CEO ARTICLE
จีนเดียว
ทันทีที่จีนทำการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน เครื่องบิน เรือสินค้า การขนส่ง โลจิสติกส์ สินค้านำเข้าส่งออก และการค้าที่เกี่ยวข้องก็ต้องหยุด ชะงัก ขาดทุน และได้รับความเสียหาย
การเมืองสร้างความขัดแย้งและสงคราม แต่ใครได้ ใครเสียกับการเยือนไต้หวันครั้งนี้ ?
ความขัดแย้งทางการเมืองของจีนในอดีตก่อให้เกิดสงครามกลางเมือง และยุติลงในปี พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ชนะ ได้ปกครองจีน ส่วนพรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้ ต้องหนีไปเกาะไต้หวันซึ่งเป็นเกาะหนึ่งของจีน (bbc.com เผยแพร่ 8 Oct 2564)
พรรคคอมมิวนิสต์ประกาศจะต้องยึดเกาะไต้หวันกลับคืนในวันหนึ่ง แต่เวลาที่ผ่านมากลับต้องวุ่นวายต่อสู้กับความยากจน ในที่สุดทั้งจีนและไต้หวันจึงต่างคนต่างอยู่
จีนใช้ชื่อประเทศว่า ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ (People’s Republic of China) ใช้ระบอบคอมมิวนิสต์ในการปกครอง ส่วนไต้หวันใช้ชื่อว่า ‘สาธารณรัฐจีน’ (Republic of China) ใช้ระบอบประชาธิปไตย และมีการเลือกตั้ง ทั้งสองใช้คำว่า ‘จีน’
ไต้หวันเป็นเกาะเล็ก ๆ ในตอนนั้นการปกครองจึงง่าย เศรษฐกิจเติบโต สหรัฐทำตัวเป็นพี่ใหญ่ของระบอบประชาธิปไตย ต้องการคานอำนาจจีนจึงสนับสนุนและขายอาวุธให้ไต้หวัน
แต่เศรษฐกิจจีนค่อย ๆ เติบโต และมีอิทธิพลมากขึ้น ปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) สหรัฐและอีกหลายประเทศเริ่มมีความสัมพันธ์กับจีน กระทั่งปี พ.ศ. 2521 (ค.ศ. 1978) จีนก็ยืนยันนโยบาย ‘จีนเดียว’ (One China Policy) ซึ่งหมายถึง โลกนี้มีจีนประเทศเดียว ผู้อื่นจะใช้คำว่า ‘จีน’ ไม่ได้ และไต้หวันก็เป็นส่วนหนึ่งของจีนที่จีนจะยึดกลับคืนมาในวันหนึ่ง
สหรัฐ หลายประเทศรวมทั้งไทยและองค์การสหประชาชาติยอมรับ ลงนามรับรองนโยบาย ‘จีนเดียว’ ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน คบกับจีนอย่างเป็นทางการแทน
ด้วยเหตุนี้ ประเทศที่รับรองนโยบาย ‘จีนเดียว’ จึงไม่ควรเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการ แต่หากจำเป็นก็ควรได้รับความยินยอมจากจีนก่อน
ไต้หวันจึงใช้ชื่อ ‘ไต้หวัน’ ถูกโดดเดี่ยวในเวทีโลก แต่สหรัฐกลับออกกฎหมายการขายอาวุธให้ไต้หวัน สนับสนุนให้ไต้หวันมีประชาธิปไตย และมีกองทัพปกป้องตนเอง ขณะเดียวกัน ไต้หวันก็ยังคงคบค้ากับประเทศต่าง ๆ อย่างไม่เป็นทางการ
‘จีนเดียว’ จึงเป็นนโยบายที่จีนได้ประโยชน์ ไต้หวันก็ได้ประโยชน์ที่ได้ปกครองตนเองโดยมีสหรัฐแอบช่วยเหลือ สหรัฐและอีกหลายประเทศต่างฝ่ายต่างก็ได้ประโยชน์เรื่อยมา
แล้วอยู่ ๆ นางแนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ผู้ยืนหยัดในการปกป้องสิทธิมนุษยชนในจีนก็เดินทางไปไต้หวัน พบนางไช่อิงเหวิน (Cai Yingwen) ประธานาธิบดีไต้หวัน ในวันที่ 2 ส.ค. 65 โดยไม่ฟังคำทัดทานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Jo Biden) ของสหรัฐ และไม่สนใจเสียงขู่ของจีน
ปัจจุบัน นางเพโลซีเป็นถึงประธานรัฐสภาผู้แทนสหรัฐ เคยต่อต้านรัฐบาลจีนในเหตุการณ์เทียนอันเหมิน เคยเดินทางไปพบนายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) ประธานาธิบดียูเครน ให้กำลังใจเพื่อต่อสู้กับรัสเซีย และเคยไปให้กำลังใจกลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกงมาก่อน
นางเพโลซีมีตำแหน่งใหญ่โตทางการเมือง มีประวัติไม่ชอบจีน ไม่ฟังคำทัดท้านของไบเดน
การเยือนไต้หวันครั้งนี้น่าจะมีเจตนาแอบแฝง ทั้งไต้หวัน สหรัฐ และจีนน่าจะรู้ถึงความเสียหายทั้งการเยือน การซ้อมรบ การมีเมียนมา และยูเครนเป็นตัวอย่างให้เห็น แต่ทุกฝ่ายก็ยังทำ
ทั้งเมียนมา ยูเครน และอีกหลายประเทศได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐให้มีประชาธิปไตย
ปัจจุบัน อองซานซูจีถูกจับ ยูเครนถูกรัสเซียโจมตี ประเทศมีแต่ความเสียหาย ประชาชนไร้บ้าน บาดเจ็บ ล้มตายจำนวนมาก แต่สหรัฐก็ช่วยเหลือได้เพียงขายอาวุธอย่างลับ ๆ ให้เท่านั้น
ทันทีที่นางเพโลซีกลับ จีนก็ซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน หากเกิดสงครามจริงห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกก็คงวุ่นวาย ส่วนสหรัฐก็คงทำกำไรจากการขายอาวุธเพิ่ม การเยือนครั้งนี้จึงมีผลกระตุ้นโรงงานผลิตที่ต้องพึ่งพาสหรัฐให้รีบย้ายฐานไปสหรัฐซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐไปในตัว
อีกด้านหนึ่งก็กระตุ้นคนไต้หวันที่รู้ประวัติศาสตร์ ยอมรับจีน ไม่ชอบสงคราม อยากกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของจีน ดีกว่าการพึ่งพาสหรัฐ แต่ก็ต้องขัดแย้งกับกลุ่มที่อยากพึ่งพาสหรัฐ
การเยือนจึงสร้างความขัดแย้งภายในชัด ๆ หากนางไช่อิงเหวินรู้ และต้องการความชัดเจนจากคนไต้หวันก็น่าจะทำประชามติแบบ BREXIT ให้คนไต้หวันเลือกอนาคตตัวเองจะดีกว่า
“ควร” หรือ “ไม่ควร” กลับไปเป็นส่วนหนึ่งของจีนตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์
หากไม่ควร คนไต้หวันจะได้รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ ต้องเตรียมตัวอะไร ไม่ตกเป็นเครื่องเล่นทั้งของจีนและสหรัฐ แต่หากควร แบบนี้การกลับไปด้วยตนเองจะมีความสง่างามมากกว่า สามารถทำข้อตกลงการปกครองตนเองได้ดีกว่า และมีโอกาสเลือกได้มากกว่า
ประชาชนเลือกนักการเมือง นักการเมืองก็ควรให้คำตอบแก่ประชาชน หากทุกฝ่ายนิ่งเฉย นักการเมืองจะเป็นผู้เปิดสงคราม แต่นักการเมืองไม่ตายในสงคราม ทหาร ประชาชน และนักธุรกิจที่ต้องการทำการค้านั่นล่ะเป็นผู้พังพินาศ รับความเสียหาย และตายในสงคราม
การเยือนจึงมีเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น และไม่มีใครรู้ว่าจะกระตุ้นจีนให้เร่งยึดเกาะไต้หวันคืนเป็น ‘จีนเดียว’ หรือไม่ นางเพโลซีมีความในใจอะไร และมีอะไรส่วนตัวอยู่เบื้องหลัง ???
แต่ที่ชัดเจนคือ สหรัฐไม่มีอะไรจะเสียจากการเยือนครั้งนี้ ไปเพราะไต้หวันให้ไป มีแต่ได้กับได้ ส่วนจะได้อะไร และได้มากแค่ไหนคงเป็นเรื่องที่ต้องดูกันต่อไป
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : August 9, 2022
Logistics
กว่างซีดี๊ด๊า เล็งเพิ่มเที่ยวบินสู่อาเซียน
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติจีน พร้อมสนับสนุนการพัฒนาภาคการบินพลเรือนของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในหลายด้าน ทั้งการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางบินในประเทศเชื่อมกับต่างประเทศ โดยมีสนามบินหนานหนิงเป็นศูนย์กลาง การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของสนามบิน รวมถึงการส่งเสริมการบินในระดับเพดานบินต่ำ
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา สายการบินนกแอร์ ได้รับอนุญาตให้กลับมาทำการบินในเส้นทาง “กรุงเทพฯ – นครหนานหนิง” ในเที่ยวบินแรก อย่างไรก็ดี ประเทศจีนยังคงรณรงค์ให้ผู้โดยสารเดินทางในเที่ยวบินต่างประเทศเท่าที่จำเป็น และจะต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขของจีนด้วยความเคร่งครัด แต่นับเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดีในการสานต่อความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจการค้า รวมถึงการแลกเปลี่ยนภาคประชาชนในระยะต่อไป
สนามบินหนานหนิงเป็น “ประตูการค้า” มีฟังก์ชันที่หลากหลาย และเป็นที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยด้วย ที่ผ่านมา มีบริการเที่ยวบินสำหรับเครื่องบินขนส่งสินค้า “นครหนานหนิง – กรุงเทพฯ” ซึ่งใช้สำหรับขนส่งพัสดุไปรษณีย์และสินค้า Cross-border e-Commerce เป็นประจำอยู่แล้ว และยังเป็น “ด่านนำเข้าผลไม้” “ด่านนำเข้าสัตว์น้ำมีชีวิตเพื่อการบริโภค” และ “ด่านนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็นจากต่างประเทศ” อีกด้วย
เมื่อไม่นานมานี้ กรมคมนาคมและขนส่งเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เปิดเผยว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติจีน หรือ CAAC (China Aviation Administration of China) และรัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้ร่วมลงนามข้อตกลงกรอบความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อร่วมผลักดันการพัฒนาการบินพลเรือนที่มีคุณภาพสูงของกว่างซี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 14 (ระหว่างปี 2564-2568)
ด้านการบินระหว่างประเทศ ตามข้อตกลงฯ ระบุว่า สำนักงาน CAAC จะสนับสนุนท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิง (รหัสท่าอากาศยาน IATA : NNG) ในการพัฒนา “วงแหวนโลจิสติกส์ทางอากาศ 4 ชั่วโมง” จากนครหนานหนิงสู่กลุ่มประเทศอาเซียน พัฒนาโครงข่ายเส้นทางการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และส่งเสริมการบูรณาการและการใช้ประโยขน์จากทรัพยากรร่วมกันระหว่างเครื่องบินขนส่งสินค้าและพื้นที่ระวางใต้ท้องเครื่องของเครื่องบินผู้โดยสาร
โดยเฉพาะการสนับสนุนให้สนามบินหนานหนิง ขยายเส้นทางบินและเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินระหว่างนครหนานหนิงกับกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งพัฒนาเที่ยวบิน Transit Flight ระหว่างจีน-อาเซียนที่แวะพักที่สนามบินนครหนานหนิงก่อนยังจุดหมายปลายทาง
นอกจากนี้ ยังระบุถึง การพัฒนาโครงข่ายเส้นทางบินขนส่งผู้โดยสารเชื่อมในประเทศกับต่างประเทศ (อาเซียน) โดยเฉพาะการสนับสนุนให้สนามบินต่างๆ ในกว่างซีเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินไปยังมณฑลในภาคตะวันตก (New Western Land and Sea Corridor – NWLSC) พื้นที่เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangzte River Delta – YRD) และพื้นที่เขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area – GBA)
ด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของสนามบินในกว่างซี สองฝ่ายจะร่วมกันสนับสนุนโครงการปรับปรุงและขยายงานก่อสร้างสนามบินหนานหนิง โดยเฉพาะการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 2 และการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 (Terminal 3) และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง การขยายงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารของสนามบินกุ้ยหลิน และการเตรียมแผนก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ในเมืองฝางเฉิงก่าง เมืองกุ้ยก่าง และเมืองเฮ่อโจว ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่มีสนามบินเป็นของตนเอง
ด้านการส่งเสริมการบินในห้วงอากาศระดับต่ำ (Low-altitude airspace) สำนักงาน CAAC จะสนับสนุนกว่างซีในการผลักดันการพัฒนาระบบหลักประกันการบริการการบินในระดับเพดานบินต่ำ สนับสนุนให้เมืองเฮ่อโจว (เมืองชายขอบของกว่างซี) พัฒนาเป็นเขตนำร่องการบินของอากาศยานไร้คนขับ
บีไอซี เห็นว่า ความเคลื่อนไหวข้างต้น มีความสอดคล้องกับนโยบายกลางที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศ โดยเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2565 สำนักงาน CAAC ได้หารือร่วมกับหน่วยงานด้านการบินพลเรือนในบางประเทศเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการทยอยเพิ่มเที่ยวบินโดยสารระหว่างประเทศทั้งขาเข้าและขาออก รวมถึงประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้ สายการบินนกแอร์ ได้รับอนุญาตให้กลับมาทำการบินในเส้นทาง “กรุงเทพฯ – นครหนานหนิง” เที่ยวบินแรกเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ประเทศจีนยังคงรณรงค์ให้ผู้โดยสารเดินทางในเที่ยวบินต่างประเทศเท่าที่จำเป็น และจะต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขของจีนด้วยความเคร่งครัด แต่นับเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดีในการสานต่อความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจการค้า รวมถึงการแลกเปลี่ยนภาคประชาชนในระยะต่อไป
สำหรับผู้ที่เตรียมวางแผนการเดินทางไปยังนครหนานหนิง (ประเทศจีน) ขอให้ติดตามมาตรการ/ข้อกำหนดในการเดินทางเข้าประเทศจีนอย่างใกล้ชิด และขอเน้นย้ำว่า “ห้ามนำกัญชา กัญชง และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของพืชชนิดดังกล่าวเข้าไปในประเทศจีน” โดยเด็ดขาด และขอให้ใช้ความระมัดระวังในการรับฝากสิ่งของผู้อื่นไปในประเทศจีนด้วย
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สนามบินหนานหนิงมีฟังก์ชันที่หลากหลาย นอกจากการขนส่งผู้โดยสารแล้ว สนามบินแห่งนี้ “ประตูการค้า” ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยด้วย ที่ผ่านมา มีบริการเที่ยวบินสำหรับเครื่องบินขนส่งสินค้า “นครหนานหนิง – กรุงเทพฯ” ซึ่งใช้สำหรับขนส่งพัสดุไปรษณีย์และสินค้า Cross-border e-Commerce เป็นประจำอยู่แล้ว
นอกจากนี้ สนามบินหนานหนิงยังเป็น “ด่านนำเข้าผลไม้” “ด่านนำเข้าสัตว์น้ำมีชีวิตเพื่อการบริโภค” และ “ด่านนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็นจากต่างประเทศ” ที่ผ่านมามีประวัติการนำเข้ากุ้งแวนนาไมมีชีวิต หรือกุ้งขาวจากประเทศไทย รวมถึงผลไม้สด อย่างทุเรียน มังคุดจากประเทศไทยมาแล้วด้วย
บีไอซี เห็นว่า สนามบินหนานหนิงเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ส่งออกไทยในการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะผลไม้สด รวมถึงสินค้าไทยที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาดกว่างซีและพื้นที่อื่นทั่วประเทศจีนได้ผ่านเที่ยวบินขนส่งสินค้า “กรุงเทพฯ – หนานหนิง” โดยใช้เวลาทำการบินเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น
ที่มา: https://thaibizchina.com
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!