CEO ARTICLE
เศรษฐกิจสายมู
“มู” คำสั้น ๆ คืออะไร และประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างไรจากเศรษฐกิจสายมู ?
“มู” ไม่ใช่คำในภาษาไทย แต่เป็นคำกล่าวในภาพยนต์แนวสยองขวัญของอินโดนีเซีย เป็นคำย่อของคำว่า “มูเตลู” ในเรื่อง “Penangkal IImu Teluh” ชื่อเรื่องในภาษาไทยว่า “ศึกไสยศาสตร์” ออกฉายครั้งแรกในปี 1979 (พ.ศ. 2522)
เนื้อหาของเรื่องเกี่ยวกับหญิงสาว 2 คนเปิดศึกแย่งชิงชายที่รัก มีการร่ายเวทย์มนต์คาถาที่มีคำว่า “มูเตลู มูเตลู” (อ้างถึง https://www.lg.com/th/blog-list)
จากนั้น คำว่า “มูเตลู” จึงค่อย ๆ ติดปากที่สื่อถึงความเชื่อ ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ การดูไพ่ เสริมดวง โชคชะตา บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อของศาสนาพุทธ พราหมณ์ การนับถือผี และสิ่งเร้นลับจนกลายเป็นความเชื่อที่ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจคน
ความเชื่อเป็นเรื่องส่วนบุคคล ห้ามกันไม่ได้ตราบเท่าที่ผู้เชื่อไม่ทำในสิ่งผิดกฎหมาย
หลายสิบปีที่ผ่านมา ความเชื่อที่กระจายออกไปในวงกว้างดึงดูดคนทั่วโลกให้ไปเยือน เกิดความศรัทธา มีการบูชา เกิดการบอกต่อ เกิดสิ่งก่อสร้าง การเดินทาง การซื้อ การขาย การจ้างงานจนเป็น Soft Power และกลายเป็นเศรษฐกิจชุมชน
เมื่อชุมชนทั่วโลกได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากความเชื่อจึงเรียกว่า “เศรษฐกิจสายมู”
พอใกล้ถึงการเลือกตั้งทั่วไปของปี 2566 พรรคชาติพัฒนากล้าก็นำเศรษฐกิจสายมูขึ้นมาเป็นนโยบายในการหาเสียงซึ่งพอสรุปได้ คือ
1. ทุกจังหวัดของประเทศไทยต้องมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงศรัทธา หากไม่มีต้องสร้างให้มี
2. สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต้องมีเรื่องเล่า มีสตอรี่ ต้องนำมาฟื้นฟู หากไม่มีก็ต้องสร้างให้มี
3. รัฐต้องส่งเสริมด้านความศรัทธา สร้างการบอกต่อ การตลาด และการประชาสัมพันธ์
4. รัฐต้องลงทุนด้านระบบสาธารณูปโภค การอนุรักษ์ดูแลธรรมชาติ และแหล่งดึงดูด
5. รัฐส่งเสริมความสะดวกด้านการเดินทาง ที่พัก อาหาร และความปลอดภัย
ประเทศไทยมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มากมายกระจายทั่วประเทศอยู่แล้ว นโยบายนี้จึงไม่ใช่เรื่องยาก เป็นเรื่องทำได้ ทำไม่ยาก และนักท่องเที่ยวสายมูก็จะหลั่งไหลเข้าประเทศมากขึ้น พรรคชาติพัฒนากล้ามองเป้าหมายไปที่รายได้ “1 จังหวัด 1 พันล้าน” (ข่าวกรุงเทพฯ ธุรกิจ 29 ม.ค. 2566)
หากทำได้จริง ประเทศไทยมีเกือบ 80 จังหวัด บางจังหวัดก็มีสถานที่มากกว่า 1 แห่ง รวมแล้วก็น่าจะได้มากกว่า 80,000 ล้านบาทจากเศรษฐกิจสายมู
ในความเป็นจริง ชุมชนต่าง ๆ ของไทยได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจสายมูนานแล้ว บางแห่งได้มากเป็นกรอบเป็นกำ บางแห่งได้น้อย ไม่เป็นกิจลักษณะ และไม่มีการส่งเสริมจริงจังจากภาครัฐ
เศรษฐกิจสายมูจึงเป็นของจริงแท้แน่นอน แต่การเมืองกลับเป็นเรื่องไม่แน่นอน
ในเมื่อเป็นของจริงจึงไม่ควรรอเรื่องที่ไม่แน่นอน การเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์ที่เปลี่ยนได้ตลอดเวลา พรรคชาติพัฒนากล้าอาจไม่ได้ร่วมรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง และนโยบายนี้อาจถูกทิ้งไป
แต่นโยบายนี้น่าจะสร้างความตื่นตัวและกระตุ้นชุมชนให้ได้คิด ให้ดำเนินการทางใดทางหนึ่งได้ทันทีโดยไม่ต้องรอรัฐบาลสมัยหน้า
ปัจจุบัน เส้นทางคมนาคมพัฒนาขึ้นมาก สะดวกสบายขึ้นมาก Covid-19 ที่ผ่านมาก็ค่อย ๆ เบาบางลง การท่องเที่ยวเติบโตอย่างก้าวกระโดด ร้านอาหาร ที่พัก และสถานที่ท่องเที่ยวอื่นก็ได้รับการฟื้นฟู และมีการพัฒนาตาม ชุมชนย่อมได้ประโยชน์จากการพัฒนานี้อยู่แล้ว
หากชุมชนต้องการประโยชน์จากเศรษฐกิจสายมู ชุมชนต้องมีความเชื่อและมีศรัทธาก่อน
มันง่าย แค่นี้เอง หากไม่เชื่อ ไม่ศรัทธา ทุกอย่างก็จบสิ้น ผู้นำชุมชน พ่อค้า แม่ค้าในชุมชน ผู้รับผิดชอบสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และชาวบ้านต้องลุกขึ้นมา ต้องนำเรื่องเล่ามาขยาย หรือสร้างขึ้นใหม่อย่างมีหลักการ มีเหตุผล เชิงสร้างสรรค์ ไม่งมงาย และเก็บภาพของความศรัทธา ส่วนคนรุ่นใหม่ในชุมชนก็ควรเผยแพร่ออกไปในโซเซียลให้เป็น Soft Power ด้วยคนในชุมชน และด้วยมือคนรุ่นใหม่
ชุมชนเป็นผู้ได้ประโยชน์ ชุมชนจึงควรทำก่อนโดยไม่รอรัฐบาลสมัยหน้า เพียงเท่านี้นักการเมืองทุกพรรคที่กำลังหาเสียงจะเข้ามาร่วมโปรโมตเพื่อให้ได้คะแนนเสียง สีสรรค์สายมูจะเกิดและส่งผลต่อเศรษฐกิจสายมูให้โตขึ้นโดยไม่ต้องรอรัฐบาล
เศรษฐกิจสายมูเป็นสิ่งดี เป็นนโยบายที่ดี และการเป็น Soft Power โดยชุมชน โดยคนรุ่นใหม่ของชุมชน และโดยนักท่องเที่ยวสายมูย่อมจะทำได้ดีกว่ารัฐบาลแน่
วันนี้ โครงสร้างพื้นฐานพร้อม สตอรี่พร้อม ทำได้ทันที ทุกอย่างจึงอยู่ที่ชุมชนจะสามัคคีกัน จะร่วมใจกันทำก่อน หรือจะรอรัฐบาลสมัยหน้าที่มีความไม่แน่นอนสูง
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : March 7, 2023
Logistics
โครงการก่อสร้างท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของเปรู
เปรูให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งท่าเรือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการลงทุนก่อสร้างท่าเรือประมาณ 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 119 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประมาณร้อยละ 98 เป็นการลงทุนของภาคเอกชน ปัจจุบันมีท่าเรือที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คือ ท่าเรือ Salaverry, Chancay, และ Muelle Sur
บริษัทจีนถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่มีการลงทุนสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ในเปรู บริษัท Cosco Shipping Ports ของจีนเริ่มโครงการพัฒนาท่าเรือในเมือง Chancay เมื่อปี 2563/2564 ซึ่งเมือง Chancay อยู่ห่างจากกรุงลิมาไปทางทิศเหนือประมาณ 50 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในเบื้องต้น 1,213 ล้านเหรียญสหรัฐ โครงการพัฒนาท่าเรือดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Belt and Road” ของรัฐบาลจีน โดยโครงการพัฒนาท่าเรือ Chancay เป็นท่าเทียบเรือแรกของบริษัท COSCO ในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่ได้รับการออกแบบเพื่อรองรับสินค้าทั่วไปและสินค้าประเภทตู้คอนเทนเนอร์ โดยเฉพาะการรับเรือตู้คอนเทนเนอร์แบบ Triple-E โดยตรงจากภูมิภาคเอเชีย ท่าเรือ Chancay จึงเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี ลอจิสติกส์ และอุตสาหกรรมระหว่างไทยกับเปรู และระหว่างภูมิภาคลาตินอเมริกากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่าจะพร้อมเปิดทำการในปี 2567
ทั้งนี้ รัฐบาลเปรูมีแผนในการสร้างท่าเรือใหม่ จำนวน 8 โครงการ มีมูลค่ารวมประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ12 ประกอบด้วย
1) Muelle San Nicolás
2) Lambayeque port terminal
3) Chimbote port terminal
4) San Juan de Marcona port terminal
5) Almirante Grau port terminal in Tacna
6) Navisan – Pucusana port terminal
7) Ilo multipurpose port terminal
8) Corio port terminal
แม้ว่าเปรูจะมีท่าเรือในเมืองสำคัญต่าง ๆ แล้ว อาทิ เมือง Arequipa ทางตอนใต้ของเปรูที่เป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 2 รองจากกรุงลิมา ซึ่งมีท่าเรือ Matarani แต่รัฐบาลเปรูยังคงดำเนินการพัฒนาท่าเรือดังกล่าวตามแผนการพัฒนาท่าเรือแห่งชาติ รวมทั้ง มีโครงการพัฒนาท่าเรือ Corío ที่คาดว่าจะเป็นท่าเรือเรียบชายฝั่งของเมือง Arequipa ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเปรู โดยเป็นท่าเรือน้ำลึก 30 – 50 เมตร ซึ่งเหมาะสำหรับการทอดสมอเรือขนาดใหญ่ และท่าเรือ Corío จะสามารถร่องรับการขนถ่ายสินค้าจำนวนกว่า 100 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้รัฐบาลเปรูยังมีแผนดำเนินโครงการสร้างคลังสินค้าสำหรับผลิตภัณฑ์สินค้าส่งออกของเปรู อาทิ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร แร่ธาตุ เชื้อเพลิงและอนุพันธ์23 ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างท่าเรือ Corío ดังกล่าว จะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ รัฐบาลเปรูให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศที่เป็นแหล่งผลิตแร่ธาตุธรรมชาติ โดยโครงการสร้างพัฒนาท่าเรือต่าง ๆ จะช่วยส่งเสริม/ขยายการส่งออกแร่ธาตุของเปรูไปยังต่างประเทศ
นอกจากนี้ รัฐบาลเปรูยังมีโครงการพัฒนาท่าเรือ Navisan ในเมือง Pucusana ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเปรู ห่างจากกรุงลิมาประมาณ 55 กิโลเมตร โดยโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในการก่อสร้างประมาณ 84 ล้านเหรียญสหรัฐ และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 21 เดือน
บทวิเคราะห์ / ความเห็นของ สคต.
การพัฒนาท่าเรือของเปรูจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการค้าระหว่างประเทศของเปรู รวมถึงโอกาสในการส่งออกสินค้าและบริการของไทยที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง อาทิ ปูนซีเมนต์ ซึ่งที่ผ่านมาเปรูยังเคยนำเข้าปูนซีเมนต์จากไทย อย่างไรก็ดี ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกซีเมนต์สูงเป็นอันดับที่ 7 ของโลกในปี 2564 และอันดับที่ 6 ของโลกในช่วงปี 2560 – 2563 ไทยยังคงมีโอกาสในการขยายการส่งออกซีเมนต์ไปยังเปรู
แม้ว่าผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างของไทยจะเน้นการส่งออกภายในภูมิภาคเอเชีย สคต. ณ กรุงซันติอาโก เห็นว่าการขยายการส่งออกและการแสวงหาตลาดเป้าหมายใหม่จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคลาตินอเมริกา ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวผู้ประกอบการควรพิจารณาปรับกระบวนการผลิตโดยลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อผลิตสินค้ารุ่นใหม่ที่มีคุณภาพสูงให้ตอบโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้า และผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/975519/975519.pdf&title=975519&cate=413&d=0
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!