CEO ARTICLE

ลุงตู่อยู่บ้านหลวง

Published on December 8, 2020


Follow Us :

    

‘มติ 9-0 อยู่บ้านหลวงไม่ผิด “ลุงตู่” ได้ไปต่อ’

MGR Online ขึ้นหัวข้อข่าวและเผยแพร่คำตัดสินเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2563 โดยคำตัดสินหลักอยู่ที่มาตรา 184 (3) ของรัฐธรรมนูญ 2560
ทันทีที่คำตัดสินเผยแพร่ การวิพากวิจารณ์ในหมู่นักการเมืองและประชาชนก็เกิดขึ้นในวงกว้าง ประเด็นหลักในข้อวิจารณ์ เช่น
“ลุงตู่อยู่บ้านหลวง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าฟรีจากเงินภาษีประชาชน”
“ลุงตู่ได้รับผลประโยชน์ทับซ้อนจากหน่วยงานของรัฐ”
“ระเบียบทัพบกจะใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญได้อย่างไร”
“ลุงตู่ 2 มาตรฐาน ทำอะไรก็ไม่ผิด มติ 9-0 มันดูผิดปกติ” และอื่น ๆ อีกมาก
หากพิจารณาน้ำหนักระเบียบกองทัพบก แน่นอน ระเบียบกองทัพย่อมเบากว่ารัฐธรรมนูญมาก และเมื่อระเบียบนั้นขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ระเบียบกองทัพก็ย่อมตกไป
ประเด็นนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาย่อมขาดคุณสมบัติต่อการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่จะมีผู้วิจารณ์สักกี่คนที่นำข้อกฎหมายที่ศาลธรรมนูญอ้าง ขึ้นมาพิจารณาให้เห็นหลักการและเหตุผลก่อนที่จะวิจารณ์

ข้อความในรัฐธรรมนูญหมวด 9 นั้น เป็นเรื่องของ “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” ระบุหัวข้อว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้อง … ”
มาตรา 184 (3) “ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจ การงานปกติ”
ภายหลังคำตัดสิน นักกฎหมายหลายท่านให้ความเห็นโดยเน้นคำว่า “ไม่รับประโยชน์เป็นพิเศษ” และคำว่า “ปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจ การงานปกติ”
คำอธิบายพอสรุปได้ว่า การให้สิทธิ์บ้านพักฯ นั้น ถือเป็น “การปฏิบัติ” ที่มีตั้งแต่ปี 2548 เป็นการให้ “ปกติ” แก่อดีตผู้บัญชาการที่มีคุณสมบัติตามกำหนด ไม่ได้เป็นการให้ที่ “พิเศษ” เฉพาะพลเอกประยุทธ์ แต่อย่างใด
การอยู่บ้านกองทัพของพลเอกประยุทธ์ จึงเป็นการอยู่แบบปกติ ไม่มีความเป็นพิเศษ ไม่ขัดต่อมาตรา 184 (3) และคำอธิบายที่ดูสั้น ง่าย ไม่ขัดจริยธรรม และรองรับมติ 9-0
คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญแม้จะถือว่า “สิ้นสุด” และ “ผูกพัน” ทุกองค์กร แต่การเมืองก็คือการเมือง ทุก ๆ สถานการณ์ไม่ว่าฝ่ายตนจะได้หรือเสียประโยชน์ การเมืองสามารถนำมาเป็น “เกมชิงอำนาจ” ได้ทั้งสิ้น
นักการเมืองทั้งฝ่าย “ชอบ” หรือ “ไม่ชอบ” ลุงตู่ต่างก็มีวิธีคิดของตน การตีความก็แตกต่างกัน การหากฎหมายอื่นมากล่าวอ้างเพื่อให้ฝ่ายตนดูดีและได้ประโยชน์ก็มีไม่ต่างกัน เช่น
“ต่อให้ลุงตู่อยู่บ้านพักพิษณุโลกซึ่งเป็นบ้านของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เป็นบ้านหลวง เป็นภาษีประชาชน และอยู่ฟรีไม่ต่างกัน”
“บ้านพิษณุโลกต้องมีการรักษาความปลอดภัยและค่าใช้จ่ายแพงกว่าบ้านกองทัพบกอีก”
ยิ่งการเมืองแตกแยกรุนแรงเป็น 2 ฝ่ายเวลานี้ จึงเป็นเรื่องของอำนาจ ผลประโยชน์ และจินตนาการณ์ที่ดูจะเหนือกว่าหลักการและเหตุผลของฝ่ายชอบและไม่ชอบลุงตู่ที่จะยกขึ้นมา
แต่ไม่ว่าการเมืองจะแตกแยกรุนแรงแค่ไหน หากประชาชนไม่เออออตาม คิดด้วยหลักการและเหตุผลล้วน ๆ การเมืองก็ทำให้ความแตกแยกเกิดไม่ได้
แต่ภาพที่ทุกคนเห็นในวันนี้กลับตรงกันข้าม
วันนี้ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจของไทยยิ่งมากกว่าอดีต การเจริญเติบโตทางเทคโนโลยีทั่วโลกที่มากขึ้นก็ยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น
ความเหลื่อมล้ำยิ่งมากขึ้น ความคิดแตกแยกก็ยิ่งมากไปด้วย และการเมืองก็ยิ่งได้คะแนนเสียงและได้ผลประโยชน์จากความแตกแยกที่มากขึ้น
หากจะแก้ไข “ความแตกแยก” ก็ต้องแก้ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ให้ได้ก่อน
แต่ประเทศไทยเคยมีนายกรัฐมนตรีที่มีความสามารถหลายคน แต่เพราะวังวนของคะแนนเสียงและผลประโยชน์ ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงแก้ได้ไม่มากและไม่เคยทันเทคโนโลยี
ประเทศไทยวันนี้จึงเป็นเช่นนี้ ประชาชนจึงยังเลือกนักการเมืองที่เป็นตัวแทนความเหลื่อมล้ำ และไปต่อยอดความแตกแยกอย่างที่เห็นจนไม่รู้ว่า “ลุงตู่อยู่บ้านหลวง” จะต่อยอดไปถึงไหน
น่าสงสารก็แต่ประชาชนกลุ่มกลาง ๆ ที่ต้องการทำงาน ต้องการค้าขาย ต้องการความสงบสุข แต่ถูกกระทำ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดจากความแตกแยกครั้งนี้ และเป็นไปตามคำกล่าวที่ว่า “จากนี้ไปประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม”

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
เผยแพร่วันที่ 08 ธ.ค. 2563

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : December 8, 2020

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

CMA CGM เปิดตัวบริการรถไฟ Block Train ขบวนแรกของไทย เชื่อมแหลมฉบัง – ICD ลาดกระบัง

นับตั้งแต่สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องลาดกระบัง หรือ ICD ลาดกระบัง เปิดให้บริการเมื่อ 25 ปีก่อน จุดประสงค์หลักก็คือการอำนวยความสะดวกแก่ผู้นำเข้า-ส่งออกและบุคคลทั่วไป ในการเชื่อมต่อไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกหลักสำหรับการนำเข้าส่งออกตู้สินค้าของประเทศไทย โดยมีขบวนรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้บริการกิจกรรมการขนส่งตู้สินค้าทั้งขาเข้าและขาออก ผ่านผู้ให้บริการทั้งหกราย

อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้ว รถไฟขนส่งตู้สินค้าจาก ICD ลาดกระบังหนึ่งขบวนจะจัดสรรพื้นที่ระวางตู้สินค้าให้แก่ผู้ให้บริการแต่ละราย ทำให้พื้นที่ระวางสินค้าที่ลูกค้าสามารถใช้ได้มีปริมาณจำกัด หากปริมาณตู้สินค้าของลูกค้ามีมากกว่าที่ตัวแทนได้รับการจัดสรรเอาไว้ ก็อาจต้องรอรถไฟขบวนถัดไป หรือต้องเลือกใช้รูปแบบการขนส่งรูปแบบอื่นแทน ทำให้เกิดความล่าช้าหรืออาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท CMA CGM ผู้ให้บริการขนส่งตู้สินค้าชั้นนำของโลกจากฝรั่งเศส ได้เปิดให้บริการรถไฟขนส่งตู้สินค้าเหมาขบวน (Block Train) จากสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องลาดกระบัง ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเชื่อมต่อกับบริการขนส่งทางเรือจาก CMA CGM และสายการเดินเรืออื่นๆ ในเครือ

โดยขบวนรถไฟขนส่งตู้สินค้าเหมาขบวนดังกล่าวจะให้บริการสำหรับตู้สินค้าของ CMA CGM โดยเฉพาะ ทางบริษัทฯ จึงสามารถบริหารจัดการปริมาณตู้สินค้าและกำหนดการเดินรถไฟได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการรถไฟขนส่งตู้สินค้าเหมาขบวน (Block Train) ในประเทศไทยนี้นับเป็นก้าวแรกของกลุ่มบริษัท CMA CGM ในทวีปเอเชียในการให้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟแบบเหมาขบวน

Mr. Benoit de Quillacq กรรมการผู้จัดการ CMA CGM ประเทศไทย กล่าวว่า “การตัดสินใจเหมาพื้นที่ระวางสินค้าบนรถไฟทั้งขบวน แทนที่จะใช้เพียงพื้นที่ระวางที่ได้รับการจัดสรรมา เป็นการยกระดับความน่าเชื่อถือให้แก่ลูกค้าของเรา โดยลูกค้าสามารถมั่นใจได้ว่าจะมีพื้นที่ระวางสินค้าเพียงพอ รวมทั้งได้รับการเชื่อมต่อภาคพื้นดินที่ลื่นไหลจากแหลมฉบังสู่ลาดกระบังสำหรับสินค้าขาเข้า ซึ่งเรามีบริการขนส่งสินค้าจากทั้ง CMA CGM และ CNC เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบังกว่า 20 เส้นทาง ในแต่ละสัปดาห์”

จุดเริ่มต้นของบริการรถไฟเหมาขบวนนี้เริ่มจากการที่ต้นทุนค่าบริการเรือขนส่งตู้สินค้าชายฝั่ง (Barge) ปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงที่ผ่านมา CMA CGM จึงมองหาตัวเลือกอื่นในการให้บริการโดยที่ยังคงประสิทธิภาพเอาไว้ในระดับเดิมเอาไว้ ประจวบเหมาะกับการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ประกาศลดราคาค่าระวางรถไฟพอดี บริษัทฯ จึงปรึกษากับทางการรถไฟแห่งประเทศไทยถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาบริการรถไฟขนส่งตู้สินค้าที่สามารถเหมาพื้นที่ระวางสินค้าทั้งขบวนได้

หลังจากวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ และพบว่าบริการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ CMA CGM จึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนในที่สุดก็สามารถเปิดให้บริการรถไฟขนส่งตู้สินค้าเหมาขบวนจาก ICD ลาดกระบังไปยังท่าเรือแหลมฉบังได้ ซึ่งความสำเร็จในการเปิดขบวนรถไฟแบบเหมาขบวนนี้ CMA CGM Thailand นับเป็นรายแรกของกลุ่มบริษัทในเอเชียที่สามารถทำได้สำเร็จ

ในขั้นต้น CMA CGM จะปฏิบัติการขบวนรถไฟขนส่งตู้สินค้าเหมาขบวนสี่เที่ยวต่อสัปดาห์ทุกวันพฤหัสบดีถึงวันอาทิตย์ เพื่อให้ทันขนถ่ายตู้สินค้าลงเรือที่เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง และออกเดินทางต่อไปยังปลายทางญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา โดยรถไฟแต่ละขบวนสามารถบรรทุกตู้สินค้าได้มากกว่า 60 ทีอียู เทียบเท่ากับรถบรรทุกหัวลากหลายสิบคันในการขนส่งปริมาณเท่ากัน ซึ่งสามารถช่วยลดการเผาผลาญเชื้อเพลิงได้เป็นปริมาณมาก อันสอดคล้องกับภารกิจหลักของกลุ่มบริษัทฯ ที่ให้ความสำคัญในการลดภาวะโลกร้อน นอกจากนี้บริการดังกล่าวไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกเท่านั้น แต่โรงงานอุตสาหกรรมบริเวณใกล้เคียงกับ ICD ลาดกระบังก็สามารถใช้ประโยชน์จากบริการดังกล่าวในการนำเข้าวัสดุที่จำเป็นได้อีกด้วย

ที่สำคัญที่สุด บริการ Block Train จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในการให้บริการของ CMA CGM ด้วยตัวเลือกในการขนส่งตู้สินค้าระหว่างกรุงเทพมหานครและท่าเรือแหลมฉบังที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกหัวลาก รถไฟเหมาขบวน และเรือขนส่งตู้สินค้าชายฝั่ง ทำให้บริษัทฯ สามารถวางแผนการจัดการตู้สินค้าได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และลูกค้าก็มั่นใจได้ว่าตู้สินค้าจะเดินทางไปถึงที่หมายตรงตามกำหนดเวลาอย่างปลอดภัย

ที่มา : https://www.logistics-manager.com/th/cma-cgm-launches-thailands-first-block-train/

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.