CEO ARTICLE

Alfred

Published on March 28, 2023


Follow Us :

    

“อยากได้ Alfred มาช่วยงานสักคน”
อะไรคือคุณลักษณะพิเศษอันดับแรกของ Alfred ที่ต้องนำมาพิจารณา ?

Alfred คืออะไร คือใคร และมีความสำคัญอย่างไร ???
ภาพยนต์เรื่อง Batman มีพระเอกที่เป็นฮีโร่ดัง เก่งหลายด้าน แต่ความเก่งของพระเอกต้องมีผู้ช่วย คอยอำนวยความสะดวก เป็นเพื่อนคู่คิด และเป็นมิตรคู่ใจให้พระเอกจนทำให้พระเอกเก่ง ทำอะไรได้หลายอย่าง
ผู้ช่วยของ Batman ในเรื่องนี้เป็นพ่อบ้าน และมีชื่อเรียกว่า “Alfred”
สมัยนั้นภาพยนต์เป็นที่นิยมมาก คำว่า “Alfred” ที่สื่อความเป็นผู้ช่วยที่เก่ง เป็นคู่คิด คู่ใจ ทำได้ทุกเรื่อง คอยอำนวยความสะดวกเรื่องต่าง ๆ ได้หมดจึงเป็นที่นิยมตามไปด้วย
ยุคต่อ ๆ มา ผู้นำยุคใหม่ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ ผู้บริหาร หัวหน้างาน นักการเมืองระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือรัฐมนตรีที่เป็นคนรุ่นใหม่จึงเป็นอยากได้ผู้ช่วยดี ๆ บ้าง มีการมองหา และเรียกผู้ที่จะมาช่วยว่า “Alfred” จนเป็นที่เข้าใจในหมู่คนทำงานรุ่นใหม่
การหา Alfred สักคนอาจไม่ยาก หากนำแนวคิดของขงจื๊อมาใช้ คุณลักษณะพิเศษอันดับแรกของ Alfred ก็น่าจะเป็น “คนฉลาดและขยัน” หรืออย่างน้อยก็น่าจะเป็น “คนฉลาดและขี้เกียจ” แต่ไม่เอาคนโง่แน่นอน
ขงจื๊อเคยกล่าวและแบ่งคนออกเป็น 4 ประเภทคือ คนฉลาดและขยัน คนฉลาดและขี้เกียจ คนโง่และขี้เกียจ และคนโง่และขยัน
ขงจื๊อสรุปว่า คนฉลาดและขยันควรส่งเสริมให้เป็นแม่ทัพ คนฉลาดและขี้เกียจควรเลี้ยงไว้เป็นทหารฝ่ายเสนาธิการวางแผนอยู่เบื้องหลัง คนโง่และขี้เกียจเก็บไว้ใช้สอยทำงานตามคำสั่งพอไหว แต่ถ้าเจอคนโง่และขยันต้องเอาไปตัดหัวทิ้งทันที
ใครได้ Alfred หรือคนทำงาน หรือทีมงานที่ฉลาดไม่ว่าจะขยันหรือขี้เกียจก็นับว่าโชคดี แต่นั่นเป็นความโชคดีในยุคขงจื๊อ อาจยังพอใช้ได้ในยุคปัจจุบัน หรืออาจใช้ไม่ได้เลยก็ได้

หากขงจื๊อกลับชาติมาเกิดใหม่ และเห็นโลกปัจจุบันคงงงแน่
ความรู้ในโลกปัจจุบันแตกแยกเป็นหลายสาขา หลายด้าน มีมากเหลือเกิน และคนทั่วไปก็สามารถหาความรู้ได้ไม่ยากเพียงปลายนิ้วมือ อยากรู้อะไรก็อาศัย Google เท่านั้น
คนทำงานจึงมีความรู้ต่างกัน คนหนึ่งอาจฉลาดเรื่องหนึ่ง แต่อาจโง่หลายเรื่อง วันนี้อาจคิดอะไรไม่ออก พอครู่เดียว พรุ่งนี้ หรือไปปรึกษาผู้มีประสบการณ์ก็คิดออก หรือคิดได้ดีกว่า
ยิ่งผู้นำในยุคปัจจุบันมักเป็นคนรู้มาก สอนงานคนรู้น้อยให้รู้มากได้ ใช้ระบบงานเก่ง สร้างระบบงานที่มีมาตรฐานได้ คนที่โง่ก็สอนให้รู้ให้ฉลาดได้ ความฉลาดและความโง่สมัยนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ มีเพียงเส้นบาง ๆ แบ่งกั้น วันนี้ฉลาด พรุ่งนี้ก็อาจโง่ได้ง่าย ๆ
ความขยันและขี้เกียจก็ขึ้นอยู่กับ Motivation ที่ผู้นำในยุคนี้นำมาใช้ Motivation ทำให้คนขี้เกียจตั้งใจทำงานได้ มุ่งมั่นได้ หากสร้างขั้นตอนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และมีการควบคุมที่ดี เนื้องานก็ออกมาดี มีประสิทธิภาพ คนขี้เกียจก็มีผลงาน และเป็นคนขยันได้ในพริบตา
คุณลักษณะพิเศษของคนจะมาเป็น Alfred ในยุคปัจจุบันจึงไม่ใช่ความฉลาด โง่ ขยัน หรือความขี้เกียจอีกต่อไป แต่ต้องมี “ความจงรักภักดี” (Royalty) เพียงเรื่องเดียว
ส่วนเรื่องที่เหลือของ Alfred สามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลงได้หมด
แต่ความจงรักภักดีไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ มันต้องใช้เวลา บางคนอยู่ด้วยกันมานานก็ยังไม่มี บางคนมองแล้วคิดว่ามี แต่สุดท้ายก็ไม่มี หรือมีน้อย ผู้นำบางคนเลือกคนผิดก็มีให้เห็นไม่น้อย
การมองหา Alfred จึงไม่สามารถใช้เวลาเพียง 3 เดือน หรือ 6 เดือน แต่ต้องเป็นปี ๆ หรืออาจหลายปี และความจงรักภักดีที่ได้จะนำความจริงใจ จริงจัง ซื่อสัตย์ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมาให้ผู้นำ
ผู้นำที่ใช้เวลาสั้น ๆ เลือก Alfred แต่เมื่อสอน เมื่อแนะนำ และเมื่อฝึกฝนแล้วมีความคิดไม่ซื่อ ตีตัวออกห่าง ทรยศ หักหลัง หรืออาจเป็นหอกข้างแคร่จึงเป็นการเสียเวลา และเป็นอันตรายทั้งต่อตัวผู้นำและองค์กร
ผู้นำที่ดีจึงต้องมี Alfred ที่ดี และคุณลักษณะพิเศษที่ดีของ Alfred จึงต้องเริ่มที่ “ความจักรักภักดี” ไม่ว่าจะต่อตัวผู้นำหรือองค์กรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
Home and Health 👉 https://www.inno-home.com
Art and Design … 👉 https://www.cose.life

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : March 28, 2023

Dr. Sitthichai Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

ส่องดูเซินเจิ้น เมืองหลวงแห่งโดรนกับอนาคตธุรกิจขนส่งทางอากาศ

ต้นปีที่ผ่านมา สมาคมอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับเมืองเซินเจิ้น (Shenzhen UAV Industry Association) เผยข้อมูลว่า ในปี 2565 จีนมีวิสาหกิจเกี่ยวข้องกับอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles: UAVs) กว่า 12,000 แห่ง สร้างมูลค่าต่อปีกว่า 1.17 แสนล้านหยวน (ราว 1.732 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในจำนวนดังกล่าวเป็นกิจการที่ตั้งอยู่ที่เมืองเซินเจิ้นราว 1,300 แห่ง สร้างมูลค่าต่อปีเกือบ 7.5 หมื่นล้านหยวน (ราว 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) อัตราการเติบโต ต่อปีสูงกว่าร้อยละ 30 ล้ำหน้าเมืองอื่นในประเทศจีนไปไกล โดยเมืองเซินเจิ้นมีห่วงโซ่และสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจของอุตสาหกรรม UAV ที่สมบูรณ์อีกด้วย

ปัจจุบัน เมืองเซินเจิ้นยังกำลังเร่งโครงการพัฒนา ‘เศรษฐกิจอากาศยานบินต่ำ’ (Low-altitude Economy) หรือเศรษฐกิจซึ่งอาศัยอากาศยานทั้งที่มีคนขับและไร้คนขับในภาคการบินระดับต่ำ[1] เป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่คอยผลักดันอุตสาหกรรมอื่นที่อยู่ในห่วงโซ่ให้พัฒนาไปควบคู่กัน โดยเมืองเซินเจิ้นจะเร่งการสร้างศูนย์เศรษฐกิจอากาศยานบินต่ำชั้นนำระดับโลกและสนับสนุนการสร้างโรงงานผลิต UAV เชิงโลจิสติกส์แห่งแรกของจีน พร้อมตั้งเป้าหมายมีเที่ยวบิน UAV ขนส่งสินค้ากว่า 500,000 เที่ยว เรียกได้ว่า สมกับที่ได้รับการขนานนามว่า ‘เมืองหลวงแห่งโดรน’ ทีเดียว

เหม่ยถวน (Meituan) ผู้นำแห่งโดรนเดลิเวอรี่
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) และบริการจัดส่งอาหาร ไปยังที่พัก (food delivery) เจ้าใหญ่แดนมังกร ‘เหม่ยถวน’ ได้ประกาศ “แผนโลจิสติกส์โซลูชันอากาศยานบินต่ำในเขตเมือง” ซึ่งเพิ่งได้รับการอนุมัติจากสำนักบริหารการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน (Civil Aviation Administration of China: CAAC) ให้ดำเนินโครงการทำร่องทอดสอบการให้บริการที่เมืองเซินเจิ้น โดย บริษัทเหม่ยถวนยังได้เปิดตัวระบบโลจิสติกส์โซลูชันอากาศยานบินต่ำในเขตเมืองที่มีชื่อว่า “ศูนย์บริหารปฏิบัติการ UAV เมืองเซินเจิ้น” หรือ Meituan UAV Shenzhen Operations Management Center ซึ่งภายในศูนย์ปฏิบัติการดังกล่าวจะมีระบบจัดตารางเส้นทางการจัดส่งคำสั่งซื้อ (order) อัตโนมัติให้กับลูกค้าที่พักอาศัยอยู่ภายในรัศมี 600 กิโลเมตรของศูนย์ดังกล่าว ขณะที่ภายในศูนย์จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลระบบและ UAV ให้ทำงานได้อย่างราบรื่น ตลอดจนคอยจัดการแก้ไขปัญหาหากมีเหตุฉุกเฉิน

ผู้แทนบริษัทเหม่ยถวน ระบุว่า เมื่อปี 2565 บริษัทเหม่ยถวนได้นำร่องให้บริการขนส่งสินค้าโดยใช้โดรนกว่า 100,000 ครั้ง ขยายตัวมากกว่าร้อยละ 400 เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยได้ให้บริการขนส่งสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ก๋วยเตี๋ยว ผลไม้ กาแฟ และชานม รวมถึงสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าอ้อม หรือแม้กระทั่งดอกไม้

ทั้งนี้ เหม่ยถวนเริ่มพัฒนาการให้บริการเดลิเวอรี่ผ่านโดรนนับแต่ปี 2560 และเปิดตัวปฏิบัติโครงการนำร่องทดสอบเมื่อต้นปี 2564 ด้วยหลักการทำงานคร่าว ๆ คือ เมื่อลูกค้ายืนยันคำสั่งซื้อสินค้าบนแอปพลิเคชันเหม่ยถวน พนักงานเดลิเวอรี่จะรับคำสั่งซื้อและเดินทางไปยังร้านค้าเพื่อรับพัสดุหรือสินค้า และนำไปติดกับโดรนที่อยู่ใกล้ที่สุด จากนั้นโดรนจะขนส่งพัสดุหรือสินค้าไปยังจุดรับสินค้าและหย่อนลงตู้รับสินค้าที่กำหนดไว้ โดยลูกค้าจะได้รับการแจ้งเตือนทางโทรศัพทมือถือเมื่อพัสดุหรือสินค้าส่งถึง และรับพัสดุหรือสินค้าที่ตู้บริการผ่านการกดรหัสรับสินค้าหรือสแกน QR code

บริษัทเหม่ยถวนยังเปิดเผยสถิติการให้บริการ delivery ด้วยโดรน ระบุว่า ณ ปลายปี 2565 บริษัทเหม่ยถวนได้ให้บริการ deliver ในพื้นที่นำร่องในเมืองเซินเจิ้นแล้วแก่ลูกค้ากว่า 20,000 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 18 ชุมชนและอาคารสำนักงาน และจัดส่งสินค้ามากกว่า 20,000 ประเภท โดยใช้เวลาจัดส่งเฉลี่ยเที่ยวละ 12 นาที ซึ่งนับว่ามีประสิทธิภาพกว่ารูปแบบการจัดส่งแบบเดิมเกือบร้อยละ 150 โดยกลุ่มลูกค้าหลักที่ใช้บริการโดรนเดลิเวอรี่คือกลุ่มพนักงานออฟฟิศอายุระหว่าง 20 – 35 ปี คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 80 ของจำนวนลูกค้าทั้งหมด

โดรนกับประเทศไทย
แน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงประเทศจีนเท่านั้นที่ให้ความสนใจการขนส่งทางอากาศด้วยโดรน อย่างในสหรัฐฯ เองก็มีบริษัทหลายแห่งเปิดตัวการส่งเดลิเวอรี่ด้วยโดรน เช่น ‘Prime Air’ โครงการเดลิเวอรี่ที่เปิดตัวโดย E-Commerce ยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon หรือ ‘Wing’ บริการโดรนจัดส่งจาก Alphabet บริษัทแม่ของ Google ซึ่งร่วมมือกับบริษัทขนส่ง FedEx และธุรกิจเครือข่ายร้านขายยารายใหญ่ Walgreens เมื่อหันกลับมามองการประยุกต์ใช้โดรนในไทย นอกเหนือจากการใช้โดรนถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอที่เห็นกันจนชินตาแล้ว ในภาคการเกษตรก็มีการใช้ประโยชน์จากโดรน อย่างโดรนสำหรับหว่านปุ๋ยและฉีดพ่นสารเคมีเช่นกัน นอกจากนี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ภาคเอกชน 3 แห่งในจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ บริษัท โบ๊ทพัฒนา จำกัด บริษัท วิลล่ามาร์เก็ท เจพี จํากัด และบริษัท เอวิลอน โรโบทิคส์ จำกัด ยังได้ร่วมกันเปิดตัวบริการโดรนส่งของ ‘Drone Delivery Service’ อย่างเป็นทางการครั้งแรกในไทย โดยใช้งานด้วยการสั่งออเดอร์ผ่านแอปพลิเคชัน Villa Market เกื้อหนุนโครงการ ‘ภูเก็ต สมาร์ทซิตี้’ (Phuket Smart City) โครงการนำร่องต้นแบบจังหวัดอัจฉริยะเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโมเดลธุรกิจการลงทุนที่ทันสมัย

บินตรงไปอย่างไม่หยุดยั้ง
เมื่อวันที่ 2 – 4 มิถุนายน 2566 งานประชุมโดรนโลกครั้งที่ 7 ประจำปี 2566 จะถูกจัดขึ้นที่เมืองเซินเจิ้นพร้อมนิทรรศการโดรนนานาชาติ ณ เมืองเซินเจิ้นครั้งที่ 8 โดยในงานมีวิสาหกิจด้านโดรนจากทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 400 แห่ง มีการจัดเวทีอภิปรายกว่า 30 หัวข้อ เช่น เทคโนโลยีโดรนชั้นนำ การจราจรทางอากาศในเขตเมือง โดรนช่วยเหลือฉุกเฉินและโดรนโลจิสติกส์ การกำกับดูแลความปลอดภัย หุ่นยนต์ AI อากาศยานไร้คนขับโดยสาร ยานยนต์บินระดับต่ำ และยานยนต์ไร้คนขับความเร็วต่ำ นอกจากนี้ ภายในงานยังจัดแสดงระบบและอุปกรณ์โดรนกว่า 3,000 ผลิตภัณฑ์จากบริษัททั่วโลกอีกด้วย

ปัจจุบัน ระบบการขนส่งด้วยโดรนอาจยังอยู่ในช่วงเริ่มนำร่องเท่านั้น กระนั้นการขนส่งรูปแบบใหม่นี้ก็ยังมีข้อได้เปรียบให้เห็นชัดในหลายสถานการณ์ เช่น การขนส่งไปยังบริเวณที่เข้าถึงได้ยากหรือมีโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ดีนักซึ่งอาจทำให้การขนส่งทางบกทั่วไปเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย หรือข้อดีด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั่วไปแล้วโดรนจะปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่อากาศน้อยกว่ารถยนต์ไฟฟ้าหรือรถตู้ในการขนส่งหนึ่งรอบ และยิ่งน้อยกว่าอย่างมากหากเทียบกับยานยนต์ที่ขับเคลื่อนโดยน้ำมัน จึงกล่าวได้ว่า การขนส่งสินค้าด้วยโดรนอาจกลายเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของบริการเดลิเวอรี่ของจีนก็เป็นได้

หมายเหตุ [1] บินสูงห่างจากระดับพื้นไม่เกิน 1,000 เมตร โดยตัวเลขอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพพื้นที่หรือความเหมาะสม

ที่มา : https://thaibizchina.com/article/meituan-drone-23032023/

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.