CEO ARTICLE
ภาษีพรีอุส
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรตัดสินให้โตโยต้าแพ้คดี ‘ภาษีพรีอุส’ ต้องจ่ายกว่า 11,600 ล้านบาท คดีมีความเป็นมาอย่างไร และผู้นำเข้าทั่วไปจะได้ข้อคิดอะไร ?
‘พรีอุส’ เป็นภาษาละตินหมายถึง “ผู้ที่ไปถึงก่อนใคร” (www.prachachart.net 21.09.65)
โตโยต้านำพรีอุสเป็นชื่อรถยนต์ Hybrid รุ่นแรก ๆ ที่ใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ช่วยขับเคลื่อน ประหยัดน้ำมัน คนไทยจึงเริ่มรู้จักรถยนต์ Hybrid และกลายเป็นความนิยมรถไฟฟ้าในปัจจุบัน
ตอนแรก พรีอุสทั่วโลกผลิตจาก 2 แหล่งคือญี่ปุ่นและสหรัฐ นำเข้าไทยโดยผู้นำเข้าอิสระ ราคาจำหน่าย 2 ล้านกว่าบาท กระทั่งปี 2552 โตโยต้าจึงนำเข้ามาจำหน่าย และปี 2553 ก็นำชิ้นส่วนเข้ามาประกอบ ทำให้ไทยเป็นแหล่งผลิตที่ 3 ของโลก และราคาจำหน่ายเหลือล้านบาทต้น ๆ
การนำเข้ารถยนต์ครบชุดสมบูรณ์มี 2 วิธีคือ (1) นำเข้าสำเร็จรูปทั้งคัน เรียกว่ารถ CBU (Complete Built In Unit) และ (2) นำเข้าเป็นชิ้นส่วนทั้งคันเรียกว่ารถ CKD (Complete Knock Down) เพื่อประกอบในไทย
ประกอบนอกและประกอบในต่างกัน แต่เป็นรถยนต์ครบชุดสมบูรณ์เหมือนกันจึงถูกจัดในพิกัดเดียวกันคือ 8703.23.51 อากรขาเข้า 80% เท่ากัน (ปัจจุบันพิกัดคือ 8703.60.19) เมื่อบวกภาษีสรรพสามิต ภาษีมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่มเหมือนกัน พรีอุสมีกระบอกสูบไม่เกิน 2,000 CC เมื่อรวมภาษีอากรทุกประเภทที่ต้องชำระแล้วจะได้ 243% (ประมาณ)
ภาษีอากรรวม 243% สูงมาก ยิ่งมาคำนวณกับค่าแรงประกอบรถยนต์ในต่างประเทศที่สูงก็ยิ่งทำให้ต้นทุนรถยนต์สูงขึ้น การนำชิ้นส่วนเข้ามาประกอบแบบ CKD จึงทำให้ราคาต่ำลง
แต่หากนำชิ้นส่วนไม่สมบูรณ์เข้ามาก็จะมีพิกัดแยกแต่ละชิ้นส่วน มีอัตราอากรต่ำกว่ามาก ไม่มีภาษีสรรพสามิตและภาษีมหาดไทยขณะนำเข้าแต่ต้องชำระขณะจำหน่าย และขณะนำเข้าก็ยังขอใช้สิทธิข้อตกลงการค้าเสรี JTEPA (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement) ที่ทำให้อัตราอากรลดลงได้อีกซึ่งตามข่าวแจ้งว่าเหลือ 30%
โตโยต้าคงตรวจสอบ และพิจารณาดีแล้วจึงเริ่มทดลองนำชิ้นส่วนเข้ามาประกอบในไทย สำแดงพิกัดแยกแต่ละชิ้นส่วนที่ไม่ใช่ 8703.23.51 ใช้สิทธิลดหย่อนอากร JTEPA
เมื่อผ่านพิธีการศุลกากรและการตรวจปล่อยได้สำเร็จ การนำชิ้นส่วนเข้ามาประกอบก็มากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง 2555 ตามข่าวรวมได้ 245 ใบขนสินค้า และประกอบรถยนต์ได้ถึง 18,000 คัน
ราวปี 2558 สำนักงานศุลกากรแหลมฉบังเริ่มตรวจสอบย้อนหลังในระบบ Post Audit และพบว่ารถยนต์ 1 คันต้องใช้ชิ้นส่วนราว 1,300 รายการโดยพรีอุสนำเข้าเกือบทั้งหมด มีการใช้ชิ้นส่วนที่ไม่สำคัญภายในประเทศราว 30 รายการ เช่น เทป กาว สกรู เป็นต้น (ข่าวฐานเศรษฐกิจ)
ข้อมูลนี้ทำให้เชื่อว่าเมื่อรวมชิ้นส่วนที่แยกแต่ละรายการจะเป็นส่วนสาระสำคัญ และน่าจะอยู่ในข่ายครบชุดสมบูรณ์ที่ต้องสำแดงในพิกัด 8703.23.51 ด้วยภาษีอากรรวม 243%
กรมศุลกากรจึงร่วมมือกับกรมสรรพกรยื่นฟ้องศาลภาษีอากร และในปี 2560 ศาลชั้นต้นตัดสินให้โตโยต้าชนะ ท่ามกลางข่าวลือที่ไปผลุดในสหรัฐเกี่ยวกับการจ่ายสินบนของโตโยต้าที่มีต่อข้าราชการและระบบยุติธรรมของไทยจนมีการแจ้งความเพื่อพิสูจน์ความจริง และคดียังไม่มีข้อยุติ
ศาลชั้นต้น โตโยต้าชนะ มีการอุทธรณ์โดยที่ประชุมใหญ่ของศาลอุทธรณ์ และมีคำตัดสินให้ยึด ‘หลักเกณฑ์การตีความตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 1 ข้อ 2 (ก)’ ให้โตโยต้าแพ้จนเกิดการฎีกา และในวันที่ 15 ก.ย. 65 ศาลฎีกาก็มีคำตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์ให้โตโยต้าแพ้คดี ให้จ่ายภาษีที่ขาด เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มเป็นเงินรวม 11,639,786,094.84 บาท
โตโยต้าเป็นกิจการใหญ่ระดับโลก มีคนรู้มาก สนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรก็มาก คงทำด้วยความสุจริต ไม่มีเจตนาหลบเลี่ยง คงตรวจสอบ และสอบถามก่อนนำเข้าชิ้นส่วนครั้งแรกแล้ว
ประเด็นที่น่าคิดจึงเกิดขึ้น ทำไมโตโยต้าไม่นำหลักฐานที่ตรวจสอบก่อนนำเข้าครั้งแรกมายื่นต่อศาลเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจ ?
แม้จะผิด แต่เป็นความผิดที่มีการตรวจสอบ และควรเป็นเหตุบรรเทาโทษได้ แต่เมื่อไม่นำหลักฐานมายืนยันก็พออนุมานได้ว่า การตรวจสอบน่าจะทำโดยวาจากับเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่สนิทกัน วิธีการนี้เป็นสิ่งที่ผู้นำเข้าทั่วไปและตัวแทนออกของ (Customs Broker) นิยมทำกัน
ยิ่งสนิทกันมาก การสอบถามโดยจาวาเป็นการส่วนตัวก็ยิ่งทำได้ง่ายมาก
นี่คือการอนุมาน อาจไม่ใช่ความจริง แต่ก็เป็นข้อควรระวังต่อผู้นำเข้าทั่วไป การสอบถามโดยวาจาสามารถทำได้ทุกเรื่อง แต่หากต้องการหลักฐานในชั้นศาลเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจก็ควรถามโดยหนังสือ และควรได้คำตอบกลับมาโดยหนังสือเช่นกัน
อีกประการหนึ่ง การนำชิ้นส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือรถยนต์ เช่น กรณีพรีอุส ปัจจุบันยังมีผู้นำเข้าที่มีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีอากรทำอยู่ และไม่สำแดงในพิกัดครบชุดสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์ใน พรก. ภาค 1 ข้อ 2 (ก) ที่อ้างอิงในคำพิพากษาคดีภาษีพรีอุสข้างต้น
ผู้มีเจตนาหลบเลี่ยงจะแยกนำเข้าชิ้นส่วนต่าง ๆ ภายใต้ชื่อหลายบุคคล ไม่ให้เชื่อมโยงกัน และเมื่อนำเข้าสำเร็จในอัตราอากรต่ำก็จะนำมาประกอบเป็นรถยนต์ เช่น รถจดประกอบ เป็นต้น
การนำเข้าภายใต้ชื่อหลายบุคคลสร้างความซับซ้อน แต่ ‘กรรมก็เป็นตัวชี้เจตนา’ เมื่อมีข้อสงสัยก็ไม่ยากต่อการตรวจสอบ และนำไปสู่การดำเนินคดีตามข่าวที่ปรากฎเรื่อยมา
มันเป็นเรื่องปกติที่กฎหมายทุกฉบับจะมีช่องว่าง และผู้รักษากฎหมายพยายามลดช่องว่าง
ผู้นำเข้าที่ต้องการอาศัยช่องว่างจึงควรตรวจสอบให้ดีก่อน หากมีความบริสุทธิ์ใจก็ควรทำหนังสือสอบถาม และควรได้รับคำตอบอย่างเป็นทางการก่อนดำเนินการทุกครั้ง
วิธีการตรวจสอบก็เพียงมอบตัวแทนออกของ (Authorized Customs Broker) ให้ร่างเป็นหนังสือตามแบบฟอร์มของกรมศุลกากร ยื่น และติดตามผลเพื่อลดความผิดพลาดที่ไม่ควรเกิดอย่างกรณีภาษีพรีอุสในครั้งนี้.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
SNP Group
ปล. 1 พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 1 หลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ข้อ 2 (ก)
ประเภทที่ระบุถึงของใด ให้หมายรวมถึงของนั้นที่ยังไม่ครบสมบูรณ์หรือยังไม่สำเร็จหากว่าในขณะนำเข้ามีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของของที่ครบสมบูรณ์หรือสำเร็จแล้วและให้หมายรวมถึงของที่สมบูรณ์หรือสำเร็จแล้ว (หรือที่จำแนกเข้าประเภทของที่ครบสมบูรณ์หรือสำเร็จแล้วตามนัยแห่งหลักเกณฑ์นี้) ที่นำเข้ามาโดยถอดแยกออกจากกันหรือยังไม่ได้ประกอบเข้าด้วยกัน
ของตามวรรคแรก จะนำเข้ามาต่างวาระกันก็ได้ โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด
ปล. 2 เงินที่โตโยต้าต้องชำระตามคำพิพากษารวม 11,639,786,094.84 บาท แบ่งเป็นอากรขาเข้า 7,580,608,221.39 บาท ภาษีสรรพสามิต 2,029,576,752.79 บาท ภาษีเพื่อมหาดไทย 202,957,592.56 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,826,643,528.10 บาท
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : September 27, 2022
Logistics
เมืองหลวงคาซัคฯ กลับใช้ชื่อ“อัสตานา”
“Astana” เมืองหลวงของคาซัคสถานในแถบเอเชียกลางได้เปลี่ยนชื่อเป็น “Nur-sultan” เมื่อปี พ.ศ.2562 เพื่อเป็นเกียรติแก่อดีตประธานาธิบดี Nursultan Nazarbayev ที่ลาออกจากตำแหน่ง
Ruslan Zheliban โฆษกของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน Kassym-Jomart Tokayev แถลงว่าผู้นำประเทศได้ตกลงที่จะฟื้นฟูชื่อเดิมของเมืองหลวงของประเทศ หลังจากการริเริ่มโดยกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่ตัวเขาเองเป็นผู้เปลี่ยนชื่อเมืองหลวงใหม่ได้เพียงสามปี
หนึ่งในการเคลื่อนไหวครั้งแรกของประธานาธิบดี Tokayev เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2562 หลังจากประธานาธิบดี Nursultan Nazarbayev ก้าวลงจากตำแหน่งคือ การเรียกร้องให้ “Astana” เมืองหลวงของคาซัคสถานได้รับการขนานนามว่า “NurSultan” แทน
อดีตประธานาธิบดี Nazarbayev ซึ่งเป็นผู้นำประเทศอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาสามทศวรรษตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียตและหลังจากได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2534
ต่อมาได้ย้ายเมืองหลวงจากเมือง Almaty ไปยัง Astana เมื่อปี พ.ศ. 2540 ซึ่งการย้ายดังกล่าวถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวางเนื่องจากลักษณะความโดดเดี่ยวของเมืองในที่ราบทางตอนเหนือและฤดูหนาวที่หนาวเย็นอย่างรุนแรง
ซึ่งอุณหภูมิลดลงต่ำสุดที่ -51C (-60F)
Nazarbayev ทำให้เมืองนี้เป็นสถานที่จัดแสดงสถาปัตยกรรมที่ฉูดฉาด รวมถึงหอสังเกตการณ์ที่ผู้เยี่ยมชมสามารถวางมือลงบนแท่นภาพพิมพ์รอยมือของ Nazarbayev
หลังจากที่เขาก้าวลงจากตำแหน่งแล้ว Nazarbayev ยังคงมีอิทธิพลเป็นอย่างมากในฐานะหัวหน้าพรรครัฐบาลและสภาความมั่นคงของเทศมณฑล แต่ Tokayev ประธานาธิบดีคนใหม่ได้ถอดเขาออกจากตำแหน่งเหล่านั้น
หลังจากเหตุการณ์นองเลือดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาซึ่งเกิดขึ้นจากการประท้วงอย่างสันติ เกี่ยวกับราคาน้ำมันรถยนต์ที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 230 ราย ก่อนที่กองกำลังองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (CSTO)
ที่มีรัสเซียเป็นผู้นำเข้าจะมาช่วยควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่พอใจกับอำนาจของอดีตประธานาธิบดียังคงอยู่
ในเดือนมิถุนายน ชาวคาซัคโหวตสนับสนุนอย่างท่วมท้นสำหรับการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญในการลงประชามติ
หลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบ และเป็นการยุติการยึดครองประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชียกลางของ Nazarbayev มาเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ
ที่มา: Kazakhstan to change name of capital from Nursultan back to Astana, theguardian.com
จนบัดนี้แม้หลายท่านก็ยังคงไม่คุ้นกับชื่อ “NurSultan” เมืองหลวงใหม่ของคาซัคสถานที่เพิ่งเปลี่ยนใหม่มาได้สามปี เพื่อป้องกันความสับสนในการติดต่อทำ
การค้าในแถบเอเชียกลางจึงขอแจ้งว่าปัจจุบันนี้คาซัคสถานได้เปลี่ยนกลับไปใช้ชื่อเมืองหลวงเดิมว่า “Astana” แล้วอีกครั้งหนึ่ง
ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/793899/793899.pdf&title=793899&cate=413&d=0
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!