CEO ARTICLE

การนำเข้า BB Gun

Published on September 13, 2022


Follow Us :

    

BB Gun กระบอกเล็ก ๆ เป็นของเด็กเล่น นำเข้าส่วนตัว แต่กลับถูกยึด มีความผิด
ทำไมจึงห้ามนำเข้า ทำไมจึงมีการขาย BB Gun ทั้งในร้านและออนไลน์ … ทำไม ??

BB Gun ย่อมาจากคำว่า ‘Ball Bullet Gun’ หมายถึง ปืนที่ใช้ยิงกระสุนทรงกลม
BB Gun มีชื่อเรียกในทางสากลว่า ‘Airsoft Gun’ ที่แปลตรงตัวว่า ‘ปืนอัดลมเบา’ ในอดีต BB Gun ใช้เป็นปืนฝึกซ้อม หรือใช้ในกีฬา เช่น ใช้ยิงกระป๋อง ใช้ในการแข่งขัน เป็นต้น
BB Gun จึงไม่ใช่อาวุธปืน แต่เป็นสิ่งเทียมอาวุธปืน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5793/2544) ปัจจุบัน BB Gun มีการพัฒนาไปมาก ใช้พลังงานจากแก๊ส ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ เป็นสิ่งเทียมอาวุธที่มีแรงยิงสูงจึงเป็นอันตรายต่อเด็ก และยังสามารถนำมาใช้ในอาชญกรรมได้
BB Gun จึงเป็นทั้งอุปกรณ์กีฬา เป็นของเด็กเล่น และเป็นสิ่งอันตราย แต่ก็สามารถนำเข้าได้ในพิกัด 9304.0000 “อาวุธอื่น ๆ เช่น ปืนและปืนพกที่ใช้สปริง ใช้ลมหรือใช้ก๊าซ กระบองตำรวจ” (Other arms for example, spring, air or gas guns and pistols, truncheons) เป็นต้น มีอากรขาเข้าอัตรา 40% และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ส่วนจะได้สิทธิยกเว้นอากรตามข้อตกลง FTA หรือไม่ก็ต้องตรวจสอบข้อตกลงที่ไทยทำกับประเทศผู้ขาย เงื่อนไข และช่วงเวลา
BB Gun จึงไม่ใช่ ‘ของต้องห้าม’ ที่จะนำเข้า แต่เป็น ‘ของควบคุม’ ในการนำเข้า หรือเรียกภาษาทางการว่า ‘ของต้องกำกัด’
ความหมายของคำว่า ‘ของต้องห้าม’ และ ‘ของต้องกำกัด’ อยู่ท้ายบทความนี้

กรณี BB Gun นำเข้ามาแล้วถูกยึด และมีความผิดจึงเกิดจากผู้นำเข้าไม่มีหนังสืออนุญาตนำเข้ามาประกอบพิธีการนำเข้าทางศุลกากรมากกว่า
เมื่อไม่มีหนังสืออนุญาตนำเข้าก็ต้องถูกยึดและมีความผิด
ส่วน BB Gun ที่เห็นจำหน่ายตามร้านค้าคงเป็นการนำเข้าที่มีใบอนุญาตอย่างถูกต้องจึงวางขายอย่างเปิดเผย แต่หากจำหน่ายในตลาดมืดอาจเป็นการลักลอบนำเข้า ไม่มีหนังสืออนุญาต ผู้ซื้อก็อาจมีความผิดฐานครอบครองของนำเข้าโดยไม่มีหนังสืออนุญาตก็อาจมีความผิด และอาจมีโทษปรับไปด้วย
ดังนั้น หากประชาชนทั่วไปจะซื้อภายในประเทศก็ควรซื้อจากร้านค้าที่นำเข้าอย่างถูกต้องจะปลอดภัยกว่า
แต่หากต้องการนำเข้าเอง ก็ควรติดต่อผู้ขายต่างประเทศล่วงหน้า นำข้อมูล BB Gun และเอกสารที่เกี่ยวข้องไปติดต่อขอรับหนังสืออนุญาตก่อนที่จะนำเข้าล่วงหน้า การเดินทางไปท่องเที่ยว ถูกใจ และซื้อมาโดยไม่เตรียมการจึงเป็นความเสี่ยง
วิธีการขอหนังสืออนุญาตนำเข้าก็ไม่ยุ่งยากมาก ผู้นำเข้าที่อยู่ต่างจังหวัดก็เพียงติดต่อกับสำนักงานนายทะเบียนท้องที่ แจ้งวัตถุประสงค์ ยื่นคำร้อง ยื่นเอกสารประจำตัว และเอกสารที่เกี่ยวกับ BB Gun หรือจะติดต่อมาที่กรมการปกครองตามเว็บไซต์ด้านล่างนี้
หากผู้นำเข้าต้องการความสะดวกก็เพียงติดต่อตัวแทนออกของ (Customs Broker) หรือผู้ให้บริการ Logistics Service Provider ที่มีบริการแบบครบวงจรก็ได้
การพิจารณาและอนุมัติอาจใช้เวลามาก ผู้นำเข้าจึงควรติดต่อล่วงหน้าก่อนการนำเข้า.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

ปล. คำว่า ‘ของต้องห้าม’ และ ‘ของต้องกำกัด’ มีความหมาย ดังนี้
‘ของต้องห้าม’ หมายถึง ของที่ห้ามเด็ดขาดในการนำเข้าหรือส่งออกของไทย เช่น
@ สารเสพติด
@ วัตถุ หรือสื่อลามก
@ ของลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้า ของละเมิดลิขสิทธิ์ และทรัพย์สินทางปัญญา
@ ธนบัตร หรือเหรียญกษาปณ์ปลอม
@ สัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ที่อยู่ในบัญชีควบคุมของอนุสัญญาไซเตส
‘ของต้องกำกัด’ หมายถึง ของที่ห้ามไม่เด็ดขาด ยินยอมให้มีการนำเข้าหรือส่งออกของไทยได้บ้าง แต่ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากหน่วยราชการที่ควบคุม ต้องได้รับอนุญาตก่อนนำเข้าจริง มิฉะนั้นจะมีโทษปรับ และต้องนำหนังสืออนุญาตมาประกอบพิธีการศุลกากร ตัวอย่างเช่น
@ พระพุทธรูป ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ (กรมศิลปกร http:nsw.finearts.go.th)
@ อาวุธปืน กระสุนปืน วัตถุระเบิด และสิ่งเทียมอาวุธปืน (กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย www.dopa.go.th)
@ พืชและส่วนต่าง ๆ ของพืช (กรมวิชาการเกษตร www.doa.go.th)
@ สัตว์มีชีวิตและซากสัตว์ (กรมปศุสัตว์ www.dld.go.th)
@ อาหาร ยา เครื่องสำอางค์ และอาหารเสริม (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา www.fda.moph.go.th)
@ ชิ้นส่วนยานพาหนะ (กระทรวงอุตสาหกรรม www.industry.go.th)
@ บุหรี่ ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (กรมสรรพสามิต www.excise.go.th)
@ เครื่องมือวิทยุสื่อสาร อุปกรณ์โทรคมนาคม (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ www.nbtc.go.th)

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : September 13, 2022

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

ความต้องการขนส่งสินค้าที่ลดลง กดดันราคาค่าขนส่งทางเรือลดลงต่อเนื่อง

ดัชนีราคาค่าขนส่งตู้สินค้าจากท่าเรือเซี่ยงไฮ้ (SCFI) ซึ่งเป็นดัชนีสำคัญที่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไต้หวันใช้อ้างอิงในการคำนวณราคาค่าขนส่ง ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน 2565 ปรับลดจากสัปดาห์ก่อนหน้ามากถึงร้อยละ 9.72 มาอยู่ที่ระดับ 2,847.62 จุด และลดลงจากจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ซึ่งอยู่ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2565 มากถึงร้อยละ 44.27 ถือเป็นการปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 12 ติดต่อกัน โดยค่าขนส่งตู้ขนาด 40 ฟุตไปยังเส้นทางอเมริกาตะวันตกปรับลดมาอยู่ที่ระดับ 3,959 เหรียญสหรัฐฯ /ตู้ ลดลงร้อยละ 51.23 จากจุดสูงสุดเท่าที่เคยมีมาซึ่งอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ในขณะที่ค่าขนส่งไปยังเส้นทางอเมริกาตะวันออกก็มาอยู่ที่ 8,318 เหรียญสหรัฐฯ /ตู้ ลดจากจุดสูงสุดในเดือนกันยายน 2564 ร้อยละ 30.54

ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของไต้หวันชี้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาค่าขนส่งทางเรือลดลงต่อเนื่องเกิดจากปริมาณสินค้าที่จะขนส่งลดลง เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ความต้องการในการบริโภคในตลาดลดลง อันมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่ค่าใช้จ่ายภาคประชาชนในส่วนของสิ่งจำเป็น เช่น อาหารและพลังงาน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ความการของผู้บริโภคที่จะซื้อสินค้าที่ต้องใช้การขนส่ง เช่น เครื่องแต่งกาย เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลดลง จึงทำให้ความต้องการในการขนส่งสินค้าลดลงตามไปด้วย ในขณะที่ปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ต้องจำกัดการใช้ไฟฟ้าและมีการสั่งปิดโรงงานเป็นเวลา 11 วัน ตั้งแต่วันที่ 15-25 สิงหาคม 2565 ในมณฑลเสฉวนซึ่งถือเป็นฮับการผลิตที่สำคัญของอุตาสหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปจนถึงมาตรการล็อคดาวน์ของจีน ทำให้กำลังการผลิตลดลง ซึ่งเดิมที่ส่วนใหญ่คาดการณ์กันว่า จีนจะผ่อนคลายความเข้มงวดในการควบคุมพรมแดนและหลังหมดช่วงล็อคดาวน์จะเกิดกระแสการบริโภคขนาดใหญ่ในปีนี้ แต่เหตุการณ์กลับมิได้เป็นไปดังคาด เพราะจีนยังคงใช้นโยบาย Zero COVID ส่งผลกระทบต่อการผลิตและทำให้ความต้องการในการขนส่งสินค้าลดลงตามไปด้วย

ราคาค่าขนส่งทางเรือที่ลดลง ทำให้กลุ่มพันธมิตรด้านการขนส่งทางทะเลขนาดใหญ่ต่างก็ทยอยปรับลดจำนวนเที่ยวเรือ เพื่อลดอุปทานในตลาดและพยุงราคาค่าขนส่ง ซึ่งกลุ่ม THE Alliance ที่ประกอบด้วย Yang Ming ของไต้หวัน Hapag-Lloyd, Ocean Network Express (ONE) และ HMM ได้ประกาศลดจำนวนเที่ยวเรือลงร้อยละ 18 ในช่วงเดือนกันยายนนี้ ในขณะที่กลุ่ม 2M Alliance (Maersk Line, MSC และ SMLine) ก็ประกาศลดจำนวนเที่ยวเรือลงร้อยละ 10 เช่นกัน โดยผู้ประกอบการเดินเรือส่วนใหญ่ต่างก็เตรียมปรับลดจำนวนเที่ยวเรือในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ด้วย

ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
ไต้หวันถือเป็นผู้ส่งออกและเป็นห่วงโซ่สำคัญในระบบ Supply Chain ของอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก ทำให้การค้าต่างประเทศและธุรกิจขนส่งของไต้หวันซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางสายหลักของการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ จึงเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับภาวะเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ โครงสร้างทางอุตสาหกรรมของไต้หวันที่เป็นตัวกลางสำคัญในด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน บรรยากาศทางการค้าที่ตึงเครียดระหว่างสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกนี้ จึงส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจไต้หวัน โดยมูลค่าคำสั่งซื้อจากต่างประเทศของไต้หวันในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็มีการหดตัวลงร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ลดลงร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ถือเป็นการหดตัวครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน หลังจากที่ตลอดปี 2564 ที่ผ่านมาจนถึงไตรมาสแรกของปีนี้ ต่างก็มีการขยายตัวในระดับที่เป็นตัวเลข 2 หลักมาโดยตลอดนอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์กันว่าคำสั่งซื้อในเดือนสิงหาคมก็มีแนวโน้มหดตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาค่าขนส่งทางเรือมีแนวโน้มลดลงต่อไปอีก

ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/792892/792892.pdf&title=792892&cate=413&d=0

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.