CEO ARTICLE

หวยออนไลน์

Published on June 1, 2021


Follow Us :

    

‘ล็อกซเล่ย์’ ชนะคดีหวยออนไลน์ หลังรอนานกว่า 10 ปี

มติชนออนไลน์ขึ้นหัวข่าวข้างต้นเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 64 กองฉลากต้องจ่ายเงินกว่า 1.6 พันล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ไม่รู้จะเรียกเป็นค่าอะไร ?
แต่เป็นการตอกย้ำเรื่อง “หวยแพง” อาจเป็น “อมตะ” เรื่อยไปหากไม่ทำอะไร
หวยแพงเป็นหนามยอกอกมาทุกรัฐบาล ยกเว้นรัฐบาลคุณทักษิณในปี 2546 ที่ทำหวยบนดิน 2 ตัว 3 ตัว จนแก้ปัญหาหวยแพงและทำให้หวยใต้ดินเกือบหมดไป
หวยบนดินได้แนวคิดมาจากหวยใต้ดินที่ผิดกฎหมาย คนซื้อส่วนใหญ่มักหวังถูกรางวัลเลขท้าย 2 และ 3 ตัวเท่านั้น ใครเกิดถูกรางวัลที่ 1 ถึง 5 ก็ถือว่าเป็นแจ็คพอต
ตอนนั้น หวยบนดินสามารถซื้อได้ในราคา 20, 50 หรือ 100 บาท ใครถูกเลขท้าย 2 ตัวก็ได้ 55 บาทต่อการซื้อ 1 บาท และถูก 3 ตัวได้ 400 บาทต่อการซื้อ 1 บาท แถมมีรางวัลแจ็คพอตด้วย
หวยบนดินซื้อได้ “ไม่อั้น” เหมือนหวยใต้ดิน เจ้ามืออาจขาดทุนหรืออาจกินรวบหมดก็ได้จึงเรียก “กินรวบ” ต่างจาก พรบ. สำนักงานฉลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 ที่สลากมีจำนวนจำกัด การซื้อก็จำกัด เมื่อขายหมดก็ต้องมีผู้ซื้อถูกรางวัลแน่ รายได้เป็นการแบ่งกันจึงเรียก “กินแบ่ง”
“กินแบ่ง” มีกฎหมายรองรับ แต่ “กินรวบ” ไม่มีกฎหมายรองรับจึงผิดกฎหมาย
อีกประการหนึ่ง คุณทักษิณนำเงินที่ได้จากหวยบนดินไปใช้ในโครงการต่าง ๆ ไม่ส่งเข้า “เงินคงคลัง” ก่อน จึงเป็นการขัดต่อ พรบ. เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 มาตรา 4 ที่สรุปว่า
“เงินรายได้ของรัฐต้องนำส่งเข้าเงินบัญชีคงคลังโดยไม่หักเงินไว้เพื่อการใดเลย”
หวยบนดินจึงส่อในทางมิชอบ ผิดกฎหมาย และสร้างความเสียหาย ดังนั้นคณะรัฐมนตรีที่ให้ดำเนินการและคณะกรรมการสลากฯ ในเวลานั้นรวม 47 คน จึงถูกตัดสินให้มีความผิด
ก่อนหวยบนดินจะยุติ แนวคิดขายหวย 2 ตัว 3 ตัวด้วยเครื่องจำหน่ายออนไลน์เพื่ออำนวย ความสะดวกและแก้ปัญหาหวยแพงได้เกิดขึ้นโดยเรียก “บริการเกมฉลาก” หรือ “หวยออนไลน์”
กลุ่ม ‘ล็อกซเล่ย์’ ได้สัญญาติดตั้งเครื่องจำหน่ายในปี 2548 และติดตั้งเครื่องจำหน่ายได้ 6,753 เครื่อง (มติชนออนไลน์ 27 พ.ค. 64) ในปี 2549 แต่กลับไม่ได้รับอนุญาติให้จำหน่าย
สาเหตุคาดเดาว่าน่าจะเกิดจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า “การออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ไม่ถือเป็นการดำเนินการภายในขอบวัตถุประสงค์ของ พรบ. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 2517”
เมื่อไม่ใช่วัตถุประสงค์ของ พรบ. สลากกินแบ่งก็อาจผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะบอกเลิกสัญญาหรือไม่ก็คงต้องถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย กองสลากฯ จึงเลือกที่จะนิ่งเฉย ถูกฟ้อง และแพ้คดีข้างต้น
ปัญหาหวยแพงจึงยังเป็นอมตะและสร้างผลประโยชน์มหาศาลให้กับคนที่เกี่ยวข้อง

หวยออนไลน์ล้มไม่เป็นท่า แต่ข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นว่า การแก้ปัญหา “หวยแพง” ให้เป็นสากลก็น่าจะมีแต่การขายออนไลน์ แนวทางต่อไปนี้จึงเป็นเพียงข้อเสนอทำ “หวยออนไลน์” ให้ถูกกฎหมายขึ้นใหม่ และยังมีสลากขายแบบเดิม ดังนี้
1. ควรให้จำหน่ายหวยออนไลน์ และแบบผู้ขายเดิมควบคู่กันโดยแบ่งฉลากออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งขายออนไลน์ อีกส่วนหนึ่งพิมพ์เป็นใบขายเหมือนเดิม สัดส่วนให้เป็นไปตามการศึกษา
2. ให้ติดตั้งเครื่องจำหน่ายที่ธนาคารและสำนักงานปกครองท้องถิ่นเช่น อบต. ทั่วประเทศ ให้ขายในราคาใบละ 80 บาท หรือต่ำกว่า และผู้จำหน่ายมีรายได้ตามที่กองฉลากฯ กำหนด
3. ผู้ซื้อจากเครื่องออนไลน์​ต้องใช้บัตรประชาชน พาสปอร์ต บัตรที่ราชการออกให้ หรือบัตรที่ลงทะเบียนก็ได้เป็นผู้ซื้อเพื่อบันทึก เป็นการแก้ปัญหาฉลากหาย ชำรุด และการฟ้องร้อง
4. ผู้ซื้อเพียงบอกเลข 2 หรือ 3 ตัวให้ผู้จำหน่ายป้อนเข้าระบบ เครื่องจะวิ่งหาตัวเลข 2 หรือ 3 ตัวรวมกับเลขด้านหน้าเป็น 6 ตัวที่เหลือในระบบมาให้ หากตกลงเลขนี้ก็พิมพ์ออกมา
5. ผู้ซื้อจะซื้อกี่ใบก็ได้ หรือได้รับใบแรกแล้วจะขอซื้อเพิ่มด้วยเลขเหมือนกันทั้ง 6 ตัว แต่ต่างหมวดเลยก็ทำได้ แต่จะซื้อได้จำนวนใบเท่าที่เครื่องจะค้นหาเลขที่เหมือนกันทั้ง 6 ตัวให้ได้เท่านั้น
6. ระบบควรแสดงเลขที่เหลือทั้ง 6 ตัวให้ดูได้ เปิดโอกาสให้คนซื้อเลือก ทำให้ขายหมดง่าย เมื่อเลข 2 หรือ 3 หรือ 6 ตัวขายในระบบหมดก็คือหมดเป็นการอั้น ไม่ใช่แบบหวยบนดิน
7. การประกาศผลรางวัลก็ทำเหมือนเดิม จ่ายรางวัลเหมือนเดิม จึงเป็นการ “กินแบ่ง” และรายได้ส่งเข้า “เงินคงคลัง” ตามกฎหมาย
8. เมื่อเวลาผ่านไปก็จะเห็นว่าคนซื้อหวยผ่านเครื่องจำหน่ายหรือผ่านคนขายแบบเดิม ส่วนไหนมากกว่าก็ให้เพิ่มปริมาณสลากในส่วนนั้น
9. ฉลากที่พิมพ์เป็นใบจะน้อยลงก็ให้เฉพาะคนพิการ องค์การ หรือคนที่กำหนด คนขายเดิมก็ยังมีงาน ยังขายได้ปกติ เพียงแต่มีหวยออนไลน์เป็นคู่แข่ง หวยแพงก็จะลดลง
ข้อเสนอนี้ยังมีประเด็นอื่นอีก เช่น ทำอย่างไรให้หวยออนไลน์ขายหมด การฝากผู้อื่นซื้อแต่อาจเกิดการฟ้องร้องสิทธิ์ภายหลัง เป็นต้น ที่กองฉลากควรศึกษา เสนอ และจัดการ
ปัจจุบันมีเอกชนกว้านซื้อสลากมาทำหวยออนไลน์ขาย 80 บาท สัดส่วนไม่มาก แต่อยู่ได้สบาย และแก้ปัญหาหวยแพงได้
หากผู้รับผิดชอบจะนำแนวทางที่เสนอนี้ไปประยุกต์ใช้ หรือปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องก็จะเป็นพระคุณต่อคนไทยอย่างมากเพราะคนไทยติดหวยมาก
คดีแพ้แล้วก็แพ้ไป ในเมื่อเงินมหาศาลต้องเสียและเครื่องจำหน่ายก็มีแล้ว หากจะนำมาใช้ประโยชน์ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : June 1, 2021

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

เปิดตัว Air Freight กรุงเทพฯ – หลานโจว – กาฐมาณฑุ รอบปฐมฤกษ์ ขนส่งสินค้าเชื่อมต่ออาเซียน

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 สำนักงานการบินและการขนส่งทางอากาศพลเรือนแห่งมณฑลกานซู ได้เปิดตัวเที่ยวบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเที่ยวปฐมฤกษ์บินจากกรุงเทพฯ ไปนครหลานโจวต่อไปยังกรุงกาฐมาณฑุ (เนปาล) ซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางอากาศใหม่ที่ริเริ่มขึ้นเพื่อเชื่อมต่อระหว่างประเทศจีน – เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ปัจจุบัน มณฑลกานซูได้เปิดเที่ยวบินเช่าเหมาลำขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทั้งหมด 16 เที่ยวบิน อาทิ เส้นทางการขนส่งสินค้า นครหลานโจว – กรุงพนมเปญ (กัมพูชา) – กรุงเทพฯ และ ฝรั่งเศส – นครหลานโจว

เที่ยวบินการขนส่งนี้ใช้เครื่องบิน A320 ซึ่งได้รับการดัดแปลงเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า บรรทุกผลไม้สดของไทย อาทิ เงาะและมังคุด กว่า 18 ตันมาถึงสนามบินนานาชาติหลานโจวจงซวน และต่อไปยังกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล พร้อมบรรทุกอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 อาทิ หน้ากากอนามัย ชุด PPE หลอดเก็บตัวอย่าง และของใช้ในชีวิตประจำวันไปด้วย ปัจจุบัน สนามบินนานาชาติหลานโจวจงซวนได้รับการอนุญาตให้สามารถนำเข้าผลไม้สดจากประเทศไทยให้ผู้บริโภคในมณฑลกานซูแล้ว หลังผ่านการตรวจสอบและกักกันที่สำนักงานตรวจสอบและกักกันผลไม้นำเข้า ณ สนามบิน

เที่ยวบินดังกล่าวเป็นเที่ยวบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศใหม่อีกหนึ่งเที่ยวบิน โดยเปิดหลังจากที่เที่ยวบินเช่าเหมาลำกรุงพนมเปญ (กัมพูชา) – นครหลานโจว – เมืองละฮอร์ (ปากีสถาน) และ เที่ยวบินกรุงเทพฯ – นครหลานโจว – กรุงธากา(บังกลาเทศ) โดยได้รับการสนับสนุนจากเขตเมืองใหม่นครหลานโจว และสำนักงานการบินและการขนส่งทางอากาศพลเรือนแห่งมณฑลกานซู ทั้งนี้ เขตเมืองใหม่นครหลานโจว เป็นเขตเมืองใหม่ระดับชาติลำดับที่ 5 ของจีน และเป็นเขตแรกในภาคตะวันตกเฉียงเหนือตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 (ปัจจุบัน จีนมีเขตเมืองใหม่ระดับชาติทั้งหมด 19 เขต) มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับต่างประเทศมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก อาทิ เติร์กเมนิสถาน คาซัคสถาน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าประเภทไม้แปรรูป พืช เส้นด้ายผ้าฝ้าย และแร่ทองแดง

นอกจากนี้ ภายในเขตเมืองใหม่ฯ ยังได้รับอนุมัติให้สร้างเขตคลังสินค้าทัณฑ์บน เมืองท่าอากาศยานระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางอากาศ โดยมีเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศทั้งหมด 16 เส้นทาง อาทิ นครหลานโจว-นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงนครเมลเบิร์น กรุงธากา กรุงเทพฯ และกรุงพนมเปญ ตลอดจนเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องศูนย์กลางโลจิสติกส์บนบกแห่งชาติ เขตทดลองการค้าออนไลน์ และท่าขนส่งสินค้าทางรถไฟ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางรางอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจในพื้นที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยใน 4 เดือนแรกของปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของเขตฯ มีการขยายตัวมากถึงร้อยละ 20.2 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 และมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 2.3 เท่า ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ มณฑลกานซูก็เคยมีความพยายามเปิดเส้นทางขนส่งสินค้าทางอากาศ มาก่อน โดยเมื่อ 27 พ.ค. 2563 สายการบิน Lanmei Airlines ของกัมพูชา ได้เปิดเที่ยวบินบรรทุกสินค้า กรุงเทพฯ – นครหลานโจว – กรุงพนมเปญ โดยในครั้งนั้นได้นำเข้ามังคุดไทย 15 ตันมาจำหน่ายในมณฑลกานซู แต่ต้องมาหยุดชะงักไปเพราะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ดังนั้น การรื้อฟื้นเที่ยวบินขนส่งในครั้งนี้จึงเป็นสัญญาณที่ดีของการส่งออกสินค้าไทยไปมณฑลกานซู

ที่มา: https://thaibizchina.com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.