CEO ARTICLE
หาร 500
6 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาสูตรคำนวณ ‘ส.ส. บัญชีรายชื่อ’ วาระ 2 โดยญัตติที่เสนอให้หารด้วย 100 ผลปรากฎว่า สมาชิกรัฐสภาโหวตคว่ำ และให้หาร 500 แทน
หาร 100 กับหาร 500 คืออะไร ทำไมเป็นเรื่องใหญ่ และประชาชนจะได้อะไร ???
ตัวเลข 500 คือจำนวน ‘ส.ส. รวม’ ทั้งหมดของไทยที่ ‘พึงมีได้’ ตามรัฐธรรมนูญ 2560
ในการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 มี ส.ส. ให้เลือกได้โดยแบ่งเป็น ‘ส.ส. แบ่งเขต’ 350 คน และ ‘ส.ส. บัญชีรายชื่อ’ 150 คน รวม 500 คน ตัวเลขครบตาม ‘ส.ส. พึงมีได้’ ที่กำหนด
การเลือกตั้งใช้ ‘บัตรเลือกตั้ง’ ใบเดียว เลือก ‘ส.ส. แบ่งเขต’ อย่างเดียว เมื่อเลือกแล้วก็ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับทั่วประเทศมาคำนวณหา ‘ส.ส. พึงมีได้’ ของแต่ละพรรค
เมื่อได้จำนวน ‘ส.ส. พึงมีได้’ ของแต่ละพรรคแล้วก็ให้นำจำนวน ‘ส.ส. แบ่งเขต’ ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งมาหักออก ขาดเท่าไรก็นำ ‘ส.ส. บัญชีรายชื่อ’ ตามลำดับบัญชีมาเติมให้ครบ
แต่หาก ‘ส.ส. แบ่งเขต’ มีจำนวนมากกว่า ‘ส.ส. พึงมีได้’ นั่นหมายถึง พรรคนั้นได้จำนวน ส.ส. เกินกว่า ‘ส.ส. พึงมีได้’ ของตนไปแล้วจึงไม่มีสิทธิ์ได้รับ ‘ส.ส. บัญชีรายชื่อ’ เพิ่มอีก
นี่คือฤทธิ์เดชของ ‘บัตรเลือกตั้งใบเดียว’ และ ‘ส.ส. พึงมีได้’ และครั้งนั้นก็มีประชาชนมาใช้สิทธิ์ราว 35 ล้านคน เมื่อหารด้วยจำนวน ‘ส.ส. พึงมีได้’ ทั้งหมด 500 คน พรรคที่จะได้ ‘ส.ส. บัญชีรายชื่อ’ เพิ่ม 1 คนก็ต้องได้คะแนนจากบัตรเลือกตั้งใบเดียวราว 70,000 ขึ้นไป
คะแนน 70,000 ย่อมมีเศษเหลือ แทนที่ กกต. จะจัดสรรในหมู่พรรคที่คะแนนเกิน 70,000 แต่กลับไปดึงพรรคเล็ก ผลก็คือ พรรคเล็กที่ได้คะแนนต่ำกว่า 70,000 ลงไปจนถึง 30,000 ได้ ‘ส.ส. บัญชีรายชื่อ’ 1 คนถึง 11 พรรคจนถูกเรียกอย่างดูแคลนว่า ‘ส.ส. ปัดเศษ’
ขณะที่พรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยได้ ‘ส.ส. แบ่งเขต’ จากการเลือกตั้งเกินกว่า ‘ส.ส. พึงมีได้’ ของตนไปแล้วจึงถูกกระทบเพราะไม่ได้รับ ‘ส.ส. บัญชีรายชื่อ’ เพิ่มแม้แต่คนเดียว
ส่วนพรรคอื่นที่ได้ ‘ส.ส. แบ่งเขต’ จากการเลือกตั้งน้อยกว่า ‘ส.ส. พึงมีได้’ เช่น พลังประชารัฐจึงได้ ‘ส.ส. บัญชีรายชื่อ’ เพิ่ม 18 คน ประชาธิปัตธ์ได้เพิ่ม 19 คน อนาคตใหม่ได้เพิ่ม 50 คน
ภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่ม ‘ส.ส. แบ่งเขต’ จาก 350 คนเป็น 400 คน ทำให้ ‘ส.ส. บัญชีรายชื่อ’ ลดจาก 150 คนเหลือ 100 คน แก้บัตรเลือกตั้งจาก 1 ใบเป็น 2 ใบโดยบัตรใบที่ 1 ใช้เลือก ‘ส.ส. แบ่งเขต’ และบัตรใบที่ 2 เลือก ‘ส.ส. บัญชีรายชื่อ’
500 จึงเป็นตัวเลข ‘ส.ส. พึงมีได้’ เดิม ส่วน 100 ก็เป็นตัวเลข ‘ส.ส. บัญชีรายชื่อ’ ใหม่
ในเมื่อ ‘ส.ส. บัญชีรายชื่อ’ มีบัตรเลือกใบที่ 2 ของตนเองแล้ว การคำนวณก็ควรใช้ 100 มาหารคะแนนที่ได้ แต่หากพิจารณาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 91 ที่ยังกำหนดให้มี ‘ส.ส. พึงมีได้’ จากคะแนนทั่วประเทศ ในมุมนี้ก็น่าจะใช้ 500 มาหาร
นี่คือมุมที่มองต่างกัน และเป็นมุมผลประโยชน์ของพรรคการเมืองโดยพิจารณาจากผู้มาใช้
สิทธิ์เลือกตั้งปี 2562 จำนวน 35 ล้านคน หากใช้ 500 หาร พรรคที่จะได้ ‘ส.ส. บัญชีรายชื่อ’ 1 คนก็ต้องได้ 70,000 คะแนน และอาจได้ ส.ส. ปัดเศษเช่นเดิม แบบนี้พรรคเล็กชอบ พรรคใหญ่ไม่ชอบ
แต่หาก 100 มาหาร พรรคจะได้ ‘ส.ส. บัญชีรายชื่อ’ 1 คนก็ต้องได้ 350,000 คะแนน แบบนี้พรรคใหญ่ก็ชอบเพราะได้ ‘ส.ส. บัญชีรายชื่อ’ มากขึ้น แต่พรรคเล็กมีโอกาสสูญพันธุ์
การเมืองจึงเป็นเรื่องช่วงชิง ส.ส. ให้ได้มากที่สุด ใช้ ส.ส. เสียงข้างมากยึดอำนาจรัฐมาอยู่ในมือ และใช้ ส.ส. จัดสรรงบประมาณแผ่นดินปีละนับล้าน ๆ บาท และผลประโยชน์อื่นอีกมาก
ตัวเลข 500 และ 100 จึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นผลประโยชน์ที่ต่างฝ่ายต่างก็สร้างเหตุผลมาถกเถียงกัน ต่างฝ่ายต่างสร้างวาทกรรมความเกลียดชังสู่ฝ่ายตรงข้ามมากยิ่งขึ้น
เมื่อความเกลียดชังด้วยข้อมูลปั้นแต่งเข้าสู่ประชาชนที่มีหลายระดับความคิด ความรุนแรงก็อาจเกิดขึ้น นายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็ถูกเกลียดชัง ถูกยิงเสียชีวิตขณะหาเสียง มีพรรคการเมืองได้ประโยชน์แน่ และข่าวนี้ก็ถูกนำมาปั้นแต่งให้เกิดกับประเทศไทยบ้าง
ตัวเลข 500 และ 100 ก็ถูกปั้นแต่งให้เกลียดชังไม่ต่างกัน จะเลือกตัวเลขไหนก็ต้องมีกลุ่มหนึ่งได้ และกลุ่มหนึ่งเสีย มีประชาชนถูกชักนำตามด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น ให้โอกาสพรรคเล็กได้ ส.ส. 1 คน พรรคใหญ่เติบโตลำบาก เกิดการแลนด์สไลด์ง่าย ประชาธิปไตยถูกทำลาย เป็นต้น
การเมืองเป็นเรื่องการชิงอำนาจและผลประโยชน์ อะไร ๆ ก็ทำได้ทั้งสิ้น ส่วนประชาชนอาจได้ประโยชน์จากตัวเลข 500 หรือ 100 บ้าง แต่ไม่มากเท่าพรรคการเมืองแน่
การประชุมวาระ 2 จบลงด้วยมติคว่ำ 100 และใช้ 500 ส่วนในวาระ 3 ที่จะมีขึ้น ลงมติอีกครั้ง และกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก็อาจทำให้ 100 และ 500 พลิกไปมาได้
ประชาชนที่ติดตามการเมืองจึงควรติดตามให้เป็นเพียงการเมือง ไม่ใช่ให้เป็นละครที่ต้องมีตัวเอกเป็นฝ่ายชนะ ตัวร้ายต้องตายในตอนจบ และไม่ถูกชักจูงด้วยวาทะกรรมความเกลียดชัง
มิฉะนั้น ประชาชนนั่นล่ะคือเหยื่อชั้นดีที่มีพรรคการเมืองยืนรับประโยชน์อยู่เบื้องหลัง.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : July 12, 2022
Logistics
ฉางซาเปิดเที่ยวบินคาร์โก้สู่กรุงเทพฯ ให้บริการสัปดาห์ละ 4 เที่ยว
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ท่าอากาศยานนานาชาติหวงฮัว นครฉางซา เปิดเที่ยวบินคาร์โก้จากนครฉางซาไปยังกรุงเทพฯ โดยสายการบิน Central Airlines (中州航空) นับเป็นเที่ยวบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศแบบประจำเส้นทางแรกที่เปิดให้บริการในปีนี้ และยังเป็นเที่ยวบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศแบบประจำเส้นทางที่ 6 ในปัจจุบันของท่าอากาศยานนานาชาติหวงฮัว
เที่ยวบินคาร์โก้ฉางซา-กรุงเทพเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกลุ่มบริษัทเหนียนเหนียนโหย่วหวี (Fishforever) กับสายการบิน Central Airlines ซึ่งเป็นสายการบินท้องถิ่นจีนที่มีสำนักงานใหญ่ที่นครเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน โดยการลำเลียง สินค้าจะใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737-800 เป็นหลัก สามารถรองรับน้ำหนักได้มากกว่า 20 ตัน ในระยะแรก มีแผนเปิดให้บริการสัปดาห์ละ 4 เที่ยว รองรับปริมาณการขนส่งสินค้าและไปรษณีย์ได้เดือนละ 640 ตัน สินค้าส่งออกสำคัญของเที่ยวบินคาร์โก้จากนครฉางซาไปยังกรุงเทพฯ ได้แก่ สินค้าทั่วไปที่จีนผลิตขึ้นและสินค้าอีคอมเมิร์ซ ส่วนสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ผลไม้ไทย
การเปิดเที่ยวบินคาร์โก้ฉางซา-กรุงเทพฯ นับเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการเติบโตด้านการค้าระหว่างประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจคุณภาพสูงของมณฑลหูหนาน รวมถึงเป็นการสนับสนุนนโยบายการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติหวงฮัวให้กลายเป็น “วงกลมเศรษฐกิจการบิน 4 ชั่วโมง” ซึ่งมีเป้าหมายให้นครฉางซากลายเป็นศูนย์กลางการบินระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลางของจีน ด้วยการสร้างเครือข่ายเส้นทางบินเชื่อมโยง 31 มณฑลของจีน (109 เมืองในจีน) และ 20 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจสำคัญ (51 เมือง) ในฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้
ที่มา: www.thaibizchina.com
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!