็นต้น และ (3) ช่วยขยายการค้าระหว่างประเทศของมณฑลเสฉวนให้กว้างมากขึ้น พร้อมทั้งช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนของมณฑลเสฉวนด้วย
นายกวน กั๋วซิ่ง หัวหน้าฝ่ายความร่วมมือจีน – ไทย มหาวิทยาลัยเฉิงตู และ หัวหน้าภาควิชาเกียรติคุณ ภาควิชาภาษาไทย ระบุว่า จีนถือเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย และไทยเองก็ได้มีการขยายการค้ากับต่างประเทศมาโดยตลอด การผลักดันความร่วมมือ การพัฒนาด้านการแลกเปลี่ยนการค้า และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและมณฑลเสฉวนให้มากยิ่งขึ้นผ่านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ถือเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับมณฑลเสฉวนด้วย
นอกจากนั้น นายกวนฯ ได้กล่าวอีกว่า ไม่กี่ปีที่ผ่านมา มณฑลเสฉวนได้มีบทบาทและมีอิทธิพลต่อระดับนานาชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ นายกวนฯ หวังว่าไทยและมณฑลเสฉวนจะสามารถส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันได้มากยิ่งขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมทางการค้าในลักษณะเช่นนี้ และเชื่อว่ามณฑลเสฉวนจะมีศักยภาพในระดับสากลมากยิ่งขึ้นและกลายเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติได้ในที่สุด
ที่มา : https://thaibizchina.com
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!