CEO ARTICLE

เนื้อหมูแพง


Follow Us :

    

“เจ้ต้องขอโทษด้วยนะคะ หมูขึ้นราคามาหนักมาก เจ้ขอปรับราคาขึ้นเฉพาะราดข้าวใส่ถุงกะหมูทอด ถ้าหมูราคาลง เจ้สัญญาว่า เจ้จะปรับลงมาให้เหมือนเดิม”

เจ้จง หมูทอดกิจแสวง ร้านอาหารชื่อดัง ราคาประชาชนได้เขียนป้ายข้างต้นอธิบายลูกค้าเมื่อพบว่า เนื้อหมูมีราคาแพงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ข่าว PPTV Online ระบุว่า เนื้อหมูแพงขึ้นจากกิโลกรัมละราว 140.75 บาทในเดือน ก.ค. ปี 62 ขึ้นมาที่ 150-155 บาท ในเดือน ก.ค. ปี 63 และขยับในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ 160-170 บาท และมีทีท่าจะวิ่งไปแตะ 180 บาทต่อกิโลกรัม
ข่าวระบุสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจาก ความต้องการบริโภคในประเทศสูงขึ้นภายหลังการปลดล๊อก Covid-19 มีการเปิดโรงเรียน เปิดร้านอาหาร และความต้องการของต่างประเทศสูงขึ้น ทำให้มีการส่งออกเนื้อหมูมากขึ้นตามไปด้วย
มันเป็นไปตามทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ สินค้าใดที่มีความต้องการ (Demand) เพิ่มขึ้นมาก ๆ เกินความสามารถในการจัดหา (Supply) ราคาสินค้านั้นจะสูงขึ้นเป็นธรรมดา
การส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นการพึ่งพาต่างชาติ นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นแล้วก็ยังทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น และกระตุ้นต้นทุนการผลิต เช่น เนื้อหมู ค่าแรง และวัตถุดิบอื่น ๆ ให้เพิ่มขึ้นตามทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ดังกล่าว
สมมุติหมู่บ้านแห่งหนึ่งมีประชากร 100 หลังคาเรือน มีอาชีพแตกต่างกัน เช่น ทำนา ทำสวน เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ขายข้าว ขายอาหาร ขายเสื้อผ้า ขายขนม ขายสินค้าอื่น ๆ เพื่อการดำรงชีวิต
การซื้อ การขาย และการผลิตก็จะทำแค่พอเพียงเพื่อการบริโภคกันเองภายใน 100 หลังคาเรือนนี้ การผลิตจะไม่มากไปกว่านี้
หากจะมีความร่ำรวยเกิดขึ้น หมู่บ้านแห่งนี้ก็จะร่ำรวยเพียงแค่การบริโภคของประชากร 100 หลังคาเรือนนี้ ไม่มีทางร่ำรวยมากไปกว่านี้เช่นกัน
วันหนึ่ง คนต่างถิ่นมาซื้อสินค้าทุกอย่างจากหมู่บ้านนี้ ทำให้การขายและการผลิตเพิ่มมากขึ้น ประชากรที่อยู่ในกระบวนการขายและการผลิตก็จะงานทำมากขึ้น มีค่าแรงสูงขึ้น มีรายได้มากขึ้นเป็นธรรมดา
หากคนต่างถิ่นมาทั้งประเทศ มาเที่ยว มากิน มาใช้ มาซื้อสินค้าจากหมู่บ้านนี้ เศรษฐกิจของหมู่บ้านแห่งนี้ก็จะยิ่งโตมากขึ้น มีงาน มีรายได้มากยิ่งขึ้น
ในทางตรงกันข้าม ทรัพยากร (Resources) ที่ใช้ในการผลิต เช่น เนื้อหมู ค่าแรง คนที่อยู่ในกระบวนการผลิตก็ต้องถูกใช้มากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น ราคาสินค้าสูงขึ้น และค่าครองชีพอื่น ๆ ก็ย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย
หากเปลี่ยนจากคนต่างถิ่นเป็นคนต่างชาติทั้งโลกมาเที่ยวในประเทศไทยมาก ๆ มากิน มาใช้ มาซื้อสินค้าไทย แน่นอนความต้องการก็ยิ่งมากขึ้น ทรัพยากรก็ยิ่งใช้มากขึ้นส่งผลให้ต้นทุนก็ยิ่งสูงขึ้น และค่าครองชีพก็ยิ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
ดังนั้น เศรษฐกิจที่ยิ่งโตขึ้นจากการส่งออก จากการท่องเที่ยว จากการพึ่งพาต่างชาติ จึงมีส่วนทำให้ต้นทุนสินค้าและค่าครองชีพสูงขึ้น ส่วนคนที่ไม่อยู่ในกระบวนการส่งออก การท่องเที่ยว คนที่มีรายได้น้อย มีรายได้คงที่ หรือไม่มีรายได้ก็ต้องได้รับความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น
แม้จะมีการเรียกร้องให้เพิ่มค่าแรงกันเกือบทุกปีก็ตาม แต่ค่าแรงหรือเงินเดือนที่ได้รับเพิ่มก็ไม่เคยวิ่งไล่ค่าครองชีพที่วิ่งหนีไปไกลเลยสักครั้งเดียว
เราจึงจำเป็นต้องมีนักการเมืองเพื่อใช้กฎหมายในการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างเหมาะสม
นักการเมืองจึงเป็นอาชีพเดียวที่เข้าถึงทรัพยากรได้มากและง่ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ป่าไม้ พลังงาน ไฟฟ้า ข้าราชการ งบประมาณแผ่นดิน นโยบายแห่งรัฐ คำสั่งราชการ และอื่น ๆ เพื่อจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ อย่างมีวิสัยทัศน์ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างสมดุล

พอเกิดการแพร่ระบาดของ Covid-19 สถานการณ์ของโลกและของไทยเปลี่ยนไป การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยแทบเหลือศูนย์ ไม่มีการพึ่งพาต่างชาตินอกจากการพึ่งพาตนเอง
คนที่อยู่ในกระบวนการผลิต คนมีรายได้คงที่ หรือคนมีรายได้น้อยต่างก็ขาดรายได้ไม่ต่างจากคนจน กลายเป็นความเดือดร้อน ความอดยาก เกิดความช่วยเหลือ การเยียวยา และส่งผลให้ราคาสินค้าไม่ขยับหนีไปไหน
สิ่งนี้สื่อให้เห็นว่า การพึ่งพาตนเอง ไม่พึ่งพาต่างชาติ แม้จะทำให้เศรษฐกิจทรง ๆ ไม่ขยับตัว ไม่เติบโต แต่ก็ไม่ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดอย่างที่เห็น
พอค่อย ๆ ปลดล๊อกจาก Covid-19 การส่งออกเริ่มกลับมา ค่าครองชีพก็ค่อย ๆ ขยับขึ้น เนื้อหมูมีราคาแพงขึ้นจนเจ้จงต้องขึ้นราคาสินค้าและขึ้นข้อความข้างต้น
แต่วันนี้ ประเทศไทยจะไม่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวก็ไม่ได้ การพึ่งพาต่างชาติจึงเป็นดาบสองคมด้วยเหตุนี้
มันจึงเป็นความสำคัญและเป็นหน้าที่ของนักการเมืองที่ต้องเข้ามาจัดสรรในเรื่องนี้
นักการเมืองและรัฐบาลจึงควรใช้โอกาสจาก Covid-19 นี้ กำหนดแนวทางการพึ่งพาต่างชาติให้ดีขึ้น ให้มีทิศทางชัดเจนขึ้น ให้ส่งออกในสิ่งที่ควรให้ส่งออก ให้ท่องเที่ยวในสถานที่และในแบบที่ควรท่องเที่ยว ให้เปิดเสรีในส่วนที่ควรเปิดเพื่อลดการพึงพาต่างชาติให้น้อยลง และสุดท้ายก็ควรกำหนดทิศทางส่งเสริมการพึ่งพาตนเองให้ชัดเจนและมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา
หากนักการเมืองยังมุ่งมั่นพึ่งพาต่างชาติเพื่อผลักดันให้งานเพิ่มขึ้น ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการคลายล๊อก Covid-19 ก็เชื่อว่ารายได้ประชาชนที่จะได้รับก็ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพที่กำลังจะกลับพุ่งขึ้นมา
วันนี้ ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ 4 กุมารลาออกแล้ว นักการเมืองกำลังสาดโคลนและแย่งตำแหน่งกันในทางลับท่ามกลางการกดดันของฝ่ายค้านและม็อบเยาวชน
ระหว่างการแต่งตั้งหรือปรับรัฐมนตรีใหม่ หากรัฐบาลจะหลีกเลี่ยงระบบโค้วต้า พิจารณาบุคคลที่เหมาะสม ไม่มีผลประโยชน์ทันซ้อน มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความเป็นนักบริหารมืออาชีพเพื่อนำพาชาติไทยให้พึ่งพาตนเองมากขึ้น ลดการพึ่งพาต่างชาติ และค่าครองชีพอยู่ในระดับสมดุลกันก็จะเป็นบุญคุณต่อประชาชนอย่างใหญ่หลวง
หากพบนักการเมืองใดพูดว่า “เนื้อหมูแพงก็ไปกินอย่างอื่น” อย่างนี้ก็ไม่รู้ประเทศไทยจะมีนักการเมืองไปทำไม นักการเมืองแบบนี้ควรให้ไปขายหมูทอดแทนเจ้จง และให้เจ้จงมาเป็นนักการเมืองแทนจะดีกว่า
อย่างน้อยเจ้จงก็ยังนึกถึงประชาชน ยังสัญญาว่า ถ้าเนื้อหมูมีราคาลดลง เจ้จงก็จะปรับราคาขายอาหารให้ลงมาเหมือนเดิมเพื่อประคองค่าครองชีพให้อยู่ในความสมดุลกับรายได้

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

FDA ไต้หวันเตรียมห้ามหิ้วขนมและอาหารเข้าประเทศเกิน 6 กก.

ในระยะหลังมานี้ มีการจำหน่ายสินค้าขนมขบเคี้ยวและของกินเล่นจากต่างประเทศในช่องทางออนไลน์อย่างแพร่หลาย จนทำให้การรับจ้างหิ้วของจากต่างประเทศกลายเป็นอาชีพที่ทำรายได้ไม่น้อย แต่การที่สินค้าผ่านเข้าสู่ตลาดด้วยช่องทางแบบนี้ ทำให้เกิดเป็นช่องโหว่ด้านความปลอดภัยของอาหาร เพราะสินค้าเหล่านี้ไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบด้านสุขอนามัยใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานอาหารและยาของไต้หวัน (FDA) ได้ประกาศระเบียบใหม่เพื่อควบคุมดูแล โดยกำหนดให้ผู้โดยสารที่เดินทางจากต่างประเทศเข้าสู่ไต้หวัน จะสามารถนำสินค้าอาหารติดตัวเข้ามาได้ไม่เกินวันละ 6 กิโลกรัม ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้ามาพร้อมกันหรือส่งทางไปรษณีย์ โดยผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 3 ล้านเหรียญไต้หวัน

ตามระเบียบการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านอาหารและยาที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น มีการกำหนดเฉพาะการส่งพัสดุไปรษณีย์สินค้าอาหารเข้าสู่ไต้หวัน โดยจำกัดปริมาณให้ส่งได้ไม่เกินชนิดละ 6 กิโลกรัม แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงการนำติดตัวเข้ามาของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเพื่อใช้บริโภคเอง แต่หากเป็นการนำเข้ามาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า จะต้องได้รับอนุญาตจาก FDA ก่อน โดยผู้บริหารของ FDA ไต้หวันชี้ว่า มีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยอาศัยช่องโหว่ของระเบียบฯ ในการพกพาสินค้าอาหารของผู้โดยสารที่เดินทางจากต่างประเทศ และการจัดส่งทางพัสดุไปรษณีย์ มาใช้ในการนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อนำมาจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ โดยที่ปริมาณที่นำเข้ามามีจำนวนสูงเกินกว่าจะเป็นการนำเข้ามาเพื่อใช้บริโภคเองอย่างเห็นได้ชัด ถือเป็นพฤติกรรมที่ละเมิดกฎหมาย เพราะไม่มีทั้งฉลากและรายละเอียดของสินค้าที่เป็นภาษาจีน ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่มีอาการแพ้วัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารรับประทานเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา FDA ไต้หวันจึงตัดสินใจลดช่องโหว่ในทางปฏิบัติเพื่อสร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยของอาหารให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยประกาศร่างระเบียบใหม่ฉบับแก้ไข ซึ่งจะกำหนดให้สามารถนำเข้าสินค้าอาหารเข้าสู่ประเทศผ่านช่องทางพัสดุไปรษณีย์หรือนำติดตัวมากับผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศได้คนละไม่เกินวันละ 6 กก. และต้องมีมูลค่ารวมไม่เกิน 1,000 เหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น

พร้อมกันนี้ FDA ยังได้ขอให้ผู้ที่ทำการจำหน่ายสินค้าอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศ ยื่นขอรับการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนวางจำหน่าย มิฉะนั้น อาจมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 3 ล้านเหรียญไต้หวัน ทั้งนี้ หลังจากมีการประกาศร่างระเบียบใหม่แล้ว จะเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเป็นเวลา 60 วัน ก่อนจะมีการปรับปรุงแก้ไขร่างและประกาศใช้ต่อไป

ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/636767/636767.pdf&title=636767&cate=413&d=0

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.