CEO ARTICLE
ภาษีสินค้าขาเข้า
ผู้นำเข้า และตัวแทนออกของ (Customs Broker) ส่วนหนึ่งไม่รู้ว่า ภาษีสินค้าขาเข้ามีอะไรบ้าง บางครั้งรู้ตอนสินค้าเข้ามาแล้ว ต้นทุนเพิ่ม บางครั้งรู้ภายหลัง มีความผิด และมีค่าปรับ
ภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับสินค้าขาเข้ามีอะไรบ้าง ???
ภาษีและอากรมีความหมายต่างกัน (http://www.snp.co.th/e-journal บทความที่ 748)
สินค้านำเข้ามีหลายประเภท แบ่งเป็นหมวดได้ 21 หมวด หากแบ่งเป็นตอนได้ถึง 97 ตอน ภาษีและอากรที่เกี่ยวข้องกับสินค้าขาเข้าจึงมีมาก และมีหลายเจตนารมณ์
(1) อากรขาเข้า (Import Duty) ภายใต้กรมศุลกากร
สินค้าขาเข้าส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน กระบวนการผลิต และเศรษฐกิจภายในประเทศในวงกว้างมากจึงต้องมีอากรขาเข้า เจตนารมณ์ก็เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ จำกัดการบริโภคของประชาชน และอื่น ๆ อีกมาก
สินค้าขาเข้าอาจไม่ต้องจ่ายอากรขาเข้าได้หากมีกฎหมายกำหนด หรือมีคำสั่งจากหน่วยราชการที่มีศักดิ์ฐานะสูงกว่ากรมศุลกากร เช่น ข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA สำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือ B.O.I. กระทรวงต่าง ๆ ที่ต้องการนำของเข้ามาและมีคำสั่งให้ยกเว้น เป็นต้น
(2) อากรทุ่มตลาด (Import Duty for Anti Dumping) ภายใต้กรมการค้าต่างประเทศ
‘การทุ่มตลาด’ เป็นการนำเข้าสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าปกติมาก ถูกตีความว่ามีเจตนากำจัดคู่แข่งภายในประเทศที่ผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน จึงถูกตอบโต้ด้วยมาตรการภาษี
กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศ (http://www.dft.go.th) จะมีประกาศตลอดเวลา เช่น สินค้าอะไร ซื้อจากประเทศใด ซื้อจากผู้ขายใด มีอากรทุ่มตลาดในอัตราเท่าใด ในระยะเวลานานแค่ไหน เป็นต้น
การซื้อสินค้าแปลกใหม่ หรือสินค้าราคาต่ำกว่าปกติมากจึงควรตรวจสอบก่อนการสั่งซื้อ
(3) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) กำกับโดยกรมสรรพากร
การนำเข้าถือเป็นการบริโภคภายในประเทศ ผู้นำเข้าจึงต้องจ่าย ‘ภาษีมูลค่าเพิ่ม’ ขณะนำเข้า หากสินค้านำเข้าเป็นสินค้าทุน ผู้นำเข้าก็สามารถขอคืนได้ในระบบ
ภาษีมูลค่าเพิ่มอาจยกเว้นได้หากมีคำสั่งให้ยกเว้นเช่นเดียวกับอากรขาเข้า
(4) ภาษีสรรพสามิต (Excise Tax) ภายใต้กรมสรรพสามิต
ภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้าที่ได้ผลประโยชน์เป็นพิเศษจากรัฐ สินค้าฟุ่มเฟือย กระทบต่อศีลธรรมอันดีงาม ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และส่งผลกระทบสังคม ‘ในวงกว้าง’
ตัวอย่างเช่น น้ำมัน เครื่องดื่ม เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ แก้วเลดคริสตัล แก้วคริสตัลอื่น ๆ เรือยอชต์ ยานพาหนะทางน้ำที่ใช้เพื่อความสำราญ น้ำหอม หัวน้ำหอม พรม หินอ่อน หินแกรนิต แบตเตอรี่ สุรา ยาสูบ และไพ่ เป็นต้น
(5) ภาษีเพื่อมหาดไทย (Local Government Tax) ภายใต้กรมการปกครองท้องถิ่น
‘ภาษีเพื่อมหาดไทย’ มีเจตนารมณ์เหมือนกับ ‘ภาษีสรรพสามิต’ ส่วนที่ต่างกันคือ ภาษีเพื่อมหาดไทยเป็นภาษีเพื่อการชดเชยเฉพาะท้องถิ่น ‘ในวงแคบ’ บางครั้งจึงเรียกภาษีเพื่อท้องถิ่น ส่วนภาษีสรรพสามิตเป็นการชดเชยสังคม ‘ในวงกว้าง’ ทั่วประเทศ
ดังนั้น ภาษีสินค้าใดต้องจ่ายภาษีสรรพมิต สินค้านั้นก็ต้องจ่ายภาษีเพื่อมหาดไทยในอัตราร้อย 10 ของภาษีสรรพสามิตไปพร้อมกัน
ภาษีและอากร 5 ประเภทข้างต้น หากผู้นำเข้าไม่ใส่ใจก็อาจพลาดเมื่อไรก็ได้
ปัจจุบันเศรษฐกิจทั่วโลกผันผวนหนัก เศรษฐกิจภายในประเทศก็ได้รับผลกระทบมาก และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อจนอาจเกิดการกีดกันทางการค้า มาตรการทางภาษีที่ไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้น อาจให้คุณ และอาจให้โทษต่อผู้นำเข้าและผู้ส่งออกของไทย
หากเกิดในต่างประเทศก็กระทบต่อต้นทุนสินค้านำเข้าทั้งเพิ่มและลด และกระทบสินค้าส่งออกที่อาจทำให้ผู้ส่งออกขายสินค้าได้มากขึ้นหรือน้อยลง
การติดตามข่าวสารข้อมูล การตรวจสอบก่อนนำเข้าสินค้าแปลกใหม่ สินค้ามีราคาต่ำกว่าปกติมาก หรือตรวจสอบก่อนนำเข้าทุกครั้งจะเป็นการป้องกันความเสียหายที่ดี
ผู้นำเข้าอาจตรวจสอบกับตัวแทนออกของที่มีความรู้ หรือที่ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากร (Authorized Customs Broker) ก็เป็นทางเลือกทางหนึ่งได้
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : December 6, 2022
Logistics
การพัฒนาท่าเรือแห่งอุตสาหกรรมและการค้าแห่งใหม่ที่อำเภอจ้าวอัน เมืองจางโจว
ท่าเรือจ้าวอันเป็น เป็น 1 ใน 7 ท่าเรือหลักของเมืองจางโจว ซึ่งมีความสำคัญเชิงภูมิศาสตร์และยุทธศาสตร์การขนส่งทางทะเลของจางโจว โดยทิศตะวันออกใกล้กับเกาะไต้หวัน และทางทิศใต้ใกล้กับเกาะฮ่องกงและมาเก๊า ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ประตูทางใต้ของฝูเจี้ยน” นอกจากนั้น อำเภอจ้าวอันมีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล โดยปัจจุบัน อำเภอจ้าวอันอยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่โดยรอบท่าเรือจ้าวอันเป็นเขตอุตสาหกรรมและการค้าแห่งใหม่ของเมืองจางโจว โดยมีการดำเนินการสำคัญ ได้แก่
5.1 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือจ้าวอัน เพื่อรองรับการขยายกำลังการขนส่ง โดยส่งเสริมความร่วมมือกับบริษัท Fujian Port Group จำกัด รัฐวิสาหกิจผู้ดำเนินกิจการบริหารท่าเรือและ การขนส่งทางทะเลรายใหญ่ที่สุดของมณฑลฝูเจี้ยน เพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือขนาด 35,000 – 70,000 ตัน รวม 2 แห่งภายใต้แผนการพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 14 ของมณฑฝูเจี้ยน
5.2 สร้างระบบอุตสาหกรรมทางทะเลที่ทันสมัย โดยเร่งการพัฒนาโครงการก่อสร้างสำคัญ ได้แก่ (1) การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมท่าเรือที่มีมาตรฐานสูง เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ โลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นและคลังสินค้า และอุตสาหกรรมท่าเรือ (2) เร่งการก่อสร้างโครงการ “Two Countries, Twin Parks” ระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ (3) การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมชีวภาพทางทะเลจินตู รวมทั้งการบ่มเพาะวิสาหกิจที่มีเทคโนโลยีด้านชีวภาพทางทะเลชั้นนำ อาทิ บริษัท Runke Bioengineering จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพโดยใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพ เพื่อเร่งการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมทางทะเลที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ยาชีวการแพทย์ทางทะเล และอาหารเพื่อสุขภาพทางทะเล (4) การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ระดับชาติ อาทิ การส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุตสาหกรรม การผลิตหอยนางรมทั้งระบบ ตั้งแต่การเพาะพันธุ์ลูกหอยนางรม การเพาะเลี้ยง และการแปรรูปเปลือกหอยนางรม (5) โครงการก่อสร้างฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเล โดยเร่งการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจท่าเรือประมงที่ทันสมัยที่เขตเถียนชวาและเขตชี่ซือวาน 6) ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยวชายฝั่งของเกาะเฉิงโจวและคาบสมุทรเหม่ยหลิง เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมนันทนาการ
5.3 การรักษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและการพัฒนาทางทะเลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มความเข้มงวดในการจัดการน้ำเสียที่ไหลลงสู่ทะเล โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำของอ่าวจ้าวอัน และ ลุ่มน้ำต่าง ๆ โครงการบำบัดน้ำเสียในชนบทที่ครอบคลุมทุกชุมชน และการสร้างระบบการจัดการกับขยะทะเลที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือจ้าวอันอยู่ภายใต้แผนการพัฒนาท่าเรือมณฑลฝูเจี้ยน (ปี 2563 – 2578) เพื่อส่งเสริมการยกระดับท่าเรือในมณฑลฝูเจี้ยน โดยจากข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ จึงทำให้ท่าเรือจ้าวอันเป็นหนึ่งในท่าเรือสำคัญที่รองรับการขนส่งสินค้าจากเขต GBA เข้าสู่มณฑลฝูเจี้ยน และมีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล ท่าเรือจ้าวอันจึงเป็น 1 ในโครงการพัฒนาท่าเรือที่น่าจับตามองเพื่อเชื่อมโยงโอกาสการขยายการค้าและการขนส่งทางทะเลของไทย
ที่มา : https://thaibizchina.com
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!