CEO ARTICLE
ไอ้เข้ขวางคลอง
“จระเข้ขวางคลอง” เป็นสำนวนไทยหมายถึง การทำตัวกีดขวางผลประโยชน์ของผู้อื่น
จระเข้เป็นสัตว์ดุร้าย เมื่อทำตัวขวางคลองจึงไม่มีผู้ใดกล้าเข้าไปจัดการแก้ไข หรือยากต่อการแก้ไข สำนวนนี้เมื่อพูดบ่อยจึงกลายเป็น “ไอ้เข้ขวางคลอง”
สัปดาห์ที่ผ่านมา การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ หรือ Shipping เกิดสถานการณ์ “ไอ้เข้ขวางคลอง” ขึ้นที่คลองสุเอซ (Suez Canal) ประเทศอียิปต์จนส่งผลกระทบไปทั่วโลก
เรือสินค้า Ever Given มีความกว้าง 59 เมตร ยาว 400 เมตร และบรรทุกได้ 20,000 ตู้สินค้า (Container) น้ำหนักรวมราว 200,000 ตัน สูงรวมเกือบตึก 20 ชั้น ออกจากท่าเรือ Ningbo ของจีนวันที่ 4 มี.ค. 64 มีกำหนดการถึง Rotterdam ในวันที่ 31 มี.ค. 64 แต่เกิดอุบัติเหตุ
เหตุการณ์เกิดขึ้นในวันที่ 23 มี.ค. 64 เวลา 07.45 น. เมื่อเรือดังกล่าววิ่งในคลอง อยู่ ๆ ก็เกิดพายุทรายจนเรือเสียการทรงตัว หัวและท้ายเรือถูกพายุพัดไปคนละฝั่ง เกยตื้นฝังแน่นขอบตลิ่ง ขวางคลอง เคลื่อนไม่ได้ ไม่ว่าจะใช้เรือดัน หรือพยายามอย่างไรก็ไม่หลุดออกมา
คลองสุเอซถูกปิดโดยปริยาย เรือสินค้านับร้อยลำผ่านคลองนี้ไม่ได้ การค้าระหว่างประเทศในแถบเอเซียและยุโรปจึงถูกกระทบ
ทางน้ำทุกสายหากขุดขึ้นมา ไม่ว่าจะกว้างเพียงใดก็จะเรียกว่า “คลอง” เช่นเดียวกับคลองสุเอซซึ่งเป็นคลองขุด มีความกว้างราว 400 เมตร และมีความยาว 193.3 กิโลเมตร
ในอดีต การขนส่งระหว่างทวีปเอเซียกับยุโรป หากเป็นทางบกก็สามารถผ่านประเทศแถบตะวันออกกลาง
แต่หากเป็นทางน้ำ เรือสินค้าไม่สามารถแล่นผ่านแผ่นดินได้ จึงต้องแล่นอ้อมทวีปแอฟริกาผ่านแหลมกู๊ดโฮป (Cape of Good Hope) ซึ่งมีโจรสลัดมาก อันตราย ใช้เวลาราว 24 วัน มีความเสี่ยง เสียเวลา และมีค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งสูง
แนวคิดขุดคลองเชื่อมทะเล 2 ด้าน (มหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแอตแลนติก) เกิดขึ้นมานานนับพันปี แต่เริ่มได้จริงในปี 2402 (ค.ศ. 1859) ซึ่งตรงกับรัชกาล 4 ของไทย และไปเสร็จสิ้นในปี 2412 (ค.ศ. 1869) ในรัชกาลที่ 5 โดยรัฐบาลอียิปต์เจ้าของพื้นที่ร่วมมือกับฝรั่งเศส
ภายหลังเสร็จสิ้น เรือสินค้าระหว่างเอเซียกับยุโรปจึงวิ่งผ่านคลองสุเอซมากขึ้น ใช้เวลา 16 ชั่วโมง ย่นเวลามาก ปีหนึ่งมีเรือผ่านถึง 25,000 ลำ หรือ 14% ของการขนส่งทางเรือทั่วโลก
ในอดีต คลองสุเอซก็เคยถูกปิดเป็นไอ้เข้ขวางคลองหลายครั้ง เช่น
ปี 2425 (ค.ศ. 1882) หรือ 23 ปีหลังคลองสุเอซเปิดใช้ อียิปต์เกิดความไม่สงบภายในประเทศ อังกฤษและฝรั่งเศสถือโอกาสนี้รุกราน ยึดครองประเทศอียิปต์และคลองสุเอซ
ปี 2499 (ค.ศ. 1956) หลังอังกฤษและฝรั่งเศสยึดคลองสุเอซมาได้ 74 ปี อียิปต์ก็เข้ายึดคืน แต่อังกฤษและฝรั่งเศสไม่ยอม จึงไปดึงอิสราเอลมาร่วมต่อสู้จนกลายเป็น “วิกฤติการณ์คลองสุเอซ” (Suez Crisis) เรือสินค้าถูกทำลายจมในคลองสุเอซจำนวนมาก การค้าทั่วโลกเดือดร้อน
ในที่สุด สหรัฐและองค์การสหประชาชาติเข้าไกล่เกลี่ยจนอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิสราเอลยอมถอนกำลัง คลองสุเอซกลับมาเป็นของอียิปต์อีกครั้ง
ปี 2510 – 2518 (ค.ศ. 1967 – 1975) คลองสุเอซถูกปิดอีกเมื่อเกิดการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับ ครั้งนี้ถูกปิดถึง 8 ปี กระทั่งเหตุการณ์สงบลง คลองสุเอซจึงกลับมาเปิดใช้
ปี 2564 (ค.ศ. 2021) ครั้งนี้คลองสุเอซถูกปิดจากพายุทราย เป็นอุบัติเหตุ ไม่ใช่การเมือง ไม่ใช่สงครามเหมือนในอดีต ทั่วโลกต่างเอาใจช่วย เสนอความคิด และเสนอตัวช่วยเหลือ
ตอนแรกคาดว่าเรือจะติดอยู่หลายสัปดาห์ แต่เพราะการประสานงานกันทั่วโลก ปรากฎว่าเพียง 1 สัปดาห์ก็หลุดพ้น และไม่ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งระหว่างเอเซียและยุโรปสูงขึ้นอย่างน่ากลัว
ไอ้เข้ขวางคลองครั้งนี้เป็นอุบัติเหตุ ทุกเชื้อชาติต่างช่วยกัน และใช้เวลาไม่นานก็แก้ได้
แต่หากเป็นการเมืองเหมือนในอดีต ไอ้เข้ขวางคลองเกิดจากการยึดครองและสงครามของมหาอำนาจ จะขวางคลองเป็นปี และความเสียหายทั่วโลกก็มีมากกว่านี้มาก
คลองสุเอซเป็นทรัพยากรที่สร้างเศรษฐกิจและผลประโยชน์ให้อียิปต์มหาศาล สำคัญต่อการขนส่งโลก ประเทศมหาอำนาจในอดีตจึงแย่งชิง
ไม่มีใครรู้ว่า การเมืองโลกต่อไปจะเป็นอย่างไร จะมีไอ้เข้ขวางคลองอีกหรือไม่ ?
แต่วันนี้ ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกของไทยเข้าใจเส้นทางการเดินเรือมากขึ้น เข้าใจความสำคัญของคลองสุเอซ เข้าใจประวัติศาสตร์ และการแย่งชิงเพื่อยึดครองทรัพยากรของประเทศอื่น และนี่ก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่หลายรัฐบาลของไทยในอดีตไม่กล้าตัดสินใจขุดคลองที่คอคอดกระก็ได้
หากประเทศไทยขุดคลองคอคอดกระจนเกิดการเมืองและผลประโยชน์ระดับโลกขึ้น คลองไทยอาจไม่เพียงถูกปิดเป็นไอ้เข้ขวางคลองเท่านั้น
แต่ภาคใต้อาจถูกแบ่งและถูกแย่งชิงอย่างไม่มีเหตุผลเหมือนคลองสุเอซในอดีตก็ได้เช่นกัน
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : March 30, 2021
Logistics
รู้จัก ‘คลองสุเอซ’ เส้นทางลัดสำคัญเอเชีย-ยุโรป โดนเรือยักษ์ขวางจนมิด
‘คลองสุเอซ’ ถูกกล่าวขานอย่างอื้ออึงอีกครั้ง หลังเกิดเหตุการณ์ที่กำลังสั่นสะเทือนการค้าโลก เรือคอนเทนเนอร์ขนาดยักษ์ ‘Ever Given’ (เอเวอร์ กิฟเวน) ประสบเหตุติดตื้นขวางคลองสุเอซจนมิดมาตั้งแต่ 23 มีนาคม 2564 จนทำให้ขณะนี้มีเรือสินค้ามากกว่า 200 ลำ ที่ติดขัด ‘ไปต่อไม่ได้’ เฝ้ารอด้วยความลุ้นระทึกว่าปฏิบัติการกู้เรือยักษ์ เอเวอร์ กิฟเวน จะสำเร็จเมื่อใด?ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์
( ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 มีนาคม 2564 เรือ เอเวอร์ กีฟเวน ได้ถูกดึงกลับมาอยู่ในแนวขนานกับลำคลองเรียบร้อยแล้ว และทีมกู้ภัยจะเริ่มปฏิบัติการลากจูงเรืออีกครั้งหลังจากที่กระแสน้ำขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถเปิดคลองสุเอซให้เรือสินค้าสัญจรผ่านได้ตามปกติหลังจากที่เรือ เอเวอร์ กีฟเวน ถูกนำไปยังบริเวณ Great Lakes ซึ่งเป็นจุดที่ลำคลองมีความกว้างเป็นพิเศษ )
คลองสุเอซ เป็นคลองขนส่งที่มนุษย์ขุดขึ้นในประเทศอียิปต์ และแล้วเสร็จตั้งแต่เมื่อ 152 ปีก่อน เพื่อหวังใช้เป็นเส้นทางลัด ย่นระยะทางในการเดินเรือระหว่างยุโรปและเอเชีย โดยไม่ต้องอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ในทวีปแอฟริกา ที่ต้องเสียทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายต่างๆมากกว่าหลายเท่า เนื่องจากต้องเพิ่มระยะทางในการเดินเรืออีกถึง 6,000 กิโลเมตร
นายเฟอร์ดินานด์ เดอ เลสเซป อดีตราชทูตฝรั่งเศสประจำอียิปต์ เป็นผู้ต้นคิดโครงการขุดคลองสุเอซตามแนวคิดของอดีตฟาโรห์ที่ต้องการสร้างคลองเชื่อมระหว่างทะเลแดง และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตั้งแต่เมื่อ 4,000 ปีก่อน โดยนายเดอ เลสเซป ได้ก่อตั้งบริษัทคลองสุเอซ (The Suez Canal Company) หลังจากได้รับสัมปทานจากทางการอียิปต์ โดยใช้ระยะเวลาในการดำเนินการขุดคลอง 10 ปี ระหว่างปี ค.ศ. 1859-1869
ปัจจุบัน คลองสุเอซ มีความยาว 193.3 กิโลเมตร กว้าง 300-350 เมตร เป็นคลองที่ไม่มีประตูกั้นน้ำเนื่องจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดง มีระดับน้ำเท่ากัน สามารถรองรับเรือสินค้าที่มีความยาว 500 เมตร กว้าง 70 เมตร ลึก 70 เมตร
ไม่ใช่ครั้งแรกที่โดนปิดคลอง
นับตั้งแต่คลองสุเอซก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดคลองในปี 1869 นั้น เคยเผชิญกับเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องมีการปิดคลองสุเอซมาแล้วระหว่างปี 1956-1957 จนก่อให้เกิดวิกฤติการณ์คลองสุเอซ ซึ่งรู้จักในชื่อ สงครามอิสราเอลกับอาหรับ ครั้งที่ 2 และต่อมา ในปี 1967 คลองสุเอซต้องถูกปิดอีกครั้ง เมื่ออิสราเอลยึดครองคาบสมุทรไซนาย (แผ่นดินรูปสามเหลี่ยมที่มียอดแหลมอยู่ทางทิศใต้ และด้านทิศเหนือติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) จากนั้น คลองสุเอซก็ได้ถูกปิดมาตลอดจนถึงปี 1975
หนึ่งเส้นทางเดินเรือการค้าคับคั่งที่สุดในโลก
ปัจจุบัน คลองสุเอซ ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเรือทางการค้าที่คับคั่งที่สุดในโลก เพราะเป็นเส้นทางลัดในการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรป โดยมีการประมาณการณ์กันว่าสินค้าทั้งหมดของโลกถึง 12% ถูกขนส่งผ่านคลองสุเอซ
ที่สำคัญ คลองสุเอซ ถือเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติเหลว น้ำมันดิบ ถึงประมาณ 5-10% นอกจากนั้นสินค้าที่เหลือ เป็นสินค้าอุปโภค อาทิ เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ อุตสาหกรรมการผลิต และอุปกรณ์ออกกำลังกาย
คลองสุเอซทำรายได้ปีละกว่า1.6 แสนล้านบาท
คลองสุเอซ เป็นคลองที่มีการเดินเรือเพียงทางเดียว โดยมี‘Suez Canal Authority’ หรือ SCA เป็นหน่วยงานบริหารจัดการคลองสุเอซ ซึ่งได้รายงานข้อมูลปี 2019-2020 :
-ปี 2019 มีเรือสินค้าที่เดินทางผ่านคลองสุเอซ ถึง 18,880 ลำ ระวางน้ำหนัก รวม 1.21 พันล้านตัน หรือเฉลี่ยแล้วมีเรือผ่านคลองสุเอซ 51.5 ลำต่อวัน
โดยในปี 2019 มีรายได้จากคลองสุเอซ 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.74 แสนล้านบาท คิดในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 30 บาท)
-ปี 2020 มีเรือสินค้าผ่านคลองสุเอซ 18,829 ลำ ระวางน้ำหนัก 1.17 พัน ล้านตัน มีรายได้ 5.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 1.68 แสนล้านบาท)
ด้วยเหตุนี้ การปิดคลองสุเอซ 2 ครั้งก่อนที่ผ่านมา อาจไม่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงเท่ากับครั้งนี้ เพราะการติดตื้น ขวางคลองสุเอซ ของเรือยักษ์เอเวอร์ กิฟเว่น ซึ่งมีความยาวนับ 400 เมตร กว้าง 200 เมตร ขนาดระวาง 2 แสนตัน กำลังสั่นสะเทือนการค้า ระหว่างเอเชียกับยุโรปที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 1975 หรือครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเลยทีเดียว
ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2058597
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!