CEO ARTICLE
อาหารฮาลาล
รัฐบาลไทยได้ไปเยือนประเทศซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 65 สื่อฝายรัฐบาลชี้ไปในทำนองรัฐบาลได้ ‘ผลงาน’ แต่สื่อตรงข้ามชี้ว่ารัฐบาลได้ ‘ส้มหล่น’
ไม่ว่าจะเป็นส้มหล่นหรือไม่ รัฐบาลก็ควรใช้โอกาสนี้สร้างผลงานให้เกิดขึ้นจริง ๆ
ข้อมูลที่ได้จากสื่อ ประเทศซาอุดิอาระเบียกำลังพัฒนาตนเองด้วยยุทธศาสตร์เชิงรุกในทุก ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุน ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน สาธารณสุข และการท่องเที่ยวภายใต้การบัญชาการของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด
ในวัย 36 พระชันษา พระองค์ทรงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รองนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งอื่นอีกมาก และเหนืออื่นใดทรงเป็นมกุฎราชกุมารที่จะทรงขึ้นครองราชในอนาคต
พระองค์ค่อย ๆ เปลี่ยนกฎเกณฑ์ประเทศ ให้สิทธิสตรีมากขึ้น ลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น และเปิดประเทศเพื่อต้อนรับแรงงาน สินค้า สุขอนามัย และบริการต่าง ๆ จากประเทศอื่นมากขึ้น
ในอดีต ประเทศไทยเคยได้ประโยชน์จากการส่งออกแรงงาน อาหารฮาลาล และสินค้าอื่นอีกมาก เงินตราเข้าประเทศก็มาก แต่ความสัมพันธ์กลับถูกตัดขาดไปราว 32 ปีจากเรื่อง ‘เพชรซาอุ’ และ ‘การฆาตรกรรม’ นักการทูตและนักธุรกิจ
ตลอดเวลา 32 ปีที่ผ่านมา คนไทยขาดรายได้จากการส่งออกแรงงานและการค้ามหาศาลโดยไม่มีรัฐบาลไทยชุดใดสามารถรื้อฟื้นความสัมพันธ์ให้กลับขึ้นใหม่ได้
แต่ด้วยยุทธศาสตร์เชิงรุก เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมานทรงยอมลืมข้อบาดหมาง และเชิญรัฐบาลไทยไปเยือนอย่างเป็นทางการเพื่อหารือการเปิดความสัมพันธ์และการค้าครั้งใหม่
แม้หลายรัฐบาลไทยพยายามจะฟื้นความสัมพันธ์ แต่จากข้อมูลข้างต้นจะชี้ว่า ‘ส้มหล่น’ ก็ใช่ แต่หากรัฐบาลนี้จะสร้างผลงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ ไทยก็ต้องมียุทธศาสตร์เชิงรุกเคียงคู่กัน
อาหารฮาลาลเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดของชาวมุสลิม และน่าจะเหมาะนำมาเป็นยุทธศาสตร์ในครั้งนี้ รัฐบาลไทยจะทำอย่างไรให้โลกเห็นว่า อาหารฮาลาลของไทยอร่อยและดีที่สุด กรรมวิธีตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ วิธีการปรุง และบรรจุภัณฑ์เป็นไปตามหลักศาสนาอิสลามอย่างแท้จริง
เศรษฐีซาอุที่รู้ก็ย่อมอยากมาเที่ยวประเทศไทยเพื่อลองชิมเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว
หากอาหารฮาลาลของไทยโด่งดัง ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และธุรกิจอื่น ๆ จะปรับตัวและตื่นตัวตาม เช่น การเลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูก การเช่าและการซื้อที่ดิน บรรจุภัณฑ์ สุขภาพ การเก็บรักษา การขนส่ง ห้องเย็น และโลจิสติสก์ให้เป็นไปตามหลักศาสนาอิสลามจะตามมา
ทั้งความสัมพันธ์และเศรษฐกิจไทยจะถูกผลักไปอยู่ในยุทธศาสตร์เชิงรุกตามไปด้วย
แต่จาก ‘ยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล’ (พ.ศ. 2559 – 2563) โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพบประชากรโลก 7,000 ล้านคน เป็นมุสลิม 1,700 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 23.69 และมีมูลค่าอาหารฮาลาลทั่วโลกถึง US$ 164,368 ล้าน
ขณะที่ไทยมีจุดแข็งด้านแหล่งวัตถุดิบ แต่กลับมีมูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาลเพียง US$ 5,112.36 ล้านซึ่งนับว่าน้อยมากโดยมีคู่แข่งที่สำคัญในอาเซียนคือ ‘อินโดนีเซีย’ และ ‘มาเลเซีย’
ส่วนจุดอ่อนคือ การขาดเทคโนโลยี ขาดบุคคลากร ขาดความรู้แบบบูรณาการทำให้อาหารฮาลาลมีการปนเปื้อน ไม่เป็นไปตามหลักศาสนา และไม่ใช้ตราฮาลาลติดอาหารอย่างถูกต้อง
รายงานนี้ชี้เห็นว่า ในความสัมพันธ์ครั้งใหม่นี้ ไทยอาจมีคู่แข่ง และคู่แข่งก็อาจมีผลกระทบต่ออาหารฮาลาล การท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนในอนาคตของไทยอีกด้วย
ส่วนข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นก็คล้ายกับจีนที่เคยบุกไทย การเช่าและซื้อที่ดิน ครอบครองธุรกิจที่เป็นของคนไทย ธุรกิจมืด กระทบต่อสังคม และความเป็นไทยในวงกว้างอย่างเป็นบทเรียน
ไม่มีใครรู้ว่า ยุทธศาสตร์เชิงรุกเข้าไทยของซาอุครั้งนี้จะส่งผลเสียแบบจีนหรือไม่ ?
ไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ทบทวนช่องว่างและข้อบกพร่องของกฎหมาย สร้างความเข้มงวดให้จริงจัง อย่างน้อยก็ให้มีการแก้ไขหรือเพิ่มกฎหมายเพื่อป้องกันสังคมและเศรษฐกิจไปในตัว
การเลือกอาหารฮาลาลขึ้นมาเชิดชูจึงเป็นการสกัดประเทศคู่แข่ง และเป็นการส่งสัญญาณให้การท่องเที่ยว และการตื่นตัวทางเศรษฐกิจที่ดี มิฉะนั้น การเยือนครั้งนี้จะเป็นเพียงส้มหล่นอย่างเดียว และปล่อยให้ประโยชน์ที่ไทยควรได้ไปอยู่ในเชิงรับแทนเชิงรุกอย่างน่าเสียดาย
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
“อาหารฮาลาล (Halal Food) หมายถึง อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ซึ่งอนุมัติตามบัญญัติศาสนาอิสลามให้มุสลิมบริโภค หรือใช้ประโยชน์ได้”
“ฮาลาล” เป็นคำมาจากภาษาอารบิก หมายความว่า การผลิต การให้บริการ หรือการจำหน่ายใด ๆ ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนา ดังนั้น เราจึงอาจกล่าวได้ว่า “อาหารฮาลาล” คือ อาหารที่ได้ผ่านกรรมวิธีในการทำ ผสม ปรุง ประกอบ หรือแปรสภาพตามศาสนบัญญัตินั่นเอง เป็นการรับประกันว่า ชาวมุสลิมทั่วไปสามารถบริโภคอาหาร หรืออุปโภคสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ได้โดยสนิทใจ เราสามารถสังเกตผลิตภัณฑ์ว่าเป็น “ฮาลาล” หรือไม่นั้นได้จากการประทับตรา “ฮาลาล” ที่ข้างบรรจุภัณฑ์นั้นเป็นสำคัญ (https://www.acfs.go.th/halal/general.php) สำนักงานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : January 31, 2022
Logistics
“ศักดิ์สยาม” เช็กแผน “แลนด์บริดจ์” วางโมเดลธุรกิจสร้างรายได้เพิ่มความคุ้มค่าเทียบท่าเรือระดับโลก
“ศักดิ์สยาม” ติดตามความคืบหน้า”แลนด์บริดจ์“ศึกษาเทียบเคียงท่าเรือทั่วโลก หาแนวทางสร้างรายได้เพิ่ม จากอุตฯโลจิสติกส์และธุรกิจต่อเนื่อง กำชับ สนข.รับฟังความเห็นประชาชน ศึกษามาตรการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ครั้งที่ 1/2565 เพื่อติดตามผลการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 เวลา 13.30 น. และวันที่ 27 มกราคม 2565 เวลา 14.30 น. โดยมีผู้บริหารกระทรวงฯและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในแผนการดำเนินการศึกษาโครงการ แลนด์บริดจ์นั้น จะต้องมีการศึกษาตัวเลขเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ เกณฑ์การพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุน รวมถึงรายละเอียดของค่าก่อสร้างให้มีความชัดเจน เนื่องจากโครงการนี้มีผลต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ซึ่งจากการศึกษาเทียบเคียงท่าเรือทั่วโลกที่มีการรองรับปริมาณสินค้าเทียบเท่าท่าเรือโครงการแลนด์บริดจ์ในประเทศไทย พบว่า โครงการสามารถสร้างรายได้จากการบริหารท่าเรือ การเติมน้ำมันทางทะเล และกิจกรรมการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จากการเป็นท่าเรือขนถ่าย หรือ Transshipment
และการประมาณการรายได้รวมของอุตสาหกรรมที่จะพัฒนาในพื้นที่ ได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอนาคต (Mega Trend) อุตสาหกรรมฮาลาล อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เช่น อาหารทะเล ผลไม้ ยางพาราและปาล์มน้ำมันขั้นสูง รวมถึงอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรม Cold Chain การจัดเก็บและกระจายสินค้า เป็นต้น
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ตนได้มีข้อสั่งการให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข. ) พิจารณาแผนแม่บทการพัฒนาโครงการในระยะยาว เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้เต็มศักยภาพ เช่น อาจจะมองว่าแลนด์บริดจ์ในระยะแรกจะเป็นเส้นทางเลือกในการขนส่งสินค้าทางทะเล แต่เมื่อมีการพัฒนาเต็มศักยภาพแล้วจะเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าในภูมิภาค โดยให้พิจารณาต้นแบบจากท่าเรือในต่างประเทศที่ประสบผลสำเร็จ
พร้อมกันนี้ ให้ สนข.และบริษัทที่ปรึกษา ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องศึกษาออกแบบการพัฒนาโครงการต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงเน้นเรื่องการศึกษามาตรการป้องกันผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน และวิถีชีวิตให้รอบด้าน
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการสร้างความรับรู้ให้กับภาคประชาชนและภาคสังคมเพื่อให้ไม่เกิดปัญหาในการปฏิบัติ รวมถึงให้ดำเนินการในประเด็นที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน โดยเฉพาะด้านกฎหมาย โดยจะต้องประสานข้อมูลไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน (Landbridge) ระยะเวลาศึกษา 30 เดือน คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2566 ภายใต้แนวคิดการพัฒนาสร้างท่าเรือชุมพร ที่อยู่ฝั่งอ่าวไทย กำหนดให้เป็นท่าเรือน้ำลึกที่ทันสมัย โดยนำระบบออโตเมชันมาใช้เพื่อยกระดับท่าเรือสู่ Smart Port ส่วนแนวคิดการพัฒนาท่าเรือระนอง กำหนดให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์และเป็นประตูการค้าฝั่งอันดามัน เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือกลุ่มประเทศแถบเอเชียใต้
โดยโครงการจะบูรณาการการขนส่งทางท่อ ทางบก และทางราง เพื่อให้เชื่อมต่อกับ 2 ท่าเรือ อย่างไร้รอยต่อ โดยศึกษาความเหมาะสมเพื่อพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รถไฟทางคู่ และการขนส่งทางท่อ ก่อสร้างคู่ขนานบนเส้นทางเดียวกันเพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของประชาชน
ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9650000008970
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!