CEO ARTICLE

ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

Published on July 27, 2021


Follow Us :

    

รัฐบาลประกาศแผนเปิดประเทศภายใน 120 วัน โดยเริ่มจากการเปิด “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ในวันที่ 1 ก.ค. 64 ให้เป็นแผนระยะที่ 1
ในสภาพที่ Covid-19 แพร่ระบาดหนัก มีผู้ติดเชื้อแต่ละวันนับหมื่น มีผู้เสียชีวิตนับร้อย มีความแตกแยกสูง ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และการเปิดประเทศจะสำเร็จได้อย่างไร ??

แซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) คือกระบะทราย คำ ๆ นี้ใช้กันมานานในหลายกิจกรรม แต่มาฮิตในปี 2020 จากซีรีส์เกาหลีเรื่อง Start Up โดยมีการอธิบายคำว่า “แซนด์บ็อกซ์”
หมายถึง “พื้นที่ถมด้วยทรายในสนามเด็กเล่น” เพื่อป้องกันเด็กล้มมิให้ได้รับบาดเจ็บมาก
ในซีรีส์ได้นำ “แซนด์บ็อกซ์” มาใช้กับการเริ่มต้นธุรกิจ หรือ Start Up โดยกำหนดพี่เลี้ยงให้คอยดูแล คอยช่วยป้องกันมิให้เกิดข้อผิดพลาดง่าย ๆ
เมื่อมาเป็น “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” รัฐบาลจึงทำหน้าที่พี่เลี้ยง จัดการให้คนภูเก็ตได้รับการฉีดวัคซีนราวร้อยละ 70 ก่อนการเปิด คัดกรองนักท่องเที่ยวก่อนเข้าภูเก็ต กำหนดกติกานักท่องเที่ยวที่จะเข้า และดูแลความปลอดภัยอื่น ๆ เท่าที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมและป้องกันความผิดพลาด
หากเป็นไปตามแผน การจ้างงานในภูเก็ตจะกลับคืนมา การซ่อมแซม การบริการจะค่อย ๆ ถูกกระตุ้น เกิดการซื้อ การขาย การนำเข้า การส่งออก การขนส่ง โลจิสติกส์ และอื่น ๆ ความสำเร็จจะนำไปสู่การเปิดพื้นที่อื่น ๆ และเข้าสู่แผนการเปิดประเทศภายใน 120 วัน
แต่เมื่อมีรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง มันก็หนีไม่พ้นการเมือง และการต่อต้านเพื่อเอาชนะ
การเมืองต้องมีฝ่ายค้าน มีนักวิชาการและกลุ่มคนไม่ชอบรัฐบาล มีทหารที่สูญเสียอำนาจ มีกลุ่มคนที่สูญเสียผลประโยชน์ มีต่างประเทศที่แข่งขันกับประเทศไทย มีคนในรัฐบาลที่ต้องการชิงอำนาจกันเอง มีกลุ่มคนที่ต้องการเปลี่ยนขั้วอำนาจ ทั้งหมดรวมกันคือ “ฝ่ายต่อต้าน”
การแบ่งฝ่าย ความแตกแยก และความผิดพลาดของรัฐบาลจึงมีคนได้ประโยชน์ มีกลุ่มคนต้องการให้เกิดขึ้น ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จึงมีทั้งคนอยากให้สำเร็จและล้มเหลวในเวลาเดียวกัน
หากไม่มีความปลอดภัยทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และเชื้อ Covid-19 นักท่องเที่ยวก็ไม่เข้า หากมีแต่ข่าวร้าย ๆ ไม่ว่าจะจริงบางส่วน เท็จบางส่วน จริงทั้งหมด หรือเท็จทั้งหมด นักท่องเที่ยวก็ไม่เข้า
ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่ถูกเชื่อมโยงกับรัฐบาลจึงถูกลดความน่าเชื่อถือในระยะต้น
ยิ่งรัฐบาลถูกมองว่าจัดหาวัคซีนไม่พอ มีการนำวัคซีนที่ไม่พอไปหาเสียง ไปฉีดให้คนภูเก็ตร้อยละ 70 และยิ่งมีคนรู้เรื่องวัคซีนทุกแง่มุมถึง 70 ล้านคน ถกเถียงไม่ยอมกันทุกวันในสงครามวัคซีน รู้ทันและรู้ดีกว่าแพทย์ พูดเกินขอบเขตกฎหมาย การโจมตีรัฐบาลก็ยิ่งหนักมากยิ่งขึ้น
ทุกเรื่องราวมีข้อมูลหลายด้านเสมอ แพทย์ออกมาอธิบาย แต่ความแตกแยกหนักทำให้ถูกต่อต้านหนัก ไม่รับฟัง ด้อยค่า ก่นด่า ไม่ให้ความร่วมมือทุกเรื่องจนแพทย์และรัฐบาลโงหัวไม่ขึ้น
คนมีชื่อเสียงและดาราถูกเรียกให้เลือกข้าง ให้ Call out แสดงความเห็น ในสภาพแตกแยกขาดความร่วมมือทุกด้านเช่นนี้ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และการเปิดประเทศจะสำเร็จได้อย่างไร ??

คนภูเก็ตบางคนอาจมองออก ข้อมูลอีกด้านเพื่อขอความเห็นใจจึงถูกส่งออกมา
ใน workpointtoday.com ให้ข้อมูลว่า “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ไม่ได้มาจากภาครัฐ แต่เกิดจากความพยายามของ ‘เอกชน’ ภายในเกาะภูเก็ต เนื่องด้วยรายได้กว่า 94% ของจังหวัดภูเก็ตเป็นรายได้จากการท่องเที่ยว ทำให้หลังเข้าสู่ยุคโควิด-19 ภูเก็ตได้รับผลกระทบอย่างหนัก”
ข้อมูลนี้ทำให้รู้ว่า คนภูเก็ตเป็นคนเริ่ม ร่วมมือร่วมใจกันเพื่อหนีตายจากวิกฤติในครั้งนี้
ไม่มีใครตอบได้ว่า ข้อมูลที่ชาวภูเก็ตขอความเห็นใจนั้นเข้าถึง “ฝ่ายต่อต้าน” หรือไม่ ได้รับความเห็นใจหรือไม่ แต่หลังจากนั้น การต่อต้านภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในโซเซียลค่อย ๆ คลายลง
การสื่อสารของนักท่องเที่ยวต่างชาติในโซเซียลมีมากขึ้น ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ค่อย ๆ ดูดีขึ้น
แต่แล้วการแพร่ระบาด Covid-19 ทั่วประเทศกลับมากขึ้น เกิดการล็อกดาวน์หลายพื้นที่ ปิดเที่ยวบินและรถโดยสารข้ามจังหวัดจนกระทบต่อภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และแผนการเปิดพื้นที่อื่น
แม้การเมืองจะไม่เกี่ยวกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แต่หากคนไทยกับรัฐบาลยังไม่ร่วมมือร่วมใจกัน ไม่ป้องกันตนให้ดี ยังปฏิเสธอำนาจรัฐ รัฐบาลที่ดูช้าอยู่แล้วก็ยิ่งช้าลงไปอีก ยิ่งทำงานลำบาก สุดท้ายก็หนีไม่พ้นการเมือง ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และการเปิดประเทศก็คงไม่เป็นไปตามแผน
ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และการต่อสู้กับ Covid-19 ในวันนี้จึงอยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวของคนไทย ร่วมมือกันได้ดีก็ย่อมได้ดี ร่วมมือกันได้ไม่ดี ไม่ว่าคนไทย รัฐบาล และภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ก็คงได้แต่สิ่งไม่ดีกลับคืน และพ่ายแพ้ในสงครามเชื้อโรคครั้งนี้เป็นธรรมดา

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : July 27, 2021

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

ต้นแบบเครนยกตู้สินค้าอัตโนมัติเชื่อม “เรือ+ราง” ใช้งานจริงแล้วที่ท่าเรือชินโจว

ท่าเรือชินโจวพลิกโฉมระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ภายในท่าเทียบเรืออีกครั้ง เมื่อสถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจวที่ตั้งอยู่ในบริเวณท่าเรือชินโจวได้ประเดิมใช้งานเครนยกตู้สินค้า (RTG Crane) ที่ทำงานอัตโนมัติผ่านระบบควบคุมทางไกลเป็นที่แรกในประเทศจีน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโมเดลงานขนส่ง “เรือ+ราง” แบบไร้รอยต่อมาแล้ว

เมื่อช่วงกลางปี 2563 สถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจว (钦州铁路集装箱中心站) เพิ่งเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ มีบทบาทสำคัญในฐานะ “ข้อต่อ” งานขนส่งตู้สินค้าภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ “ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” (New International Land-Sea Trade Corridor – ILSTC) และเป็นสถานีนำร่องการทำงานด้วยระบบอัจฉริยะในโมเดลงานขนส่ง “เรือ+ราง” ปัจจุบัน มีบริการเส้นทางขนส่งทางรถไฟจากท่าเรือชินโจวไปยังหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศจีน โดยเฉพาะหัวเมืองเศรษฐกิจในภาคตะวันตก (ฉงชิ่ง เฉิงตู คุนหมิง มีบริการทุกวัน) จึงเป็นจุดกระจายสินค้าแห่งใหม่ที่มีศักยภาพของประเทศจีน

ภายในสถานีศูนย์บริการฯ มีเครนยกตู้สินค้าที่สามารถทำงานแบบอัตโนมัติ จำนวน 6 ตัว ผลิตโดยบริษัท Shanghai Zhenhua Heavy (上海振华重工) เริ่มการติดตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ตัวเครนยกตู้สินค้ามีความสูง 35 เมตร สามารถยกตู้สินค้าน้ำหนัก 40 ตัน สามารถยกตู้สินค้าที่ความสูง 12.2 เมตร และสามารถให้บริการไม่ต่ำกว่า 30 ตู้ต่อชั่วโมง คาดว่าจะใช้งานได้ครบทั้ง 6 ตัวภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 และจะช่วยให้ประสิทธิภาพการขนถ่ายตู้สินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า

ทำไมถึงบอกว่า… ท่าเรือชินโจวเป็นท่าเรือที่มีศักยภาพน่าสนใจและเป็นโอกาสสำหรับผู้ค้าไทย

ด้านกายภาพ ตั้งอยู่ใกล้กับประเทศไทย (มีเที่ยวเรือสินค้าไป-กลับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพ) มีความพร้อมด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน (ท่าเทียบเรือและสถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟอยู่ภายในบริเวณท่าเรือ) มีการก่อสร้างและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับงานขนส่งให้ได้มากยิ่งขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง (พัฒนาร่องน้ำเดินเรือน้ำลึก ท่าเทียบเรือขนสินค้าขนาดใหญ่ และท่าเทียบเรืออัจฉริยะ)
ด้านฟังก์ชัน เป็นท่าเรือที่ได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายพิเศษจากรัฐบาลกลางให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้ ด่านนำเข้ารถยนต์ ด่านนำเข้าธัญพืช และด่านนำเข้าเนื้อสัตว์ (สินค้าบางประเภทที่จัดเป็นกลุ่มสินค้าอ่อนไหวหรือสินค้าที่ต้องควบคุมการนำเข้า จะต้องนำเข้าผ่านด่านที่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนแล้วเท่านั้น)
ด้านบริการ ภายในท่าเรือมีการปรับปรุง พัฒนา และยกระดับเทคโนโลยีด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง พัฒนาระบบงานศุลกากรให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น (กำลังพัฒนาระบบ International Single Window และระบบเอกสารชุดเดียวสำหรับการขนส่งเรือ+ราง)
ปี 2563 ท่าเรือชินโจวมีปริมาณขนถ่ายสินค้า 136 ล้านตัน (+14.4% ) อันดับที่ 19 ของประเทศ มีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้า 3.95 ล้านTEUs (+31%) อันดับที่ 11 ของประเทศ และให้บริการเที่ยวขบวนรถไฟในโมเดลงานขนส่งเรือ+ราง 4,607 เที่ยว (+14.4%) คิดเป็นปริมาณขนถ่ายตู้สินค้า 2.3 แสนTEUs (+105%)

ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนของการขนส่งในรูปแบบ “เรือ+ราง” คือ ประสิทธิภาพงานบริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีความปลอดภัย คล่องตัว และตรงเวลา รวมทั้งประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และต้นทุนการประกอบการของภาคธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น

บีไอซี เห็นว่า โมเดล “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจว เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ในทางกลับกัน สินค้าในจีนก็สามารถใช้รถไฟขนส่งตู้สินค้ามาที่ท่าเรือชินโจวเพื่อขึ้นเรือไปต่างประเทศได้แบบไร้รอยต่อ

ปัจจุบัน มีบริการเที่ยวเรือขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยจำนวนหลายเที่ยวต่อสัปดาห์ เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลผลไม้ของไทย (ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายนของทุกปี) ที่มีปริมาณการขนส่งพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้การขนส่งผ่านเส้นทาง R9 และ R12 มักประสบปัญหาการจราจรแออัดบริเวณชายแดนฝั่งเวียดนามที่มีลักษณะเป็น “คอขวด” ก่อนเข้าด่านโหย่วอี้กวานในกว่างซี

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยยังสามารถเลือกใช้วิธีการขนส่งด้วยรถบรรทุกออกจากภาคอีสานของไทย (นครพนม/มุกดาหาร) ไปเปลี่ยนรถไฟได้เช่นกัน โดยเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าจากรถบรรทุกไปขึ้นรถไฟที่สถานี Yên Viên ในกรุงฮานอย หรือสถานีด่งดัง จังหวัดล่างเซินของเวียดนาม และใช้รถไฟวิ่งเข้าไปที่ด่านรถไฟผิงเสียงของเขตฯ กว่างซีจ้วง โดยรถไฟเส้นทางดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อกับโครงข่ายรถไฟในจีนและโครงข่ายรถไฟ China-Europe Railway ได้อีกด้วย

ที่มา : https://thaibizchina.com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.