CEO ARTICLE
จะโทษใครดี
“นายกฯ” ยันชัดเจนไม่ล็อกดาวน์ เตรียมหามาตรการรับมือ “โควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ” หลังแพทย์กังวลการเดินทางข้ามจังหวัดอาจติดเพิ่ม 100 เท่า
ลั่น “อะไรจะเกิด ก็ต้องเกิด”
แนวหน้าออนไลน์ขึ้นหัวข่าวข้างต้นเมื่อ 7 เม.ย. 64 18.00 น. ท่ามกลาง Covid-19 ที่แพร่ระบาดระลอก 3 หนักกว่าทุกครั้ง และม็อบการเมืองที่สงบลง แต่ความแตกแยก ความไม่มีเหตุผล และความเกลียชังยังคงอยู่
แล้วคำว่า “อะไรจะเกิด ก็ต้องเกิด” ก็ตามมาด้วยการวิจารณ์ถึงภาวะผู้นำ
วันนี้ ดารา นักการเมือง รัฐมนตรี และคนมีชื่อเสียงติดเชื้อกันหลายสิบคน แล้วแพร่ระบาดจากเพื่อนสู่เพื่อน สู่คนใกล้ชิด และสู่คนในครอบครัวอย่างรวดเร็วจนเกิดความตื่นตระหนก
หลายเดือนที่ผ่านมาการระบาดระลอก 2 ยังอยู่ แต่หากคุณยังพบปะผู้คน ลูก ๆ ยังเล่นกับเพื่อน ทุกคนยังกินข้าวนอกบ้านในลักษณะถอดหน้ากากอนามัย คุณก็มีสิทธิ์รับเชื้อและนำเชื้อแพร่สู่เพื่อนและครอบครัว ส่วนเพื่อนและครอบครัวก็มีสิทธิ์นำเชื้อมาแพร่สู่คุณไม่ต่างกัน
นี่คือความร้ายกาจของการแพร่ระบาดบนความประมาทในระลอก 3 มันต่อยอดกว้างขึ้นและกว้างขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 64 อย่างน่าใจหาย
ดังนั้นหากคุณยังออกนอกบ้าน ยังเปิดหน้ากากอนามัย และเผอิญได้รับเชื้อจากเพื่อนหรือครอบครัว หากคุณไม่อยากโทษตัวเอง คุณก็ไม่ควรโทษคนอื่นแต่ควรร่วมใจกันต่อสู้กับโรคร้าย
แต่หากคุณอยู่ในขอบเขตที่การแพทย์กำหนดแล้วติดเชื้อ คุณอาจโทษคนอื่นได้ แต่มันก็ไม่ก่อประโยชน์ใด ๆ และคุณก็ไม่ควรนำความเครียดมาซ้ำเติมกันอีก
หัวอกคนเป็นพ่อแม่ได้แต่มองหน้าลูก กอดลูก หาทางป้องกันลูกต่างพากันไปตรวจเชื้อ
ภาพคนจำนวนมากต่างพากันเข้าโรงพยาบาลเพื่อตรวจเชื้อ เพื่อป้องกันบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวจึงเกิดขึ้นจนเป็นความตรึงเครียดและวุ่นวายอย่างที่เห็น
เมื่อต้นปี 63 การแพร่ระบาดระลอกที่ 1 คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคือพระเอก
นายกฯ เชื่อฟังคำแนะนำทุกอย่าง ออกประกาศมาตรการต่าง ๆ ตามคำแนะนำ ล๊อกดาวน์ประเทศ แม้จะได้รับการวิจารณ์ในตอนแรก แต่เมื่อสำเร็จคำชื่นชมก็มีมากกว่า
ตอนปลายปีระลอก 2 คณะแพทย์ดูมีบทบาทลดลง แต่พอมาระลอก 3 ก็แทบไม่เห็นคณะแพทย์ออกมาเป็นทีม จะมีก็แต่เพียงแพทย์คนนั้นคนนี้ให้ความคิดเห็นทางสื่อโซเซียลเท่านั้น
วันนี้ ประชาชนกลุ่มที่มองความปลอดภัย เริ่มหงุดหงิด อยากให้รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์เหมือนระลอกที่ 1 เจ็บแต่จบในหมัดเดียว แต่คนอีกกลุ่มที่มองปากท้อง ไม่อยากให้ปิดเมืองปิดประเทศจนไม่รู้ประเทศไทยจะไปทางไหนดี
หากนายกฯ จะเอาความปลอดประชาชนแบบระลอกที่ 1 ก็ตั้งคณะแพทย์ให้เป็นที่ปรึกษา ทำตามคณะแพทย์ แต่หากจะเอาปากท้องก็ตั้งนักธุรกิจ คนค้าคนขายเป็นที่ปรึกษา
แต่หากสถานการณ์วันนี้ไม่เหมือนเดิม จะเลือกทั้งความปลอดภัยและปากท้อง 2 ทางก็ตั้งทีมงานจากแพทย์และนักธุรกิจร่วมกัน แต่ก็ควรระวังคน 2 กลุ่ม 2 แนวทางจะทะเลาะกัน
คนไทยนิสัยอย่างไรทุกคนรู้ดี นายกฯ ก็รู้ดี นักการเมืองนิสัยอย่างไร ทุกคนก็รู้ดี นายกฯ ก็รู้ดี ความรับผิดชอบต่อสังคมจึงมีอย่างที่เห็น ในเมื่อรู้ วิกฤติระลอก 3 จึงเป็นโอกาสชัด ๆ การจะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสก็ไม่ใช่เรื่องยาก มันอยู่ที่ภาวะผู้นำที่จะลุกขึ้นมาจัดการเท่านั้น
การแพร่ระบาดระลอกที่ 1 มาจากสนามมวย ครั้งที่ 2 มาจากบ่อน และครั้งที่ 3 นี้มาจากสถานบันเทิง มันวนเวียนอยู่กับสถานที่ชุมนุมที่มีคนมาก ๆ ไม่ว่าสีขาวหรือสีดำ และสายสัมพันธ์กับนักการเมืองทั้งสิ้น ใคร ๆ ก็รู้ นายกฯ ก็รู้ แต่ยังปล่อยให้ถึงจุดนี้จนปรามาสกันว่าอาจมีระลอก 4
ดังนั้น หากคุณติดเชื้อและไม่อยากโทษทั้งตัวเองและผู้อื่น คุณควรโทษใคร ???
มันเห็นชัด ๆ คุณควรโทษนายกฯ ในฐานะผู้นำประเทศ โทษรัฐมนตรีและนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่ไม่จัดระเบียบสังคมให้เข้ารูปเข้ารอยทั้งที่มีอำนาจเต็มมือ และโทษนักการเมืองฝ่ายค้านที่ไม่ติไม่ก่อเพื่อสร้างสรรค์แต่กลับมุ่งทำลายกันจนประเทศไทยมาถึงจุดนี้
สงกรานต์ 64 นี้ ใครจะเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดก็ขอให้ระมัดระวัง
ตัวคุณอาจแพร่เชื้อหรืออาจรับเชื้อไม่ต่างกัน มันแพร่ระบาดไปทั่วซึ่งต่างจากระลอกที่ 1 ที่ล็อกดาวน์แล้วปล่อย แต่ครั้งนี้เชื้อติดมากแล้วไล่ล็อกดาวน์ มันยากกว่ากันมาก
ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ไทย ผู้เขียนและทีมงานขออวยพรให้ผู้อ่านทุกท่านผ่านวิกฤติระลอก 3 ได้ และมีความสุขตามอัตภาพในเทศกาลสงกรานต์นี้ด้วยเทอญ
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : April 13, 2021
Logistics
โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงสิงคโปร์-กัวลาลัมเปอร์ยุติอย่างเป็นทางการแล้ว
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 รัฐบาลสิงคโปร์และมาเลเซียร่วมแถลงการณ์การจ่ายเงินชดเชยโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (High Speed Rail: HSR) สิงคโปร์-กัวลาลัมเปอร์ หลังจากการประกาศยุติโครงการเมื่อ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยรัฐบาลมาเลเซียได้จ่ายเงินชดเชยจำนวน 102,815,576 เหรียญสิงคโปร์1 (2.39 พันล้านบาท) เพื่อชดเชยค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลสิงคโปร์ในระหว่างการพัฒนาโครงการ ซึ่งการจ่ายเงินชดเชยนี้แสดงถึงการยุติความตกลงทวิภาคีโครงการ HSR อย่างเป็นทางการ โดยทั้งสองประเทศระบุว่ายังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีและส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนของทั้งสองประเทศ
ทั้งนี้ การประกาศยุติโครงการดังกล่าว ก่อให้เกิดความผิดหวังต่อหลายฝ่าย เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักของการสร้าง HSR คือเพื่อลดเวลาในการเดินทางระหว่างสิงคโปร์และกัวลาลัมเปอร์ระยะทาง 350 กิโลเมตร ให้เหลือประมาณ 90 นาที นอกเหนือจากการย่นระยะเวลาการเดินทางแล้ว โครงการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยสนับสนุน GDP ของสิงคโปร์และมาเลเซีย ประมาณ 6.7 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ (155.98 พันล้านบาท) และจะสร้างงานประมาณ 111,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2603
โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (High Speed Rail: HSR) สิงคโปร์-กัวลาลัมเปอร์
จุดเริ่มต้นของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (High Speed Rail: HSR) สิงคโปร์-กัวลาลัมเปอร์ เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ที่นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นาย Lee Hsien Loong และนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาย Najib Razak ประกาศเปิดตัวโครงการ HSR แก่สาธารณชนเป็นครั้งแรก และต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2559 ทั้งสองประเทศได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) และตามมาด้วยการลงนามความตกลง ทวิภาคีโครงการ HSR โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ นาย Khaw Boon Wan และรัฐมนตรีในสำนักนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย นาย Abdul Rahman Dahlan เป็นผู้ลงนามในความตกลงดังกล่าว เมื่อเดือนธันวาคม 2559 ซึ่งภายใต้ความตกลง โครงการ HSR คาดว่าจะเปิดใช้งานได้ตั้งแต่ปี 2569
การประกาศเลื่อนโครงการ HSR สิงคโปร์-กัวลาลัมเปอร์ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 หลังจากการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย ที่ Dr Mahathir Mohamad ชนะการเลือกตั้งและได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แทนนาย Najib Razak โดย Dr Mahathir Mohamad ได้แถลงข่าวว่าจะมีการศึกษาและทบทวนสัญญาโครงการระหว่างประเทศต่างๆ รวมทั้งโครงการ HSR และต่อมาได้ให้สัมภาษณ์กับ Financial Times ว่า โครงการ HSR จะใช้งบประมาณ 110 พันล้านริงกิต2 (830.5 พันล้านบาท) แต่จะไม่สร้างรายได้ให้กับมาเลเซียแม้แต่ริงกิตเดียว หลังจากนั้นในเดือนกรกฎาคม 2564 นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย Dr Mahathir Mohamad ประกาศว่า รัฐบาลมาเลเซียจะเจรจากับสิงคโปร์เพื่อขอเลื่อนโครงการ HSR ออกไป เนื่องจากหลังจากพิจารณาการเงินของมาเลเซียแล้ว คิดว่ามาเลเซียไม่สามารถร่วมโครงการต่อไปได้ ต่อมาในเดือนกันยายน 2561 สิงคโปร์และมาเลเซียได้ลงนามในความตกลงใหม่ เพื่อการเลื่อนโครงการ HSR ออกไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 และมีการเลื่อนการเริ่มโครงการออกไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2574 แทนวันที่ 31 ธันวาคม 2569 ทั้งนี้ ในขอการเลื่อนโครงการนี้ ทางมาเลเซียต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับสิงคโปร์จำนวน 15 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (349.2 ล้านบาท) สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการระงับโครงการ และหากมาเลเซียไม่สามารถทำตามสัญญาจะต้องรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
จุดจบของโครงการ HSR สิงคโปร์-กัวลาลัมเปอร์ เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ภายใต้การเมืองที่วุ่นวายของมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย Dr Mahathir Mohamad ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี โดยนาย Muhyiddin Yassin ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนใหม่ ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2563 สิงคโปร์และมาเลเซียได้หารือและตกลงเลื่อนโครงการ HSR ออกไปอีกครั้ง จนถึงสิ้นปี 2563 และเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้หารือเกี่ยวกับโครงการนี้ผ่านการประชุมทางวิดีโอ แต่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ หลังจากนั้นสื่อของมาเลเซียรายงานว่า รัฐบาลมาเลเซียกำลังพิจารณาดำเนินโครงการ HSR ต่อไป โดยที่สิงคโปร์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และเส้นรถไฟฟ้าที่เริ่มต้นในกัวลาลัมเปอร์อาจจะสิ้นสุดที่รัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย แทนที่จะเป็น Jurong East ประเทศสิงคโปร์ ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แถลงประกาศการยุติโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (High Speed Rail: HSR) สิงคโปร์-กัวลาลัมเปอร์ อย่างเป็นทางการ
ความคิดเห็นของ สคต.
โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (High Speed Rail: HSR) สิงคโปร์-กัวลาลัมเปอร์ ที่มีการชะลอการสร้างเกือบ 10 ปี ณ ปัจจุบันได้ยุติลงอย่างเป็นทางการแล้ว โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้มาเลเซียต้องทบทวนแผนการลงทุนในโครงการใหญ่หลายโครงการ ซึ่งมาเลเซียเห็นว่าการยุติโครงการ HSR และจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับสิงคโปร์ จะเป็นการลงทุนที่คุ้มกว่าการดำเนินโครงการต่อไป อย่างไรก็ดี ทางรถไฟที่ได้เริ่มดำเนินการสร้างแล้ว ทางมาเลเซียมีแผนที่จะพัฒนาต่อเป็นทางรถไฟภายในประเทศ ซึ่งสิงคโปร์มองว่าจะไม่คุ้มทุนและจะลงเอยโดยไม่ใช้ประโยชน์ ถ้าจะคุ้มค่าการลงทุนหมายความว่ามาเลเซียต้องมีจำนวนประชากรหรือผู้โดยสารมากเท่าจีน สำหรับไทย การยุติโครงการ HSR อาจส่งผลต่อโอกาสในด้านการส่งออกของไทยมายังสิงคโปร์ เนื่องจากโดยปกติไทยส่งสินค้าผ่านแดน ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ทั้งทางรถยนต์และรถไฟ ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 5-6 วัน แต่หากโครงการ HSR สำเร็จ จะทำให้ไทยสามารถส่งสินค้ามายังสิงคโปร์ได้ภายใน 1 วันเท่านั้น หมายความว่าสินค้าอาหารไทยจะสามารถส่งถึงสิงคโปร์ได้ในปริมาณที่มากขึ้นและใช้ระยะเวลาที่น้อยลง
ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/731018/731018.pdf&title=731018&cate=413&d=0
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!