CEO ARTICLE

ในอารักขา

Published on September 21, 2021


Follow Us :

    

สินค้านำเข้า ชำระอากรแล้ว นำออกจากอารักขาของศุลกากรแล้ว
หากส่งกลับออกไป (Re-Export) ไม่ว่าจะส่งออกไปเพื่อจำหน่ายยังประเทศอื่น ส่งออกคืนเจ้าของเดิม ส่งออกไปบริจาค หรือเพื่อการอื่นโดยขอคืนอากรเรียกว่า การส่งออก ‘นอกอารักขา’
แต่หากสินค้านำเข้า และส่งกลับออกไปขณะยังอยู่ในคลังสินค้าท่าเรือหรือสนามบิน ยังไม่ชำระอากร และยังอยู่ในอารักขาของศุลกากร แบบนี้ก็น่าจะเรียก การส่งออก ‘ในอารักขา’
คำกล่าวนี้ ‘ถูกต้องหรือไม่ ?’

คำตอบคือ ‘ถูกต้อง’
การส่งออกแบบ ‘ในอารักขา’ มีผลให้อากรขาเข้าไม่ต้องชำระ ลดต้นทุนสินค้า ลดรายจ่ายดำเนินการ ลดความเสี่ยงที่อากรอาจไม่ได้คืน ให้ความสะดวก และเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการของไทยให้เป็น ‘ศูนย์กลางทางการค้า’ ของโลกได้ง่ายขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้นก็ยังสอดคล้องกับเงื่อนไขที่กำหนดในมาตรา 28 แห่ง พรบ. ศุลกากร 2560
เงื่อนไขที่ว่า “สินค้าไม่ได้ใช้ประโยชน์ในประเทศไทย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพสินค้า ยังเป็นรายเดียวกับสินค้านำเข้าโดยไม่ต้องพิสูจน์ ไม่ต้องชำระอากร ไม่ต้องขอคืนภายหลัง แต่ต้องชำระค่าธรรมเนียมอากรไม่เกิน 1,000 บาท และส่งออกภายใน 1 ปี”
วิธีการส่งออกแบบ ‘ในอารักขา’ ก็ง่ายกว่า ‘นอกอารักขา’ ไม่ยุ่งยากอะไร เรือสินค้านำเข้าเทียบท่า ณ ท่าเรือไหนก็นำขึ้นเรืออีกลำเพื่อส่งออก ณ ท่าเรือนั้น
ผู้ประกอบการเพียงประสานกับตัวแทนเรือ (Shipping Agent) หรือผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder หรือ Air Cargo) หรือผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ (International Logistics Service Provider) ให้จัดหาเรือบรรทุกสินค้าหรือเครื่องบินที่จอด ณ ท่าเดียวกันเพื่อส่งออกเท่านั้น
การเปลี่ยนหีบห่อ หรือเปลี่ยนเลขหมายและเครื่องหมายข้างหีบห่อ (Shipping Mark and Number) ก็สามารถทำได้ แต่ต้องขออนุญาตก่อนเพื่อทำการเปลี่ยน ณ ที่ทำการท่าเรือนั้นเลย
แต่หากท่าเรือที่ใช้ส่งออกไม่ใช่ท่าเรือที่นำเข้า เช่น นำเข้าทางเรือ แต่ส่งออกทางเครื่องบิน ทางรถยนต์ หรือทางรถไฟ แบบนี้สินค้าต้องเคลื่อนย้ายออก ‘นอกอารักขา’ จากท่าหนึ่งไปยังอีกท่าหนึ่ง สภาพเช่นนี้สินค้านำเข้าย่อมเกิด ‘ความเสี่ยง’ ต่อการถูก ‘สับเปลี่ยน’ ระหว่างทางได้
เมื่อมีความเสี่ยง การขอให้วางประกันความเสี่ยงโดยชำระอากรหรือหลักประกันอื่นก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่เมื่อตรวจพิสูจน์ ณ ท่าส่งออกว่าเป็น ‘สินค้ารายเดียวกับที่นำเข้าจริง’ อากรหรือหลักประกันอื่นที่วางไว้ก็จะได้รับการคืน
ในกรณีผู้นำเข้าเป็นผู้ได้รับสิทธิพิเศษจากศุลกากร หรือพิธีการศุลกากรจัดผ่านโดยตัวแทนออกของระดับพิเศษ (AEO Customs Broker) ที่สามารถค้ำประกันตนเองได้ การส่งออกต่างท่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องวางอากรหรือหลักประกันอื่นทำให้ไม่ต้องขอคืนในภายหลัง

คลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse) ที่มีศุลกากรประจำ ตั้งอยู่นอกท่าเรือก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้นำเข้าสามารถเคลื่อนย้ายสินค้านำเข้ามาเก็บรักษา และรอการส่งออกโดยไม่ต้องวางอากรหรือหลักประกันใด ๆ และยังถือเป็นการส่งออกแบบ ‘ในอารักขา’ อีกด้วย
คลังสินค้าทัณฑ์บนมีหลายประเภท เปลี่ยนหีบห่อได้ บางประเภทใช้เป็นสถานที่ผลิต ผสม ประกอบ หรือบรรจุเป็นสินค้าใหม่เพื่อส่งออกได้
ผู้นำเข้าเพียงเลือกประเภทของคลังสินค้าทัณฑ์บนให้เหมาะกับลักษณะสินค้า และความต้องการเท่านั้น แต่ต้องไม่ลืมพิจารณาค่าเช่าพื้นที่ที่อาจสูงเป็นองค์ประกอบด้วย
การนำเข้าจากประเทศที่มีข้อตกลงการค้าเสรี FTA (Free Trade Agreement) กับไทยก็เป็นอีกทางเลือก สินค้านำเข้าได้สิทธิ์ยกเว้นอากร เมื่อนำเข้ามาแล้วจะนำสินค้าไปทำอะไรก็ได้ ดังนั้นหากส่งออกก็ไม่ต้องไปวุ่นวายกับ ‘นอกหรือในอารักขา’ และไม่ต้องขอคืนอากรในภายหลัง
การนำเข้าเพื่อส่งกลับออกไป (Re-Export) แบบมีข้อตกลงการค้าเสรี คลังสินค้าทัณฑ์บน นอกหรือในอารักขา ต่าง ๆ นานานี้เป็นการผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าที่ดีทั้งสิ้น
ทั้งหมดอยู่ภายใต้หลักเจตนารมณ์ หลักการส่งเสริม และหลักกฎหมาย ผู้ประกอบการที่รู้ และเข้าใจก็จะสามารถเลือกใช้เพื่อประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวมได้

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : September 21, 2021

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

หุ่นยนต์ “Roxo” ขนส่งสินค้าอัตโนมัติ เปิดอนาคตแห่งโลกโลจิสติกส์

เฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (FedEx Express) ผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุรายใหญ่ของโลกเปิดตัว “Roxo” หุ่นยนต์ต้นแบบสำหรับการส่งสินค้าอัตโนมัติ (SameDay Bot) กับเป้าหมายการบริการจัดส่งสินค้าขนาดเล็กแบบไร้สัมผัสในวันเดียวแห่งอนาคต ตอบโจทย์บริการ “ออน ดีมานด์ ดีลิเวอรี” เปิดตัวที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ความสามารถ Roxo สามารถเดินบนทางเดินทางถนน บนฟุตบาทได้ ใช้กล้องเซ็นเซอร์จำนวนมากและเซ็นเซอร์ LiDAR ที่ถูกนำมาใช้ในหุ่นยนต์และรถยนต์ไร้คนขับช่วยตรวจจับและหลบหลีกสิ่งกีดขวาง เฟดเอ็กซ์ระบุว่าสามารถใช้ส่งสินค้าถึงบ้านหรือร้านค้าของลูกค้าอย่างปลอดภัย

หุ่นยนต์ส่งสินค้าถูกเปิดตัวครั้งแรกในสหรัฐฯเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และได้ทดลองโดยยักษ์ใหญ่ค้าปลีกในหลายเมือง ปัจจุบันอยู่ในช่วงการทดลองเพื่อรวบรวมข้อมูลในการ “ฝึกใช้งาน” ซอฟต์แวร์การขับเคลื่อนอัตโนมัติและตรวจสอบการทำงานอย่างปลอดภัยตามกฎระเบียบและแนวทางที่มีการระบุไว้

การเปิดตัวทดลองที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นแห่งแรกในภูมิภาค เพราะเป็นประเทศที่มีกรอบการทำงานอย่างเคร่งครัด มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีการใช้งานวิทยาการด้านหุ่นยนต์ ข้อบังคับทางกฎหมายและปัจจัยแวดล้อมเหมาะสำหรับการทดลองเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าของเฟดเอ็กซ์ นางสาวคาวอล พรีท ประธานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออก กลาง และแอฟริกา (AMEA) เฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส กล่าวว่า ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกธุรกิจอีคอมเมิร์ชขยายตัวสูงถึง 11% ขณะที่ชีวิตประวันของผู้คนได้เข้าสู่ “ดิจิทัล ไลฟ์” โดย Roxo เป็นนวัตกรรมที่จะเปิดโอกาสใหม่ๆ สำหรับความ ต้องการส่งสินค้าภายใน วันเดียวสำหรับพื้นที่บริเวณใกล้เคียง

“Roxo ชี้ถึงอนาคตของโลจิสติกส์ที่ผู้บริโภคสามารถมีความสบายใจในการขนส่งที่มาถึงประตูบ้านภายในวันเดียวและไร้การสัมผัส ในขณะที่ธุรกิจมากมายกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงไปเป็นดิจิทัล ทางบริษัทพร้อมก้าวไปสู่อนาคตของการจัดส่งสินค้าในแบบล้ำหน้า ไม่ว่าจะที่ประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”

หุ่นยนต์ Roxo ถูกพัฒนาร่วมกับ DEKA Development & Research Corp บริษัทผู้ผลิต “เซกเวย์” ยานพาหนะ 2 ล้อ โดยใช้ฐานล้อระบบไฟฟ้า iBOT ของ DEKA ซึ่งช่วยให้สามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ระบบเซ็นเซอร์มีการรับรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว 360 องศา และยังใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเลือกเส้นทางที่ปลอดภัยที่สุดรวมถึงสิ่งที่จะต้องทำ หุ่นยนต์ถูกออกแบบขับเคลื่อน 6 ล้อ กับความสูงเกือบ 5 ฟุต ซึ่งเป็นความสูงที่คนเดินเท้าและผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายเพื่อความปลอดภัย และหุ่นยนต์ยังส่งสัญญาณไฟและสัญญาณหน้าจอเพื่อบอกทิศทางที่กำลังไปอีกด้วย ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่

https://www.thairath.co.th/news/tech/technology/2137156

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.