CEO ARTICLE
ค่าความผันผวน
น้ำมันขึ้นราคา เงินบาทอ่อนค่า และความผันผวนอื่น ๆ เป็นความเสี่ยงที่คนทำการค้าต้องแบกรับกันเอง แต่พอเป็นการขนส่งทางทะเล (Sea Freight) นอกจากค่าระวางขนส่ง (Freight) ที่ต้องจ่ายแล้ว ค่าความผันผวนเหล่านี้ยังโยนเป็นภาระให้ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกต้องจ่ายเพิ่มอีก
ทำไมผู้นำเข้าและผู้ส่งออกต้องจ่าย และทำไมอัตราที่จ่ายจึงสูงเกินกว่าจะรับได้ ?
ข้างต้นคือข้อสงสัยที่มีมานาน ยิ่งเป็นผู้นำเข้าและผู้ส่งออกมือใหม่ก็ยิ่งสงสัย ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า ค่าความผันผวน และค่าธรรมเนียมพิเศษ (Surcharges) มีมากจริง ๆ ตัวอย่างเช่น
BAF (Bunker Adjustment Factor) ค่าธรรมเนียมความผันผวนราคาน้ำมัน
CAF (Currency Adjustment Factor) ค่าธรรมเนียมความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน
CIC (Container Imbalance Charge) ค่าความไม่สมดุลของตู้สินค้านำเข้าและส่งออก
PSS (Peak Season Surcharge) ค่าธรรมเนียมช่วงการนำเข้าและการส่งออกสูง
Port Congestion Surcharge ค่าธรรมเนียมท่าเรือแออัด
Crisis Surcharge ค่าธรรมเนียมชดเชยวิกฤติ และอื่น ๆ อีกมาก
เมื่อมีความผันผวนก็ย่อมมีการเก็งกำไร เมื่อมีการเรียกเก็บก็ไม่มีใครรู้ว่าผ่านการเก็งกำไรหรือไม่ แต่ก็หนีไม่พ้นต้นทุนขนส่ง ต้นทุนโลจิสติกส์ ต้นทุนสินค้านำเข้าและส่งออก สินค้าอุปโภค บริโภค สุดท้ายก็กลายเป็นต้นทุนการดำรงชีวิต
ยิ่งการขนส่งสินค้าทางทะเลเกี่ยวพันกับการค้าทั่วโลก ผลกระทบก็ยิ่งกว้างสู่คนทั้งโลก
ในการควบคุมต้นทุนสินค้า (Landed Cost) หากให้ผู้ขนส่ง (Carrier) นำค่าความผันผวนเหล่านี้ไปรวมในค่าระวางขนส่งตอนเสนอราคาเลย ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกย่อมรู้ และจัดการต้นทุนสินค้าได้ดีกว่าการถูกเรียกเก็บในภายหลังแบบมัดมือชกจนจัดการต้นทุนสินค้าลำบาก
แต่ข้อเท็จจริงคือ ค่าความผันผวนเหล่านี้อีกด้านหนึ่งก็เป็นความเสี่ยงและเป็นต้นทุนของผู้ขนส่ง มันมีขึ้นและมีลง มีเรียกเก็บและไม่เก็บ การขนส่งทางทะเลกินเวลาเดินทางหลายวัน ทุกวันมีความผันผวนขึ้น ๆ ลง ๆ ตลอดเวลาโดยไม่มีใครรู้ล่วงหน้า
หากให้ผู้ขนส่งนำค่าความผันผวนไปรวมในค่าระวางขนส่งเลย มันเป็น ‘ประเพณี’ ธรรมดาทางการค้าจริง ๆ ที่ผู้ขนส่งจะนำค่าความผันผวนด้านสูงมาใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยงของตน
นอกจากจะนำด้านสูงมาใช้แล้ว พอค่าความผันผวนอยู่ในช่วงขาลง ผู้ขนส่งที่มีน้อยรายในบางเส้นทางการเดินเรือก็อาจรวมตัวกันไม่ลดตามเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกระทันหัน
แบบนี้ต้นทุนสินค้าและต้นทุนการดำรงชีวิตของคนทั่วโลกย่อมมีแต่สูงขึ้นแน่ ๆ ซึ่งต่างจากการขายทั่วไปที่ผู้ขายมีมาก หากผู้ขายขึ้นราคาอย่างไม่มีเหตุผลก็ไปซื้อผู้ขายรายอื่นได้
ในด้านเหตุผลจึงพอรับฟังได้ การให้ผู้ขนส่งเสนอเฉพาะค่าระวางขนส่งก่อน ส่วนค่าความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นก็ให้เรียกเก็บตามความจริงในภายหลังจึงให้ผลดีต่อผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และต่อต้นทุนการดำรงชีวิตของคนทั่วโลกมากกว่า
เหตุผลอาจรับฟังได้ อาจรับฟังไม่ได้ หรืออาจไม่เป็นที่ยอมรับก็เป็นได้ทุกทาง ทุกอย่างเป็นไปตาม ‘ประเพณี’ ปกติทางการค้า แต่หาก ‘ประเพณี’ ถูกกำหนดให้เป็น ‘กฏหมาย’ เช่น ค่าความผันผวนให้เรียกเก็บเพิ่มได้นอกจากค่าระวางขนส่ง ทุกอย่างจึงยุติด้วยกฎหมาย
พรบ. การรับขนส่งทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 บางส่วนให้อำนาจผู้ขนส่งในการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมนอกจากค่าระวาง กฎหมายข้อนี้จึงทำให้เหตุผลมีน้ำหนัก ยอมรับ และต้องปฏิบัติ
ทำไมผู้นำเข้าและผู้ส่งออกต้องจ่าย คำตอบจึงมายุติที่เหตุผลและกฎหมายดังกล่าว
แม้กฎหมายจะให้อำนาจผู้ขนส่งเรียกเก็บค่าความผันผวนมากมายเพิ่มได้ แต่กฎหมายก็ไม่ได้กำหนดอัตราใด ๆ ให้เรียกเก็บ และไม่ได้ห้ามการต่อรองตาม ‘ประเพณี’ ของการค้าเช่นกัน
ดังนั้น หากเห็นว่าค่าความผันผวนที่ถูกเรียกเก็บสูงเกินรับได้ ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกก็ควรต่อรอง หรือทำสัญญาค่าขนส่งล่วงหน้าเพื่อป้องกันค่าความผันผวน และความเสี่ยงของตน
การทำสัญญาขนส่งก็ควรใช้แบบที่กฎหมายกำหนด ระบุค่าระวางขนส่ง ค่าความผันผวนต่าง ๆ และข้อผูกพันอื่นให้ชัดเจนให้เป็นหลักประกันที่ดีแก่ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกต่อไป.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
ปล. พรบ. การรับขนส่งทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 บางส่วน
“อุปกรณ์แห่งค่าระวาง” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายอย่างใดที่ผู้ขนส่งได้เสียไปโดยควรในระหว่างขนส่ง ซึ่งตามประเพณีในการขนส่งทางทะเลถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าระวาง และให้หมายความรวมถึงเงินที่ผู้ขนส่งจำเป็นต้องเรียกเก็บเพิ่มขึ้นจากอัตราค่าระวางปกติ เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการให้บริการของผู้ขนส่งเนื่องจากเหตุที่ผู้ขนส่งไม่อาจป้องกันได้ อันมีประเพณีในการขนส่งทางทะเลที่ผู้ขนส่งจะเรียกได้ เช่น การขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะคับคั่งของท่าเรือหรือที่ที่บรรทุกหรือขนถ่ายของ หรือการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างสกุลเป็นต้น
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : February 8, 2022
Logistics
เรือยอชต์ เจฟฟ์ เบโซส ใหญ่มาก ต้องรื้อสะพานเมืองเปิดทาง ชาวดัตช์ต้าน
แผนรื้อสะพานประวัติศาสตร์ของเมืองรอตเตอร์ดัมออกชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้เรือยอชต์ลำยักษ์ใหญ่ มูลค่าหมื่นล้านของมหาเศรษฐีโลก เจฟฟ์ เบโซส แล่นผ่านไปยังทะเลเหนือ หรือนอร์ทซี ถูกชาวบ้านต้านหนัก
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักข่าว เอพี รายงานว่า กลุ่มชาวเนเธอร์แลนด์ในเมืองรอตเตอร์ดัมนัดกันทางเฟซบุ๊กให้ไปปาไข่เน่าใส่เรือซูเปอร์ยอชต์ มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 16,500 ล้านบาท ของเจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้งบริษัท แอมะซอน อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ หากมีการรื้อสะพานโคนิงเชฟเวน หรือ เดอ เฮฟ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมือง ออกชั่วคราวเพื่อให้เรือลำนี้แล่นผ่าน
โฆษกหญิงของนายกเทศมนตรี อาเหม็ด อาบูตาเล็บ ให้สัมภาษณ์กับเอพี ว่าทางบริษัทผู้ต่อเรือส่งเรื่องขอรื้อสะพานชั่วคราวมาแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการอนุญาตหรืออนุมัติใดๆ
“ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายว่าทำไมเรื่องนี้เป็นปมขัดแย้ง เพราะสะพานที่เพิ่งบูรณะอย่างสวยงามนี้ เป็นมรดกของพวกเรา ถ้าเศรษฐีจ่ายแล้วทำให้เปิดทางได้ โดยที่คนธรรมดาทั่วไปทำไม่ได้ นั่นเองทำให้คุณต้องเจอกับความขัดแย้ง”
ทั้งนี้ สภาเมืองร็อตเตอร์ดามจะหารือกันในสัปดาห์หน้า ถึงแผนการอนุญาตให้รื้อถอนส่วนกลางของสะพานที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2470 หรือ 95 ปีก่อนและจะประกอบให้เหมือนเดิมโดยอู่ต่อเรือ โอเชียนโค และมหาเศรษฐีเบโซสเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
แต่เมื่อมีข่าวออกมาก่อนวันที่ 2 ก.พ. โดยสื่อท้องถิ่นไรน์มอนด์ รายงานว่า สมาชิกสภาเมืองจะยอมให้รื้อสะพานเปิดทางให้เรือยอชต์ความยาว 127 เมตร เสากระโดงเรือ 3 เสาสำหรับเรือใบอลูมิเนียมและเหล็ก ผ่านไปได้ จึงทำให้ผู้รักประวัติศาสตร์ สื่อเนเธอร์แลนด์และสมาชิกสภาท้องถิ่นบางส่วนไม่พอใจอย่างยิ่ง
สเตฟาน ลีวิส สมาชิกพรรคครุนลิงกส์ กล่าวว่าทางการท้องถิ่นอาจจะไม่อนุญาต โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่เห็นด้วยกับนโยบายส่วนตัวของแอมะซอน การจ่ายภาษี รวมทั้ง การดิ้นรนเพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบ พร้อมทั้งถามย้ำในการหารือว่าทางการท้องถิ่นจะต้องรื้อบางส่วนของอนุสรณ์ที่สวยงามออกไปหรือไม่ เรื่องชักจะไปกันใหญ่แล้ว
ด้านมาร์เซล วอลราเวนส์ หัวหน้าโครงการของเทศบาลเมืองกล่าวกับสื่อไรน์มอนด์ก่อนหน้านี้ว่าเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานความจริงเนื่องจากเรือมีเสากระโดงเรือสูง ลอดผ่านสะพานไม่ได้ ทางเลือกเดียวคือต้องรื้อส่วนกลางของสะพานออก
นายวอลราเวนส์หวังว่าการเตรียมการที่เหมาะสมอาจจะทำให้รื้อส่วนกลางสะพานออกเพียงวันเดียวและขอให้มองประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและการจ้างงานในภูมิภาค รวมทั้ง สร้างชื่อเสียงด้านการต่อเรือในระดับนานาชาติ
ส่วนนักวิจารณ์ต่างพุ่งเป้ามาที่ความไม่สอดคล้องกันระหว่างนโยบายที่เคร่งครัดของเนเธอร์แลนด์กับอภิสิทธิ์ที่มหาเศรษฐีชาวอเมริกันได้รับ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สภาเมืองเคยสัญญาว่าจะไม่แตะต้องเรื่องนี้
ดัตช์นิวส์รายงานว่า สังคมออนไลน์มีทั้งเสียงวิจารณ์เชิงขบขันและขุ่นเคืองที่จะต้องทำลายประวัติศาสตร์ของสะพานเก่าแก่ซึ่งเคยถูกนาซีทิ้งระเบิดเมื่อปี ค.ศ.1940 (พ.ศ.2483)
นักวิจารณ์คนหนึ่งซึ่งใช้ชื่อว่า “มาร์กี มาร์ก” ย้อนถามว่าทำไมเรารื้อเจฟฟ์ เบโซสแล้วให้รอตเตอร์ดามผ่านไปได้บ้างล่ะ
เฌอโรน สเต็ต เห็นว่าเรือเมกะยอชต์เป็นสัญลักษณ์ของความโลภ ความเหลื่อมล้ำและทั้งหมดทั้งมวลนี้คือความชั่วร้ายของทุนนิยมและผลกระทบต่อโลกพร้อมทั้งกล่าวว่า “ถ้าคุณต้องการอะไรแบบนี้ ก็จะสะท้อนให้เห็นตัวคุณได้มากมาย”
ขณะที่อีกหลายคนมองอีกมุมว่าสะพานจะซ่อมแซมอีกครั้งและอู่ต่อเรือเป็นนายจ้างรายใหญ่ ส่วนพอล พีเตอร์ส ผู้ดำเนินรายการพอตแคสต์เว็บไซต์ DutchNews.nl กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องอื้อฉาวและมีเรื่องวุ่นวายอื่นๆ
เว็บไซต์ Boat International ยืนยันว่าเรือยอชต์ของเบโซสมีความยาว 127 เมตรทำให้เป็นเรือยอชต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปีนี้
ขณะที่มีรายงานว่าเรือลำนี้กำลังย้ายจากอู่ต่อเรือหนึ่งไปอีกอู่หนึ่งเพื่อต่อเรือในขั้นตอนสุดท้าย
ที่มา : https://www.prachachat.net/world-news/news-858646
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!