CEO ARTICLE
19 ทวิ
คนในวงการการนำเข้า การส่งออก และตัวแทนออกของต้องเคยได้ยินคำว่า ‘19 ทวิ’ ที่ใช้ติดปากกันมาหลายสิบปี แม้คนต่างชาติบางคนก็ยังเรียกทับศัพท์เป็นไทย หรือเรียก ‘19 Bis’
‘19 ทวิ’ คืออะไร มีสาระสำคัญอย่างไร และมีส่วนใดที่ควรระมัดระวัง ?
ในอดีต วัตถุดิบมีอัตราอากรขาเข้าสูงมาก เช่น ผ้าผืนทั่วไปมีอัตราอากร 60% เมื่อนำผ้าผืนเข้ามาผลิตเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออก ต้นทุนส่งออกของไทยจึงสูง สู้คู่แข่งต่างชาติไม่ได้
เมื่อต้นทุนสู้ต่างชาติไม่ได้ ผู้ประกอบการไทยก็ทำหน้าที่ศูนย์กลางทางการค้าได้ลำบาก
พรบ. ศุลกากร พ.ศ.2482 จึงเกิดขึ้นของ มาตรา 19 ทวิ โดยกำหนดให้ของใดที่นำเข้ามาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป หากส่งกลับออกไปยังต่างประเทศได้ก็ให้คืนอากรขาเข้าแก่ผู้นำเข้า ด้วยประโยชน์ที่ได้รับทำให้คนในวงการฯ เรียกกฎหมายคืนอากรนี้จนติดปากด้วยคำสั้น ๆ ว่า ‘19 ทวิ’ เรื่อยมา
‘19 ทวิ’ จึงเป็นการนำเข้าเพื่อส่งออกแบบ ‘นอกอารักขา’ โดยให้มีการชำระอากรขาเข้า
‘19 ทวิ’ อยู่ภายใต้กฎหมายหลักของมาตรา ‘19’ ซึ่งเป็นการนำเข้าเพื่อส่งออก ‘นอกอารักขา’ เช่นกัน แต่ มาตรา ‘19’ กำหนดให้ของที่จะส่งกลับออกไปนั้นต้อง ‘ไม่เปลี่ยนแปลงสภาพหรือลักษณะ’
ขณะเดียวกัน ‘19 ทวิ’ ก็มีส่วนวรรคต่อ คือ ‘19 ตรี’ ให้อธิบดีฯ มีอำนาจกำหนดให้ใช้ธนาคารค้ำประกัน ระบบบัญชีค้ำฯ หรืออื่น ๆ แทนการชำระอากรขาเข้าด้วย ‘เงินสด’ ได้ด้วย
มาตรา 19 – 19 ทวิ – 19 ตรี จึงมีความเกี่ยวเนื่องกัน และเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ทำหน้าที่ศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาคได้ดีขึ้น
หลายสิบปีต่อมา พรบ. ศุลกากรฉบับแรกในปี 2469 ถูกพบว่ามีการออกกฎหมายเพิ่มอีกหลายสิบฉบับ และมีการแก้ไขมาก ค้นหายาก จดจำก็ยาก บางมาตราไม่ได้ใช้แล้ว พรบ. เกือบทั้งหมดรวมทั้ง พรบ. ศุลกากร พ.ศ.2482 เรื่องกฎหมายของ ‘19 ทวิ’ จึงถูกยกเลิก แต่เนื้อหาถูกนำมารวบรวมเป็นฉบับใหม่
มาตรา 19 – 19 ทวิ – 19 ตรี จึงหายไป แต่เนื้อหาถูกบรรจุใน พรบ. ศุลกากร พ.ศ.2560 โดยบัญญํติใหม่เป็นมาตรา 28 – 29 – 30 เรียงลำดับเช่นเดิมแทนที่
แม้ในทางกฎหมายจะไม่เรียก ‘19 ทวิ’ ควรเรียก ‘มาตรา 29’ แม้ปัจจุบัน วัตถุดิบเพื่อการผลิตจะมีอัตราอากรขาเข้าลดลงไปมาก เช่น ผ้าผืนก็ลดเหลือราว 5% และยังใช้สิทธิ FTA ยกเว้นอากรได้อีก และแม้ ‘19 ทวิ’ จะลดบทบาทลงไป แต่ประโยชน์ก็ยังมีอยู่มาก
ด้วยเหตุนี้ คนในวงการฯ และทั่วไปจึงยังคงเรียกติดปากว่า ‘19 ทวิ’ ต่อไป
ก่อนจะเริ่มใช้ ‘19 ทวิ’ ครั้งแรก ผู้นำเข้าต้องยื่นเอกสารการเป็นผู้ผลิตเพื่อขอหลักการก่อน หากผู้นำเข้าไม่ใช่ผู้ผลิตก็ต้องมีสัญญาว่าจ้างการผลิตและเอกสารของผู้ผลิตประกอบการยื่น
เมื่อได้รับอนุมัติในหลักการ ก็ให้นำเลขที่ ‘รหัสหลักการ’ มาระบุลงในใบขนสินค้าทั้งขาเข้าและใบขนสินค้าขาออกที่ต้องการขอคืนอากรทุกครั้งที่มีการนำเข้าและส่งออก
รหัสหลักการจะนำข้อมูลการนำเข้าและการส่งออกเข้าสู่ระบบการคืนอากรโดยอัตโนมัติ
‘สูตรการผลิต’ คือสิ่งสำคัญสุด เป็นการแสดงสัดส่วนการใช้วัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ และใช้คำนวณสัดส่วนอากรที่จะได้รับคืนอากรตามสูตรการผลิตที่ต้องยื่นก่อนการ
ส่งออก และนำเลขที่สูตรมาใส่ในใบขนส่งขนสินค้าขาออกแต่ละรายการที่ประสงค์จะขอคืนอากร
หากสูตรการผลิตผิดพลาด การคืนอากรก็ผิดพลาด อาจช้าหรือไม่ได้คืน
ผู้ประกอบการใดที่ยังมีวัตถุดิบนำเข้า ชำระอากร ผลิต และส่งออก ก็ควรใช้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ไม่ว่าจะเรียก ‘กฎหมายคืนอากร’ หรือมาตรา 29 หรือคำที่ฮิตติดปากว่า ‘19 ทวิ’ ก็ตาม
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
ปล. เนื้อหาใน พรบ. ศุลกากร 2560 มาตรา 29 (19 ทวิเดิม)
ผู้นําของเข้ามาในราชอาณาจักรและเสียอากรแล้ว เพื่อใช้สําหรับผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดําเนินการด้วยวิธีอื่นใด หากส่งของที่ได้จากการดําเนินการดังกล่าวออกไป นอกราชอาณาจักร หรือส่งไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือหรืออากาศยานที่เดินทางออกไป นอกราชอาณาจักร ให้มีสิทธิขอคืนอากรขาเข้าสําหรับของที่นําเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ หน้า ๓๕ เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๕๓ ก ราชกิจจานุเบกษา ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐
(๑) ต้องพิสูจน์ได้ว่าได้ผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดําเนินการด้วยวิธีอื่นใดด้วยของที่นําเข้ามา ในราชอาณาจักร
(๒) ต้องพิสูจน์ได้ว่าของที่นําไปใช้ในการผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดําเนินการ ด้วยวิธีอื่นใดนั้นมีปริมาณไม่เกินที่อธิบดีประกาศกําหนด
(๓) ได้ส่งของที่ได้จากการผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดําเนินการด้วยวิธีอื่นใดนั้นออกไป นอกราชอาณาจักรภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่นําของที่ใช้ในการผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือ ดําเนินการด้วยวิธีอื่นใดเข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยทําให้ไม่อาจส่งของดังกล่าวออกไป ภายในกําหนดหนึ่งปี ให้อธิบดีขยายระยะเวลาได้ แต่ต้องไม่เกินหกเดือน และ
(๔) ต้องขอคืนอากรภายในกําหนดหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร เว้นแต่อธิบดีจะขยายระยะเวลาให้แต่ต้องไม่เกินหกเดือน การขอคืนอากร การพิสูจน์ของ การส่งของออกไป และการคืนอากร ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : October 12, 2021
Logistics
รถไฟขนส่งสินค้าขบวนแรกจากท่าการขนส่งหลายรูปแบบเฉิงตูผ่านยูนนานถึงกรุงเทพฯ แล้ว
หลังจากที่ได้จัดกิจกรรมเปิดตัว “ท่าการขนส่งหลายรูปแบบระหว่างประเทศ (ทางอากาศ-ราง) ซวงหลิว นครเฉิงตู” (Chengdu (Shuangliu) Air-Rail International Combined Port) ภายในงาน China-ASEAN Expo ที่นครหนานหนิงเขตฯ กว่างซี เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ท่าการขนส่งดังกล่าวได้เปิดตัวขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศขบวนแรก บรรทุกสินค้า 15 ตู้ ประกอบด้วยอะไหล่เครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งทอ เป็นต้น ซึ่งสินค้าบางส่วนมีแหล่งผลิตจากภาคตะวันออกของจีน โดยมีการขนส่งทางรถไฟจากนครเฉิงตูไปยังเขตโลจิสติกส์รถไฟหวังเจียหยิงในนครคุนหมิง ก่อนเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกขนส่งผ่านด่านโม่ฮานไปยังเวียงจันทน์ของลาวและกรุงเทพฯ รวมระยะทาง 2,900 กิโลเมตร ใช้เวลาขนส่ง 7 วัน ซึ่งในอนาคตเมื่อเส้นทางรถไฟจีน-ลาวเปิดใช้งานแล้ว คาดว่าจะเปิดให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้าไป-กลับสัปดาห์ละ 3 คู่
อนึ่ง เขตซวงหลิวของนครเฉิงตูเป็นที่ตั้งท่าอากาศยานนานาชาติซวงหลิว นครเฉิงตู ซึ่งมีศักยภาพการขนส่งสินค้าทางอากาศระดับสูง โดยท่าการขนส่งหลายรูปแบบระหว่างประเทศ (ทางอากาศ-ราง) ซวงหลิว นครเฉิงตู มีเนื้อที่ 194 หมู่ (ประมาณ 80 ไร่) ใช้เงินลงทุน 360 ล้านหยวน และสามารถเดินทางเชื่อมกับท่าอากาศยานนานาชาติซวงหลิวทางรถยนต์ภายใน 20 นาที นับเป็นการผนวกศักยภาพการขนส่งทางอากาศเพื่อส่งเสริมการขนส่งหลายรูปแบบ
นอกจากเส้นทางขนส่งสินค้าจีน-ลาว-ไทยแล้ว ท่าการขนส่งหลายรูปแบบฯ ซวงหลิว ยังมีเส้นทางขนส่งอื่น ได้แก่ (1) เส้นทางขนส่งโดยรถไฟไปยังท่าเรือชินโจวในเขตฯ กว่างซี ระยะทาง 1,669 กิโลเมตร ใช้เวลาขนส่ง 3 วัน เปิดให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้าสัปดาห์ละ 1 ขบวน โดยสินค้าที่ขนส่งมาถึงท่าเรือชินโจวสามารถเปลี่ยนไปใช้การขนส่งทางทะเลไปยังจุดหมายปลายทางได้ต่อไป และ (2) เส้นทางขนส่งโดยรถไฟจากกรุงฮานอยของเวียดนามผ่านด่านผิงเสียงในเขตฯ กว่างซีถึงเขตซวงหลิวของนครเฉิงตู ก่อนผ่านด่านอาลาซานในเขตฯ ซินเจียงไปยังเมือง Rotterdam ในเนเธอร์แลนด์
แม้ว่าเส้นทางรถไฟจีน-ลาวจะเปิดใช้งานช่วงเดือนธันวาคม ศกนี้ รวมถึงการเชื่อมโยงกับโครงการรถไฟไทย-จีนยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี แต่มณฑลภาคตะวันตกของจีนอย่างยูนนานและเสฉวน ล้วนกระตือรือล้นที่จะใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟจีน-ลาวเพื่อเชื่อมโยงการขนส่งกับไทย โดยในระหว่างที่เส้นทางรถไฟจีน-ลาวยังไม่เปิดใช้งาน ก็ได้การทดลองเดินขบวนรถขนส่งสินค้าเพื่อประเมินปัญหาอุปสรรคและต้นทุนการขนส่ง โดยใช้การขนส่งทางบกทดแทนช่วงที่เส้นทางรถไฟยังไม่เปิดใช้งาน ตัวอย่างเช่น บริษัท Yunnan Intercontinental Multi-Model Railway Logistics จำกัด ที่ได้เปิดตัวขบวนรถบรรทุกขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจีน-ลาวจากนครคุนหมิงไปยังเวียงจันทน์ รวมทั้งยังมีแผนเปิดตัวขบวนรถบรรทุกขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจีน-ลาว-ไทย ผ่านถนนสาย R3A เพื่อขนส่งผักสดแช่เย็นและอาหารสัตว์ไปยังไทย อีกทั้งวางแผนจะใช้ประโยชน์ขนส่งสินค้าบางส่วนต่อไปยังยุโรปผ่านท่าเรือแหลมฉบังและขนส่งผลไม้ไทยกลับเข้าสู่ตลาดจีนด้วย
ที่มา: https://thaibizchina.com
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!