CEO ARTICLE
ให้ตัวแทนฯ ร่วมด้วย
‘จุรินทร์เคาะ 6 มาตรการแก้ตู้สินค้าขาดแคลน !’
‘จับมือภาครัฐ-เอกชนงัดทุกช่องทางช่วยส่งออก’
ประชาชาติออนไลน์ขึ้นหัวข้อข่าวข้างต้นเมื่อ 14 ธ.ค. 63 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า (Container) ต่อการส่งออกที่เกิดขึ้นหลายเดือน 6 มาตรการโดยสรุปคือ
1. หาทางนำตู้สินค้าเปล่าเข้ามาให้เพียงพอกับการใช้บรรจุสินค้าส่งออก
2. นำตู้สินค้าเก่ามาซ่อมแซมใช้บรรจุสินค้าเพื่อส่งออก
3. หาทางเพิ่มช่องทางการส่งออกโดยไม่ใช้ตู้สินค้า
4. สนับสนุนผู้ส่งออกรายย่อยให้รวมตัวกันจองตู้สินค้าล่วงหน้า
5. หาทางให้เรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้น บรรจุตู้สินค้าได้มากขึ้น เข้าเทียบท่าที่แหลมฉบัง
6. หามาตรการลดต้นทุนการนำเข้าตู้สินค้า
ข้อมูลในสถานการณ์ปกติ ประเทศไทยใช้ตู้สินค้าเพื่อการนำเข้า 3.5 ล้านตู้ต่อปี และเพื่อการส่งออก 5 ล้านตู้ต่อปี ทำให้ตู้สินค้าไม่พอใช้ต่อการส่งออก 1.5 ล้านตู้ต่อปีเป็นทุนเดิม
6 มาตรการข้างต้น เอกชนจึงน่าจะทำอยู่แล้วเพื่อลดต้นทุนทั้งของผู้ประกอบการเดินเรือ เจ้าของตู้สินค้า ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกเอง เพียงแต่ต่างคนต่างทำและอาจไม่ได้ผลดีนัก
ครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ขึ้นมาผลักดันก็น่าจะมีพลังมากขึ้น
ต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้ตู้สินค้านำเข้าไม่สามารถนำออกจากท่าเรือได้ก็คือ ‘ปัญหาศุลกากร’
ช่วง ‘ต้มยำกุ้ง’ ในปี 2540 คุณสมใจนึก เองตระกูล อธิบดีกรมศุลกากรขณะนั้นใช้นโยบาย ‘Customs Modernization’ สร้างความรวดเร็ว และทันสมัยด้วยอิเล็กโทรนิค (EDI)
สิ่งหนึ่งที่ดำริคือ การให้ตัวแทนออกของรับอนุญาต (Authorized Customs Broker) ต้องมีความรู้ ต้องผ่านการสอบ วางหลักทรัพย์ค้ำประกัน และสามารถขอรับสินค้านำเข้าไปก่อนได้
แนวคิดง่าย ๆ คือ สินค้านำเข้าที่มีปัญหา เช่น เอกสารไม่เรียบร้อย สินค้าอาจผิด ถูกอายัติ ผู้นำเข้าทำผิด สินค้าต้องถูกกักไว้ที่ท่าเรือ ผู้นำเข้าใช้ประโยชน์ไม่ได้ ต้องจ่ายค่าเช่าโรงพักสินค้า (Port Rent) ค่าเวลาตู้สินค้า (Demurage Charge) และอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น ปัจจุบันก็ยังเกิดขึ้น และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตู้สินค้านำเข้าไม่สามารถนำไปหมุนเวียนบรรจุสินค้าส่งออกได้
แนวคิดคือ การให้ตัวแทนออกของรับอนุญาตมีความรับผิดชอบ รับรองผู้นำเข้า นำสินค้าออกไปอายัติเก็บ ณ สถานที่ภายนอกได้ก่อน และมาดำเนินการให้ถูกต้องภายหลัง
น่าเสียดาย พออธิบดีมีการเปลี่ยนไปหลายคน แนวคิดนี้ก็ถูกละเลย ไม่ได้รับการปฏิบัติ แต่หลักทรัพย์ของตัวแทนออกของรับอนุญาตกลับยังอยู่ที่กรมศุลกากร ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า
หากรัฐบาลจะให้กรมศุลกากรร่วมกับตัวแทนออกของรับอนุญาต นำแนวคิดนี้กลับมาใช้ สร้างนโยบายให้ตู้สินค้านำเข้าต้องส่งคืนได้ภายใน 5 วันนับแต่สินค้านำเข้าเทียบท่าก็น่าจะทำให้ทุกฝ่ายมีเป้าหมายเวลา วางแผนการหมุนเวียนตู้สินค้าได้ดี และตู้สินค้าตกค้างในท่าเรือก็จะลดลง
ในกรณีความเสี่ยงด้านภาษีอากรไม่สูง กรมศุลกากรอาจให้ตัวแทนออกของรับอนุญาตยื่นคำร้องพร้อมเหตุผล รับสินค้าไปเก็บรักษาหรือไปควบคุม ณ สถานที่ของผู้นำเข้าก่อนอายัติ อาจทำสัญญาทัณฑ์บนกับผู้นำเข้า หรืออาจกำหนดมาตรการอื่น และคืนตู้สินค้า
จากนั้นก็ให้มาทำพิธีการศุลกากร ต่อสู้ทางคดีภายหลัง หรือดำเนินการภายหลัง ด้านกรมศุลกากรมีหลักทรัพย์ค้ำประกันจากตัวแทนออกของรับอนุญาตอยู่แล้วจึงไม่น่าจะเสี่ยง
ประเด็นนี้ แม้จะมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายด้านที่อาจเป็นอุปสรรคในอดีต แต่หากรัฐเป็นเจ้าภาพ แก้ไข ปรับปรุง อย่างน้อยก็ทำให้ประเทศไทยน่าลงทุนในสายตาทั่วโลกมากขึ้น
ปัจจุบัน สินค้านำเข้าส่วนมากได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีระหว่างประเทศ หรือ FTA (Free Trade Agreement) ปัญหาด้านภาษีอากรจึงน่าจะเบาบางลง
การให้ตัวแทนออกของรับอนุญาตมีส่วนร่วมแก้ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนนี้ แม้เป็นความคิดเก่า แต่ก็เป็นการพัฒนาระบบและสร้างความรวดเร็วที่ส่งผลเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างดี
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : December 22, 2020
Logistics
เคาะ 6 มาตรการแก้ตู้สินค้าขาดแคลน ลดผลกระทบส่งออกไทย
“จุรินทร์”เร่งแก้ปัญหาตู้ส่งสินค้าขาดแคลน ผนึกภาครัฐ-เอกชน งัดทุกช่องทางช่วยส่งออก เร่งหาตู้เปล่า-ตู้เก่า ป้อนผู้ประกอบการทันที พร้อมคุมค่าระวางเรือ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ ว่า ได้หารือร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าและอัตราค่าระวางเรือที่สูงขึ้น พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกที่กำลังได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้จะมุ่งเน้นแก้ปัญหาสำคัญ 3 ประเด็น 1.ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้สำหรับบรรจุสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศขาดแคลน 2.เรื่องค่าบริการในประเทศ จากกระบวนการนำเข้าและส่งออก และ 3.การจองพื้นที่เพื่อบรรจุตู้สำหรับส่งออกและปัญหาการจองตู้ ประเทศไทยมีความต้องการตู้สำหรับการส่งออกประมาณ 5 ล้านตู้ต่อปี และนำเข้า 3.5 ล้านตู้ต่อปี จึงขาดอยู่ 1.5 ล้านตู้
อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้ สรุปการแก้ไขเรื่องตู้ได้ 6 มาตรการ
1. กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับการท่าเรือและภาคเอกชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาลู่ทางในการเร่งนำตู้เปล่าเข้ามาให้พอกับการใช้บรรจุสินค้าส่งออก
2. เอาตู้เก่ามาซ่อมแซมในประเทศเพื่อใช้บรรจุสินค้าเพื่อการส่งออก โดยให้ความช่วยเหลือให้นำเข้าตู้เปล่าและตู้เก่าให้สะดวกรวดเร็ว
3. หาทางเพิ่มช่องทางการส่งออกโดยไม่ใช้ตู้ เช่น ใช้เรือสินค้าทั่วไปเป็นต้น
4. สนับสนุนช่วยเหลือ เอสเอ็มอี ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายย่อย ให้รวมตัวกันจองตู้ล่วงหน้าผ่านสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
5. เร่งดำเนินการหาลู่ทางให้เรือที่มีขนาด 400 เมตรสามารถเข้าท่าที่แหลมฉบังได้แทนที่จะอนุญาตเฉพาะเรือ 300 เมตร ในปัจจุบัน เพื่อให้การส่งออกการนำเข้าสามารถบรรทุกสินค้าได้มากขึ้น
และ 6. ให้หามาตรการในการลดต้นทุนการนำเข้าตู้และในเรื่องของค่าบริการในประเทศ (Local Charge) ได้ตกลงร่วมกันว่าจะร่วมมือกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนในการหาทางลดค่าบริการในประเทศ ปัจจุบันเฉลี่ยตู้ขนาด 20 ฟุต ประมาณ 1,800 บาทต่อตู้
สำหรับภาครัฐการท่าเรือจะไปหาลู่ทางปรับลดเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก และการนำเข้าตู้เปล่าหรือตู้เก่าเข้ามา ช่วยรับภาระได้ 6 เดือนถึงเดือนมิถุนายน 2564 การคิดค่าบริการที่สร้างภาระเกินสมควรกรมการค้าภายในจะใช้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเข้ามากำกับดูแล
ส่วนปัญหาการจองพื้นที่ตู้หรือการจองตู้ที่บางครั้งถูกเลื่อนหรือถูกยกเลิก เป็นปัญหากับผู้ส่งออก ได้ขอให้สำนักงานแข่งขันทางการค้า(สขค.)ของกระทรวงพาณิชย์เข้ามารับภาระในการรับเรื่องร้องเรียนจากภาคเอกชนที่ประสบปัญหาโดย สขค.แจ้งว่าถ้ามีหลักฐานพร้อมและมายืนร้องก็จะดำเนินการพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตู้ขาดแคลนทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะประเทศเราประเทศเดียว ที่มาประชุมเพราะต้องการแก้ปัญหาในส่วนของประเทศไทย ขาดแคลนเพราะ 1.ตู้คอนเทนเนอร์ไปค้างอยู่ที่ประเทศสหรัฐฯกับสหภาพยุโรปเยอะมากและส่งออกไม่ได้เพราะติดโควิด 2.จีนกับเวียดนามสามารถที่จะดึงตู้เปล่าอยู่ในประเทศได้เยอะมาก ทำให้ยิ่งขาดแคลน และโดยปริมาณตัวเลขการส่งออกน้ำเข้าของเรา นำเข้าแค่ 3,500,000 ตู้ต่อปีแต่ส่งถึง 5,000,000 ตู้ต่อปี ทำให้ขาดแคลนตู้ปีละ 1,500,000 ตู้
ทั้งนี้สถานการณ์การขาดแคลนตู้สินค้า มาจากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ค่าระวางการขนส่งทางทะเลต่ำ ทำให้สายเรือหลายบริษัทได้ปิดตัวลง และมีการควบรวมกิจการ ส่วนการขาดแคลนตู้สินค้า เกิดจากสายเรือลดการให้บริการจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะหลายประเทศชะลอหรือเลิกการนำเข้าส่งออกชั่วคราว และมีตู้สินค้าชะงักอยู่ที่จีนจำนวนมาก จากการเข้มงวดตรวจสอบสินค้า ติดค้างอยู่ที่สหรัฐฯ เพราะโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ ระยะเวลาหมุนเวียนของตู้สินค้าไปสหรัฐฯ เพิ่มจาก 7 วันเป็น 14 วัน และเทศกาลคริสมาสต์ ปีใหม่ ตรุษจีน ทำให้มีความต้องการตู้สินค้ามากขึ้นในการขนส่งสินค้าไปสหรัฐฯ และยุโรป
ที่มา : https://www.posttoday.com/economy/news/640245
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!