CEO ARTICLE
วัคซีนโซเชียล
ปิดเมือง ปิดประเทศ ป้องกันโควิด เศรษฐกิจพัง คนหาเช้ากินค่ำอดตาย
เปิดเมือง เปิดประเทศ ไม่อด ติดโควิดง่าย มีสิทธิ์ตาย แต่ก็มีทางรอดหากรักษาได้ทัน
ทั้ง 2 ด้านมีดีและเสียไม่ต่างกัน ในที่สุดนายกรัฐมนตรีก็เลือกปากท้องประชาชน ประกาศเปิดประเทศใน 120 วัน เป้าหมายอยู่ที่เดือนตุลาคม 64 โดยฝากความหวังไว้ที่ประชาชน 50 ล้านคนต้องได้รับวัคซีนเข็มแรกให้ครบก่อนเพื่อป้องกันความเสี่ยง
“วัคซีนจริง” ที่แพทย์รับรองจึงเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ การจัดหา การกระจาย และการฉีดในเวลาที่กำหนดจึงเป็นความหวังในครั้งนี้
แต่ “วัคซีนจริง” ก็ถูก “วัคซีนโซเซียล” ด้อยค่าจนเกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน และอาจทำให้แผนการเปิดประเทศพลาดเป้าไปด้วย
วัคซีนป้องกัน Covid-19 มีการผลิตและผู้ผลิตหลากหลาย จึงมีชื่อเรียกหลากหลายตามไปด้วย เช่น Pfizer, Moderna, Astrazeneca, Sinovac, Novavax, Johnson and Johnson และอื่น ๆ
วัคซีนทุกชนิดผลิตต่างกัน มีข้อดี ข้อเสียต่างกัน ความเหมาะสมกับสภาพร่างกายของคนที่ต่างกันก็ต้องต่างกันไปด้วย
วัคซีนผลิตอย่างฉุกเฉิน การทดสอบไม่สมบูรณ์ ผู้ผลิตก็กลัวถูกฟ้องหากฉีดแล้วเกิดปัญหาจึงไม่ขายเอกชน แต่ขายเฉพาะรัฐบาลแต่ละประเทศให้ไปบริหารจัดการและรับความเสี่ยงกันเอง
ในเมื่อทุกวัคซีนมีความเสี่ยง ความหวังดีในโซเซียลจึงเกิดขึ้น เจตนาดีก็มี ด้อยค่าวัคซีน โจมตีรัฐบาลก็มี จริงบ้าง ลวงบ้าง หรือทั้งจริงทั้งลวงผสมกันถูกนำมาลงไม่เว้นวันกลายเป็น “วัคซีนโซเซียล” แจกจ่ายให้คนรู้จัก
รัฐบาลถูกมองว่ามีปัญหาด้านการจัดการอยู่แล้ว พอมาเจอ “วัคซีนโซเซียล” ที่เข้าถึงง่าย ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและวัคซีนจริงก็ลดลง คนส่วนหนึ่งรอ อยากฉีดวัคซีนอื่น อีกส่วนปฏิเสธทุกอย่างที่รัฐบาลเสนอ ไม่อยากฉีด อีกส่วนไม่อยากเป็นหนูทดลองยา และอยากรอดูผลให้มากกว่านี้
ส่วนที่อยากฉีดก็มีไม่น้อย แต่ตัวเลขคนได้ฉีดวัคซีนในเดือน มิ.ย. กลับมีไม่ถึง 10 ล้านคน หาก ก.ค. ถึง ต.ค. อีก 4 เดือน คนฉีดไม่ถึง 50 ล้านคนตามเป้าแล้วจะเปิดประเทศกันอย่างไร ?
คนในโซเซียลสั่งจ่ายวัคซีนกันทุกวัน ยี่ห้อนั้นดี ยี่ห้อนี้ไม่ดี “วัคซีนจริง” ติดขัด แจกไม่ทั่วถึง คนสั่งจ่าย “วัคซีนโซเซียล” จึงสั่งจ่ายเพลิน รู้ดีกว่าแพทย์ เก่งกว่าแพทย์ ไม่ยอมฟังใคร รัฐบาลจึงทำอะไรได้ลำบาก ภาพลักษณ์ที่แย่อยู่แล้วยิ่งแย่ไปอีก
การเมืองฝ่ายที่ไม่ชอบรัฐบาล พอได้คิวฉีดวัคซีนลำดับต้น ๆ ก็ฉีดทันที ไม่ลังเล จากนั้นก็นิ่ง รอให้วัคซีนโซเซียลสั่งจ่ายมาก ๆ จนวุ่นวาย เปิดประเทศไม่ได้ รัฐบาลอาจล้มหรือเปลี่ยนขั้ว
เมื่อเหลียวดูปี 63 ที่ผ่านมา รัฐบาลควบคุมการแพร่ระบาด Covid-19 ได้ดี ได้รับคำชม คนไทยอยู่ดีมีสุข ความหวังที่จะใช้ชีวิตปกติมองให้เห็น
ตรงกันข้ามกับต่างประเทศในเวลานั้น การแพร่ระบาดหนัก คนป่วยล้นโรงพยาบาล หลายประเทศถูกทอดทิ้ง นอนอยู่กับบ้าน และเสียชีวิตเกลื่อนเมือง
อเมริกา อินเดีย อังกฤษ และอีกหลายประเทศในยุโรปเป็นตัวอย่างให้เห็น มีเพียงจีนที่เป็นระบอบคอมมิวนิสต์ที่สามารถสั่งการและควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว
ในสภาพดีแบบนั้น การเตรียมจัดหาวัคซีนของไทยจึงเป็นแบบสบาย ๆ จะเอาชัวร์ ๆ
อาจเพราะการขาดวิสัยทัศน์ของรัฐบาล ไทยจึงมีการแพร่ระบาดระลอก 2 และ 3 จากการละเลยของเจ้าหน้าที่รัฐ แรงงานต่างด้าว บ่อน สถานบันเทิง และทองหล่อเป็นต้นเหตุ
จากนั้นก็ไม่ล็อกดาวน์ช่วงสงกรานต์ 64 จนกลายเป็น Covid Delivery นำไปสู่ครอบครัว และความผิดพลาดในการจัดการวัคซีนทำให้การแพร่ระบาดหนักยิ่งขึ้น
วันนี้ ตัวเลขคนป่วยสูงขึ้นเรื่อย ๆ ล้นโรงพยาบาล เตียงไม่พอ มีการล็อกดาวน์บางแห่ง
แคมป์คนงานมีการแพร่ระบาดมากถูกสั่งปิด คนงานหนีการกักตัว ออกนอกเมืองจนน่าจะกลายเป็น Covid Delivery อีกครั้ง ตัวนายกรัฐมนตรีถูกตำหนิอย่างหนักและรุนแรง
วันนี้ ไทยดูแย่แต่ต่างประเทศกลับดีขึ้นสลับกัน หลายแห่งเปิดประเทศ เปิดหน้ากากอนามัย และฉลองกลางแจ้งกันแล้ว แต่ก็มีบางประเทศกลับมาระบาดอีกทั้งที่ฉีดวัคซีนไปมากจนอาจนำไปสู่การปิดประเทศอีกครั้ง
ทุกประเทศจึงมีโอกาสสวิงกลับไปมา แต่ไทยกลับหนักกว่าเมื่อมี “วัคซีนโซเซียล” ที่ทำให้ “วัคซีนจริง” น่ากลัวจนประเทศไทยดูไม่น่าอยู่อีกต่อไป
หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ การเปิดประเทศใน 120 วัน ก็อาจสวิงกลับกลายเป็นหนทางสู่วิกฤติของประเทศก็ได้
คนที่ต้องการอยู่รอดปลอดภัยจึงต้องป้องกันตนเอง เข้าหาวัคซีนจริง ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และถอยห่างวัคซีนโซเซียลให้มากที่สุด
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : June 29, 2021
Logistics
ท่าเรือสำคัญของมาเลเซีย
ท่าเรือของมาเลเซียแบ่งออกเป็นท่าเรือพิเศษต่างๆที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีหน่วยงานจากรัฐบาลและหน่วยงานเอกชนควบคุมดูแล โดยท่าเรือขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์หลักตั้งอยู่ที่ชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู ในขณะที่ท่าเรือขนถ่ายสินค้าจะอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกและในรัฐซาบาห์และซาราวัก (บอร์เนียว) โดยท่าเรือสำคัญของมาเลเซียมีด้วยกัน 7 แห่ง ดังนี้
1. Port Klang
ท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในมาเลเซีย ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทร แม่น้ำกลังไหลลงสู่ช่องแคบมะละกาซึ่งเชื่อมต่อระหว่างเมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์กับทะเล โดยในปี 2562 มีปริมาณการขนส่งสินค้ารวม 243 ล้านตัน นอกจากนี้ยังมี Free Commercial Zone (FCZ) ซึ่งเป็นเขตพิเศษสำหรับการลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการขนถ่ายสินค้าด้วยปัจจัยด้านภูมิศาสตร์
2. Johor Port
รัฐยะโฮร์อยู่ทางตอนใต้สุดของคาบสมุทรมลายู ประกอบด้วยท่าเรือสองแห่ง ได้แก่ ท่าเรือ Tanjung Pelepas (PTP) และท่าเรือยะโฮร์ที่ Pasir Gudang โดยในปี 2562 มีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์รวม 120 ล้านตัน และเป็นท่าเรือคู่แข่งสำคัญของสิงคโปร์
3. Penang Port
ท่าเรือขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามและเกาแก่ที่สุดของมาเลเซีย อยู่ทางเหนือของชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมาเลเซียและเกาะปีนัง เชื่อมต่อการเข้าถึงไปยังรัฐทางตอนเหนือของมาเลเซียและจังหวัดทางตอนใต้ของประเทศไทย โดยในปี 2561 มีปริมาณการขนส่งสินค้า 34 ล้านตัน นอกจากนี้ยังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ
4. Bintulu Port
ท่าเรือบินตูลูลูอยู่ทางทิศตะวันออกเป็นประตูหลักสู่เกาะบอร์เนียวของมาเลเซีย อยู่ใกล้กับโรงงานผลิต LNG ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จึงดำเนินการขนส่งสินค้าของเหลวเป็นหลักคิดเป็นร้อยละ 77 โดยมีปริมาณการขนส่งสินค้ารวม 4.71 ล้านตันในปี 2563
5. Sabah Port
รัฐซาบาห์เป็นรัฐทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว เป็นที่ตั้งของท่าเรือแปดแห่งซึ่งรวมกันแล้วมีปริมาณการขนส่งสินค้ารวม 34.2 ล้านเมตริกตัน ในปี 2562 และเนื่องจากมีสวนปาล์มน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและอุตสาหกรรมไม้และเกษตรกรรมขนาดใหญ่ การขนส่งสินค้าจึงมีความมั่นคงและได้มาตรฐาน
6. Kuantan Port
ท่าเรือกวนตันเป็นท่าเรือหลักที่ชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรมลายูหันหน้าออกสู่ทะเลจีนใต้ ท่าเรือนี้สามารถขนส่งสินค้าได้เกือบ 25 ล้านตันในปี 2561 ซึ่งเป็นสินค้าแห้งเทกอง แร่ แร่ธาตุ รวมทั้งแร่อะลูมิเนียม
7. Kemaman Port
ท่าเรือเกมามานเป็นท่าเรือน้ำลึกทางตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรมลายู ส่วนใหญ่ขนส่งสินค้าทั่วไป แร่บอกไซต์ เหล็ก และสารเคมี โดยในปี 2561 ปริมาณการขนส่งสินค้ารวมอยู่ที่ 5.1 ล้านตัน
ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/733476/733476.pdf&title=733476&cate=413&d=0
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!