CEO ARTICLE
ไม่ฉีดวัคซีน
“ฟ้ามีชะตาของฟ้า ดินก็มีชะตาของดิน นับประสาอะไรกับคนที่จะไม่มีชะตาเป็นของตน”
ตั้งแต่ต้นปี 2564 ปัญหาการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 มิให้เกิดอาการหนักเป็นประเด็นให้ขัดแย้งกันมากเกือบทั่วโลก
วัคซีนแต่ละชนิดกว่าจะนำมาใช้ได้จริงต้องผ่านการทดลองผิดบ้าง ถูกบ้าง หลายปี แต่ครั้งนี้ วัคซีนผ่านการทดลองราวปีเศษ แถมมีหลายยี่ห้อจากผู้ผลิตหลายประเทศ
ในเมื่อวัคซีนยังทดลองไม่นานพอ แต่สถานการณ์เร่งด่วน คนได้รับฉีดในวันนี้จึงมีสภาพไม่ต่างไปจากหนูทดลองยา ไม่รู้ว่าจะได้รับผลเสียอะไรบ้างในอนาคต คนจำนวนหนึ่งจึงเลือกไม่ฉีด
วัคซีนทุกยี่ห้อต่างอวดอ้างสรรพคุณของตน โจมตีคู่แข่ง ข่าวสารข้อมูลปลิวว่อนทั่วโซเซียล คนไทยที่เสพข่าว เชื่อโซเซียลจำนวนมากนอกจากจะทำตัวเหมือนมีความรู้มากกว่าแพทย์แล้ว คนไทยเหล่านี้ยังนำข้อมูลมาเถียงกันเอง ขัดแย้งกันเอง และทะเลาะกันเองได้อย่างเหลือเชื่อ
คนไหนชอบสหรัฐก็จะเชียร์วัคซีนจากสหรัฐ คนไหนชอบจีนก็จะเชียร์วัคซีนจากจีน
สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปออกมาว่า วัคซีนทุกยี่ห้อจากทุกประเทศมีทั้งดีและร้ายควบคู่กันไม่ต่างไปจากรถยนต์ที่ผลิตจากญี่ปุ่น จีน ยุโรป และสหรัฐ มันอยู่ที่คนชอบแบบไหนก็เชียร์แบบนั้น
คนที่ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังติดเชื้อได้ ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย คอยระวังตัว แถมยังต้องลุ้นร่างกายจะมีอาการเจ็บป่วยอะไรบ้างจากวัคซีนที่ยังไม่เสถียร
ส่วนคนไม่ฉีดวัคซีนก็ยิ่งต้องระวังตัวมากกว่า เพราะหากติดเชื้อจะมีอาการรุนแรง บางคนไม่ฉีดวัคซีนตามคำแนะนำของแพทย์เพราะมีโรคประจำตัวทำให้เข้าสังคมยากอย่างน่าเห็นใจ
บางคนลังเล คอยติดตามข่าว คนที่ฉีดวัคซีนมีอาการให้เห็นขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งมีข่าวประชาชนในหลายประเทศรวมกลุ่มประท้วงกันมาก ๆ ต่อต้านการฉีดวัคซีนกันมาก อาการลังเลใจก็ยิ่งมาก
“ฉีดก็เสี่ยงตาย ไม่ฉีดก็เสี่ยงตาย ไม่รู้จะเอาอย่างไรดีกับชีวิต”
ประเด็นที่คนไม่ฉีดวัคซีนคิดหนักที่สุดคือ ไม่รู้จะใช้ชีวิตที่เหลือแต่ละวันอย่างไร ไม่รู้วัคซีนจะเสถียรเมื่อไร ไม่รู้จะวางชะตากรรมของตนไว้กับชะตาฟ้า ชะตาดินอย่างไรดี ?
ข้อมูล ณ วันที่ 25 ก.ย. 64 ประชากรทั่วโลกได้รับวัคซีนแล้ว 6,108 ล้านโดส ส่วนไทยได้รับวัคซีนแล้ว 48,626,224 โดส (*)
ข่าวจากสื่อต่าง ๆ ชี้ว่า Covid-19 สายพันธ์เดลต้ามีอาการรุนแรง แพร่เร็ว กลายพันธ์ง่าย อาจแพร่ระลอกใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ แต่หลายประเทศก็เปิดให้เดินทางกันได้แล้วหากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม เช่น สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ญี่ปุ่น สหรัฐ อังกฤษ และอีกหลายประเทศในยุโรป
หากติดเชื้อก็รักษา ฉีดวัคซีนแล้วก็รักษาง่าย ไม่ฉีดก็รักษายาก หากรักษาไม่หายก็ล้มตาย
ทุกประเทศต่างมุ่งไปที่เศรษฐกิจ ไม่กลัว Covid-19 กันแล้ว ประเทศไทยก็ไม่ต่างกัน หากยังปิดเมือง ปิดประเทศ ประชาชนก็อึดอัด เศรษฐกิจก็พัง รัฐบาลก็ถูกด่าว่าไร้ฝีมือ
แผนการเปิดเมือง เปิดประเทศจึงค่อย ๆ เกิดขึ้น เป้าหมายอยู่ที่กลางเดือนตุลาคม 2564
Covid-19 แพร่ระบาดโดยคน คนที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้วจึงจะเดินทางได้ เข้าสถานที่ต่าง ๆ ได้ แต่ก็ยังติดเชื้อได้ เป็นพาหะนำเชื้อไปสู่คนอื่นที่ฉีดวัคซีนแล้วและไม่ฉีดวัคซีนได้
คนจากประเทศต่าง ๆ กำลังจะเดินทางมากขึ้น และเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ
วันนี้ คนที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้วกำลังจะได้คุณภาพชีวิตกลับคืนมาบ้าง ส่วนคนที่ไม่ฉีดก็ต้องอยู่บ้านมากกว่า มีความเสี่ยงมากกว่า ติดเชื้อแล้วรุนแรงกว่า แพร่เชื้อได้ง่ายกว่า
แม้จะอยู่บ้านมากกว่า แต่คนอื่นที่อยู่บ้านเดียวกันต้องเดินทาง ต้องทำงาน ต้องไปมาหาสู่กัน คนไม่ฉีดวัคซีนจึงยังมีโอกาสติดเชื้ออยู่ดี ไม่ได้หลบซ่อนก็เหมือนคอยหลบซ่อน คุณภาพชีวิตที่น่าจะได้กลับคืนมาบ้างจากการเปิดเมืองเปิดประเทศก็ขาดหายไป
ไม่มีใครรู้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นตามมา คนที่ฉีดและไม่ฉีดวัคซีนใครจะโชคดีกว่ากัน ?
แต่วันนี้เป็นที่ชัดเจนว่า ไม่ว่าคนที่ฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนต่างก็ส่งผลกระทบต่อครอบครัว ต่อการทำงาน ต่อรายได้ ต่อสังคม ต่อประเทศ และต่อโลกทั้งทางบวกและลบทั้งสิ้น
ฉีดก็มีชะตากรรมแบบหนึ่ง ไม่ฉีดก็มีชะตากรรมอีกแบบ ต่างคนต่างสร้างคนละทาง
แต่เมื่อรวมกันหลายร้อยหลายล้านคนก็ส่งผลต่อชะตาฟ้า ชะตาดิน และชะตาโลก สุดท้ายก็ย้อนสู่ชะตากรรมของตนวนเวียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
ปล. (*) ข้อมูลประชากรได้รับวัคซีน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
(https://www.mhesi.go.th/index.php/all-media/infographic/4494-279641.html)
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : October 5, 2021
Logistics
เปิดเที่ยวบินคาร์โก้ไทย-อินเดีย สินค้าเน่าเสียง่ายได้ลดต้นทุน
SpiceJet Airline ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำของอินเดีย ได้ขยายกิจการไปสู่การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยตั้งบริษัท SpiceXpress and Logistics ขึ้นมาบุกเบิกเส้นทางระยะสั้นในภูมิภาค ด้วยการนำเครื่องบินรุ่น 737-800F มาทดลองให้บริการขนส่งสินค้าในเส้นทางมุมไบ-กรุงเทพ และนิวเดลี-กรุงเทพ ซึ่งจะเป็นการให้บริการสัปดาห์ละครั้ง (Scheduled/Regular Cargo Flight) โดยจะมีเที่ยวบินจากมุมไบไปกรุงเทพทุกวันพุธ และกลับมายังอินเดียในวันพฤหัสบดีในขณะที่ จะมีเที่ยวบินจากนิวเดลีไปกรุงเทพทุกวันพฤหัสบดีและกลับมายังอินเดียในวันศุกร์สำหรับสินค้าที่คาดว่าจะขนส่งด้วยเที่ยวบินดังกล่าว ได้แก่ ผักและผลไม้ อาหารต่างๆ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องมีการขนส่งเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีสายการบินขนส่งสินค้าจากฮ่องกง (Hongkong Air Cargo Carrier Limited) ได้เปิดเส้นทางมายังมุมไบเช่นกัน โดยให้บริการขนส่งจากมุมไบไปฮ่องกงทุกวันอาทิตย์ด้วยเครื่องบินรุ่น A330-200F ที่มีความจุมากถึง 65-70 ตัน เพื่อเตรียมรองรับการขนส่งที่จะมีเพิ่มขึ้นจากข้อมูลของการท่าอากาศยานของอินเดีย (Airports Authority of India) พบว่าในช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2564 สนามบินมุมไบ (Chhatrapati Shivaji Maharaj International Airport: CSMIA) มีการขนส่งสินค้าทางอากาศ ประมาณ 18,900 เที่ยวบิน คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 187,000 ตัน โดยเป็นการขนส่งสินค้าที่มีมูลค่าสูง อาทิ ยาและเครื่องมือแพทย์ รวมถึงอาหาร ซึ่งรัฐบาลอินเดียมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้เกิดการส่งออกสินค้าจำเป็นต่างๆ ไปในตลาดโลกมากขึ้น
รวมถึงการขนส่งวัคซีนด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อคิดเห็น
1. จากรายงานการศึกษาของ Transport Intelligence พบว่าธุรกิจบริการขนส่งสินค้าทางอากาศในตลาดโลกกำลังฟื้นตัวในปี 2564 ด้วยอัตราเติบโต 14.9% จากการค้าระหว่างประเทศที่กลับมาขยายตัว ประกอบกับค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงปี 2563 – 2568 คาดว่าการขนส่งทางอากาศจะเติบโตเฉลี่ยประมาณ 5.4% ต่อปีโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเวชภัณฑ์และสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง สำหรับตลาดในอินเดีย สมาคม The Air Cargo Agents Association of India ให้ความเห็นว่าความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้นในสินค้าประเภทอาหารและยา รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า จะทำให้เกิดความต้องการใช้บริการขนส่งทางอากาศเพิ่มขึ้น โดยจะเปลี่ยนจากการขนส่งสินค้าผ่านเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสาร (Belly Freighter) ไปเป็นการขนส่งโดยเที่ยวบินขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ (Freighter Fleet) โอกาสและการแข่งขันในธุรกิจนี้จึงมีมากขึ้น
2. ผู้ให้บริการขนส่งทางอากาศของไทยควรสำรวจโอกาสในการเติมเต็มตลาดอินเดีย โดยเข้ามาหาพันธมิตรหรือหุ้นส่วนเพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจอย่างครบวงจร โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อื่นๆ อาทิ อัมดาบัด บังกาลอร์ และ เชนไน เพราะมีระยะทางที่ไม่ไกลจากไทยจึงสามารถใช้เครื่องบินสินค้าขนาดเล็กได้และไทยมีที่ตั้งที่เอื้อต่อการขนส่งต่อไปยังประเทศในอาเซียนด้วย อาทิ เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์และ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและตลาดขนาดค่อนข้างใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายสำคัญคือปริมาณสินค้าที่ส่งออกจากอินเดียมายังไทยหรือประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีจำนวนจำกัด ส่งผลต่อความ
คุ้มค่าในการบินไป-กลับระหว่างสองประเทศ ซึ่งต้องอาศัยการส่งเสริมตลาดผ่านสมาคมธุรกิจ/ผู้ส่งออก และผู้ให้บริการขนส่งเพื่อให้สามารถบริการได้ในจำนวนที่มากเพียงพอ
ที่มา: https://www.ditp.go.th
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!