CEO ARTICLE
วิกฤติอาหารโลก
มาเลเซียสั่งระงับการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกราว 3.6 ล้านตันต่อเดือน อินเดียสั่งระงับการส่งออกข้าวสาลีและน้ำตาล และอีกกว่า 30 ประเทศก็ประกาศระงับการส่งออกอาหารของตน
อาหารทั่วโลกกำลังจะขาดแคลนและเป็นวิกฤติ ไทยจะได้หรือเสียในเรื่องนี้อย่างไร ?
นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของ Covid-19 เป็นต้นมา เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมทั่วโลกได้รับผลกระทบทำให้อาหารเริ่มขาดแคลน
พอมาต้นปี 2565 ก็เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้น้ำมันและค่าขนส่งขึ้นราคามากยิ่งขึ้น เป็นการซ้ำเติมเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และห่วงโซ่การผลิตจน IMF ต้องออกมาเตือนให้ทั่วโลกรับรู้ว่า วิกฤติอาหารโลกกำลังจะเกิดขึ้น
ประเทศที่เป็นแหล่งอาหารจึงพยายามรักษาอาหารเพื่อประชาชนของตน ภาพที่เห็นชัดที่สุดและเป็นสัญญาณมากที่สุดคือ หลายประเทศประกาศลดและระงับการส่งออกอาหาร
อาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดต่อการดำรงชีวิต และกำลังจะขาดแคลนทั่วโลก
วิกฤติอาหารกำลังจะเกิดขึ้น ประเทศที่ร่ำรวย ประชาชนมีเงินมาก ๆ แต่หากอาหารมีไม่เพียงพอให้แก่ประชาชนภายในประเทศ ความร่ำรวยก็ไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ
ไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นฐานการผลิตอาหาร เป็นแหล่งอาหาร เป็นครัวโลก และเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 13 ของโลก (ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่ 2 มิ.ย. 65)
หากไทยมุ่งแต่การขาย มุ่งแต่การส่งออก แต่ขาดการรับรู้ ขาดการวางแผนการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ เมื่อรวมกับผลกระทบราคาน้ำมันที่ขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง อาหารภายในประเทศก็อาจขาดแคลน หรืออาจขึ้นราคาจนคนไทยซื้อไม่ไหว และกลายเป็นผลเสียแทนที่
วิกฤติอาหารโลกครั้งนี้จึงเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสของไทยในเวลาเดียวกัน
ข่าวอาหารโลกกำลังจะขาดแคลนออกมาทางสื่อเป็นระยะ IMF ก็ออกมาเตือน
หากจะว่ารัฐบาลไม่รู้คงไม่ใช่แน่ รัฐบาลคงรู้และเตรียมการณ์ไว้แล้ว แต่ปัญหาคือ ทำไมภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมที่เกี่ยวกับอาหารจึงตื่นตัวยังไม่มาก
คนในอาชีพอาหารกลุ่มหนึ่งอาจรู้ อาจตื่นตัว และอาจเตรียมการณ์ไปบ้าง แต่เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ ยังไม่ตื่นตัว และยังไม่เตรียมการณ์ใด ๆ
เมื่อรวมกับคนไทยกลุ่มที่ทนพิษเศรษฐกิจไม่ไหว หรืออยากผันตัวไปเป็นเกษตรกรจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรงที่จะทำให้ทุกภาคส่วนรู้ สร้างแบบแผน และความชัดเจนตั้งแต่วันนี้
อย่างน้อย คนไทยก็ควรรู้ในสิ่งต่อไปนี้เพื่อร่วมสร้างวิกฤติให้เป็นโอกาสได้มากขึ้น
1. พืช สัตว์ และอาหารอะไรบ้างที่คนทั่วโลกนิยมบริโภค ประเทศไหนกำลังจะขาดแคลนอาหารอะไร ต้องการวัตถุดิบอะไร และอาหารอะไร ?
2. พืชและสัตว์อะไรบ้างที่ประเทศไทยกำลังจะขาดแคลน หรือกำลังจะมีปัญหา ?
3. พืชอะไร ควรปลูกในภูมิภาคไหน ควรปลูกในปริมาณเท่าไร และควรเริ่มปลูกเมื่อไร สัตว์อะไร ควรเลี้ยงที่ไหน ควรเลี้ยงในปริมาณเท่าไร และควรเริ่มเมื่อไร ?
4. ปุ๋ยและอาหารสัตว์จะขาดแคลนมากน้อยเพียงใด จะขึ้นราคาอย่างไร รัฐบาลจะป้องกันอย่างไร เตรียมการมิให้ขาดแคลนอย่างไร และจะสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรอย่างไร ?
5. ศูนย์กลางการซื้อขายพืชผลทางการเกษตร สัตว์ และเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ของแต่ละจังหวัดมีเพียงพอหรือไม่ และจะควบคุมอย่างไรให้ราคาซื้อขายเป็นไปอย่างยุุติธรรม ?
ข้อมูลเหล่านี้ หรือมากกว่านี้เป็นข้อมูลพื้นฐานจริง ๆ ที่รัฐบาลโดยกระทรวงที่เกี่ยวข้องมีอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ จะประชาสัมพันธ์อย่างไรให้รับรู้มากกว่านี้โดยไม่ใช่รูปแบบราชการที่สร้างการับรู้และการตื่นตัวได้น้อย
วันนี้ คนส่วนน้อยจริง ๆ ที่รู้ว่า รัฐบาลได้จัดการไปถึงไหน แต่คนส่วนใหญ่ที่จะขับเคลื่อนประเทศและอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤติในครั้งนี้ไม่น่าจะรู้อย่างเท่าที่ควรรู้
ความไม่รู้ของคนกลุ่มใหญ่จะทำให้การขายและการส่งออกไร้การควบคุม การเพาะปลูก และการเลี้ยงสัตว์ไร้ทิศทาง และอาจเป็นเหตุให้ไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ
สุดท้าย แทนที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการเป็นครัวโลก ได้ประโยชน์จากการเป็นประเทศเกษตรกรรมก็อาจต้องพบกับวิกฤติราคาอาหารแพง หรือการขาดแคลนไปด้วยก็ได้
วิกฤติอาหารโลกครั้งนี้จึงอยู่ที่วิสัยทัศน์ การบริหาร และการจัดการของรัฐบาลเท่านั้น
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : June 14, 2022
Logistics
เอกชนชี้”ค่าเฟรท”ยังพุ่ง5-7เท่าถึงปลายปีแนะผปก.ทำสัญญาส่งมอบล่วงหน้า
เอกชนชี้ค่าระวางเรือยังพุ่ง 5-7 เท่าถึงปลายปี แนะผู้ประกอบการทำสัญญาส่งมอบล่วงหน้า ชี้หากจีนเปิดประเทศยิ่งส่งผลให้ค่าระวางเรือยังสูง ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการใช้และสงครามรัสเซีย ทำราคาพลังงานพุ่ง สินค้ามีแต่ส่งออกไม่ได้จากถูกคว่ำบาตร จี้รัฐคุมราคาน้ำมัน
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึง สถานการณ์ค่าระวางเรือ (Ocean freight charge)หรือ “ค่าเฟรท” ว่า ยังคงมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง แม้ในช่วงไตรมาส1ของปีนี้ ค่าระวางเรือจะปรับลดลงมาบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูง จากช่วง 1-2 เดือนที่ผ่าน ค่าระวางเรือลดลงจากจีนมีการปิดประเทศจากสถานการณ์โควิดทำให้การตู้คอนเทนเนอร์มีเพียงพอ
แต่หลังจากนี้หากสถานการณ์โควิดในจีนทุเลาลง และกลับมาเปิดประเทศ มีการขยายตัวของภาคการขนส่ง จะทำให้ความต้องการใช้ตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าค่าระวางเรือย่อมกลับมาสูงอีก เพราะความต้องการที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาพลังงานที่สูงต่อเนื่อง และน่าจะสูงถึง 5-7 เท่าของค่าระวางเรือก่อนโควิดในปี 2019 และน่าจะสูงไปจนถึงปลายปีนี้
“ยกตัวอย่างเช่น ค่าระวางเรือก่อนโควิดอยู่ที่ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ 40 ฟุต แต่ปัจจุบันค่าระวางเรืออยู่ที่ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ 40 ฟุต ซึ่งถือว่าสูงมาก ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ในช่วงนี้คือผู้ประกอบการต้องเร่งวางแผนส่งมอบสินค้าล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน
ทั้งนี้เพื่อจองตู้คอนเทนเนอร์ และการทำสัญญาล่วงหน้ากับสายเดินเรือ ส่วนภาครัฐเองสิ่งที่เอกชนต้องการให้ดำเนินการคือการตรึงราคาน้ำมัน ถ้าไม่อยากให้มีผลกระทบเป็นลูกโซ่ รัฐต้องเร่งหาทางแก้ไขในเรื่องนี้”
สอดคล้องกับ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ที่กล่าวว่า ที่ผ่านมาค่าระวางเรือขึ้นมาสูงมากและเริ่มเบาลงในช่วง1-2เดือน แต่ก็ลงมาอยู่ในระดับที่ยังสูงอยู่ แม้ว่าจีนจะล็อกดาวน์ประเทศแต่ก็ยังส่งออกได้แม้ว่าจะลดลง แต่หลังจากนี้คาดว่าจีนจะเปิดประเทศเร็ว ๆ นี้ดังนั้นโอกาสที่ค่าระวางเรือจะปรับตัวลงมาคงยาก
ประกอบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอีกยิ่งส่งผลให้ต้นของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ดังนั้นตราบใดที่ราคาน้ำมันยังไม่ลดลงมาและยังไม่มีประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ผลิตน้ำมันเพิ่มเพื่อทดแทนน้ำมันจากรัสเซีย น่าจะทำให้ราคาน้ำมันยังสูงขึ้น และถ้าสงครามยังยืดเยื้อไม่มีประเทศไหนยอมถอย ผลกระทบที่เกิดคือวิกฤติทางเศรษฐกิจ ความจริงสินค้ายังมีอยู่ในตลาด 2 ประเทศเพียงแต่นำออกมาไม่ได้เท่านั้นเอง จากถูกคว่ำบาตรของนานาประเทศ
ที่มา : https://www.thansettakij.com/economy/527040
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!