CEO ARTICLE
M81 สู่เมียนมา
M81 เป็นหมายเลขถนนหลวงของไทยที่กำลังจะแล้วเสร็จ เป็น Gateway สู่เมียนมา แต่ประวัติศาสตร์ของเมียนมาซับซ้อน มีแต่ความขัดแย้ง และวันนี้ก็มีมหาอำนาจเข้าไปเกี่ยวข้อง
ผลประโยชน์ระหว่างประเทศจะทำให้ M81 ดึงความขัดแย้งจากเมียนมาสู่ไทยได้หรือไม่ ?
เมียนมาในอดีตใช้ชื่อ ‘พม่า’ ปกครองด้วยระบบกษัตริย์ที่เป็น ‘ศูนย์รวมใจ’ กระทั่งเข้าสู่ยุคล่าอาณานิคมเพื่อช่วงชิงทรัพยากรของประเทศอื่น เมียนมาก็ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในปี 2428
พระเจ้าสีป่อกษัตริย์องค์สุดท้ายถูกอังกฤษบังคับให้สละราชบัลลังก์ และถูกเนรเทศ
ผ่านไป 54 ปี ในปี 2482 ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเข้ามารุกรานต่อ พอจบสงครามในปี 2488 เมียนมาก็ถูกอังกฤษกลับมายึดครองอีกโดยมี ‘นายพลอองซาน’ พยายามขอเอกราช
ปี 2490 การเจรจาสำเร็จ เมียนมาได้รับเอกราช แต่ชนเผ่าที่มีมากต้องการแยกตัวเป็นรัฐอิสระ นายพลอองซานที่ทุกคนยอมรับจึงพยายามสร้างความสามัคคีระหว่างชนเผ่าให้เกิดขึ้น
การเจรจาเกือบได้ผล มีนายพลอองซานเป็น ‘ศูนย์รวมใจ’ แต่น่าเสียดาย ปีนั้นนายพลอองซานก็ถูกลอบสังหาร การเสียชีวิตทำให้นายพลอองซานได้ชื่อว่า ‘บิดาแห่งเอกราช’ ของเมียนมา
เมียนมาขาด ‘ศูนย์รวมใจ’ ชนเผ่ารบกันเองเพื่อแยกตัว ทหารจึงเข้ายึดอำนาจ นับแต่นั้นประชาชนส่วนใหญ่ก็รวมตัวต่อต้าน หนักบ้าง เบาบ้าง ขาดความสงบสุขภายในประเทศ
ปี 2531 อองซานซูจีบุตรสาวของนายพลอองซานกลับเมียนมาเพื่อเยี่ยมมารดา
ซูจีเติบโตในอังกฤษและสหรัฐ สามีเป็นคนอังกฤษจึงมีแนวโน้มไปทางตะวันตกมากกว่า เมื่อซูจีเข้าร่วมกลุ่มผู้ต่อต้านจึงได้รับการยอมรับคล้ายเป็นตัวแทนบิดาจนถูกรัฐบาลทหารกักตัว
ปี 2558 รัฐบาลทหารยอมให้มีการเลือกตั้ง ซูจีถูกปล่อยตัวและได้ความนิยมสูงสุด เธอจึงชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายได้บริหารเมียนมา และได้เป็น ‘ศูนย์รวมใจ’ แทนบิดา
ปี 2563 เมียนมาก็เกิดการรัฐประหารอีก ซูจีไม่หนี ยอมให้จับกุม ส่งผลให้เมียนมาเข้าสู่การจลาจล โรงงานของคนจีนถูกเผาจำนวนมาก ประชาชน บาดเจ็บล้มตาย กระทั่งเกิด Covid-19
วันนี้ สหรัฐหนุนหลังกลุ่มผู้ต่อต้าน จีนหนุนหลังรัฐบาลทหาร เมียนมาจึงมีศึกถึง 3 ด้าน
ด้านที่ 1 ผู้ประท้วงทั่วประเทศที่แยกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มคนรุ่นเก่า ผู้อิงกับประวัติศาสตร์ ความเจ็บปวด การเป็นเมืองขึ้น ถูกกดขี่ และถูกยึดครองจึงโหยหาเสรีภาพ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่อิงประวัติศาสตร์ เพียงต้องการประชาธิปไตย ทั้ง 2 กลุ่มต่างยึดซูจีเป็น ‘ศูนย์รวมใจ’ ร่วมกัน
ด้านที่ 2 กลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ ที่มีเป็นร้อยกลุ่ม ทุกกลุ่มมีกองกำลังเป็นของตนเอง ในอดีตเคยมีข้อตกลงให้แยกตัวเป็นอิสระ แต่ล้มเหลวจากการเสียชีวิตของนายพลอองซานจึงเตรียมพร้อมก่อการลับ ๆ และพร้อมเปิดตัวต่อสู้เพื่อขอแยกตัว
ด้านที่ 3 ชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐที่ใช้ ‘ประชาธิปไตย’ เป็นอาวุธ ใช้ NGO เป็นกองหนุน ให้ทุนผู้ประท้วงและนักการเมืองฝ่ายค้านให้ต่อต้านรัฐบาลทหาร และปลายเดือน ก.ค. 65 ที่ผ่านมา นักต่อต้าน 4 คนก็ถูกประหารชีวิตในข้อหา ‘ก่อการร้าย’ โดยชาติตะวันตกยังนิ่งเฉย
เมียนมามีประวัติศาสตร์ซับซ้อน และมีความขัดแย้งไม่ต่างจากไทย แต่วันนี้ไทยยังมี ‘ศูนย์รวมใจ’ แต่ความขัดแย้งของไทยก็ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจทั้งที่สภาพดีกว่าเมียนมา
เมียนมาส่งสินค้าออกทางมหาสมุทรอินเดียเป็นหลัก ส่วนไทยส่งออกทางอ่าวไทยเป็นหลัก เรือต้องอ้อมช่องแคบมะละกา ผ่านสิงคโปร์ เข้าสู่มหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก
เรือสินค้าจากไทยจึงเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า ในที่สุดไทยก็สร้าง M81 ขึ้นมา
M81 เป็นทางหลวงจากบางใหญ่ นนทบุรีไปชายแดนกาญจนบุรี และเป็น Gateway เชื่อมถนนและรถไฟทั่วประเทศไทยเข้าสู่เมียนมา เป็น Land Bridge เพื่อนำสินค้าไปขึ้นเรือที่ท่าทวาย
M81 จึงเป็นถนนเชื่อมอ่าวไทยและอ่าวเบงกอล เมื่อเปิดใช้จริง กลุ่มผู้ประท้วงในเมียนมาและกลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ คงไม่ขัดขวาง แต่ผู้สูญเสียประโยชน์จาก M81 กลายเป็นสิงคโปร์ที่เป็นมิตรกับสหรัฐและประเทศที่จะสูญเสียผลประโยชน์ในช่องแคบมะละกาก็อาจทำอะไรในทางลับ
คำว่า ‘ทางลับ’ เป็นเรื่องเดายาก ส่วนจีนได้ประโยชน์จาก M81 จึงน่าจะสนับสนุน
ขณะที่ไทยมีความขัดแย้งภายใน มีจีนและสหรัฐหนุนหลังแต่ละฝ่าย เมื่อมีสงครามรัฐเซีย-ยูเครน ทุกฝ่ายจึงสงวนทีท่าต่อไทยและเมียนมาที่รวมถึงการประหารชีวิต 4 นักต่อต้านไปด้วย
ในอนาคต M81 จะกลายเป็นถนนท่องเที่ยวไปยังภาคตะวันตกของไทย ทำให้กาญจนบุรีมีความสำคัญ เป็นประตูเชื่อมโลกตะวันออกและตะวันตก ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลาง Logistics ของภูมิภาคแทนสิงคโปร์มากขึ้น ลดบทบาทสิงคโปร์ลง และเศรษฐกิจไทยจะโตอย่างก้าวกระโดด
แต่เมื่อมีการเมือง ผลประโยชน์ระดับโลกมาเกี่ยวข้อง มีประวัติศาสตร์ของ 2 ประเทศที่ซับซ้อน และมี ‘ทางลับ’ ที่ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น M81 ที่เป็นทางหลวงจากไทยสู่เมียนมาก็อาจดึงความขัดแย้งของ 2 ขั้วอำนาจจากเมียนมาเข้าสู่ไทยแทนที่และมากขึ้นก็ได้
ทั้งหมดเป็นเรื่องอนาคต คาดเดาจากประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อน อาจใช่ อาจไม่ใช่ แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลในอนาคตควรพิจารณาผลกระทบเพื่อป้องกันไปพร้อม ๆ ไปกับการพัฒนา.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : August 2, 2022
Logistics
CRRC Zhuzhou เตรียมสร้างเส้นทางรถรางอัจฉริยะพลังงานไฮโดรเจนในมาเลเซียครั้งแรก
บริษัท CRRC Zhuzhou Institute จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนารถรางอัจฉริยะหรือรถไฟรางเสมือนระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Rail Rapid Transit System: ART) ที่แรกของโลก ชนะการประมูลโครงการก่อสร้างเส้นทางรถรางไฟฟ้าภายในตัวเมืองกูจิง (Kuching) รัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย
รถรางอัจฉริยะเป็นรถที่ผสมผสานข้อดีของรถรางกับรถโดยสารสาธารณะเข้าด้วยกัน โดยใช้เทคโนโลยีรางเสมือนในการขับเคลื่อนพร้อมระบบเซ็นเซอร์ ประกอบด้วยกล้องที่มีความคมชัดสูง ระบบ GPS และเรดาร์ นำทางเดินรถ และเชื่อมโยงเข้ากับ “สมอง” หรือ หน่วยควบคุมส่วนกลางระบบ ART ซึ่งการขับเคลื่อนจะวิ่งบนเลนถนนตามแนวเส้นประสีขาวแทนที่รางจริง จึงทำให้ประหยัดต้นทุนการสร้างรางได้อย่างมาก ทั้งนี้ CRRC Zhuzhou Institute เริ่มวิจัยระบบ ART มาตั้งแต่ปี 2556 และเปิดทดลองเดินรถครั้งแรกที่เมืองจูโจว มณฑลหูหนาน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 300-500 คน ปัจจุบัน รถรางอัจฉริยะเปิดให้บริการเดินรถในหลายเมืองของจีน เช่น อำเภอหย่งซิ่ว (มณฑลเจียงซี) เมืองอี๋ปิน (มณฑลเสฉวน) เมืองเซี่ยเหมิน (มณฑลฝูเจี้ยน) นครฮาร์บิน (มณฑลเฮยหลงเจียง) เมืองซูโจว (มณฑลเจียงซู) และนครเฉิงตู (มณฑลเสฉวน)
สำหรับโครงการก่อสร้างเส้นทางรถรางไฟฟ้าภายในตัวเมืองกูจิงครั้งนี้มีระยะทาง 52 กิโลเมตร ประกอบด้วย 2 เส้นทาง รวม 28 สถานี คาดว่าจะใช้รถรางอัจฉริยะ 38 ขบวน โดยการออกแบบภายนอกตัวรถรางจะได้รับการตกแต่งตามสีของธงรัฐซาราวักและมีมิติคล้ายกับสะพาน ซึ่งมีความหมายสื่อถึงสะพานที่เชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างจีนกับมาเลเซีย สิ่งสำคัญคือ การขับเคลื่อนของรถรางจะใช้พลังงานไฮโดรเจนเพื่อผลิตไฟฟ้าแทนการใช้แบตเตอรี่ ซึ่งจะประหยัดพลังงาน คาร์บอนต่ำ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า นับเป็นครั้งแรกที่ CRRC Zhuzhou Instituteนำพลังงานไฮโดรเจนมาใช้กับรถรางอัจฉริยะ นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายพลังงานสีเขียวของท้องถิ่น โดยเมืองกูจิงจะกลายเป็นเมืองแรกในมาเลเซียที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนกับระบบขนส่งสาธารณะในตัวเมือง
ที่มา : https://thaibizchina.com/crrc-zhuzhou
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!