CEO ARTICLE

เสาไฟกินรี

Published on July 6, 2021


Follow Us :

    

‘ปปป. ลุยสอบเสาไฟกินรี 642 ล้าน พบพิรุธอื้อ’
‘อบต. แจงติดถนนลูกรังจะได้พัฒนา’

ไทยรัฐออนไลน์เสนอหัวข่าวข้างต้นเมื่อ 10 มิ.ย. 64 เสาไฟที่มีกินรีงดงาม ราคาแพง ทำให้คนส่วนใหญ่มองไปที่ความไม่เหมาะสม และการทุจริตในการใช้งบประมาณท้องถิ่นทันที
ท้องถิ่นที่ต้องการเพียงแสงสว่างในยามค่ำคืน แต่ทำไมต้องเป็นเสาไฟกินรี ?
แม้ บก.ปปป. (กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤิตมิชอบ) กำลังสอบ ยังไม่มีข้อยุติในเรื่องการทุจริต แต่ข่าวนี้ก็สร้างความสงสัยในหมู่สุจริตชน ส่วนทุจริตชนกลับรู้สึกปกติโดยไม่รู้ว่า “การทุจริต” ก่อให้เกิดผลเสียต่อส่วนรวมอย่างใหญ่หลวง
“การทุจริต” เป็นการฉกฉวยทรัพยากรของผู้อื่น ฝังรากในสังคมไทยมานาน ยิ่งโครงสร้างสังคมเปลี่ยนเป็นทุนนิยมมากขึ้น เงินจึงเป็นปัจจัยสำคัญมากยิ่งขึ้นของสังคม
คนส่วนมากถูกทุนนิยมดึงให้มาบูชาเงิน เป็นทาสเงิน ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงิน ใครจะทำทุจริตก็ยอมได้ขอเพียงให้เราได้ด้วย คนส่วนน้อยจริง ๆ ยังยึดความถูกต้อง ยึดความสุจริต
2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา การเมืองกับข้าราชการประจำรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน สร้างอิทธิพลให้เกิดการทุจริตมากยิ่งขึ้น งบประมาณแผ่นดินถูกผลาญมากขึ้นตามไปด้วย
เมื่อเห็นคนทุจริตได้เงินง่าย คนที่มีใจทุจริตก็เอาบ้าง และเอาเป็นแบบอย่างมากยิ่งขึ้น
การทุจริตไม่ได้อยู่แค่วงการการเมืองและข้าราชการประจำเท่านั้น แต่ลุกลามเข้าสู่องค์กรเอกชนที่ปัจจุบันมีไม่น้อยทั้งทำคนเดียว ทำกันเป็นครอบครัว หรือเป็นกระบวนการ
ปริมาณคนที่จมอยู่ใน “การทุจริต” กับคนที่ยึดมั่น “ความสุจริต” ในวันนี้จึงห่างกันเรื่อย ๆ
เงินจาก “การทุจริต” คือเงินที่ “ไม่ควรมี” เมื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการจึงไปกระตุ้นความต้องการ (Demand) ที่ “ไม่ควรมี” และการจัดหา (Supply) ที่ “ไม่ควรมี” ให้เกิดขึ้น
การจัดหาที่ “ไม่ควรมี” ส่งผลให้เกิดการก่อสร้าง การผลิต รถยนต์ คอนโด โทรศัพท์มือถือ การซื้อ การขาย การนำเข้า กระบวนการโลจิสติกส์ (Logistics Activity) การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เงินบาทอ่อนค่า และเงินเฟ้อที่ “ไม่ควรมี” ให้เกิดขึ้นตามมาอย่างเป็นห่วงโซ่
สุดท้าย ระบบเศรษฐกิจก็ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้นอย่าง “ไม่ควรมี” การทุจริตยิ่งมาก สิ่งที่ “ไม่ควรมี” ก็จะยิ่งมากโดยสุจริตชนไม่รู้ แต่ต้องแบกรับผลกรรมด้วยเหตุนี้
หากไม่มีการทุจริต การเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่บนพื้นฐานความจริง ค่าครองชีพสูงตามความจริง ไม่ก้าวกระโดด ของไม่แพงมาก คนหาเช้าก็พอกินได้ถึงค่ำ ไม่ยากจนอย่างปัจจุบัน
สมมุติประเทศไทยไม่มีการทุจริตใด ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน การเติบโตทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพก็จะเป็นอย่างที่ควรเป็นและมีเสถียรภาพมากกว่านี้
ดังนั้น ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีการทุจริตมาก ๆ จึงเป็นตัวเลขที่เกิดจากพื้นฐานที่ “ไม่ควรมี” ส่วนหนึ่ง ไม่ใช่เกิดจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริงทั้งหมด

ประเทศไทยไม่ได้มีเพียงข่าว “เสาไฟกินรี” ท้องถิ่นเดียวตามข่าว ยังมีอีกหลายท้องถิ่น ยังมี “เสาไฟเรือกอและ” เสาไฟปฏิมากรอื่น และการทุจริตอื่น ๆ ที่เอาแบบอย่างตามกันโดยมีความหายนะของประเทศรออยู่ปลายทาง
หากจะแก้ไขก็ต้องเริ่มจากตัวผู้นำไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กร หรือเอกชน แต่น่าเสียดายที่ระบบการเมืองไทยทุกระดับทุกสมัยต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันจนเป็นการอุปถัมป์(อุปถัมภ์)
ผู้นำรัฐบาลต้องพึ่งพานักการเมืองระดับชาติ นักการเมืองระดับชาติต้องพึ่งพานักการเมืองท้องถิ่น และนักการเมืองท้องถิ่นก็ต้องคอยอุปถัมป์(อุปถัมภ์)ประชาชนในท้องถิ่นให้เป็นฐานเสียง
ทุกอย่างต้องใช้เงิน และเงินที่ได้จากการทุจริตก็เป็นแหล่งเดียวที่จะนำมาสนองได้ง่าย
แต่อย่างน้อย ผู้นำรัฐบาลก็ควรให้มีการศึกษาผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ และอื่น ๆ ที่เกิดจากการทุจริต ความต้องการ และการจัดหาที่ “ไม่ควรมี” ให้จริงจัง ให้มีข้อมูลทางวิชาการรองรับ และให้มีการเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนรับรู้
อย่างน้อย ผู้นำฯ ต้องจริงจังต่อการปราบปรามการทุจริตมากกว่านี้ เร็ว และเด็ดขาดกว่านี้ งบประมาณส่วนกลางและท้องถิ่นมีเท่าไรก็รู้ การใช้จ่ายก็รู้ได้ องค์กรตรวจสอบก็มี การตรวจสอบก็ไม่ยาก สื่อมวลชนก็ช่วยขุดคุ้ย มันจึงอยู่ที่ความจริงใจและจริงจังของผู้นำฯ
อย่างน้อย หลักสูตรศีลธรรม จริยธรรม และมโนธรรมที่หายไปจากระบบการศึกษาต้องนำกลับมาปลุกเด็กรุ่นใหม่ให้โตไปไม่โกง รังเกียจการทุจริต สร้างจิตสำนึกของเด็กให้สูงกว่าทุกวันนี้
หากทำไม่ได้ ผู้ใหญ่ในอนาคตจะทุจริตมากกว่าผู้ใหญ่ในวันนี้จนน่าสมเพชประเทศไทย
คนทุจริตมักห้ามใจตัวเองไม่ได้ ต้องทำ แต่ไม่ยอมรับ ทำให้ตัวเองดูดี งดงามเหมือนเสาไฟกินรีที่น่าสมเพชแก่ผู้พบเห็น สุจริตชนจึงควรปฏิเสธคนทุจริตที่ก่อให้เกิดค่าครองชีพสูงที่ “ไม่ควรมี”
ส่วนคนเคยทุจริตที่ยอมกลับใจก็ถือว่าได้สร้างบุญคุณต่อคนไทยอย่างใหญ่หลวง.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : July 6, 2021

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

อินเดียประกาศลดภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มสามเดือน

กรมศุลกากรของอินเดียประกาศลดอากรขาเข้า (basic customs duty) ของน้ำมันปาล์มดิบจาก 15% เหลือ 10% ซึ่งเมื่อรวมกับภาษีอื่นๆ แล้ว อาทิ เงินสงเคราะห์ (Cess) จะทำให้น้ำมันปาล์มดิบมีภาษีรวม 30.25% ลดลงจากเดิมซึ่ง
อยู่ที่ 35.75% ในขณะเดียวกัน ได้ประกาศลดอากรขาเข้าน้ำมันปาล์มบริสุทธิ (RBD Palm Oil) จาก 45% เหลือ 37.5% ด้วย โดยเมื่อรวมมีภาษีอื่นๆ แล้วจะมีอัตราอยู่ที่ 41.25% ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน – 30 กันยายน 2564

สมาคมน้ำมันพืช (Indian Vegetable Oil Producers’ Association) คาดการณ์ว่าในช่วงสามเดือนจากนี้อินเดียอาจนำเข้าน้ำมันปาล์มประมาณ 2.55 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปกติประมาณ 5 แสนตัน เพื่อตอบสนองความต้องการน้ำมันปาล์มที่
มีมากขึ้นของภาคอุตสาหกรรมผลิตอาหาร สอดคล้องกับความเห็นของสมาคมโรงงานกลั่นน้ำมันพืช (Solvent Extractors Association of India) ที่มองว่าการลดอากรขาเข้านี้เป็นไปเพื่อลดต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารในอินเดีย รวมถึง
ค่าครองชีพของคนยากจนที่ยังคงใช้น้ำมันปาล์มในการประกอบอาหารด้วย ซึ่งน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลืองในอินเดียมีราคาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ คาดว่าการลดอากรขาเข้าดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลืองในอินเดียลดลงเล็กน้อย แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อชาวสวนปาล์ม เนื่องจากฤดูเก็บเกี่ยวของอินเดียจะเริ่มต้นอีกครั้งในเดือนตุลาคมซึ่งอากรขาเข้าจะกลับมาเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตราเดิมเพื่อให้น้ำมันปาล์มภายในประเทศมีความได้เปรียบน้ำมันปาล์มนำเข้า

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อคิดเห็น
อินเดียเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มมากที่สุดในโลก โดยในปี 2563 ไทยเป็นแหล่งนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบของอินเดียในอันดับที่ 4 ตามหลังอินโดนีเซีย มาเลเซีย และ สิงคโปร์ ด้วยมูลค่าการนำเข้าจากไทย 111.81 ล้านเหรียญสหรัฐ
เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 24.73% สำหรับน้ำมันปาล์มบริสุทธิ แม้ว่าไทยจะไม่ใช่แหล่งนำเข้าหลักของอินเดีย แต่การนำเข้าจากไทยในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 142.79% และสำหรับในปี 2564 พบว่าใน 5 เดือนแรก ไทยส่งออกน้ำมันปาล์มไปยังอินเดียเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ทั้งนี้ คาดว่าการลดอากรขาเข้าน้ำมันปาล์มในครั้งนี้จะส่งผลดีต่อการส่งออกของอินโดนีเซียและมาเลเซียที่ครองตลาดอยู่ อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลานี้นับว่าเป็นโอกาสของไทยที่จะผลักดันตลาดให้ขยายตัวเช่นกัน โดยเฉพาะการส่งออกไปจากท่าเรือในภาคใต้ฝั่งตะวันตก อาทิ ท่าเรือกันตัง เพื่อส่งไปยังท่าเรือในตะวันออกของอินเดีย อาทิ เชนไน กฤษณะปตนัม และ กัลกัตตา ซึ่งจะมีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำกว่าท่าเรือในฝั่งตะวันตกของอินเดียและกำลังมีการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมใหม่ด้วย
นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่าอินโดนีเซียและมาเลเซียมักมีการเจรจาแลกกันซื้อ (Counter-trade Deal) สินค้าเกษตรกับอินเดียเป็นระยะ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2563 มาเลเซียมีการตกลงขายน้ำมันปาล์มดิบให้กับอินเดียจำนวน 2 แสนตัน แลกกับ
การที่มาเลเซียลงนามตกลงซื้อข้าว (Non-Basmati) จากอินเดียอย่างน้อย 1 แสนตัน ซึ่งกลยุทธ์การค้าต่างตอบแทนในลักษณะนี้ได้รับการตอบรับจากอินเดีย และสามารถสร้างความได่เปรียบในการแข่งขันในตลาดได้อีกแนวทางหนึ่ง

https://drive.google.com/file/d/12WqUhw_j8ranquzkyWX5U_tskvvdiE9S/view

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.