CEO ARTICLE

ขายที่ดิน-ขายชาติ

Published on September 28, 2021


Follow Us :

    

“รัฐบาลแจง ดึงต่างชาติเข้าไทย หากทำผิดกฎต้องขายที่ดินภายในไม่เกิน 1 ปี”

ไทยรัฐออนไลน์ขึ้นหัวข่าวข้างต้นเมื่อ 21 ก.ย. 64 เนื้อหาสรุปได้ว่า กฎหมายให้ต่างชาติถือครองที่ดินมีอยู่แล้ว ไม่มีอะไรใหม่ เงื่อนไขก็มีอยู่เดิม รัฐบาลเพียงจะนำมาสร้างเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต่ำมากเนื่องจาก Covid-19 ให้ฟื้นตัวเท่านั้น
ส่วนเงื่อนไขก็เช่น ต่างชาติที่จะเข้ามาถือครองที่ดินต้องใช้เพื่ออยู่อาศัยสำหรับตนเองและครอบครัว ไม่ขัดศีลธรรม จารีตประเพณี และวิถีชีวิตอันดีงามของท้องถิ่น
หากต่างชาติทำผิดเงื่อนไขดังกล่าวต้องจำหน่ายที่ดินไม่น้อยกว่า 180 วัน และไม่เกิน 1 ปี ถ้าพ้นกำหนดแล้วยังจำหน่ายไม่ได้ อธิบดีฯ มีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น เป็นต้น
ปัจจุบัน หลายประเทศยินยอมให้ต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นเศรษฐีเข้าไปซื้อที่ดินพร้อมบ้านหรู ๆ เพื่ออยู่อาศัย เช่น ดูไบ สหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ แคนาดา ญี่ปุ่น เป็นต้น
แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายยินยอมอยู่แล้วตามข่าว แต่พอรัฐบาลจะผลักดันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การต่อต้านก็เกิดขึ้น “มันเป็นการขายที่ดิน หรือขายชาติกันแน่ ?”
ฝ่ายสนับสนุนให้เหตุผลว่า ต่างชาติถือครองที่ดินและโฉนดในไทยมานานแล้ว เช่น
(1) ผ่านการซื้ออาคารชุดหรือคอนโดมีเนียมในสัดส่วนไม่เกิน 49% อีก 51% ต้องเป็นคนไทยถือครอง พื้นที่โครงการต้องมากกว่า 5 ไร่ และห้ามออกเสียงในที่ประชุมนิติบุคคล
(2) ผ่านการซื้อที่ดินในเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ หรือโครงการอุตสาหกรรมที่รัฐบาลส่งเสริม
(3) ผ่านสัญญาเช่าที่ดินครั้งละไม่เกิน 30 ปี และต่อสัญญาได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 ปี
ฝ่ายสนับสนุนยืนยันว่าที่ดินที่จะให้ต่างชาติซื้อ ไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่ในประเทศไทย ใครก็ขนย้ายที่ดินไปไหนไม่ได้ เงื่อนไขที่จะขยายก็เช่น ที่ดินที่จะซื้อต้องขนาดใหญ่ อาคารชุดให้ซื้อได้ 70% หรือโครงการพร้อมบ้านขนาดใหญ่ที่คนไทยหมดปัญญาซื้อในช่วงนี้ เป็นต้น
สิ่งที่คาดว่าจะได้คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยฝ่ายสนับสนุนยึด ‘กฎหมาย’
ส่วนฝ่ายต่อต้านก็ใช้เหตุผลเดิม เช่น ต่างชาติที่ได้สิทธิ์ถือครองที่ดินก็จะได้วีซ่าถาวร เอื้อต่างชาติให้เกร็ง(เก็ง)กำไร หากถือครองมาก ๆ อาจเสียดินแดน อาจขัดรัฐธรรมนูญจึงควรใช้มาตรา 166 ทำประชามติก่อน และอาจเป็นการขายชาติ เป็นต้น ฝ่ายต่อต้านก็ยึด ‘กฎหมาย’

“ขายที่ดิน หรือขายชาติ” ทั้ง 2 ฝ่ายต่างยึด ‘กฎหมาย’ ไม่ต่างกันคนละด้าน
แต่เมื่อเหลียวมองประเทศที่ยินยอมให้ต่างชาติซื้อที่ดินและบ้านหรูก็จะพบว่า ทั้งหมดเป็นประเทศที่เจริญแล้ว หลักกฎหมายได้รับการเคารพ ไม่มีข่าวนักการเมืองได้รับการเลือกตั้งด้วยการซื้อเสียง ต่างจากประเทศไทยที่มีแต่ข่าวการซื้อเสียง และหลักกฎหมายไม่ค่อยได้รับการเคารพ
‘กฎหมาย’ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายนำมาอ้าง ต่อให้เข้มแข็งแค่ไหน และไม่ว่าจะแก้ไขยากอย่างไร เช่น รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ของไทย แต่สุดท้ายกฎหมายทุกฉบับก็แก้ไขได้โดยนักการเมือง
อะไรจะเกิดขึ้น หากวันหนึ่งคนต่างชาติเข้ามาอยู่ในไทยมาก ๆ ได้เชื้อชาติไทย มีลูกหลานมากขึ้น ลงมาเล่นการเมืองมากขึ้น แล้วใช้เงินที่มีมากทุ่มซื้อเสียงอย่างที่เป็นข่าวมากขึ้น ?
วันนั้น กฎหมายก็อาจเปลี่ยนไปเอื้อประโยชน์ให้ต่างชาติมากขึ้น เงื่อนไขการถือครองที่ดินและบ้านหรูก็อาจเปลี่ยนไปอีก วัฒนธรรมของไทย และหน้าตาประเทศไทยก็คงเปลี่ยนไปด้วย
ในสหรัฐก็มีตัวอย่างให้เห็น คุณลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ เชื้อสายไทยเกิดที่กรุงเทพฯ ผ่านการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์เข้ามาเป็นนักการเมืองสหรัฐที่มีบทบาทโดดเด่นในเวลานี้
สหรัฐมีนักการเมืองเชื้อสายต่างชาติได้ ทำไมกฎหมายไทยจะเปลี่ยนไปเอื้อให้คนเชื้อสายต่างชาติเข้ามาเป็นนักการเมืองไทยในอนาคตจากการถือครองที่ดินมากขึ้นไม่ได้ ?
นักการเมืองเชื้อสายจีนที่เกิดในไทยและโลดแล่นในเวทีการเมืองไทยก็มีให้เห็นมากมาย
ส่วนที่ต่างกันก็แต่เพียง ระบบการเมืองสหรัฐดีกว่าไทย การเป็นนักการเมืองสหรัฐต้องใช้ ‘ผลงานที่ดีมากกว่าผู้อื่น’ อย่างคุณแทมมี ต่างจากไทยที่ส่วนใหญ่ใช้ ‘เงินตราที่มากกว่าผู้อื่น’
เราจึงได้เห็นนักการเมืองของไทยส่วนใหญ่แก้กฎหมายเพื่อตนเอง ยึดผลประโยชน์ตนเอง ทำหน้าที่เพื่อถอนทุน วันหนึ่งก็อาจยินยอมให้ต่างชาติทำผิดกฎ แหกกฎง่าย ๆ ต่างจากประเทศอื่นที่มีการเมืองดีจนกล้ายินยอมให้ต่างชาติซื้อที่ดินและบ้านหรู
การขายที่ดิน หรือการถูกกล่าวหาว่าขายชาติในวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร
แต่เรื่องใหญ่ที่ควรทำควบคู่กันคือ การทำให้หลักกฎหมายได้รับการเคารพก่อนโดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันซึ่งจะส่งผลให้วัฒนธรรมไทยกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง และวิธีการที่จะทำให้ระบบกฎหมายได้รับการเคารพคือ การพัฒนาระบบการศึกษาให้เด็กรุ่นใหม่เท่านั้น
เด็กรุ่นใหม่ที่รู้ผิด รู้ถูก มากขึ้น จะทำผิดกฎหมายน้อยลง เมื่อเติบโตก็จะทำให้การซื้อเสียงลดลง การเมืองไทยจะดีขึ้น การสนับสนุนและการคัดค้านด้วยเหตุผลที่ดีก็จะตามมา
หากรัฐบาลจะขายที่ดินให้ต่างชาติมากขึ้น รัฐบาลก็ควรพัฒนาระบบการศึกษาให้มากขึ้นควบคู่กันซึ่งจะส่งผลให้การเมืองดี กฎหมายดี และต่างชาติที่ดีเข้ามาอยู่ร่วมกันด้วยความดี

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : September 28, 2021

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

ข่าวดีผู้ส่งออกผลไม้ไทย ศุลกากรจีนไฟเขียว ตั้ง “ด่านตรวจพืชสำหรับผลไม้นำเข้า” ที่สนามบินหนานหนิงแล้ว

นับเป็นอีกหนึ่งข่าวดีในแวดวงผู้ส่งออกผลไม้ไทยไปจีน เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC ได้ประกาศอนุมัติการจัดตั้ง “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” (เข้าใจง่ายๆ คือ ด่านตรวจพืชสำหรับผลไม้นำเข้า) ที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง (รหัสท่าอากาศยาน IATA : NNG) แล้ว

หลายปีมานี้ การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2564 ท่าอากาศยานแห่งนี้มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ คิดเป็นน้ำหนักรวม 9,182.5 ตัน (+46.74%) ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเบ็ดเตล็ดที่สั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์ม Cross border e-Commerce เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เครื่องไฟฟ้า

ดังนั้น การอนุมัติการจัดตั้งด่านตรวจพืชสำหรับผลไม้นำเข้าที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง จะช่วยเพิ่มฟังก์ชันด้านการนำเข้า-ส่งออกสินค้าให้มีความครบครันมากยิ่งขึ้น และเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ท่าอากาศยานแห่งนี้ก้าวขึ้นเป็น Hub การนำเข้า-ส่งออกสินค้าทางอากาศแห่งใหม่ของประเทศจีนด้วย

ตามรายงาน โครงการพัฒนา “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ในท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง ในส่วนของสิ่งปลูกสร้างมีพื้นที่ 1,009 ตร.ม. ประกอบด้วยโกดังตรวจสินค้า ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ความเสี่ยง โกดังควบคุมอุณหภูมิความเย็น ศูนย์ตรวจวิเคราะห์ผลแบบด่วน และพื้นที่กำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ซึ่งสามารถรองรับงานนำเข้าผลไม้ได้อย่างครบวงจร

ในระยะต่อไป ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงจะเร่งดำเนินโครงการพัฒนา “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ที่กล่าวมาข้างต้นให้สอดคล้องกับมาตรฐานข้อกำหนดด้านการควบคุมและตรวจสอบโรคและแมลงศัตรูพืชของ GACC ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ก่อสร้างแล้วเสร็จ ยังต้องเข้าสู่กระบวนขอตรวจรับจาก GACC โดยหลังจากที่ผ่านการตรวจรับแล้ว ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงจึงจะสามารถนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าให้เกษตรกร และเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทย

นอกเหนือจากผลไม้ยอดนิยมของชาวจีนอย่าง ทุเรียน มังคุด ลำไยแล้ว มะพร้าวน้ำหอม การเปิดท่าอากาศยานนานาชาตินครหนานหนิงเพื่อการนำเข้าผลไม้ ยังช่วยสร้าง “โอกาส” ให้กับผลไม้ไทยที่มีศักยภาพชนิดอื่นๆ ที่ผู้บริโภคชาวจีนยังไม่รู้จักมากนัก หรือมีเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาและปัจจัยแวดล้อมด้านการขนส่ง (บอมช้ำง่าย เน่าเสียง่าย) อาทิ ลองกอง ขนุน ชมพู่ มะขาม จากผลไม้ไทยที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทั้ง 22 ชนิดได้อีกด้วย

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ธุรกิจการบินพาณิชย์ของนครหนานหนิงเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากการขนส่งผู้โดยสารแล้ว ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงยังได้พัฒนา Cargo Complex เพื่อรองรับงานโลจิสติกส์และโกดังสินค้าระหว่างประเทศในอารักขาศุลกากรในสนามบิน ซึ่งช่วยให้สนามบินแห่งนี้กลายเป็นด่านนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศเต็มตัว

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 นครหนานหนิงได้เปิดเที่ยวบินคาร์โก้หนานหนิง-กรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ โดยใช้เครื่องบินคาร์โกของ China Postal Airlines รุ่น B757-200F ความจุ 29 ตัน โดยมีบริษัท Guangxi Tianhang Internatinal Supply-Chain Co.,Ltd (广西天航国际供应链有限公司) เป็นผู้ดำเนินการ

สินค้าที่ขนส่งมาที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นไปรษณีย์ภัณฑ์ที่สั่งซื้อผ่านระบบ Cross-border e-Commerce สินค้าทั่วไป และชิ้นส่วนที่ใช้ในงานวิศวกรรมก่อสร้าง ขณะที่สินค้าที่รับจากกรุงเทพฯ กลับไปที่นครหนานหนิง ส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล ปลาสวยงาม ดอกกล้วยไม้ และพืชผัก โดยสื่อท้องถิ่นได้ไฮไลท์ “อาหารทะเล” ของไทยเป็นสินค้าชูโรง

บีไอซี เห็นว่า “ท่าอากาศนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” เป็นช่องทางและโอกาสใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (ระยะเวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ ในการบุกเบิก “สินค้าสดและสินค้ามีชีวิต” รวมถึงสินค้าอื่นๆ จากไทยไปกว่างซี(จีน)

ที่มา : https://thaibizchina.com/

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.