CEO ARTICLE

เพดาน 35 บาท

Published on May 3, 2022


Follow Us :

    

ราคาน้ำมันดีเซลขึ้นไปอยู่ที่ลิตรละ 32 บาทในวันอาทิตย์ที่ 1 พ.ค. 65 และจะปรับราคาขึ้นไปอีกทุกสัปดาห์ให้อยู่ในเพดานไม่เกิน 35 บาท คล้ายต้อนรับ ‘วันแรงงาน’ อย่างไม่ตั้งใจ
ค่าครองชีพของประชาชนได้รับผลกระทบแน่ รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาอย่างไร ?

น้ำมันดีเซลเป็นพื้นฐานของการขนส่ง และเป็นต้นทุนค่าระวางขนส่ง (Freight) ระหว่างประเทศ ทุกครั้งที่น้ำมันดีเซลขึ้นราคา ต้นทุนขนส่ง ต้นทุนสินค้านำเข้าและส่งออกก็มักขึ้นตาม
น้ำมันดิบในตลาดโลกผันผวนมากทั้งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลใช้เงินกองทุนและให้เงินอุดหนุนเพื่อรักษาราคาขายปลีกไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท แต่สุดท้ายก็แบกรับไม่ไหว
การปรับลดเงินอุดหนุนเหลือเพียงครึ่งเดียวครั้งนี้อาจมองได้ว่า เงินกองทุนเอาไม่อยู่และรายจ่ายของประเทศมีมากเหลือเกิน รัฐบาลอาจยกเลิกเงินอุดหนุนทั้งหมด ราคาดีเซลอาจสูงถึง 40 บาทหรือมากกว่า และส่งผลให้ค่าขนส่งจากที่ขอขึ้น 20% ในตอนนี้ก็อาจขึ้นมากกว่าก็ได้
ราคาน้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์คงหนีไม่พ้น เมื่อดีเซลขึ้นราคาในวันแรงงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยหรือ คสรท. ก็ยื่นข้อเรียกร้องหลายข้อให้แก่รัฐบาล
ข้อที่น่าหนักใจมี 2 ข้อคือ ค่าแรงขั้นต่ำให้ปรับเป็นวันละ 492 บาทสำหรับบุคคล และ 712 บาทสำหรับครอบครัว และให้ควบคุมราคาสินค้าเพราะเป็นปัญหากับผู้ใช้แรงงานมาก
ค่าแรงขั้นต่ำที่ขอน่าจะถูกปฏิเสธจากฝ่ายนายจ้าง แต่จากราคาน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้นและเงินบาทที่อ่อนค่า ค่าครองชีพย่อมสูงขึ้น เมื่อมีการเมืองเกี่ยวข้อง ไม่ช้าก็เร็วค่าแรงขั้นต่ำย่อมถูกปรับขึ้น เพียงไม่รู้ว่า ‘เมื่อไรและเท่าไร’ เท่านั้น แบบนี้ราคาสินค้าคงควบคุมยากตามไปด้วย
สถานการณ์ทุกด้านจึงดูเข้มข้นโดยที่ทุกฝ่ายต่างก็เฝ้ารอการแก้ไขจากรัฐบาล
ในด้านค่าระวางขนส่ง (Freight) ประเทศจีนยังล๊อกตัวเองจาก Covid-19 ในหลายพื้นที่สินค้ายังรอการส่งออก แต่วันหนึ่งสินค้าจีนต้องทะลักออกมา ตู้สินค้า (Container) จะถูกแย่งชิงโกลาหลขึ้นอีก เมื่อรวมกับราคาน้ำมันที่ผันผวน ค่าระวางขนส่งก็ย่อมขึ้นตามไปด้วย
ทุกอย่างดูผันผวนไปหมด ผู้นำเข้าจึงควรซื้อสินค้าในเงื่อนไข CFR (Cost and Freight) หรือเงื่อนไขอื่นที่รวมค่าระวางขนส่งให้ปลอดภัยไว้กว่า ผู้ส่งออกก็ควรขายในเงื่อนไข FOB (Free On Board) หรือเงื่อนไขอื่นที่ผู้ซื้อต่างประเทศเป็นผู้จัดการค่าระวางขนส่งเอง
เว้นแต่ว่าผู้นำเข้าและผู้ส่งออกจะมีผู้รับจัดการค่าระวางขนส่งได้ดีกว่านี้เท่านั้น

ในสภาพ Covid-19 สงคราม เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และความขัดแย้งเช่นทุกวันนี้
ไม่ว่ารัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลต่อไป ลดเหลือครึ่งหนึ่ง ยกเลิก ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ขึ้น ยอมให้ขนส่งขึ้นราคา หรือไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ไม่มีทางใดที่ดีที่สุด หรือถูกใจประชาชนทุกกลุ่มที่สุด ทุกทางเลือกต้องมีผู้สนับสนุนและคัดค้าน แต่คราวนี้จะมีฝ่ายละมาก ๆ
ในทางเศรษฐศาสตร์ ทุก ๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น และทุก ๆ การตัดสินใจที่จะเลือกต้องมีข้อดีและข้อเสีย มีประโยชน์และมีโทษ (Benefit and Cost) ตกใส่ประชาชนคู่กัน
เมื่อเกิดข้อเสียและโทษ รัฐบาลย่อมถูกโจมตีให้เป็นต้นทุน (Cost) ที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น
ยิ่งเมื่อรู้โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีก 1 ลิตรเป็นต้นทุนน้ำมัน 40-60% เป็นภาษีต่าง ๆ 30-40% เป็นเงินเข้ากองทุน 5-20% และเป็นค่าการตลาด 10-18% (thansettakij.com) ก็ยิ่งก่อให้เกิดความหงุดหงิดใจในหมู่ประชาชนที่อยากให้ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกใหม่
การขึ้นราคาน้ำมันดีเซลและการกำหนดเพดาน 35 บาทในครั้งนี้ รัฐบาลอาจทำผิดก็ได้
ดังนั้น การสร้างช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วม (Public Participation) จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด รัฐบาลควรจัดให้มีเวทีดีเบต เชิญผู้มีความรู้ที่แท้จริงทุกด้าน มาถกกันด้วยหลักการและเหตุผล ทำกันหลายระดับ ทำกันหลายเวทีเพื่อนำข้อมูลเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ก่อนการตัดสินใจ
ไม่แน่ว่า โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกอาจไม่เหมาะกับปัจจุบันแล้วก็ได้ !!!
การขึ้นราคาดีเซลครั้งนี้ส่งผลกระทบกว้างแน่ ข้อเสนอจากหลายฝ่ายจึงเป็นสิ่งที่ควรฟัง ส่วนจะทำได้จริงหรือไม่จริงก็พิจารณาร่วมกัน ทุกประเทศมีรัฐบาลเพื่อขจัดทุกข์ บำรุงสุข
ในเมื่อความทุกข์กำลังจะเกิด รัฐก็ควรแก้ไข หรือสร้างการมีส่วนร่วม หากยังแก้ไขความทุกข์ไม่ได้ ยังแก้ไขปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองไม่ได้ การยุบสภาก็น่าเป็นทางออกทางหนึ่ง
อย่างน้อย ประชาชนก็ควรมีสิทธิ์คิด มีสิทธิ์เสนอ และมีสิทธิ์ร่วมตัดสินใจ หากเห็นด้วยก็เลือกรัฐบาลเดิมให้มาบริหารต่อ แต่หากไม่เห็นด้วยก็เลือกรัฐบาลใหม่เท่านั้นเอง

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : May 3, 2022

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

รู้จักเทคโนโลยีใหม่ขับเคลื่อนนโยบาย Green Port ของท่าเรือในกว่างซี ทางเลือกที่น่าเรียนรู้สำหรับท่าเรือไทย

นับเป็นอีกความเคลื่อนไหวของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ที่เร่งขานรับนโยบาย Go Green (ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) และนโยบาย Carbon Neutral (ความเป็นกลางทางคาร์บอน) เพื่อขับเคลื่อนท่าเรือสู่ Green Port และ Smart Port
ท่าเรือฝางเฉิงก่างของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้เริ่มใช้งาน “สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุก” เป็นที่แรกในกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (หรืออ่าวตังเกี๋ย) พร้อมกับรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า อีกจำนวน 10 คัน ซึ่งจะใช้ในการปฏิบัติงานภายในเขตท่าเรือฝางเฉิงก่าง

สำหรับ “สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ รุ่น 10W-1” เป็นโครงการนำร่องสู่การปรับเปลี่ยนรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันไปใช้รถบรรทุกที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ดังกล่าวมีเนื้อที่ 300 ตร.ม. ตัวสถานีประกอบขึ้นจากตู้คอนเทนเนอร์ 5 ตู้ การประกอบติดตั้งและทดสอบการใช้งานใช้เวลาเพียง 3 วัน ระบบการทำงานใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะที่มีความล้ำสมัยในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ อาทิ ชุดอุปกรณ์ยกแบตเตอรี่รถบรรทุกขนาดใหญ่ด้วยพลังแม่เหล็กที่มีความต้านทานแรงลมและการโยกไหวได้เป็นที่แรกของประเทศจีน รวมถึงระบบวัดระยะห่างด้วยเรดาร์ ระบบระบุตำแหน่งด้วย AI Vision และเทคโนโลยี 5G ซึ่งสามารถทำงานด้วยความแม่นยำโดยไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุม

กระบวนการเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้เวลาสั้นๆ เพียง 5 นาที เป็นการก้าวข้ามข้อจำกัดแบบเดิมที่ต้องจอดรถรอชาร์จแบตเตอรี่ 3-6 ชั่วโมง ชุดแบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ใช้ เป็นแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนฟอสเฟต (LiFePO4) ที่มีแรงขับเคลื่อน 141 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานถึง 10-12 ชั่วโมง ชุดอุปกรณ์เปลี่ยนแบตเตอรี่สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ 144 ครั้งต่อวัน สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานของรถบรรทุกในท่าเรือได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าที่นำมาปฏิบัติงานในท่าเรือเป็นรถบรรทุก แบรนด์ Chenglong H7 (乘龙) ของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ Dongfeng Liuqi (东风柳汽有限公司) ในเมืองหลิ่วโจว เขตฯ กว่างซีจ้วง ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง รถบรรทุกระบบไฟฟ้า 10 คัน ช่วยลดการสิ้นเปลืองน้ำมันดีเซลได้ปีละ 2 แสนลิตร และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 480 ตัน

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ประเทศจีนให้ความสำคัญกับคำว่า “เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม” เป็นอย่างมาก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รัฐบาลท้องถิ่นได้ตอบสนองนโยบายจากส่วนกลางเพื่อก้าวผ่านสู่ “เศรษฐกิจและสังคมสีเขียว” โดยเฉพาะการจำกัดและกำจัดอุตสาหกรรมที่สิ้นเปลืองพลังงานและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมและการบริการให้มีเทคโนโลยีคอนเทนต์สูง ซึ่งรวมถึงสาขาการขนส่งและโลจิสติกส์ด้วย

สำหรับกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (อ่าวตังเกี๋ย) ศูนย์ BIC ได้นำเสนอข่าวคราวความคืบหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีภายในท่าเรืออย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของท่าเทียบเรือให้ตอบสนองต่อปริมาณการขนถ่ายสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ท่าเรือขยับเข้าใกล้เป้าหมายการเป็น “ท่าเรืออัจฉริยะ” หรือ smart port แบบสมบูรณ์

ที่ผ่านมา ท่าเรือฝางเฉิงก่าง ได้นำเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G และเทคโนโลยีเครือข่ายพลังงานต่ำ (NB-IoT) ของ China Mobile และเทคโนโลยี Edge Computing / Computer Vision / AI และการระบุตำแหน่งที่มีความแม่นยำสูงมาใช้ เพื่อพัฒนาและต่อยอดกิจกรรมที่เกิดขึ้นในท่าเรือ ซึ่งช่วยลดต้นทุนแรงงานบริเวณหน้างาน และช่วยให้กิจกรรมการผลิตในท่าเทียบเรือมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มการตรวจสอบอัจฉริยะแบบเบ็ดเสร็จด้วยการผสมผสานเทคโนโลยี 5G บิ๊กดาต้า หุ่นยนต์ และคลาวด์คอมพิวติง

ขณะที่ท่าเรือเที่ยซานในเมืองเป๋ยไห่ (Tieshan Port/铁山港) ก็ได้ทดสอบประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของรถบรรทุกไร้คนขับ ร่วมกับรถบรรทุกที่มีอยู่ในปัจจุบันภายในท่าเทียบเรือ

ท่าเรือชินโจว ซึ่งเป็นท่าเรือหลักของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ได้ใช้งานท่าเทียบเรืออัจฉริยะแห่งที่ 5 ของประเทศจีน การทำงานของเครนยกตู้สินค้าและรถขนถ่ายตู้สินค้า (shutter truck) ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ และการพัฒนาโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” แบบไร้รอยต่อในบริเวณท่าเรือ ช่วยให้การขนส่งกระจายสินค้าทำได้สะดวกรวดเร็วและครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน

ความสำเร็จข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของกว่างซี(จีน)ในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อการใช้งานในท่าเรือ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานและการพัฒนาระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

บีไอซี เห็นว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นต้นแบบการเรียนรู้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยในการนำไปต่อยอดการทำงาน หรือพัฒนาแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับท่าเรือในกว่างซีเพื่อยกระดับประสิทธิภาพงานขนส่งและโลจิสติกส์ของท่าเรือ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกของสองฝ่าย

นอกจากนี้ ‘ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี’ เป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย ทั้งนี้ หากพิจารณาในเชิงกายภาพ การขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศไทยและกว่างซีมีระยะทางสั้น ขณะที่ในเชิงนโยบาย หน่วยงานภาครัฐก็พยายามพัฒนาและยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกรวดเร็วในการนำเข้า-ส่งออก และกระจายสินค้า

เชื่อว่า…การพัฒนาเทคโนโลยีของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพการขนถ่ายสินค้าในท่าเทียบเรือให้สูงขึ้น และช่วยดึงดูดให้ผู้ค้าหันมาใช้ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ในการนำเข้า-ส่งออกเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตอันใกล้ “ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้” จะกลายเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่มีบทบาทสำคัญในเวทีการค้า และเป็น ข้อต่อ สำคัญในระบบงานขนส่งสินค้าผ่านไปยังจีนตอนใน เอเชียกลาง และยุโรป ซึ่งปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวมีเส้นทางเดินเรือไปยังท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยแล้วด้วย

ที่มา : https://thaibizchina.com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.