CEO ARTICLE
ทางสายแคบ
“คนเมียนมาที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยตอนนี้เป็นคนเข้ามาร่วมชะตากับเรา”
“เขามาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเรา เราต้องใช้พึ่งพาแรงงานจากพวกเขา”
“ในเมื่อเขาเจ็บไข้ได้ป่วย เราดูแลเขา เราก็จะได้ใจและได้คนมาทำงาน”
“เขากับเราจะอยู่เป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน”
คำคัดย่อข้างต้นเป็นของนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน กล่าวภายหลัง Covid-19 แพร่ระบาดรอบใหม่ราววันอาทิตย์ที่ 20 ธ.ค. 2563 คนเมียนมาที่รับรู้ถึงกับน้ำตาซึม ซึ้งใจ จากการที่ตกเป็นจำเลยของสังคม ถูกรังเกียจ และถูกนายจ้างทอดทิ้งอย่างไร้เยื่อใย
ส่วนผู้บริหารที่ตกเป็นจำเลยสังคมต่อมาคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงกลาโหม ข้าราชการฝ่ายความมั่นคง และนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด
การแพร่ระบาดรอบแรกควบคุมได้ดีตั้งแต่เดือน พ.ค. 63 จนต่างชาติยกย่องไทย และ พล.อ. ประยุทธ์ ได้หน้าไปเต็ม ๆ
หลายเดือนที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญและแพทย์บางท่านชี้เป็นเสียงเดียวกันว่า “การ์ดตก” ทั้งประชาชนและผู้บริหาร และฟันธงว่า สมุทรสาครจะเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของการแพร่ระบาดรอบใหม่เพราะประเทศเมียนมามีการระบาดหนักมากและแรงงานเมียนมาก็ลักลอบเข้าไทยมาก
คำเตือนคือ ‘รอบใหม่จะหนักกว่า’ เพราะรอบแรกค่อย ๆ แพร่เข้ามาจากต่างประเทศ การควบคุมจึงค่อย ๆ ไล่ตามได้ง่าย แต่รอบใหม่แอบฝังตัวอยู่ในประเทศเหมือนระเบิดเวลาที่รอคอย พอระเบิดทำงาน การแพร่กระจายจะเกิดเป็นวงกว้าง และจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศทรุดลง
ข่าวการแพร่ระบาดรอบใหม่นี้ ผู้ติดตามข่าวเจ็บใจ ไม่รู้จะลงที่ใครก็มาลงที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกอบกับคำเตือนก่อนหน้าก็ยิ่งทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ แก้ตัวไม่ขึ้น ตกเป็นจำเลย และถูกผลักเข้าสู่ ‘เส้นทางสายแคบ’ ของการเป็นผู้บริหารในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที
ผู้บริหารจะทำผิดไม่ได้ ยิ่งอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ยิ่งทำผิดไม่ได้ เพราะผู้บริหารจะมีที่ปรึกษา จะมีทีมงาน จะมีหน่วยงานที่จำเป็นเท่าไรก็ได้
สิ่งจำเป็นสูงสุดที่ผู้บริหารพึงมีก็คือ ‘วิสัยทัศน์’ และทักษะของ ‘การบริหารจัดการ’
การแพร่ระบาดรอบแรก พล.อ. ประยุทธ์ ใช้คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจนประสบความสำเร็จ แต่ไม่บริหารจัดการกับคำเตือนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดระลอกใหม่ตามวิสัยทัศน์ที่ควรมี
เรื่องเกิดขึ้นแล้ว เพียง 7 วันก็แพร่ระบาดมากกว่าครึ่งประเทศแล้วจนไม่อยากคิดถึง 14 วันที่กำหนด เส้นทางสายแคบก็เกิดขึ้นแล้ว วันนี้มันจึงอยู่ที่ พล.อ. ประยุทธ์ เท่านั้นที่จะใช้วิสัยทัศน์ของความเป็นผู้นำเข้าบริหารจัดการอย่างไรให้กลับคืนสู่ความเป็นปกติสุขโดยเร็ว
1. การจัดการตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกทำแล้ว แต่คำสั่งที่เด็ดขาด สร้างความมั่นใจ ยังไม่เห็น
2. แรงงานต่างชาติยามปกติอยู่จังหวัดไหน พักอาศัยอยู่แหล่งไหน ใคร ๆ ก็รู้ การตรวจสอบทำกันจริงจังแค่ไหน มีการทุจริตมากน้อยเพียงใด ครั้งนี้จะจัดการอย่างไรก็ควรทำในเชิงรุกให้เห็น
3. หน่วยงานความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร และท้องถิ่นที่ปล่อยให้มีการลักลอบนำแรงงานเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย เข้ามาทางไหน เข้ามาอย่างไร ทุจริตอย่างไร ข่าวตีแผ่ให้รู้หมดก็ควรใช้โอกาสนี้ลงโทษจริงจังให้เห็น จากนั้นจะวางระบบควบคุมในเชิงรุกอย่างไรก็ควรรีบทำ
4. นายจ้างที่จ้างแรงงานผิดกฎหมายจะจัดการอย่างไร หากแรงงานต่างชาติยังมีความจำเป็นต้องใช้ในงานที่แรงงานไทยไม่ทำ รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไรก็ควรสร้างความชัดเจนเพื่อป้องกันการทุจริตจากเจ้าหน้าที่ในอนาคต
นายกรัฐมนตรีจะไม่รู้เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ ยิ่งแสดงความไม่รู้ก็ยิ่งทำให้ประชาชนหงุดหงิด
Covid-19 รอบใหม่ครั้งนี้ หากจะว่าสถานการณ์ทำให้เกิดทางสายแคบแก่ พล.อ. ประยุทธ์ ก็ใช่ แต่หากจะว่าเป็นโอกาสที่จะแสดงวิสัยทัศน์ จัดการ แก้ไข และสร้างระบบป้องกันก็ใช่เช่นกัน
ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใคร ๆ ก็เป็นได้หากได้รับการยอมรับจากประชาชน
แต่คนผู้นั้นต้องมีวิสัยทัศน์เพียงพอ ต้องมีทักษะการบริหาร ต้องใช้ที่ปรึกษา ทีมงาน หน่วยงาน และงบประมาณเพื่อจัดการปัญหาของประเทศ มิฉะนั้น การยอมรับจากประชาชนจะลดลง เส้นทางความเป็นผู้นำก็จะแคบลง และความชอบธรรมในการขับไล่ก็จะกว้างขึ้น
ตรงกันข้าม ‘ทางสายแคบ’ เส้นนี้ก็สร้างโอกาสที่ดีได้ หากมีวิสัยทัศน์และเร่งบริหารจัดการในเชิงรุกทุกเรื่องให้เห็นโดยเร็วซึ่งขึ้นอยู่กับผู้นำประเทศแต่เพียงผู้เดียว
มิฉะนั้น ประชาชนก็ได้แต่กักตัวและป้องกันตัวเองท่ามกลางความหงุดหงิดที่ยาวนาน
ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ คณะผู้จัดทำบทความขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกศาสนา จงดลบันดาลให้ท่านผู้อ่านผ่านเส้นทางสายแคบที่อึดอัดนี้ไปได้ด้วยดี และขออวยพรให้ทุกท่านมีความสุข ความเจริญ และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานตลอดไป
สวัสดีปีใหม่ 2564
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : December 29, 2020
Logistics
อันดับสายการเดินเรือขนส่งตู้สินค้าปี 2020
อีกเพียงไม่กี่วันก็จะลาทีปีเก่า ต้อนรับปีใหม่กันแล้ว ก่อนจะอำลาปีชวด เรามาสำรวจอันดับสายการเดินเรือขนส่งตู้สินค้าปี 2020 กันดีกว่า
การขนส่งตู้สินค้าทางทะเลยังคงเป็นวิธีการขนส่งสินค้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาค, ประเทศ, ระหว่างประเทศ และทั่วโลก ยิ่งตลาดใหญ่แค่ไหน ก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้เรือที่มีขนาดใหญ่เท่านั้น และยิ่งถ้ามีขนาดใหญ่มากๆ สายการเดินเรือต่างๆ ก็จะยิ่งนำเรือขนาดใหญ่ไปให้บริการในตลาดนั้นๆมากขึ้น
ปัจจุบันมีสายการเดินเรือขนาดใหญ่มากมาย โดย AEC Logistics ได้จัดอันดับสายการเดินเรือขนส่งตู้สินค้าขนาดใหญ่ที่สุดของโลกไว้ 20 อันดับ ดังนี้
อันดับที่ 20 สายเรือ Unifeeder
สายเรือ Unifeeder ปัจจุบันมี พื้นที่ระวางตู้สินค้าบนเรือทุกลำรวมกัน 88,446 ทีอียู คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดขนส่งตู้สินค้า 0.4 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเรือประจำการทั้งสิ้น 56 ลำ
อันดับที่ 19 สายเรือ TS Lines
สายเรือ TS Lines ปัจจุบันมี พื้นที่ระวางตู้สินค้าบนเรือทุกลำรวมกัน 101,556 ทีอียู คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดขนส่งตู้สินค้า 0.4 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเรือประจำการทั้งสิ้น 46 ลำ
อันดับที่ 18 สายเรือ X-press Feeders
สายเรือ X-press Feeders ปัจจุบันมี พื้นที่ระวางตู้สินค้าบนเรือทุกลำรวมกัน 103,420 ทีอียู คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดขนส่งตู้สินค้า 0.4 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเรือประจำการทั้งสิ้น 69 ลำ
อันดับที่ 17 สายเรือ SITC
สายเรือ SITC ปัจจุบันมี พื้นที่ระวางตู้สินค้าบนเรือทุกลำรวมกัน 123,057 ทีอียู คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดขนส่งตู้สินค้า 0.5 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเรือประจำการทั้งสิ้น 85 ลำ
อันดับที่ 16 สายเรือ Antong Holdings (QASC)
สายเรือ Antong Holdings ปัจจุบันมี พื้นที่ระวางตู้สินค้าบนเรือทุกลำรวมกัน 144,376 ทีอียู คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดขนส่งตู้สินค้า 0.6 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเรือประจำการทั้งสิ้น 114 ลำ
อันดับที่ 15 บริษัท IRISL Group
บริษัท IRISL Group ปัจจุบันมี พื้นที่ระวางตู้สินค้าบนเรือทุกลำรวมกัน 152,419 ทีอียู คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดขนส่งตู้สินค้า 0.6 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเรือประจำการทั้งสิ้น 48 ลำ
อันดับที่ 14 สายเรือ KMTC
สายเรือ KMTC ปัจจุบันมี พื้นที่ระวางตู้สินค้าบนเรือทุกลำรวมกัน 153,749 ทีอียู คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดขนส่งตู้สินค้า 0.6 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเรือประจำการทั้งสิ้น 65 ลำ
อันดับที่ 13 สายเรือ Zhonggu Logistics Corp
สายเรือ Zhonggu Logistics Corp ปัจจุบันมี พื้นที่ระวางตู้สินค้าบนเรือทุกลำรวมกัน 168,581 ทีอียู คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดขนส่งตู้สินค้า 0.7 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเรือประจำการทั้งสิ้น 115 ลำ
อันดับที่ 12 สายเรือ Wan Hai Lines
สายเรือ Wan Hai Lines ปัจจุบันมี พื้นที่ระวางตู้สินค้าบนเรือทุกลำรวมกัน 238,235 ทีอียู คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดขนส่งตู้สินค้า 1.0 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเรือประจำการทั้งสิ้น 92 ลำ
อันดับที่ 11 สายเรือ ZIM
สายเรือ ZIM ปัจจุบันมี พื้นที่ระวางตู้สินค้าบนเรือทุกลำรวมกัน 282,013 ทีอียู คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดขนส่งตู้สินค้า 1.2 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเรือประจำการทั้งสิ้น 58 ลำ
อันดับที่ 10 สายเรือ PIL (Pacific International Line)
สายเรือ PIL ปัจจุบันมี พื้นที่ระวางตู้สินค้าบนเรือทุกลำรวมกัน 350,390 ทีอียู คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดขนส่งตู้สินค้า 1.5 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเรือประจำการทั้งสิ้น 111 ลำ
อันดับที่ 9 สายเรือ Hyundai Merchant Marine
สายเรือ Hyundai Merchant Marine ปัจจุบันมี พื้นที่ระวางตู้สินค้าบนเรือทุกลำรวมกัน 551,732 ทีอียู คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดขนส่งตู้สินค้า 2.3 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเรือประจำการทั้งสิ้น 67 ลำ
อันดับที่ 8 สายเรือ Yang Ming
สายเรือ Yang Ming ปัจจุบันมี พื้นที่ระวางตู้สินค้าบนเรือทุกลำรวมกัน 603,320 ทีอียู คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดขนส่งตู้สินค้า 2.5 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเรือประจำการทั้งสิ้น 92 ลำ
อันดับที่ 7 สายเรือ Evergreen Line
สายเรือ Evergreen ปัจจุบันมี พื้นที่ระวางตู้สินค้าบนเรือทุกลำรวมกัน 1,227,385 ทีอียู คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดขนส่งตู้สินค้า 5.2 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเรือประจำการทั้งสิ้น 190 ลำ
อันดับที่ 6 สายเรือ Ocean Network Express (ONE)
สายเรือ Ocean Network Express ปัจจุบันมี พื้นที่ระวางตู้สินค้าบนเรือทุกลำรวมกัน 1,560,404 ทีอียู คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดขนส่งตู้สินค้า 6.6 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเรือประจำการทั้งสิ้น 212 ลำ
อันดับที่ 5 สายเรือ Hapag-Lloyd
สายเรือ Hapag-Lloyd ปัจจุบันมี พื้นที่ระวางตู้สินค้าบนเรือทุกลำรวมกัน 1,718,391 ทีอียู คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดขนส่งตู้สินค้า 7.2 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเรือประจำการทั้งสิ้น 237 ลำ
อันดับที่ 4 สายเรือ CMA CGM
สายเรือ CMA CGM ปัจจุบันมี พื้นที่ระวางตู้สินค้าบนเรือทุกลำรวมกัน 2,672,830 ทีอียู คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดขนส่งตู้สินค้า 11.2 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเรือประจำการทั้งสิ้น 486 ลำ
อันดับที่ 3 สายเรือ COSCO Shipping
สายเรือ COSCO Shipping ปัจจุบันมี พื้นที่ระวางตู้สินค้าบนเรือทุกลำรวมกัน 2,869,479 ทีอียู คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดขนส่งตู้สินค้า 12.1 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเรือประจำการทั้งสิ้น 470 ลำ
อันดับที่ 2 สายเรือ Mediterranean Shipping Co. (MSC)
สายเรือ MSC ปัจจุบันมี พื้นที่ระวางตู้สินค้าบนเรือทุกลำรวมกัน 3,617,150 ทีอียู คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดขนส่งตู้สินค้า 15.4 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเรือประจำการทั้งสิ้น 549 ลำ
อันดับที่ 1 สายเรือ Maersk Line
สายเรือ Maersk Line ปัจจุบันมี พื้นที่ระวางตู้สินค้าบนเรือทุกลำรวมกัน 3,972,244 ทีอียู คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดขนส่งตู้สินค้า 16.7 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเรือประจำการทั้งสิ้น 656 ลำ
ในการจัดอันดับสายเรือ สายการเดินเรือ Maersk ยังคงเป็นสายเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แม้พื้นที่ระวางสินค้าจะลดลงเล็กน้อย แต่จำนวนเรือลดลงไปเกือบ 50 ลำ ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า Maersk มีการนำเรือขนาดใหญ่ขึ้นมาให้ให้บริการ เช่นเดียวกับสายการเดินเรืออีกหลายราย ที่ลดจำนวนเรือ แต่เพิ่มขนาดของเรือที่ให้บริการ
สายเรือไทยอย่าง RCL หรือ Regional Container Lines ไม่ได้อยู่ใน 20 อันดับแรก และอันดับลดลงจากที่ 22 เมื่อปีที่แล้ว เป็นที่ 26 ในปีนี้ มีพื้นที่ระวางตู้สินค้าทั้งหมด 55,185 ทีอียู ลดลงจาก 64,576 ทีอียู ในปีที่แล้ว และมีจำนวนเรือ 30 ลำ ลดลงจาก 43 ลำเมื่อปีที่แล้ว
ส่วนการจัดอันดับในปีหน้า 2021 จะเป็นอย่างไร คงต้องคอยติดตามกันอีกครั้ง
ในโอกาสนี้ขออวยพรให้ผู้อ่านทุกท่านมีพลังใจและพลังกายที่เข้มแข็ง ชนะทุกปัญหาและฝ่าฟันอุปสรรคทุกอย่างไปได้ด้วยดี ลาทีปีหนู พบกันใหม่ปีฉลูฟูเฟื่อง สวัสดีปีใหม่ 2564
ที่มา : https://aec-logistics.com/%e0%b8%97%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b8%ad-%e0%b9%82%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%94/
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!