CEO ARTICLE
อุปสรรค มอก.
มอก. และ สมอ. เป็นคำย่อที่ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และประชาชนทั่วไปเคยพบ 2 คำนี้คืออะไร สัมพันธ์กันอย่างไร มีส่วนส่งเสริมการค้า หรือเป็นอุปสรรคต่อการค้ามากน้อยเพียงใด ???
มอก. เป็นคําย่อ มาจากคำเต็มว่า “มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม” ภาษาอังกฤษเรียก TIS (Thailand Industrial Standard)
ในทางการค้า มอก. คือ แนวทางการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน ให้มีคุณภาพในระดับที่ได้รับการยอมรับ วัตถุดิบมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ มีวิธีการทดสอบ และเหมาะสมกับการใช้งานที่ผู้ผลิตทุกรายต้องปฏิบัติเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนผู้บริโภค
สมอ. มาจากคำเต็มว่า “สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม” ภาษาอังกฤษเรียก TISI (Thai Industrial Standards Institute) เป็นหน่วยงานราชการขึ้นอยู่กับกระทรวงอุตสาหกรรม มีหน้าที่กำหนดสินค้าใดต้องมี มอก. และกำหนดแนวทางการผลิตให้มีมาตรฐาน
ปัจจุบัน สินค้าที่ สมอ. (TISI) กำหนดให้มีมาตรฐาน มอก. (TIS) มีจำนวนมาก เช่น สินค้าประเภทอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น
สินค้าใดมีมาตรฐาน มอก. ผู้ผลิตก็จะมีแนวทางการผลิต จะรู้ขั้นตอนที่ชัดเจน ลดรายจ่าย ทำให้สินค้ามีคุณภาพได้ง่าย สม่ำเสมอ เพิ่มโอกาสทางการค้า และการขายในระดับต่าง ๆ
ประชาชนในฐานะผู้บริโภคก็มีโอกาสได้สินค้าที่มีคุณภาพ ราคายุติธรรม มีความปลอดภัย หากชำรุดก็หาอะไหล่ง่ายเพราะความมีมาตรฐานที่ทดแทนกันได้ และการตัดสินใจซื้อก็ง่ายขึ้นด้วยการมองหาเลข มอก. ที่ สมอ. กำหนดให้กับสินค้านั้น ประชาชนจึงได้ประโยชน์มหาศาล
ส่วนภาพรวมของประเทศก็ได้ประโยชน์ เช่น สร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ เป็นสื่อกลางมาตรฐานสินค้าระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ทำให้การใช้ทรัพยากรของประเทศได้ประโยชน์สูงสุด สร้างโอกาสแข่งขันให้ผู้ผลิตของไทย และป้องกันสินค้าคุณภาพต่ำมิให้นำเข้าจากต่างประเทศได้ง่าย ๆ
ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ แต่หากไม่รู้ ไม่ใฝ่รู้ ประโยชน์ก็ไม่ได้ และอุปสรรคก็มีแทนที่
ในทางทฤษฏี อุปสรรคที่มีต่อการค้าระหว่างประเทศมี 2 ประการคือ อุปสรรคที่เป็นภาษี (Tariff Barrier) และอุปสรรคที่ไม่เป็นภาษี (Non Tariff Barrier)
สมอ. และ มอก. ถือเป็นเรื่องเดียวกัน และเป็นหนึ่งในอุปสรรคทางการค้าที่ไม่เป็นภาษี
ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ทำการค้า และผู้ผลิตจึงควรเข้าเว็บไซต์ของ สมอ. บ่อย ๆ เพื่อป้องกันอุปสรรคดังกล่าว และเข้าทันทีได้ที่ https://www.tisi.go.th/website/standardlist/comp_thai/th
สินค้าที่ สมอ. ประกาศเร็ว ๆ นี้ให้ต้องมีเลขที่ มอก. เพื่อผลิต การนำเข้า และการจำหน่ายภายในประเทศ ได้แก่
1. เครื่องนวดร่างกายสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2566
2. เครื่องฟอกอากาศสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค. 2566
3. ภาชนะและเครื่องใช้โลหะเคลือบฟลูออโรพอลิเมอร์สำหรับอาหาร ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. 2566
ทั้ง 3 ตัวอย่างยังมีรายละเอียดอีกมากที่สามารถดูในเว็บไซต์ สมอ. ข้างต้นซึ่งแยกสินค้าเป็นหมวดให้ค้นหาง่าย ชัดเจน และยังไม่มีผลในวันนี้ แต่จะมีผลตามวันที่ที่กำหนด
ผู้ใดกำลังจะผลิต จะซื้อ จะขาย หรือกำลังจะนำเข้าสินค้าดังกล่าวจึงควรระวังอย่างมาก
หากสั่งไปแล้วก็ควรเร่งรัดให้สินค้าเทียบท่านำเข้าในประเทศไทยก่อนวันที่กำหนด มิฉะนั้นใบอนุญาตนำเข้าจาก สมอ. จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องนำมาประกอบพิธีการศุลกากรเพื่อนำเข้า
ยิ่งหากสินค้าใดต้องมีใบอนุญาตนำเข้าอื่น เช่น สินค้าทางการแพทย์ หรือสินค้าที่กำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าจาก อย. (องค์การอาหารและยา) ด้วยแล้ว อุปสรรคทางการค้าที่คิดว่ามีเพียง มอก. ก็จะคูณ 2 ขึ้นมาทันที
การทำให้ มอก. เป็นผู้ส่งเสริมการค้า ไม่เป็นอุปสรรคทางการค้าก็ไม่ยาก วิธีการที่ง่ายที่สุดคือ การมอบทีมงานให้เข้าเว็บไซต์ สมอ. ทุกเดือน เช่น กำหนดทุก ๆ วันที่ 1 ของเดือนเพื่อตรวจสินค้าใหม่ ๆ ที่จะมีการกำหนดเลขที่ มอก. และจะมีประกาศเรื่อย ๆ เป็นต้น
แต่หากไม่ใส่ใจ เอาแต่ผลิต เอาแต่ซื้อ ขาย หรือเอาแต่นำเข้าตามความต้องการของตลาดโดยไม่ตรวจสอบ ผู้ประกอบการนั่นล่ะที่จะพบกับอุปสรรคคูณ 2 หรือคูณ 3 ให้ปวดหัวมากยิ่งขึ้น
อุปสรรค มอก. และจากหน่วยงานอื่นจะเบาบางลงหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการเท่านั้น
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
อ้างอิง http://ait.nsru.ac.th/alumni_ait/News/infor_20160615161857.pdf
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : February 28, 2023
Logistics
ท่าเรือเซี่ยเหมินเปิดเส้นทางขนส่งสินค้าทางทะเล RCEP แห่งใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2565 เรือขนส่งสินค้า Marla Bull ซึ่งดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัท ZIM Integrated Shipping จำกัด (ZIM)[1] กับท่าเรือเซี่ยเหมิน ได้เริ่มเทียบท่าที่ท่าเรือเซี่ยเหมินเป็นครั้งแรก ซึ่งนับเป็นการเปิดเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเล RCEP เส้นทางใหม่ลำดับที่ 15 ของท่าเรือเซี่ยเหมิน นับตั้งแต่ข้อตกลง RCEP มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 โดยเส้นทางเดินเรือดังกล่าวเชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเส้นทางเดินเรือ CT3 ทั้งนี้ เรือ Marla Bull ออกเดินทางจากท่าเรือเซี่ยเหมิน และมีจุดหมายทางคือท่าเรือแหลม-ท่าเรือกรุงเทพฯ และท่าเรือเมืองไฮฟองของเวียดนาม
ทั้งนี้ การเปิดเส้นทางดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มการรองรับปริมาณสินค้าส่งออกจากจีนไปยังอาเซียน อาทิ ผัก ผลไม้ อาหารทะเลแช่แข็ง อุตสาหกรรมเบา อาทิ วัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ บริษัท ZIM ยังเป็นหุ้นส่วนสำคัญของท่าเรือเซี่ยเหมินในการเปิดเส้นทางขนส่งทางทะเลใหม่ ๆ เพื่อเชื่อมโยงท่าเรือเซี่ยเหมินกับท่าเรือต่างประเทศ อาทิ เกาหลีใต้
โอกาสของไทย ปัจจุบัน เมืองเซี่ยเหมินมุ่งใช้ประโยชน์จากการเป็นเมืองชายฝั่งมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยท่าเรือเซี่ยเหมินเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้คอนเทนเนอร์กว่า 14 ล้านตู้มาตรฐาน ภายในปี 2568 และเร่งการพัฒนาระบบบริหารจัดการท่าเรืออัจฉริยะแบบครบวงจร การเปิดเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเล RCEP ซึ่งเชื่อมโยงท่าเรือเซี่ยเหมิน-ท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือกรุงเทพฯ จะช่วยขยายโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในการกระจายสินค้าจากไทยสู่ตลาดจีนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP และการลงนามความร่วมมือท่าเรือพี่น้องระหว่างท่าเรือแหลมฉบังกับท่าเรือเมืองเซี่ยเหมินที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
ที่มา : https://thaibizchina.com
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!