CEO ARTICLE
ม. 112
“ชายหญิงคู่รักยังไม่แต่งงานกันในอาเจะห์ อินโดนีเซีย มีสัมพันธ์กันใกล้ชิด และถูกลงโทษด้วยการโบยถึง 17 ครั้งจนฝ่ายหญิงทรุดลงกับพื้น ทรมานด้วยความเจ็บปวดต่อหน้าสาธารณชน”
การลงโทษข้างต้นเกิดขึ้นในวันที่ 10 พ.ย. 64 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญของไทยมีคำวินิจฉัยคดี ‘ล้มล้างการปกครอง’
สหรัฐ อังกฤษ ซาอุดิอาราเบีย สิงคโปร์ ไทย และประเทศอื่น ๆ ต่างมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของตน มีกฎหมาย และมีบทลงโทษที่ต่างกันตามวัฒนธรรมของตน
แม้กฎหมายและบทลงโทษของทุกประเทศจะต่างกัน แต่กฎหมายก็คือกฎหมาย มีเส้นทางเดินของกฎหมาย ผู้ใดทำผิดกฎหมายก็ต้องเดินไปตามเส้นทางที่กฎหมายบัญญัติ
กลุ่มเยาวชนที่เป็นหัวขบวนของการปฏิรูป การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 6 และกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นกลุ่มที่น่าเห็นใจ และน่าสงสารที่สุดไม่ต่างไปจากคู่รักอาเจะห์ที่ต้องถูกเฆี่ยนให้ได้รับความอับอาย
ทุกคนยังอ่อนความรู้ อ่อนประสบการณ์ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำไปด้วยความคึกคะนอง
การยุยงเยาวชนที่พอจะรู้กฎหมายให้คัดค้านศาลรัฐธรรมนูญที่มีอาวุโสสูงและรู้กฎหมายลึกซึ้งจึงคล้ายเอาหัวชนฝา เอาไข่ไปกระทบกับหินมีแต่ความเสียหาย และสร้างความปวดร้าวให้พ่อแม่ของเยาวชนที่เทิดทูลสถาบันให้น่าสงสารมากยิ่งขึ้น
ประชาชนที่ไม่ชอบเยาวชนกลุ่มนี้จึงไม่ควรซ้ำเติม ควรเห็นใจหัวอกพ่อแม่ของเยาวชน ควรปล่อยกระบวนการทางกฎหมายเดินไปตามเส้นทาง ส่วนคนที่ชอบฯ ก็ไม่ควรยุยงส่งเสริมให้ทำผิดกฎหมายอีก ควรให้ความรู้ ให้ต่อสู้ตามเส้นทางกฎหมายเพื่อพ่อแม่ของเยาวชนจะดีกว่า
‘ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง’ คำนี้พูดเมื่อไรก็ถูก ยิ่งคนอยู่บนเส้นทางความขัดแย้งก็ยิ่งมองตัวเองถูกเสมอ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้พิจารณาที่ถ้อยคำแต่พิจารณาที่ ‘พฤติกรรมซ่อนเร้น’
หากจะยุติความขัดแย้งตามแนวทางรัฐสภา ง่าย ๆ ก็เพียงนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลยินยอมแก้ ม. 112 กับฝ่ายค้าน หรือนักการเมืองฝ่ายค้านยืนยันไม่แก้ไขร่วมกับฝ่ายรัฐบาล
เพียงเท่านี้สถานการณ์ก็จะคลี่คลาย นักการเมืองก็จะเป็นผู้นำประเทศไปสู่ความสงบสุข
แต่เอาเข้าจริง นักการเมืองทั้ง 2 ฝ่ายต่างยืนบนผลประโยชน์คนละด้าน ต่างก็มองต่างกันคนละมุมไม่ยอมเปลี่ยน ความขัดแย้งจึงยิ่งบานปลาย หากให้เลือกตั้งใหม่ก็ยิ่งบานปลายไม่รู้จบ
นักการเมืองยังไม่ได้ตกเป็นจำเลยของศาล แต่เยาวชนที่ถูกตัดสินแล้วยิ่งถลำลึก หากทะลุฟ้าแล้วชนะก็อาจรอดได้ แต่หากไม่ชนะ ความเสียหายจะตกที่ครอบครัวเขาเหลือคณา
คำวินิจฉัยครั้งนี้จะนำไปสู่การตัดสินคดีอาญาอีกหลายคดี มีโทษจำคุก หรืออาจหนักไปถึงการประหารชีวิตก็ได้จึงเป็นเรื่องใหญ่ อาจนำไปสู่การต่อต้านที่หนักขึ้น การหลบหนี การลี้ภัย การแบ่งฝ่ายที่มากยิ่งขึ้น หรือสงครามกลางเมืองที่ประชาชนทั้งประเทศต้องได้รับผลกระทบก็ได้
หากถามว่า “กฎหมายอาญา มาตรา 112 สามารถแก้ไขได้หรือไม่ ?”
นักการเมืองหลายคนออกมายืนยันว่าจะไม่ร่วมแก้ไข แสดงว่ามาตรา 112 แก้ไขได้ รวมถึงกฎหมายการเฆี่ยนตีของอาเจะห์ หรือรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของทุกประเทศด้วย
กฎหมายทุกถ้อยคำมีเจตนารมณ์ การแก้ไขก็ต้องพิจารณาเจตนารมณ์ มีกระบวนการ มีขั้นตอน มีการพิจารณา และการลงมติ ใครที่เรียนกฎหมายย่อมรู้ดี
ยิ่งเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย ยิ่งเป็นนักการเมืองที่คลุกคลีอยู่กับกฎหมายก็ยิ่งรู้ดีกว่า
ในเมื่อรู้ดีก็ย่อมมองออก ประชาชนที่จงรักภักดีต่อสถาบันยังมีมาก บริบททางสังคมเวลานี้ยังไม่พร้อมที่จะแก้ไข ส.ส. ส่วนหนึ่งก็มองออก สัญญาณที่มองออกนี้เห็นได้ตั้งแต่นักการเมืองในกลุ่มที่ได้ประโยชน์ซ่อนเร้นจากการแก้ไขฯ ออกมาแถลงการณ์ไม่สนับสนุนแล้ว
“กฎหมายไม่เคยเป็นปัญหา แต่ปัญหาเกิดจากการปฎิบัติที่ไม่ถูกต้อง”
คำกล่าวนี้แสดงว่า “ปัญหาอยู่ที่คนปฏิบัติ คนที่เสียประโยชน์ คนที่อยากก้าวล่วงฯ” แต่พอคนกล่าวเปลี่ยนใจจะเป็นสะพานแก้ไขอีก ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า ม. 112 ไม่มีปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาคือ ‘คน’ จริง ๆ ซึ่งอาจเป็นคนที่แสวงอำนาจทางการเมืองและสร้างผลประโยชน์ซ่อนเร้นก็ได้
หากแยกนักการเมือง ‘สีขาว’ และ ’สีดำ’ ออกจากกันได้ ความชัดเจนจะเกิดขึ้น
แต่ความจริงคือแยกไม่ได้ นักการเมืองทุกคนพร้อมที่จะเป็นได้ทั้งดีและเลวสลับด้านไปมาตามแต่ผลประโยชน์เบื้องหน้า เมื่อแยกไม่ได้ สีขาวและสีดำจึงรวมกันกลายเป็น ‘สีเทา’
ทุกวันนี้ ‘นักการเมืองสีเทา’ จึงยังโลดแล่นทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ม. 112
คนที่อยากแก้ไข ม. 112 จึงควรมองให้ขาดก่อนว่า สถาบันฯ ควรได้รับการปกป้องหรือไม่ หากเห็นควรปกป้องก็ต้องรักษา ม. 112 ไว้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
แต่หากไม่ควรปกป้อง การแก้ไข ม. 112 ก็ทำได้ แต่ต้องไม่กระทบสิทธิและเสรีภาพของคนที่จงรักภักดี ไม่ควรทำให้คนอื่นรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ควรละเมิดกฎหมาย และควรปกป้องเยาวชนที่ไม่รู้กฎหมายลึกซึ้งแต่ถูกล่อลวงโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
หากจะกล่าวให้ง่าย การแก้ไขควรเอาอย่างคนอยู่เบื้องหลังที่รู้ เข้าใจ และโดนคดีน้อยที่สุด
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : November 16, 2021
Logistics
วิกฤตขนส่งที่ท่าเรือฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 Tomas Pallini ผู้สื่อข่าว Business Insider พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิกสติกส์การขนส่งสินค้า เจ้าหน้าที่บริหารจัดการท่าเรือ U.S. Coast Guard และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่สำรวจเพื่อหาสาเหตุของปัญหาที่ Port of Los Angeles และ Port of Long Beach ที่นำมาซึ่งวิกฤตห่วงโซ่อุปทานในสหรัฐฯ ได้ข้อสรุป ดังนี้
1. วิกฤตความแออัดของ Port of Los Angeles และ Port of Long Beach ใน Southern California สืบเนื่องมาจาก
1.1 เป็นท่าเรือที่ได้รับความนิยมมากที่สุดใหญ่ที่สุดในฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ บนเส้นทางที่เร็วและถูกที่สุดในการขนส่งสินค้า ทางเรือจากเอเชียเข้าสู่สหรัฐฯ สามารถรองรับเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและมี terminal ขนถ่ายสินค้ามากที่สุดคือ 13 terminals
1.2 การเติบโตของความต้องการบริโภคของภาคครัวเรือนและภาคเอกชนในสหรัฐฯ ทำให้ยอดสั่งสินค้าขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้มีเรือขนส่งสินค้ามุ่งหน้าเข้าท่าเรือทั้ง 2 แห่งเป็นจำนวนมาก เพื่อขนถ่ายสินค้าเข้าสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจุบันท่าเรือมีตู้ขนส่งสินค้าที่ไม่สามารถระบายออกจากท่าเรือได้เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว
1.3 Port of Los Angeles และ Port of Long Beach มีข้อบังคับและนโยบายการทำงานที่ก่อให้เกิดปัญหาติดขัดที่ท่าเรือ เช่น
(1) คนขับรถบรรทุกต้องทำนัดหมายเพื่อเข้าไปส่ง/รับตู้คอนเทนเนอร์ บริษัทโลจิสติกส์ต้องตรวจสอบ website ของท่าเรือตลอดเวลา เพื่อหาเวลาว่างที่จะนัดเข้าไปรับสินค้า ขณะที่ท่าเรือไม่มีที่ว่างที่จะเอาตู้สินค้ามาเรียงรอรถบรรทุกเข้าไปขน รถบรรทุกต้องเข้าไปรอให้ท่าเรือจัดการนำตู้สินค้าลงจากเรือมาเตรียมพร้อมให้ขนถ่าย
(2) รัฐแคลิฟอร์เนียมีข้อบังคับสำหรับรถบรรทุกที่สามารถเข้าไปทำงานที่ท่าเรือได้ เช่น รถบรรทุกที่ผลิตก่อนปี 2005 ต้องใช้เครื่องยนต์ที่ผลิตในปี 2010 เป็นต้นไป
1.4 ท่าเรือไม่มีที่ว่างสำหรับตู้สินค้าเปล่าที่เป็นตู้สินค้าที่ถูกขนออกไปจากท่าเรือและสินค้าถูกขนถ่ายออกจากตู้แล้ว รถบรรทุกไม่สามารถนำตู้เปล่าจำนวนมากกลับไปคืนที่ท่าเรือได้ หรือถ้านำกลับไปได้ก็ไม่มีที่ว่าง ต้องถูกวางทิ้งไว้บน chassis ในท่าเรือ
2. สถานการณ์การรอเข้าเทียบท่าเพื่อขนถ่ายสินค้าจากเรือมีแนวโน้มจะลากยาวไปจนถึงปี 2023
2.1 เรือขนส่งสินค้าทุกลำที่จอดทอดสมอใน San Pedro Bay (ที่ตั้งของ Port of Los Angeles และ Port of Long Beach) เพื่อรอเข้าเทียบท่า ต้องได้รับอนุญาตจาก U.S. Coast Guard และต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ ที่กำหนด
2.2 Marine Exchange of Southern California รายงานว่า ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2021 มีเรือทอดสมอรอเข้าเทียบท่าใน San Pedro Bay 100 ลำ และมีเรือจอดที่ท่าเทียบเรือ 59 ลำ ในจำนวนนี้เป็นเรือบรรทุกตู้สินค้าที่ทอดสมออยู่ในอ่าว 73 ลำ และที่จอดเทียบท่าแล้ว 29 ลำ
2.3 เรือที่ทอดสมอรอเข้าเทียบท่า Port of Los Angeles/Port of Long Beach นานที่สุดในปัจจุบันคือเรือ A Kinka จากประเทศจีน ที่เดินทางมาถึงสหรัฐฯเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 12 กันยายน 2021 แต่ปัจจุบันยังไม่ได้เข้าเทียบท่าขนถ่ายสินค้า
2.4 เรือที่สามารถเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือได้เลยโดยไม่ต้องรอ คือ เรือที่สหรัฐฯ ถือว่าเป็น high priority ships รวมถึงเรือที่ติดธงสหรัฐฯ ที่เดินทางระหว่าง Hawaii และแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ
3. ความพยายามแก้ปัญหาของภาคธุรกิจ
3.1 หลายบริษัทในสหรัฐฯ รวมถึง Walmart ใช้กลยุทธ์ “charter ships” ซึ่งเป็นการเช่าเหมาเรือทั้งลำเพื่อขนสินค้าให้บริษัทเท่านั้น ซึ่งอาจไม่ใช่ทางออกที่ดี เนื่องจาก
(1) ค่าใช้จ่ายอาจสูงกว่า
(2) ท่าเรือจะพิจารณาให้บริการลูกค้าประจำเป็นอันดับแรกเท่านั้น “charter ships” ไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดๆ ทั้งสิ้น นอกเสียจากว่าสินค้าบนเรือเป็นสินค้ากลุ่ม priority ดังนั้น charter ships ต้องรอนานเหมือนเรืออื่นๆ มีรายงานว่าในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2021 ที่นักข่าวออกไปสำรวจ พบเรือ “charter ships” ที่จอดรอเทียบท่ามาตั้งแต่วันที่4 ตุลาคม 2021 และยังไม่มีวี่แววว่าจะได้เข้าเทียบท่า
(3) บริษัทขายรถยนต์เป็นกลุ่มที่ใช้ charter ships มากที่สุด ตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิดและยังคงใช้ charter ships ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่รถยนต์ขายดีที่สุด มีรายงานนว่าค่าใช้จ่ายที่บริษัทขายรถยนต์ใช้กับ charter ships สูงมากจนน่าตกใจ
3.2 การเปลี่ยนท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าไปที่อื่น ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้โดยง่าย และมีเงื่อนไขที่ไม่ตอบโจทย์ เช่น
(1) การเปลี่ยนท่าขนถ่ายสินค้าหมายถึง การเปลี่ยนระบบห่วงโซ่อุปทานการขนส่งสินค้าทั้งหมดของบริษัท ดังนั้นสำหรับบางบริษัท การเสียเวลา 12 วันรอเทียบท่าที่ Los Angeles อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการเปลี่ยนไปเทียบท่าที่ Port of Oakland
(2) ท่าเรือหลายแห่งบนฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ไม่สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าได้ทุกประเภทและทุกขนาดเหมือนที่ Port of Los Angeles และ Port of Long Beach
(3) ปัญหาการย้ายไปขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือบนฝั่งตะวันออก คือ
เรือจะต้องเปลี่ยนเส้นทางแล่นผ่าน Panama Canal ซึ่งมีข้อบังคับเรื่องขนาดของเรือที่ผ่านเข้า-ออก
สินค้าที่มีจุดหมายปลายทางที่ Chicago อาจจะเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางเร็วกว่าถ้าเป็นการขนส่งผ่าน Port of Los Angeles และ Port of Long Beach ถึงแม้ว่าจะต้องรอการขนถ่าย เมื่อเทียบกับเวลาที่ต้องเสียไปในการเดินทางไปเทียบท่าบนฝั่งตะวันออกและการจัดหารถบรรทุกหรือรถไฟขนสินค้าจากท่าเรือไปยัง Chicago
(4) ท่าเรือทางเลือกอื่นอาจไม่มีพื้นที่คลังสินค้ามากพอสำหรับการจัดเก็บสินค้า (คลังสินค้าบางรายจะรับเฉพาะสินค้าราคาแพง – big ticket items เท่านั้น) หรือบริการย่อย/เปลี่ยนขนาดบรรจุสินค้าใหม่เพื่อการขนส่ง
(5) การขนส่งในประเทศมีปัญหาและมีราคาแพง
3.3 การใช้พื้นที่ขนส่งบนเรือให้มากที่สุดด้วยวิธีการหลายแบบก็ไม่ได้ผล อาทิ
(1) อัดสินค้าเข้าไปในตู้สินค้าจนเกินน้ำหนักที่กำหนด ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ California มีข้อกำหนดเรื่องปริมาณน้ำหนักของตู้ขนส่งสินค้า และน้ำหนักที่สามารถขนส่งออกไปจากท่าเรือได้
(2) การทำ “floor-loading” ที่เป็นการนำสินค้าที่เป็น “loose items” มาเรียงซ้อนกันในตู้คอนเทนเนอร์ แทนการวางลงบน pallets ปัญหาคือในสหรัฐฯ ขาดแคลน pallets และแรงงานไม่มีความชำนาญหรือเครื่องมือที่จะจัดการกับการจัดส่งสินค้าในลักษณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิกสติกส์ของสหรัฐฯ จึงเห็นว่าการขนถ่ายสินค้าจะมีประสิทธิภาพและรวดเร็วถ้าสินค้าถูกบรรจุลงใน pallets มาตั้งแต่ต้นทาง
3.4 ทางเลือกที่เป็นการขนส่งทางอากาศ
(1) มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ขนส่ง
(2) ค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ในบางกรณี อาจคุ้มค่าและประหยัดกว่า ปัจจุบันด้วยความต้องการที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้อัตราค่าขนส่งทางอากาศปรับตัวสูงขึ้นเป็นลำดับ
4. วิกฤตที่ท่านำเข้าสินค้าแสดงให้เห็นถึงปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ คือ
4.1 การขาดแคลนแรงงาน
4.2 การขาดแคลนสินค้าในตลาดค้าปลีก
4.3 อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการขนส่งและการขาดแคลนสินค้า
4.4 ค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการขนส่งสินค้าเข้าสหรัฐฯ คาดว่า จะไม่มีทางกลับไปเหมือนกับช่วงก่อนหน้าเกิดวิกฤต
ที่มา: Business Insider: “We charted a boat with logistics expert to look at port congestion up close and saw how American greed is leading to shortages and empty shelves”, by Thomas Pallini, November 5, 2021
ข้อสังเกตของ สคต.ลอสแอนเจลิส
1. วิกฤตการขนส่งในปัจจุบันได้ส่งผลอย่างต่อเนื่องต่อผู้ประกอบการการค้าระหว่างประเทศไปทั่วโลก ทั้งเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่าย เวลาที่เพิ่มขึ้น การบริหารจัดการสต็อกสินค้าและคำสั่งซื้อที่อาจมีผลให้ผู้ส่งออก/ผู้นำเข้าต้องผิดเงื่อนไขสัญญา มีค่าปรับเกิดขึ้น การที่ไม่มีสินค้าจำหน่ายเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อความเป็นไปได้ที่สินค้า/แบรนด์จะถูกแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งที่สามารถบริหารจัดการด้านการขนส่งและสต็อกสินค้าได้ดีกว่า และนำมาซึ่งการสูญเสียตลาดในระยะยาว ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องวางแผนร่วมกับคู่ค้าในสหรัฐฯ เพื่อบริหารจัดการสต็อกสินค้าให้เพียงพอ และทันต่อเวลา
2. ปัญหาค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นจากเดิมกว่า 5 เท่า ส่งผลให้ค่าขนส่งสูงกว่าค่าสินค้า และในบางกรณีส่งผลให้ผู้นำเข้าเริ่มหันกลับมาทบทวนความเป็นไปได้ในการแสวงหาสินค้าที่ผลิตในประเทศที่มีปัญหาด้านค่าขนส่งน้อยกว่า แม้ต้นทุนการผลิตจะสูงกว่า ภาพรวมอาจมีต้นทุนรวมใกล้เคียงกัน แต่มีสินค้าจำหน่ายตามกำหนดเวลา ในบางกรณีสินค้าสดใหม่กว่า มีอายุสินค้ายาวนานกว่า (เนื่องจากไม่ต้องสูญเวลาไปกับการขนส่งที่อย่างน้อยต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1-2 เดือน) ไม่ต้องสูญเสียโอกาสทางการค้าที่ความต้องการของผู้บริโภคมีมาก ปรากฏการณ์ Near Sourcing ที่เคยมีผู้เชี่ยวชาญระบุถึงในช่วงต้นสถานการณ์ COVID จึงยังมีความเป็นไปได้สูงมาก
3. นอกจากนี้ ค่าขนส่งที่แพงขึ้นมากจะเป็นแรงกดดันให้ผู้นำเข้าผลักภาระบางส่วนไปให้ผู้ส่งออกในการลดราคาสินค้า เพื่อชดเชยกับค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้นำเข้าไม่สามารถผลักภาระทั้งหมดไปให้กับคู่ค้า/ผู้บริโภคได้ ข้อมูลล่าสุดพบว่า สินค้าต่างๆ ในสหรัฐฯ ต่างทยอยปรับขึ้นราคาสินค้า เกือบร้อยละ 60 ของร้านอาหารในสหรัฐฯ ปรับขึ้นราคาอาหารที่จำหน่าย สหรัฐฯ กำลังประสบเจอกับภาวะอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 30 ปี โดยดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคในเดือนตุลาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 จากเดือนกันยายน ซึ่งมาจากปัญหาค่าขนส่ง การขาดแคลนแรงงาน ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่านักเศรษฐศาสตร์หลายท่านจะมองว่าเป็นสถานการณ์ชั่วคราวและจะกลับมาเป็นปกติ อย่างไรก็ดี ยังมีอีกฝ่ายมองว่า หากสถานการณ์ขนส่งดีขึ้น ตลาดแรงงานปรับตัวเป็นปกติ แต่ยังมีปัจจัยที่ยังส่งผลต่อค่าครองชีพและการปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรง คือ ค่าเช่าบ้านพักและราคาบ้านพักอาศัยที่พบว่ามีการปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในเรื่องบ้านพักคิดเป็นหนึ่งในสามของค่าใช้จ่ายผู้บริโภค (Consumer Spending) สหรัฐฯ โดยเฉลี่ย
ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/755185/755185.pdf&title=755185&cate=413&d=0
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!