CEO ARTICLE

คืนนี้ไม่กลับบ้าน


Follow Us :

    

Criminals always leave evidence.
“อาชญากร ย่อมทิ้งร่องรอยไว้เสมอ”

คำกล่าวข้างต้น ทำให้ประชาชนกลุ่มที่ต้องการความยุติธรรมต่างมีความหวังเกิดขึ้นกรณีนายบอส คุณวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ ด.ต. วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่
การติดตามข่าวทำให้ประชาชนเข้าใจระบบการทำงานของตำรวจและอัยการมากขึ้น
วันนี้ ประชาชนรู้แล้วว่า สำนักงานอัยการมีกฎหมายให้อำนาจพิเศษในมือและสามารถใช้อำนาจพิเศษนี้ “สั่งฟ้อง” หรือ “สั่งไม่ฟ้อง” ใครก็ได้ตามพยานหลักฐานที่ตำรวจเสนอมา
พยานหลักฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดที่ตำรวจจะใช้ประกอบสำนวนเพื่อเสนออัยการให้นำขึ้นสู่ศาลเพื่อการพิจารณาและพิสูจน์ในขั้นเด็ดขาด
พยานหลักฐานอ่อน มีข้อสงสัย หรือพยานหลักฐานแน่นหนาจึงเป็นเรื่องระหว่างตำรวจกับอัยการในคดีอาญา หากอัยการสั่งไม่ฟ้อง ทุกอย่างก็จบลงทันที ไม่สามารถนำเรื่องขึ้นมาได้อีก
“เว้นแต่จะมีพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือใหม่” เท่านั้น
คณะกรรมการมากมายหลายชุดที่ตั้งขึ้นหาความจริงจึงไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ เว้นแต่ใครก็ตามที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคณะกรรมการจะได้พยานหลักฐานใหม่ ก็ให้ดำเนินการใหม่ได้ภายใต้พยานหลักฐานใหม่
ส่วนพยานหลักฐานเดิมที่ทำให้เกิด “คำสั่งเด็ดขาด” ไม่ฟ้องคดีเท่าที่ปรากฎ เช่น ความเร็วรถไม่เกิน 80 ที่ขัดแย้งกับความเชื่อ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จนมีพยานอีก 2 คน มาให้การภายหลังว่า ขับรถตามมาและเห็นความเร็วไม่ถึง 80
การใช้โคเคนในการทำฟันจนกลุ่มทันตแพทย์ทั่วไทยต่างพร้อมใจกันปฏิเสธ
การไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดระหว่างขับรถ แต่ตำรวจเชื่อผู้ต้องหาที่ให้การว่าไปดื่มภายหลังเกิดเหตุเพื่อดับความเครียดเมื่อขับรถเข้าบ้านแล้ว
กระทั่งมาถึงการเสียชีวิตของนายจารุชาติ มาดทอง พยานที่เชียงใหม่เมื่อเวลา 01.30 น. ของเช้าตรู่วันที่ 30 ก.ค. 63 อย่างมีข้อสงสัยแต่ครอบครัวกลับไม่ติดใจ ยืนยันจะญาปนกิจจนนายกรัฐมนตรีต้องสั่งการให้อายัดเพื่อให้แพทย์ตรวจพิสูจน์ตามกระแสสังคม
โลกโซเซียลปัจจุบันก่อให้เกิดกระแสสังคมที่น่ากลัวและอาจล้มรัฐบาลได้หากยังนิ่งเฉย
ส่วนพิรุธมากมายก็ทำให้คนที่มองหาความยุติธรรมเชื่อว่า อาชญากรรม ความประพฤติมิชอบ หรือการทุจริตย่อมทิ้งร่องรอยให้สืบได้ตามคำกล่าวข้องต้นจนนำไปสู่การพิจารณาคดีใหม่ได้
ส่วนคนเข้าใจกฎหมายหรือที่ติดตามการวิเคราะห์ของนักกฎหมาย ก็เชื่อในทางตรงข้ามว่า ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้ ทุกอย่างสุดซอย และกระบวนการทางกฎหมายจบแล้ว
ขณะที่คนมองครอบครัวก็จะนึกถึงหัวอกคนเป็นพ่อ เป็นแม่ของผู้ที่ตกเป็นจำเลยสังคม ลูกอยู่ห่างบ้านห่างเมืองจะมีความอบอุ่นอย่างไร ???
ต่างคนต่างมุมมองกันไปตามวิสัยทัศน์ของแต่ละคน

ความอบอุ่นในครอบครัวประกอบด้วยพ่อแม่ลูกเป็นหลัก หรืออาจมีปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอาเป็นส่วนประกอบร่วมด้วย หากอยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่น แค่มีใครสักคนบอกว่า “คืนนี้ไม่กลับบ้าน” ความห่วงหาอาทรย่อมเกิดขึ้น
ยิ่งต้องห่างไกลกัน ข้ามทะเล ข้ามทวีปหลายปี หัวอกพ่อ หัวอกแม่จะเป็นอย่างไร ???
คนที่มองสถาบันครอบครัวเป็นหลักก็คิดว่า ในเมื่อคดีสิ้นสุดในทางกฎหมายแล้ว แม้จะอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการ คุณวรยุทธ์ก็น่าจะกลับแผ่นดินแม่ กลับมาให้ญาติพี่น้องได้กอดชื่นใจ
กลับมาหาเพื่อน กลับมาหาอาหาร หาก๋วยเตี๋ยวอร่อยในบรรยากาศไทย ๆ ให้หายคิดถึง
ความคิด มุมมองเหล่านี้ล้วนมองจากคนที่มองครอบครัวเป็นหลัก แต่ก็ไม่ใช่ครอบครัวคุณวรยุทธ์
ขณะเดียวกันก็ยังมีอารมณ์ของคนไทยที่กระจายรายล้อมเป็นส่วนผสมให้น่าคิด
อารมณ์คนไทยสมัยนี้ขึ้นไปแล้วลงยาก สมมุติคุณวรยุทธ์ได้รับการพิจารณาให้ปราศจากมลทินจริง ๆ ในอนาคต และกลับมาเดินตามห้าง อยู่ในผับ ในบาร์ ขับรถติดไฟแดง นั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยว หรือในสถานที่ต่าง ๆ แล้วเจอคนไทย อารมณ์ตอนนั้นจะเป็นอย่างไร ???
คิดถึงบริบทนี้แล้ว การไม่เสี่ยงกลับแผ่นดินแม่ดูจะปลอดภัยต่อลูกมากกว่าแน่
ดังนั้น คำที่ลูกจะกล่าวกับพ่อแม่ที่ว่า “คืนนี้ไม่กลับบ้าน” นะครับ แม้จะดูให้เป็นห่วงแต่ดูอบอุ่นและชื่นใจคงไม่เกิดขึ้นแน่ ความอบอุ่นในครอบครัวก็ยังคงขาดหายไปเช่นเดิม
กระบวนการทางกฎหมายก็เรื่องหนึ่ง กระบวนการทางสังคมและครอบครัวก็อีกเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะผิดหรือถูกอย่างไร วันนี้กระบวนการต่าง ๆ กำลังเดินหน้าของมันตามกฎเกณฑ์แล้ว

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

ติดตามเทรนด์ “นักดื่ม” เซี่ยงไฮ้.. โอกาสกาแฟไทยเข้าสู่จีน

China Daily ระบุจำนวนคอกาแฟชาวจีนในเซี่ยงไฮ้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และผู้คนไม่เพียงแต่หันมานิยมดื่มกาแฟเท่านั้น แต่ยังใส่ใจในการเลือกสรรเครื่องดื่มกาแฟของตนเองมากขึ้นด้วย ปัจจุบันกระแสตอบรับการดื่มกาแฟในเซี่ยงไฮ้ขยายตัวในวงกว้าง เห็นได้จากผู้บริโภคชาวจีนที่มิจำกัดแค่กลุ่มวัยรุ่นและวัยกลางคนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวัยใกล้เกษียณด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเครื่องดื่มยอดนิยมของชาวจีนอาจไม่ใช่แค่ “ชา” อีกต่อไป

พฤติกรรมเปลี่ยนไป.. เทรนด์กาแฟในเซี่ยงไฮ้มาแรง

ในอดีตชาวจีนที่ดื่มกาแฟส่วนใหญ่มักเลือกสั่งกาแฟที่คล้าย ๆ กัน เพราะยังไม่เข้าใจถึงความแตกต่างและหลากหลายของเมล็ดกาแฟแต่ละชนิดมากนัก แต่ปัจจุบันพวกเขาได้เรียนรู้และเข้าใจในการดื่มกาแฟมากขึ้น โดยคำนึงถึงแหล่งที่มา รสชาติ และกรรมวิธีการชงกาแฟในแบบเฉพาะที่ตนเองชื่นชอบ เช่นเดียวกับการเลือกดื่มชาของพวกเขาที่แม้ว่าจะมีชาหลากหลายแบบ แต่พวกเขาก็จะมีชารสโปรดของตนเองที่สามารถดื่มได้ทุกวัน

ไม่น่าแปลกใจเลยที่นครเซี่ยงไฮ้จะเป็นเมืองต้นแบบของกระแสการดื่มกาแฟในจีน เป็นเพราะการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเมือง ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ผสานหลายวัฒนธรรมจากทั่วโลก และผู้คนที่มีกำลังจับจ่ายใช้สอยและไลฟ์สไตล์ที่เปิดรับสิ่งใหม่มากกว่าเมืองอื่น ๆ ทำให้พวกเขาเรียนรู้และยอมรับการดื่มกาแฟได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบัน เซี่ยงไฮ้มีจำนวนร้านกาแฟประมาณ 8,000 ร้าน ซึ่งเพิ่มขึ้นมากถึง 4,000 ร้านภายในระยะเวลาเพียง 5 ปีจากปี 2558 โดยรายงานของ CIConsulting (บ. ด้านวิจัยอุตสาหกรรมชั้นนำของจีน) คาดการณ์ว่า การบริโภคกาแฟในจีนช่วงปี 2560 – 2564 จะเติบโตขึ้นร้อยละ 15-20 และตลาดกาแฟในจีนจะเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2566 จะมีมูลค่าตลาด 180,600 ล้านหยวน และมีอัตราการบริโภคกาแฟ 10.8 แก้วต่อคน เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีมูลค่าตลาด 56,900 ล้านหยวน และมีอัตราการบริโภคกาแฟเพียง 6.2 แก้วต่อคน อย่างไรก็ดี การบริโภคกาแฟต่อปีของชาวจีนก็ยังไม่นับว่าสูงมากนักหากเทียบกับประเทศในแถบตะวันตก เป็นผลให้ธุรกิจร้านกาแฟยังต้องดิ้นรนอยู่มากท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นและอัตราค่าเช่าสถานที่ในเซี่ยงไฮ้ที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น ร้านกาแฟที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเน้นการสร้างการรับรู้และเข้าถึงวัฒนธรรมการดื่มกาแฟจึงเป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจในช่วงนี้

ทั้งนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ร้านกาแฟต่างก็ต้องปิดให้บริการ แต่สถาบัน Research Institute of China for Business Industry ได้เผยว่า ตลาดกาแฟยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง “กาแฟสำเร็จรูป” ได้ส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดกาแฟมากถึงร้อยละ 70 เนื่องจากการจัดซื้อและบริโภคที่สะดวก ประกอบกับการดื่มกาแฟที่ได้เริ่มกลายเป็นความเคยชินและจำเป็นในชีวิตของชาวเซี่ยงไฮ้ปัจจุบัน ในขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดของกาแฟสดอยู่ที่ร้อยละ 15-20 เท่านั้น

รู้แบบนี้แล้ว ธุรกิจกาแฟในจีนทั้งหลายอาจต้องเร่งปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคในช่วงหลังการแพร่ระบาดฯ ซึ่งไม่เพียงต้องการความสะดวกสบายในการบริโภคสินค้าแต่ยังมีความกังวลในด้านการปฏิสัมพันธ์ด้วย ในขณะที่ธุรกิจกาแฟไทยเองก็อาจมองเห็นโอกาสในตลาดนี้เช่นกัน

คว้าโอกาส “กาแฟไทย” แข่งขันในตลาดจีน

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสการดื่มกาแฟของจีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และการยอมรับการดื่มกาแฟในวงกว้างอาจผลักดันให้ตลาดกาแฟเติบโตอย่างก้าวกระโดดเพราะจีนมีผู้บริโภคจำนวนมหาศาล ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสแก่นักธุรกิจในอุตสาหกรรมกาแฟหรือนักลงทุนที่สนใจเข้าลงทุนในจีน

ที่ผ่านมา “บริษัทอาข่าคอฟฟี่” ซึ่งเป็นธุรกิจไทยที่ได้นำเมล็ดกาแฟที่เพาะปลูกในพื้นที่ภาคเหนือของไทยเข้ามาทดลองตลาดผ่านงานแฟร์แห่งหนึ่งในเมืองอี้อู มณฑลเจ้อเจียงเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ให้คำปรึกษาเรื่องการจดทะเบียนบริษัทในมณฑลเจ้อเจียงเพื่อนำเข้าสินค้าจากไทยกระจายเข้าสู่ตลาดจีนด้วย ปัจจุบัน บริษัทอาข่าคอฟฟี่ได้ยื่นเรื่องจัดทำฉลากสินค้าในจีนแล้ว และเตรียมจะส่งเมล็ดกาแฟและสินค้าพื้นเมืองเข้าสู่ตลาดจีนในลำดับต่อไป

นอกจากนี้ บริษัทชั้นนำของไทยอย่าง ปตท. ก็ได้เข้ามาลงทุนเปิดร้านคาเฟ่อเมซอนสาขาแรกในจีนแล้วเช่นกันเมื่อปีที่ผ่านมา โดยยังคงใช้แนวคิดหลัก “Taste of Nature” เช่นเดียวกันกับร้านในไทยเพื่อทำตลาดในจีน ซึ่งเน้นให้ลูกค้าดื่มกาแฟในบรรยากาศร้านที่ร่มรื่นเป็นธรรมชาติ ซึ่งทราบว่ามีกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้าชาวจีนโดยเฉพาะเครื่องดื่มกาแฟไทยที่ลูกค้าสั่งซื้อสูงที่สุด ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะขยายสาขามากถึง 30 สาขาภายในปีหน้า

เห็นได้ว่า ธุรกิจกาแฟไทยได้เริ่มทยอยเดินหน้าบุกตลาดจีนกันแล้ว ท่านใดที่สนใจกำลังจะลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจกาแฟในจีน อาจพิจารณาคัดเลือกเซี่ยงไฮ้เป็นพื้นที่นำร่องได้ เนื่องจากกระแสการบริโภคและระดับการเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ของผู้บริโภคเซี่ยงไฮ้ค่อนข้างมีความโดดเด่นน่าจับตามอง !!

ที่มา : https://thaibizchina.com/shanghai-coffeeculture/

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.