CEO ARTICLE

ค่ามัดจำตู้

Published on March 14, 2023


Follow Us :

    

“ค่ามัดจำตู้” คืออะไร กระทบต่อการนำเข้า โลจิสติกส์ และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศอย่างไร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรร่วมกันจัดการอย่างไร ???

ค่ามัดจำตู้ (Container Deposit) คือ “เงิน” ที่ผู้นำเข้าต้องจ่ายออกไปเพื่อเป็นหลักประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ตู้สินค้า (Container) หากไม่เสียหาย ผู้นำเข้าจะได้คืนครบจำนวน
ในอดีต การนำเข้าสินค้าแบบลากตู้ หรือ C/Y (Container Yard) ไม่มีค่ามัดจำตู้
แต่เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา การลากตู้ไปขนถ่ายสินค้าออกจากตู้ ณ ที่ทำการผู้นำเข้า เมื่อนำตู้มาคืนก็พบความเสียหาย เช่น ภายในตู้สกปรกมาก พื้นตู้เป็นรอย ผนังบุบ ถูกกระแทก หลังคารั่ว เสาโก่งงอ เสาบุบ พัดลมระบายอากาศในตู้สินค้าแบบห้องเย็นเสียหาย เป็นต้น
สายการเดินเรือ (Shipping Line) จึงไปเรียกร้องค่าซ่อมจากผู้นำเข้า หรือตัวแทนออกของ (Customs Broker) ที่ลากตู้สินค้าออกไป แต่ทุกฝ่ายปฏิเสธ เช่น “ขนถ่ายสินค้าออกอย่างเรียบร้อย ไม่มีอุบัติเหตุ ไม่เห็นความเสียหาย ตู้อาจเสียหายมาก่อนลากออกไป หรือตู้ไม่สกปรก” เป็นต้น
เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นหลายกรณี สร้างความเสียเปรียบแก่สายการเดินเรือมากขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดก็เกิดค่ามัดจำตู้ ต้องจ่ายก่อนที่จะลากตู้สินค้าออกจากเขตท่านำเข้า และลุกลามไปเป็นธรรมเนียมสู่หลาย ๆ สายการเดินเรือให้ปฏิบัติโดยพร้อมเพรียง
ผู้นำเข้าบางรายให้ตัวแทนออกของจ่ายค่ามัดตู้ให้ก่อนและคืนให้เมื่องานเสร็จ บางรายให้ตัวแทนฯ ออกไปก่อน แต่ไปรอรับคืนจากสายการเดินเรือเอง หากตู้สินค้าเสียหายก็เป็นความเสี่ยงต่อตัวแทนฯ โดยปริยาย
สินค้ามาก ค่ามัดจำตู้ก็ยิ่งมากเป็นเงาตามตัว บางครั้งก็เป็นหลักแสนหรือหลายแสนบาท กระทบต่อเงินหมุนเวียน และความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำเข้า ตัวแทนฯ และสายการเดินเรือ
ปัญหานี้ลุกลามเมื่อผู้นำเข้าและตัวแทนฯ ไม่ว่าชาวไทยหรือต่างชาติปฏิเสธความเสียหาย ไม่อยากจ่าย ไม่เข้าใจ และตู้สินค้าก็อาจเสียหายอยู่แล้วจริงโดยไม่มีใครเห็น
การค้าเสรีที่ทั่วโลกส่งเสริมดูอาจไม่เสรี กระทบต้นทุน Logistics เป็นรายจ่าย และกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

เรื่องราวที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นกว่า 10 ปีจนเป็นความเคยชิน เข้าใจได้บ้าง ไม่เข้าใจบ้าง
หากผู้นำเข้าทำตู้สินค้าเสียหายและต้องจ่ายค่าซ่อมก็ถือว่ายุติธรรม หรือหากตัวแทนออกของได้รับค่าจ้างขนถ่ายสินค้าออกจากตู้แล้วทำตู้เสียหาย ต้องวางมัดจำเอง และต้องจ่ายค่าซ่อมก็ถือว่ายุติธรรมเช่นกัน แต่หลายกรณีไม่ใช่ ไม่มีใครอยากเสี่ยง และไม่อยากมีรายจ่ายเพิ่ม
ปัจจุบันเริ่มมีบางสายการเดินเรือยกเว้น (Waive) ค่ามัดจำตู้ให้เพื่อผลทางการตลาด บางรายยังเก็บ บริษัทประกันภัยเริ่มเข้ามามีบทบาท ขายกรมธรรม์เพื่อคุ้มครอง สมาคมตัวแทนออกของ และสมาคมอื่น ๆ เริ่มเข้ามาให้ความช่วยเหลือ แต่ก็ให้แก่สมาชิกของตน
ค่ามัดจำยังมี ผู้นำเข้าและตัวแทนออกของยังต้องจ่าย และภาครัฐก็ขยับตัวช้า ขาดความชัดเจน การแก้ไขจึงยังเป็นแบบตัวใครตัวมันเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็พอมีหนทางจัดการได้
1. ผู้นำเข้าที่มีปริมาณสินค้ามาก มีการนำเข้าจากประเทศใดประเทศหนึ่งมากควรเลือกสายการเดินเรือหนึ่ง และใช้ปริมาณที่มากเข้าเจรจาต่อรองให้ยกเว้นค่ามัดจำตู้
2. ผู้นำเข้าที่มีสมาคม หรือรวมตัวกันต่อรองกับสายการเดินเรือให้ยกเว้น หรือลดค่ามัดจำตู้
3. ผู้นำเข้าอาจทำสัญญากับสายการเดินเรือ หรือใช้ธนาคารค้ำประกันแทนการจ่ายเงินสด
4. ผู้นำเข้าควรเก็บภาพตู้สินค้าที่มาถึง และขณะขนย้ายสินค้าออกจากตู้เพื่อยืนยัน
5. ตัวแทนออกของต้องเหนื่อยมากขึ้น ต้องตรวจสภาพตู้สินค้ารอบด้านและบนหลังคาก่อนที่จะนำออกจากเขตท่านำเข้า หากพบข้อสงสัย ความไม่สมบูรณ์ หรือเสียหายต้องถ่ายภาพ แจ้งสายการเดินเรือ และผู้นำเข้าทันทีให้เป็นหลักฐาน
6. ทั้งตัวแทนออกของและผู้นำเข้าควรซื้อกรมธรรณ์ประกันภัยเพื่อให้ความคุ้มครองตู้สินค้าที่อาจเสียหาย เว้นแต่จะยอมรับความเสียหายไว้เอง
7. ผู้นำเข้าและตัวแทนออกของถือว่าลงเรือลำเดียวกัน อยู่ฝ่ายเดียวกัน จึงควรหารือเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมกันดูแล และร่วมกันเจรจาต่อรองค่ามัดจำตู้กับสายการเดินเรือ ไม่ควรหันมาต่อสู้กันเองที่ทำให้เสียผลประโยชน์ทั้งคู่
หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน ค่ามัดจำตู้ในอนาคตก็น่าจะดีขึ้น ยิ่งมีสายการเดินเรือใหม่ ๆ มีการแข่งขัน และมีการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ค่ามัดจำตู้ก็น่าจะบรรเทาลง
แต่ทั้งหมดก็ต้องเกิดจากความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นสำคัญ

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : March 14, 2023

Dr. Sitthichai Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

ท่าเรือเซี่ยเหมินและท่าเรือแหลมฉบัง จับมือส่งเสริมบทบาทท่าเรือชั้นนำระดับโลก ผ่านการลงนาม MOU ท่าเรือพี่น้อง

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 ได้มีพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือท่าเรือพี่น้องระหว่าง ท่าเรือเซี่ยเหมิน และ ท่าเรือแหลมฉบังของไทย ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบ On-Site และผ่านระบบออนไลน์ทางไกล โดยมีผู้บริหารภาครัฐของไทยและจีนเข้าร่วม อาทิ ฝ่ายจีน ประกอบด้วย นายหวง เยี่ยนเทียน รองนายกเทศมนตรีเมืองเซี่ยเหมิน นายจาง เฉวียน อธิบดีสำนักงานการต่างประเทศเมืองเซี่ยเหมิน นายเซี่ย ชางเหวิน ผู้อำนวยการท่าเรือเมืองเซี่ยเหมิน และฝ่ายไทย นางสาวฐิติลักษณ์ คำพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายพีระวัฒน์ อัศวปรานี กงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ร่วมด้วยผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย รวมผู้เข้าร่วมทั้งฝ่ายไทยและจีนประมาณ 100 คน ซึ่งปัจจุบัน ท่าเรือแหลมฉบังจัดเป็นท่าเรือมิตรภาพแห่งที่ 16 ที่ท่าเรือเซี่ยเหมินได้ร่วมลงนามความร่วมมือท่าเรือพี่น้อง

การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล บุคลากร การฝึกอบรม เทคโนโลยีขนส่ง การพัฒนาระบบโลจิสติกส์แบบครบวงจร การพัฒนาการบริหารจัดการ เพื่อให้ทั้งสองท่าเรือส่งเสริมและพัฒนาโอกาสทางการค้า และการขนส่งโลจิสติกส์ร่วมกัน ตลอดจนสานความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน โดยที่ผ่านมาในปี 2563 กงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน ได้เห็นความสำคัญของท่าเรือทั้งสองที่จะสามารถเชื่อมโยง EEC ของไทยกับ เมืองเซี่ยเหมิน ที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางทะเลที่สำคัญ จึงได้เสนอให้ทั้งสองท่าเรือลงนามความตกลงท่าเรือพี่น้อง

ท่าเรือเซี่ยเหมินและท่าเรือแหลมฉบังเป็นสองท่าเรือใหญ่ที่เชื่อมระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งความร่วมมือของทั้งสองท่าเรือจะสามารถสร้างความได้เปรียบทางด้านการขนส่งและสร้างโอกาสในการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ โดยในช่วงที่ผ่านมา ท่าเรือเซี่ยเหมินมีการดำเนินการเจรจาและแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ กับท่าเรือแหลมฉบังอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางรากฐานความร่วมมือและการพัฒนาการท่าเรือของทั้งสองประเทศอย่างมั่นคง ในปัจจุบัน มีเส้นทางจากท่าเรือเซี่ยเหมินมายังประเทศไทยรวม 32 เส้นทาง ในจำนวนนี้ มีเส้นทางถึงท่าเรือแหลมฉบังถึง 21 เส้นทาง ส่งผลให้ธุรกิจการท่าเรือของทั้งสองประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2565 ได้ครบรอบ 10 ปี ของการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านจีน-ไทย มูลค่าการค้าระหว่างไทยจีนทะลุแสนล้านเหรียญสหรัฐเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน ในปี 2565 มูลค้าการค้าระหว่างประเทศระหว่างเซี่ยเหมินกับไทยอยู่ที่ 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ มีบริษัทไทยที่เข้ามาลงทุนในเมืองเซี่ยเหมินมากกว่า 40 แห่ง

ท่าเรือเซี่ยเหมินเป็น 1 ใน 4 ศูนย์กลางการขนส่งทางเรือระดับนานาชาติของจีน และเป็น 1 ใน 4 ท่าเรือนำร่องของการเดินเรือสำราญ ท่าเรือเซี่ยเหมินไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งในท่าเรือสำคัญของจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นท่าเรือสำคัญระดับโลก ที่เชื่อมโยงตามเส้นทางยุทธศาสตร์สายไหมทางทะเล โดยเป็นศูนย์กลางของระบบการขนส่งที่สำคัญของประเทศ ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์หมุนเวียนสูงถึง 12 ล้านTEUต่อปี เป็นท่าเรือต้นทางสำคัญของเรือสำราญ และยังเป็นท่าเรือแลกเปลี่ยนระหว่างช่องแคบไต้หวัน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาท่าเรือเซี่ยเหมินได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและยกระดับท่าเรืออย่างต่อเนื่อง ผู้รับบริการได้ประโยชน์จากต้นทุนต่ำ เป็นท่าเรืออัจฉริยะ ท่าเรือสีเขียว ตลอดจนขยายความแข็งแกร่งของการท่าเรือให้ก้าวไกลสู่ระดับนานาชาติ

ท่าเรือแหลมฉบังเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ติดอันดับที่ 20 ของโลก เป็นจุดเชื่อมโยงอาเซียนกับโลกไว้ด้วยกัน สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่พิเศษ (Super Post Panamax) เชื่อมโยงเส้นทางโลจิสติกส์ทางรถ ราง ทะเล และอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ในปี 2562 มีการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ถึง 8.106 ล้านTEU ปริมาณตู้บรรจุสินค้าในปี 2564 อยู่ที่ 8.418 ล้านTEU เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.56 YoY ซึ่งปัจจุบัน ท่าเรือแหลมฉบังก าลังอยู่ระหว่างพัฒนาท่าเทียบเรือเฟสที่ 3 คาดว่าเมื่อเฟส 3 แล้วเสร็จจะสามารถรองรับได้ถึง 18 ล้านTEU และก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งใน 10 ของโลก

การร่วมมือของทั้งสองฝ่ายจะสามารถเสริมสร้างความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนด้านการเดินเรือ โลจิสติกส์ การจัดการท่าเรือ และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในอนาคต โดยจะมีกิจกรรมประชาสัมพันธ์และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ท่าเรือทั้ง 2 ท่าเรือ ยกระดับการค้าระหว่างประเทศและการขนส่งสินค้า เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ท่าเรือทั้ง 2 ฝั่งยังสามารถเสริมสร้างการฝึกอบรมทางเทคนิค แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ เสริมสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : การลงนามข้อตกลงท่าเรือพี่น้องระหว่างท่าเรือเซี่ยเหมินและท่าเรือแหลงฉบัง จะเป็นการยกระดับ และส่งเสริมบทบาทความแข็งแกร่งของท่าเรือทั้งสองที่มีความสำคัญระดับสากล เป็นการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างพื้นที่ EEC ของไทย และยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางทะเลของจีน สามารถเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์เส้นทางที่ครอบคลุมทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเล ความแข็งแกร่งทั้งสองไม่เพียงแต่จะสนับสนุนการค้าการขนส่งในเอเชียตะวันออกกับจีนเท่านั้น แต่ยังคงเชี่อมโยงไปตามเส้นทางสายไหมถึงซีกโลกตะวันตก ยุโรป แอฟริกา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากเป็นการเสริมความแข็งแกร่งด้านระบบการขนส่งโลวจิสติส์สินค้าแล้ว ท่าเรือเซี่ยเหมินยังเป็นเป็นต้นทางและสามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อประเทศเปิด สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดกลับสู่ภาวะปกติ การเดินทางท่องเที่ยวเรือสำราญจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถผลักดันภาคการท่องเที่ยว ส่งเสริมบรรยากาศการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน ทำให้เศรษฐกิจเติบโตไปด้วยกัน

ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/977255/977255.pdf&title=977255&cate=413&d=0

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.