CEO ARTICLE
เหนื่อย-เบื่อ-ท้อ
“เหนื่อยงาน เบื่องาน จะมีงานอะไรที่ไม่เหนื่อย ไม่น่าเบื่อ และได้เงินดีบ้าง ?”
คำกล่าวข้างต้นส่อลักษณะท้อที่คนทำงานทั่วไปเคยได้ยิน และบางคนก็อาจเคยกล่าว
เหนื่อย-เบื่อ-ท้อจากงานเป็นเรื่องปกติที่เกิดเมื่อไรก็ได้ หากจะเปรียบให้เข้าใจง่าย ๆ ก็ให้ดูลักษณะ “แมว” และ “หนู”
แมวคอยไล่หนู คอยวิ่งจับหนูเป็นอาหาร แมวจึงเป็นลักษณะนักล่า (Predator)
สัญชาติญาณหนึ่งของแมวอยู่ในสภาพรุก โชคดีก็ได้หนู ได้อาหาร โชคร้ายก็เสมอตัว ไม่ได้อาหาร แมวเหนื่อย แต่เป็นความเหนื่อยในการรุกไล่ อาจเบื่อบ้าง แต่สนุกมากกว่า ไม่ท้อแน่
หนูต้องหนีแมว กลัวถูกแมวจับกินเป็นอาหาร หนูจึงเป็นลักษณะเหยื่อ (Prey)
สัญชาติญาณหนึ่งของหนูจึงอยู่ในสภาพรับ คอยหนี โชคดีก็เสมอตัว รอด ไม่ถูกจับกิน ถ้าโชคร้ายก็ถูกแมวจับ ถูกกิน ตาย หนูจึงเหนื่อยในเชิงรับ ไม่สนุก น่าเบื่อ และมีสิทธิ์ท้อมากกว่า
แมวและหนูเหนื่อยเหมือนกัน แต่เป็นความเหนื่อยคนละแบบ คนทำงานก็ไม่ต่างกัน
โลกนี้ไม่มีงานอะไรที่ทำแล้วไม่เหนื่อย แต่หากเหนื่อยมากจนเบื่อและท้อ คนก็มีสภาพเป็นเหยื่ออย่างหนู และสื่อสไตล์การทำงานอยู่ในเชิงรับ (Reactive)
หากเปลี่ยนสไตล์ให้อยู่ในเชิงรุก (Proactive) ให้เป็นนักล่าอย่างแมวได้ คนผู้นี้ก็ยังเหนื่อยอยู่ดี แต่เป็นความเหนื่อยที่มีความหวัง มีโอกาสได้เงินเพิ่ม ได้สนุก และสุขกว่า
การเปลี่ยนตัวเองให้อยู่ในเชิงรุกก็ไม่ยาก กฎสำคัญที่เป็นสารตั้งต้นมีข้อเดียวคือ การไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เพียงข้อเดียวก็เกิดสิ่งต่าง ๆ ตามมามากมาย
เมื่อไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง คนก็จะฟังผู้อื่นมากกว่า ไม่ฟังความด้านเดียว จะมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี อยากฟังผู้รู้ หรือผู้มีประสบการณ์เพื่อทำตัวให้อยู่ในเชิงรุกอย่างแมวตลอดเวลา
หากเป็นการรุกหาลูกค้าหรือรุกรักษาลูกค้าก็จะกระตือรือร้น ยิ้มแย้ม แจ่มใจเพื่อสืบให้รู้ว่า ลูกค้าต้องการอะไร จะสังเกตุ จะจดจำ จะคอยคิดหาโปรโมชั่นที่เหมาะสม ชอบหรือไม่ชอบ ดีหรือไม่ดี จะคอยสังเกตุลูกค้าเพื่อนำมาตอบสนองและพัฒนาตนเอง
ลูกค้าบางคนชอบการลด แลก แจก แถม บางคนชอบอ่านข่าวสาร บทความดี ๆ ก็จะสร้างแผนงานเพื่อสนอง หากสนองได้ก็รักษาลูกค้าได้ ได้เป้าหมาย เหนื่อย แต่สนุก ได้งาน ได้เงิน
หากเป็นเรื่ององค์กร คนที่ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางก็จะรุกใส่วิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย รู้และเข้าใจระบบงาน รู้ขั้นตอนการทำงาน รู้เป้าหมาย ทำงานเป็นทีมเพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์
ความกระตือรือร้นทำให้มุ่งเรียนรู้ พุ่งใส่เป้าหมาย มีผลงานจนเป็นที่ยอมรับของทีมงาน ได้รางวัล ได้เลื่อนขั้น ได้เงินเดือนเพิ่ม เหนื่อย เบื่อบ้าง แต่สนุก และมีความสุข
หากเป็นเรื่องครอบครัวก็จะรู้ว่าครอบครัวต้องการอะไร ต้องใช้เงินเมื่อไร จะใช้เท่าไร จะรุกใส่ด้วยการสร้างแผนการเงิน ใช้เงินตามแผน หาเงินได้น้อยแต่เหลือเงินทะยอยเก็บทุกเดือน รุกใส่เป้าหมายเหมือนแมว เหนื่อย แต่มีความหวัง อาจเบื่อบ้าง แต่ไม่ท้อ
แต่หากเลือกอยู่ในเชิงรับอย่างหนู ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ฟังผู้อื่นน้อย คิดว่าตนเองรู้มากก็จะไม่ฟังผู้อื่น มนุษย์สัมพันธ์จะน้อย ความกระตือรือร้นก็น้อยไปด้วย
แบบนี้ลูกค้าก็ไม่ติด เจ้านายก็ไม่ชอบ เข้ากับทีมงานยาก ทำงานไม่มีระบบ ไม่มีแผนงาน ไม่มีขั้นตอน ผลงานก็น้อย ไม่มีระบบเก็บเงินให้ครอบครัว ไม่มีเป้าหมายให้พุ่งใส่ ถูกลูกค้าและหัวหน้าทวงผลงาน ครอบครัวก็รุกไล่ขอเงิน เหนื่อยและเบื่อ
คนที่ไม่อยู่ในเชิงรุกอย่างแมว แม้ไม่อยากอยู่ในเชิงรับก็ต้องถูกผลักให้อยู่เชิงรับอย่างหนูโดยปริยาย ทุกอย่างเป็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติ แต่คนไม่ใช่หนู ในชีวิตจริงจึงไม่มีแมวไล่ล่า
คนจะถูกสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในสำนักงาน ในประเทศ นอกประเทศไล่ล่า คนจะถูกจี้งาน ได้รับความกดดดันจากครอบครัว การจราจร ดินฟ้าอากาศรุกใส่ เมื่อไม่อยู่ในเชิงรุกก็ต้องคอยตั้งรับเรื่อยไป
ยิ่งไปกว่านั้น คนยังมีโชคชะตาที่ไม่รู้จัก มองไม่เห็น ไม่รู้มาจากไหน คอยกระหน่ำ คอยซ้ำเติม เหนื่อย และเบื่อจึงรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนท้ออย่างที่คนในเชิงรับต้องประสบ
เพียงแค่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Self Centrict) ข้อเดียวส่งผลให้ตกอยู่ในเชิงรับอย่างหนูมากขนาดนี้ การไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางจึงสารตั้งต้นสู่เชิงรุก ความสนุก และความสำเร็จจริง ๆ
ไม่ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร คนจึงไม่ควรยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ควรเลือกทำงาน และเลือกใช้ชีวิตในเชิงรุกอย่างแมวดีกว่าถูกผลักให้อยู่ในเชิงรับอย่างหนูโดยที่ไม่เลือก เหนื่อยเหมือนกัน อาจเบื่อบ้าง แต่ไม่ท้อแน่นอน
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
Home and Health 👉 https://www.inno-home.com
Art and Design … 👉 https://www.cose.life
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : April 4, 2023
Logistics
อิหร่านเปิดท่าเรือบก (Dry Port) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอย่างเป็นทางการ
รัฐบาลอิหร่านมีนโยบายที่จะพัฒนาตนเองให้ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งสินค้าในภูมิภาค โดยใช้ข้อได้เปรียบทางภูมิประเทศของอิหร่านที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาค โดยเฉพาะการมีอาณาเขตติดต่อกับหลายประเทศทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งทำให้อิหร่านสามารถเข้าถึงเครือข่ายเส้นทาง โลจิสติกส์การขนส่งที่สำคัญหลายสายที่เชื่อมโยงระหว่างเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ซึ่งความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์นี้จึงทำให้อิหร่านสามารถทำหน้าที่เป็น Transit Hub ให้กับประเทศในภูมิภาคและนอกภูมิภาคที่ไม่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและเข้าถึงเส้นทางโลจิสติกส์แบบ Multi Modal ได้เป็นอย่างดี โดยสามารถเข้ามาใช้บริการของอิหร่านที่มีความพร้อม ความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพสูง และ ประหยัด ทั้งนี้ อิหร่านเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีเส้นทางการขนส่งเชื่อมต่อจากอ่าวเปอร์เซียไปยังกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียกลางที่ไมมีพรมแดนติดทะเล โดยเส้นทางนี้จะผ่านแนวระเบียงขนส่งเหนือ-ใต้ หรือ North–South Transport Corridor นอกจากนี้ อิหร่านยังมีศักยภาพในการรองรับแผนการสร้างเส้นทางสายไหมของจีนซึ่งเป็นทางเชื่อมของการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่างถนนรางรถไฟ และการเดินเรือ สามารถขนส่งสินค้าจากจีนและเอเชียกลางผ่านเส้นทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของอิหร่านไปยังกลุ่มประเทศคอเคซัส เอเชียตะวันตกและประเทศในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในขณะเดียวกันกลุ่มประเทศเหล่านี้ก็สามารถส่งออกสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่ายยังตลาดเอเชียกลางและจีนผ่านเส้นทางและบริการขนส่งดังกล่าวได้อีกด้วย
ด้วยตระหนักถึงความสำคัญข้างต้น จึงจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันอิหร่านยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสินค้าทางบก โดยได้พัฒนาเส้นทางขนส่งสินค้าที่เชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษของอิหร่านไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับและพัฒนากลไกในการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าทางถนนข้ามแดน (Inter-state) และผ่านแดน (Transit) ให้มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ทั้งในด้านประสิทธิภาพ คุณภาพ และความมั่นคงปลอดภัยในอนาคต
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอิหร่านเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์กลางการนำเข้าและการส่งออกสินค้า ชื่อ Aprin เฟสที่หนึ่งอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นเมืองท่าทางบกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอิหร่าน ตั้งอยู่ในเขตกรุงเตหะราน โดยมีเป้าหมายให้เป็นท่าเรือบก หรือ Dry Port สำหรับบริเวณพื้นที่ตอนในของประเทศ ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์โลจิสติกส์ขนถ่ายสินค้าและรองรับการขนส่งสินค้าระบบตู้ระหว่างประเทศ โดยในการดำเนินงานจะมีการเชื่อมโยงระบบการขนส่งตั้งแต่ 2 รูปแบบขึ้นไป มีการขนส่งทางรางเป็นระบบหลัก นอกจากนี้ ศูนย์กลางดังกล่าวยังเปิดให้บริการด้าน 1) การตรวจปล่อยสินค้า และ 2) การให้บริการเก็บพักตู้ การกระจาย และรวบรวมตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น รวมไปถึงการเปิดให้บริการด้านพิธีการศุลกากร การตรวจเชคใบขนส่งสินค้า การชำระเงิน และการตรวจปล่อยสินค้าทั้งขาเข้าและขาออก ตลอดจนการขนถ่ายสินค้าผ่านแดนแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One-stop Service ซึ่งรวมไปถึงการตรวจสอบสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์
ทั้งนี้ ท่าเรือบกแห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างจุดตัดของเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสายตะวันออก-ตะวันตกและสายเหนือใต้ อยู่ที่เมืองอิสลามชาร์ (Islamshahr) ห่างจากกรุงเตหะรานประมาณ 20 กิโลเมตร บนพื้นที่ประมาณ 55 เฮกตาร์ (ประมาณ 343.75 ไร่) หลายๆฝ่ายคาดว่าท่าเรือบกแห่งนี้จะสามารถย่นเวลาในการปล่อยผ่านสินค้านำเข้าส่งออก ประหยัดเชื้อเพลิง และลดระยะเวลาการตรวจปล่อยในด่านศุลกากร เป็นต้น ซึ่งจะทำให้มีสินค้าตกค้างในด่านและเสียหายน้อยลง นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างงานให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงนักธุรกิจอิหร่านยังสามารถดำเนินการด้านศุลกากรในการส่งออกสินค้าในเมืองหลวงได้อีกด้วย
ความเห็นสคต.
จะเห็นได้ว่าท่ามกลางการค่ำบาตรอย่างเข้มข้น รัฐบาลอิหร่านได้พยายามอย่างเต็มที่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเตรียมความพร้อมในการขยายรูปแบบและลู่ทางในการทำการค้าระหว่างประเทศผ่านศักยภาพและความได้เปรียบเชิงยุทธสาสตร์ของประเทศเป็นหลัก การพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าการขนส่งในภูมิภาคก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่ภาครัฐในความสำคัญและพยายามพัฒนายกระดับความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานมาโดยตลอด ทั้งในระบบขนส่งทางบกและทางน้ำ เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับแถบขนส่งในภูมิภาคและเส้นทางขนส่งสายไหมที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ซึ่งสอดคล้องกับการรุกขยายเข้ามาของนโยบายเส้นทางสายไหมในทรรศวรรษที่ 21 ของจีน (OBOR) ซึ่ง อิหร่านตั้งเป้าหมายไว้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ อิหร่านจะต้องเป็นประเทศที่มีเส้นทางขนส่งแบบคลองสุเอซ (ทางบก) ของภูมิภาคและของโลกให้จงได้
ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/983694/983694.pdf&title=983694&cate=413&d=0
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!