CEO ARTICLE
ภาษีกับอากร
ภาษีมาจากคำภาษาอังกฤษว่า ‘Tax’ อากรมาจากคำว่า ‘Duty’ ทั้ง 2 คำมีทั้งความเหมือนกันและความต่างกันในตัว แต่จะอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ได้อย่างไร ???
‘ภาษี’ กับ ‘อากร’ มีความเหมือนกันตรงที่เป็นรายจ่ายที่ประชาชนต้องจ่ายเหมือนกัน เป็นรายได้ของรัฐเหมือนกัน และรัฐใช้เป็นสื่อกลางของระบบ ‘ความเท่าเทียม’ เหมือนกัน
ระบบความเท่าเทียมคืออะไร และประชาชนได้ประโยชน์อะไร ??
ความเท่าเทียมเกิดจากมนุษย์มีความสามารถไม่เท่ากัน การช่วงชิงทรัพยากรส่วนตัว การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรส่วนรวม ทรัพยากรธรรมชาติ และการบริการของรัฐจึงไม่เท่ากัน
คนมีความสามารถมากก็ได้มาก คนมีความสามารถน้อยก็ได้น้อย คนไร้ความสามารถก็อาจไม่ได้อะไรเลย เกิดความไม่ยุติธรรมและความไม่เท่าเทียมในสังคม
ระบบความเท่าเทียมจึงเข้ามาสร้างความยุติธรรม ผู้ใดมีความสามารถมากกว่า ทำงานได้มากกว่า มีรายได้มากกว่า บริโภคได้มากกว่า ช่วงชิงทรัพยากรต่าง ๆ ได้มากกว่า ผู้นั้นต้องจ่ายเงินให้รัฐมากกว่า ส่วนคนมีความสามารถน้อยก็จ่ายน้อย
รัฐจะนำเงินนี้ไปช่วยเหลือคนด้อยโอกาส คนจน คนมีความสามารถน้อย สร้างไฟฟ้า ถนน ดูแลทรัพยากร จ้างข้าราชการ และอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศ และเรียกเงินที่จ่ายเพื่อความเท่าเทียมนี้ว่า ภาษี อากร และชื่ออื่นตามแต่ลักษณะกิจกรรม แต่ก็มีความหมายคล้ายกัน
‘อากร’ เป็นคำที่ใช้ก่อน ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีหลายชื่อ เรียกรวมกันว่า ‘ส่วยสาอากร’ (ดูท้ายบทความ) สุดท้ายเหลือเพียงคำว่า ‘อากร’ เพื่อใช้กับการประกอบอาชีพต่าง ๆ
‘ภาษี’ เป็นคำที่เกิดขึ้นภายหลัง น่าจะเริ่มใช้ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ชาวตะวันตกเข้ามาทำการค้า มีอิทธิพล และนำคำว่า ‘Tax’ มาใช้จนเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
ทั้ง 2 คำมีความหมายต่างกัน แต่สืบค้นได้ยาก (รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ http://econ.tu.ac.th)
แม้จะสืบค้นยาก เข้าใจยาก มีการอธิบายไว้หลายแห่ง แต่ก็พออนุมาน (ผู้เขียน) ได้ดังนี้
‘ภาษี’ เป็นเรื่องของ ‘บุคคล’ (Person) ที่เป็นผู้กระทำและได้ประโยชน์เฉพาะตนในวงแคบถือเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง ‘บุคคล’ เฉพาะตัวกับ ‘รัฐ’ (State) คนอื่นไม่เกี่ยว
ตัวอย่างเช่น บุคคลเป็นผู้ทำงาน ทำการผลิต ครอบครองที่ดิน ปลูกบ้านบนที่ดิน ทำการค้า ติดป้ายหน้าร้าน ทำการซื้อ ทำการขาย ทำกำไร หรือทำการบริโภค เป็นต้น บุคคลใดเป็นผู้กระทำและได้ประโยชน์ บุคคลนั้นต้องเสียภาษี
บุคคลใดกระทำมาก ได้ประโยชน์จากทรัพยากรมาก บุคคลนั้นต้องเสียภาษีมาก เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจจำเพาะ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีมหาดไทย เป็นต้น
‘อากร’ เป็นเรื่องของ ‘กิจกรรม’ (Activity) หรืออาชีพ (Occupation) ที่ถูกกระทำ
แม้บุคคลจะเป็นผู้กระทำ เป็นผู้ได้ประโยชน์ และเป็นผู้เสีย ‘ภาษี’ แต่ผลที่เกิดจากกิจกรรมหรืออาชีพกระทบต่อบุคคลอื่นและสังคมในวงกว้าง ไม่ใช่เพียงเฉพาะตน กิจกรรมหรืออาชีพจึงต้องเสียเงินเพื่อความเท่าเทียมที่กระทบต่อวงกว้างอีกต่างหาก และให้เรียกเงินนี้ว่า ‘อากร’
อากรจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมหรืออาชีพกับ ‘รัฐ’ (State) เช่น การกลั่นสุราก็มีอากรสุรา การหารังนกอีแอ่นก็มีอากรรังนกอีแอ่น การจัดมหรสพก็มีอากรมหรสพ เป็นต้น
การนำเข้าส่งผลกระทบต่อการผลิตและเศรษฐกิจภายในประเทศจึงมี ‘อากรขาเข้า’
แต่การส่งออกส่งผลดีต่อการผลิต การจ้างงาน ค่าเงิน และเศรษฐกิจจึงได้รับการส่งเสริม มีอัตราอากรขาออกร้อยละ 0 ยกเว้นสินค้าบางประเภทที่ต้องการสงวนไว้บริโภคภายในประเทศ
แต่เนื่องจากกิจกรรมหรืออาชีพที่เป็นฝ่ายถูกกระทำไม่มีชีวิตและไม่มีเงิน บุคคล (Person) ที่เป็นเจ้าของกิจกรรมหรืออาชีพจึงต้องเป็นผู้จ่าย ‘อากร’ แทน
เมื่อนำมาจ่ายพร้อมกับ ‘ภาษี’ จึงเป็น ‘ภาษีอากร’ และเมื่อเวลาผ่านไป คำที่มีความหมายคล้ายกัน และทุกคนก็เข้าใจคล้ายกันจึงถูกเรียกสั้น ๆ ว่า ‘ภาษี’
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
SNP Group
ปล. ‘ส่วยสาอากร’ ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีหลายชื่อ เช่น ส่วย อากร จังกอบ และฤชา
‘ส่วย’ หมายถึง ‘เงิน’ และ ‘สิ่งของ’ ที่ไพร่หลวงจ่ายให้รัฐทดแทนการถูกเกณฑ์มาทำงานโดยรัฐจะเป็นผู้กำหนดว่า ท้องถิ่นใดจะส่ง ‘ส่วย’ ประเภทใด เช่น ส่วยดีบุก ส่วนรังนก ส่วยไม้ ส่วยนอแรด ส่วนมูลค้างคาว เป็นต้น
‘อากร’ หมายถึง เงินและสิ่งของที่เก็บจากผลประโยชน์ที่ราษฎรประกอบอาชีพได้ เช่น การทำนา รัฐก็จะเก็บ ‘หางข้าว’ ไว้เพื่อเป็นเสบียงให้แก่กองทัพ การทำสวน การเก็บของป่า การจับปลาในน้ำ การต้มกลั่นสุราก็เก็บค่าอากรของแต่ละประเภท เป็นต้น
‘จังกอบ’ หมายถึง ค่าผ่านด่านของพาหนะที่บรรทุกสินค้า เช่น เรือสินค้าจะเก็บตามความกว้างของปากเรือตามอัตราที่กำหนดจึงเรียกว่า ‘ภาษีปากเรือ’ ส่วนพ่อค้าแม่ค้าในท้องถิ่นมักเก็บในอัตราสิบชักหนึ่ง หรือร้อยละ 10 เป็นต้น
‘ฤชา’ หมายถึง ค่าธรรมเนียมที่ทางราชการเรียกเก็บจากราษฎรซึ่งได้รับประโยชน์จากรัฐเป็นการเฉพาะตัว เช่น การขอออกโฉนดตราสาร ค่าธรรมเนียม ค่าปรับทางศาล เป็นต้น
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : November 8, 2022
Logistics
กระทรวงคมนาคมจีนประกาศรายชื่อเมืองศูนย์การขนส่งสินค้าที่ครบวงจรแห่งชาติ 15 แห่ง
กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังของจีนประกาศรายชื่อเมืองที่ได้รับเลือกเป็น “ศูนย์การขนส่งสินค้าที่ครบวงจรแห่งชาติ” จำนวน 15 แห่ง เพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าของประเทศ โดยเมืองเซี่ยเหมินได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 15 เมืองศูนย์การขนส่งสินค้าที่ครบวงจรแห่งชาติประจำปี 2565 รวมกับเมืองอื่น ๆ ได้แก่ นครเทียนจิน นครฉือเจียจวง นครจี่หนาน เมืองหนิงโป เมืองหลินยี่ เมืองจินหัว นครฝูโจว เมืองเฉวียนโจว นครกว่างโจว นครเจิ้งโจว นครหวู่ฮั่น นครฉงชิ่ง นครเฉิงตู และนครคุนหมิง โดยกระทรวงการคลังจีนจะสนับสนุนเงินอุดหนุนให้กับเมืองที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเวลา 3 ปี อาทิ การให้เงินอุดหนุนสำหรับการจ่ายค่าภาษีการซื้อรถยนต์ ไม่เกิน 1.5 พันล้านหยวน
ทั้งนี้ เมืองเซี่ยเหมินมุ่งยกระดับระบบการขนส่งในเมืองให้มีความเป็นอัจฉริยะ ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ การใช้รถยนต์ไร้คนขับ โดรน การบริหารจัดการคลังสินค้าด้วยระบบดิจิทัล การดำเนินงานภาครัฐแบบไร้กระดาษ (paperless) และส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ และพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ที่ท่าเรือ ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ และสถานีขนส่งของเมือง โดยที่ผ่านมา เมืองเซี่ยเหมินให้ความสำคัญกับการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่ครบวงจร เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ โดยมีการออกนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ทั้งการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนด้านการเงิน การพัฒนาการขนส่งแบบผสมผสานท่าเรือและรถไฟเพื่อขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ และการเพิ่มปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่าเรือเซี่ยเหมินให้สูงกว่าร้อยละ 3 ต่อปี เป็นต้น
ปัจจุบัน การเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์เป็นตัวแปรสำคัญของการส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน โดยเมืองเซี่ยเหมินมุ่งใช้ประโยชน์จากการมีที่ตั้งเป็นเมืองชายฝั่งมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จนกลายเป็น 1 ใน 4 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมหลักของเมือง สร้างรายได้สูงกว่า 1.5 แสนล้านหยวน และมีผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์กว่า 9,000 ราย สะท้อนถึงศักยภาพของระบบโลจิสติกส์ของเมืองเซี่ยเหมินในการเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับกระจายสินค้าจากไทยสู่ตลาดจีนในอนาคต และไทยสามารถติดตามทิศทางการพัฒนาระบบการขนส่งของจีนเพื่อกำหนดทิศทางการเชื่อมโยงและพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของไทยต่อไปได้
ที่มา : https://thaibizchina.com
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!