CEO ARTICLE

เครื่องหมายข้างหีบห่อ

Published on May 24, 2022


Follow Us :

    

การเก็บเอกสารในหีบห่อ เก็บของใช้สำนักงาน ของใช้บ้านเรือน ของใช้ส่วนตัว หรือสินค้าเพื่อการขนส่งระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่จะทำเครื่องหมายกำกับไว้ที่ข้างหีบห่อเสมอ
เครื่องหมายข้างหีบห่อมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันและการส่งขนสินค้าอย่างไร ?

ของที่เก็บในสำนักงานหรือบ้านเรือนโดยไม่มีเครื่องหมายกำกับด้านข้างหีบห่อ หากเก็บไว้นาน ๆ ผู้เก็บอาจลืมว่าภายในเก็บอะไร เมื่อต้องการใช้ก็ต้องรื้อทั้งหีบห่อขึ้นมาดู
หากหีบห่อมีจำนวนมาก การเปิดและรื้อเกือบทุกหีบห่อเพื่อหาสิ่งของที่ต้องการก็อาจเกิดขึ้น เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย และอาจสร้างความเสียหายระหว่างการเปิดและการรื้อค้นได้
ดังนั้น การเขียนเครื่องหมายไว้ข้างหีบห่อเพื่อเป็นข้อมูลว่าภายในหีบห่อบรรจุอะไรจึงเป็นทางออกที่ดี และหากหีบห่อมีจำนวนมาก ผู้เก็บก็ควรเขียนเครื่องหมายพร้อมเลขที่ของแต่ละหีบห่อและจัดทำเอกสารอธิบายสิ่งของที่บรรจุในแต่ละหีบห่อกำกับให้ชัดเจนด้วย
ตัวอย่างเช่น การเก็บหนังสือเรียนหลังสำเร็จการศึกษาที่มีจำนวนรวม 4 หีบห่อ
ผู้เก็บอาจเขียนข้างหีบห่อด้วยคำว่า Text Book No. 1/4 ไล่เรียงไปจนถึง Text Book No. 4/4 และทำใบกำกับไว้ เช่น หีบห่อ No. 1/4 เป็นหนังสือเรียนปีที่ 1 มีหนังสืออะไรบ้าง หีบห่อ No. 2/4, 3/4, และ 4/4 เป็นหนังสือเรียนปีที่ 2, 3, และ 4 มีหนังสืออะไรบ้าง เป็นต้น
นี่คือความสำคัญและประโยชน์ของเครื่องหมายข้างหีบห่อที่มีต่อชีวิตประจำวัน

การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศก็ไม่ต่างกัน สินค้าอาจอยู่รวมกับผู้อื่นในถุงเมล์เดียวกัน หรือเทกองบนระวางพาหนะขนส่ง หรืออยู่ในตู้สินค้า (Container) เดียวกันในการขนส่ง
เมื่อสินค้าทั้งหมดมาถึงคลังสินค้าปลายทางก็อาจถูกเทกองรวมกัน หีบห่อที่ไม่มีเครื่องหมายและเลขหมายก็ต้องปะปนกัน อาจสลับเจ้าของ และสร้างความวุ่นวายไปทั่ว
ยิ่งสินค้านำเข้าส่วนใหญ่มีภาระภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง ความผิดพลาดเกี่ยวกับภาษีจากการสลับหีบห่อก็อาจเกิดขึ้นได้ง่าย เครื่องหมายและเลขหมายจึงมีส่วนป้องกันและมีความสำคัญต่อสินค้าเพื่อการขนส่งระหว่างประเทศ
เครื่องหมาย ภาษาอังกฤษเรียก ‘Mark’ และเลขหมายเรียก ‘Number’
ส่วนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเรียก ‘Shipping’ ดังนั้น เครื่องหมายและเลขหมายในการขนส่งระหว่างประเทศจึงเรียกรวมกันว่า ‘Shipping Mark and Number’
สำหรับประเทศไทย เครื่องหมายและเลขหมายมีกฎหมายบังคับโดย พรบ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 211 กำหนดว่า ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกใดไม่จัดให้มีเครื่องหมายหรือเลขหมายกำกับหีบห่อ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
แต่เนื่องจากกฎหมายต่างประเทศไม่มีโทษปรับหนักขนาดนี้ กรมศุลกากรจึงให้เกณฑ์ผ่อนผันระงับคดีโดยปรับเพียง 1,000 บาท ซึ่งเกณฑ์ผ่อนผันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงให้สูงขึ้นเมื่อไร
สินค้าที่ขนส่งโดยเจ้าของเดียวในระบบตู้สินค้าจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง หรือที่เรียกว่า C/Y (Container Yard) ก็อยู่ภายใต้กฎหมายนี้ที่ต้องมีเครื่องหมายและเลขหมายเช่นกัน
เครื่องหมายและเลขหมายจึงมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวัน การทำงาน และการขนส่ง
ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกจึงควรกำหนดให้มีเครื่องหมายและเลขหมาย (Shipping Mark and Number) ทุกครั้ง แต่ก็มีส่วนที่ควรรู้และการผ่อนผันกรณีไม่ต้องสำแดงเครื่องหมายและเลขหมายตามประกาศกรมศุลกากากรที่ 23/2556 แนบท้ายนี้

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

ป.ล. ประกาศกรมศุลกากรที่ 23/2556
กำหนดคู่มือการผ่านพิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยกระบวนการทางศุลกากรสำหรับการนำเข้า (e-Import) เกี่ยวกับการ สำแดงเครื่องหมายและเลขหมายหีบห่อ (Shipping Marks) ในใบขนสินค้าให้ตรงกับความเป็นจริงซึ่งจะต้องตรงกับใบตราส่งสินค้าโดยให้สำแดง ดังนี้
1. ถ้าเครื่องหมายและเลขหมายหีบห่อเป็นข้อความ ให้บันทึกเป็นข้อความตามจริง หากเครื่องหมายและเลขหมายหีบห่อมีความยาวเกิน 512 ตัวอักษร ให้บันทึกเพียง 512 ตัวอักษรได้
2. เครื่องหมายและเลขหมายหีบห่อเป็นข้อความที่เป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งไม่สามารถบันทึกข้อความนั้น ได้ เช่น ภาษาจีน ให้ระบุคำว่า “PICTURE”
3. ถ้าเครื่องหมายและเลขหมายหีบห่อเป็นรูปภาพให้ระบุคำว่า “PICTURE”
กรณีผ่อนผันไม่ต้องสำแดงเครื่องหมายและเลขหมายหีบห่อ (Shipping Marks) ในการจัดทำข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าให้ระบุคำว่า “NO SHIPPING MARK” แทนได้ สำหรับกรณีดังต่อไปนี้
3.1 กรณีหีบห่อของใช้ส่วนตัวตาม ประเภทที่ 5 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530
3.2 กรณีหีบห่อของที่ได้รับเอกสิทธิ์ ตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีต่อองค์การสหประชาชาติตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือตามสัญญากับนานาประเทศ
3.3 ของที่มิได้บรรจุหีบห่อ เช่น รถยนต์ ยางรถยนต์ รางรถไฟ ลวด โลหะเป็นแท่งหรือก้อนกระดาษพิมพ์หนังสือเป็นม้วน กระเบื้อง
3.4 ของเหลวบรรจุในขวดใหญ่และมีวัตถุถักหุ้มขวด เช่น น้ำกรด
3.5 ของที่มาเป็นกอง เช่น ถ่านหิน
3.6 ของที่บรรจุหีบห่อเดียว
3.7 ของที่บรรจุในหีบห่อที่เป็นมาตรฐานเดียว (Standard Packing) เช่น ลังไม้ หรือลังกระดาษที่มี ขนาดกว้างยาวเท่ากัน ของที่บรรจุมีจำนวนเท่ากัน เช่น นมสด สุ รา เบียร์ อาหารปนแป้ง วิทยุ
3.8 ของที่มาเป็นถังเหล็กหรือถังไฟเบอร์ (Drum or Fiber Drum) ที่มีลักษณะขนาด น้ำหนัก และจำนวนของที่บรรจุเท่ากัน เช่น จุกขวด น้ำยาดับกลิ่น น้ำมันเครื่อง สีทา
3.9 ของที่บรรจุมาในถุงกระดาษหรือกระสอบ ที่มีลักษณะขนาด น้ำหนัก และจำนวนของที่บรรจุเท่ากันเช่น ปุ๋ย แอมโมเนีย แป้ง ข้าวสาลี หิน กากเพชร น้ำตาล
3.10 ของที่บรรจุมาในหีบโปร่ง (Crate) เช่น เครื่องยนต์

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : May 24, 2022

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

UK เปิดให้บริการสนามบินสำหรับโดรนและแท็กซี่บินได้แห่งแรกของโลก

สนามบินแห่งนี้ใช้รองรับรถยนต์บินได้ โดรนขนส่งอัตโนมัติ เพื่อตอบรับการใช้งานคมนาคมรูปแบบใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ สนามบินสำหรับโดรนไฟฟ้าและรถยนต์บินได้แห่งแรกของโลก เตรียมเปิดตัว ณ ใจกลางเมืองแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักร และคาดว่าจะใช้เป็นต้นแบบของการสร้างสนามบินสำหรับโดรนไฟฟ้าและรถยนต์บินได้อีกหลายร้อยแห่งทั่วโลก

สนามบินแห่งนี้มีชื่อว่า แอร์-วัน (Air-One) เป็นสนามบินแบบป๊อบอัป ซึ่งหมายถึงสนามบินที่สามารถติดตั้งและรื้อถอนได้ง่าย โดยสนามบินแอร์วันแห่งแรกจะจัดสร้างขึ้น ณ เมืองโคเวนทรี (Coventry) ในสหราชอาณาจักร โดยตัวสนามบินออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานสำหรับโดรนไฟฟ้าไร้มลพิษ และแท็กซี่ทางอากาศ และจะใช้เป็นศูนย์สำหรับชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้กับยานพาหนะที่บินขึ้นและลงแนวตั้ง หรือ EVTOL ในอนาคต

โดยตัวสนามบินมีลักษณะเป็นโดมที่เว้นช่องว่างตรงกลางขนาดกว้าง 14 เมตร สำหรับใช้ลงจอดยานพาหนะต่าง ๆ โดยมีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 17,000 ตารางฟุต (หรือประมาณ 1,580 ตารางเมตร) โดยออกแบบมาให้สามารถทำงานร่วมกับยานยนต์และโดรนได้แบบอัตโนมัติ โดยเมื่อยานพาหนะลงจอด พื้นที่จอดก็จะเลื่อนลงไปด้านล่างเพื่อนำยานพาหนะหรือโดรนไปชาร์จ และรอขึ้นบินในเที่ยวถัดไป ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ภายในอาคาร สามารถดัดแปลงเป็นห้องรับรองผู้โดยสาร พื้นที่คัดกรองความปลอดภัย ร้านอาหาร และร้านค้า หรือจัดเป็นพื้นที่ใช้งานอื่น ๆ ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ตัวสนามบิน ยังมีจุดเด่นคือโครงสร้างที่ง่ายต่อการก่อสร้างและรื้อถอน โดยบริษัทเคลมว่าโครงการทั้งหมดใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้นเพียง 15 เดือนเท่านั้น เริ่มตั้งแต่การวางแผนจนสร้างแล้วเสร็จ สำหรับโครงการนี้เป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างสภาเมืองโคเวนทรีและบริษัท Urban-Air Port แห่งสหราชอาณาจักร เพื่อต้องการสร้างสถานที่รองรับการใช้งานโดรนขนส่งสินค้าอัตโนมัติและยานยนต์บินได้ในอนาคต

สำหรับแผนการในตอนนี้ Air-One จะเปิดให้บริการและเข้าชมแก่สาธารณชนตลอดฤดูร้อนปี 2022 จากนั้นจะทำการรื้อถอน และย้ายไปจัดแสดงยังพื้นที่อื่น ๆ ในสหราชอาณาจักร โดยจะมีทั้งเที่ยวบินสาธิตโดยตำรวจ และเที่ยวบินสำหรับขนส่งสินค้าให้ได้ชมกัน ก่อนที่จะขยายไปพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลก

ที่มา: https://www.tnnthailand.com/news/tech/112655/

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.