CEO ARTICLE
10,000 บาท
ทำไม 10,000 บาทในทางเศรษฐศาสตร์กับในทางการเมืองจึงให้ผลต่างกัน ?
คนผู้หนึ่งได้รับเงินฟรี ๆ 10,000 บาท จากรัฐนำไปซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคจนหมด
ในทางเศรษฐศาสตร์หากคนผู้นี้ไปซื้อของจากร้านค้าในระบบภาษี รัฐจะมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% คืนมาเป็นเงิน 700 บาท
จากนั้นพ่อค้าแม่ค้าทุกคนที่ได้รับเงิน 10,000 บาท นำไปซื้อวัตถุดิบ อาหาร และสิ่งจำเป็นอื่นจากร้านค้าในระบบอีก รัฐก็ได้ภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 700 บาท หากหมุนแบบนี้ 15 รอบ รัฐก็มีรายได้จากเงินภาษีมูลค่าเพิ่มกลับมา 10,500 บาท
เงิน 10,000 บาทที่รัฐให้ฟรี นำไปหมุน 15 รอบ รัฐก็ได้เงินกลับคืนหมด หากนับรวมกำไรที่ร้านค้าได้ ภาษีการค้า ภาษีอื่น การจ้างงาน และการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐคงไม่ต้องรอถึง 15 รอบแน่ การแจกเงินของรัฐให้คนเพียง 1 คนจึงส่งผลมากอย่างนี้
หากเพิ่มเป็น 50 ล้านคน ๆ ละ 10,000 บาท ผลในทางเศรษฐศาสตร์ย่อมมากมหาศาล
นี่จึงเป็นเหตุผลในช่วง Covid-19 ที่รัฐของทุกประเทศแจกเงินเยียวยาประชาชนกลุ่มเดือดร้อน ให้ความช่วยเหลือคนยากไร้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และเพื่อให้ผลในทางเศรษฐศาสตร์ไปในตัว
แต่ในทางเศรษฐศาสตร์ ทุก ๆ ประโยชน์ (Benefit) ที่ได้ย่อมมีโทษ (Cost) ตามมา มันเป็นของคู่กัน ประโยชน์ยิ่งมาก โทษก็ยิ่งมาก ประชาชนที่เป็นผู้รับประโยชน์ก็ต้องยอมรับโทษไปด้วย
หากเงิน 10,000 บาทเป็นเงินที่คน 1 คนได้รับมาจากการทำงานปกติ และใช้ออกไปปกติ เงินก็จะหมุนเวียนปกติ ระบบเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และราคาของก็ค่อย ๆ แพงปกติตามอุปสงค์ และอุปทานปกติ ไม่แพงอย่างก้าวกระโดด มีความเป็นธรรมชาติ และมีการปรับตัวของประชาชน
แต่เงิน 10,000 บาทที่ตกใส่ 50 ล้านคน กลายเป็นเงิน 5 แสนล้านบาท โยนใส่โครมใหญ่ย่อมทำให้เศรษฐกิจถูกกระชาก เงินเฟ้อ ราคาของยิ่งวิ่งกระฉูดโครมใหญ่ แพงขึ้นเป็นเงาตามตัว
นี่ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่รัฐของทุกประเทศไม่ทำประชานิยมสุดโต่ง ไม่แจกเงินกับคนที่ไม่ควรแจก แต่จะช่วยคนไร้ความสามารถ ใช้เงินเพียงพยุง และกระตุ้นเศรษฐกิจตามหลักเศรษฐศาสตร์
ในทางเศรษฐศาสตร์ เงิน 10,000 บาท มีทั้งประโยชน์และโทษที่พอเข้าใจได้
แต่ในทางการเมือง เงิน 10,000 บาทซับซ้อนกว่า มีคะแนนนิยมให้ช่วงชิง มีการแจกเงินให้กับคนที่ไม่ควรแจก มีผลประโยชน์ทับซ้อน และมีโทษ เงิน 10,000 บาทจึงเป็นเรื่องเข้าใจยากกว่า
เมื่อต้องการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ การแจกน้อย ๆ ไม่พอ ต้องแจกให้มากกว่า 10,000 บาท แจกทั้งคนจน คนไร้ความสามารถ แจกทั้งคนมีงานดี ๆ ทำ และคนรวยที่มีเงินเก็บมาก ๆ
ประชาชนโดนแบบนี้ก็ชอบ ใครโดนก็เอา ไม่สนว่าเงินมาจากภาษีกองไหน เป็นเงินดิจิตอล เงินสด หรือคูปอง มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ไม่รู้ จะกู้อย่างไร เงินเฟ้อ ของแพง ไม่สน
พรรคการเมืองโน้นแจก พรรคนี้ก็แจก คะแนนนิยมของทุกพรรคพุ่งหยุดไม่อยู่
หลังเลือกตั้ง ทุกพรรคที่แจกต้องได้ร่วมรัฐบาล ต้องแจกตามที่พูดไว้ เงินไม่พอต้องกู้ หนี้เก่ากองใหญ่ยังไม่หมด ประเทศเป็นหนี้เพิ่ม เงินภาษีในอนาคตต้องนำไปใช้หนี้และดอกเบี้ย
มันเป็นหลักเศรษฐศาสตร์ธรรมดาที่นักการเมืองรู้ แต่ก็ต้องแจกเพื่อคะแนนนิยม
หากประชาชนได้เงินแล้วมุ่งทำงานมาก จ่ายภาษีมากให้รัฐมีรายได้มากไปใช้หนี้ก็โอเค แต่หากได้เงินแล้วยังไม่มุ่งทำงานไม่จ่ายภาษีมาก แบบนี้รัฐจะเอารายได้จากที่ไหน ยิ่งหากต้องการให้แจกเงินอีก การกู้เพื่อแจก เพื่อแลกคะแนนนิยมก็ต้องเกิดขึ้นอีกวนเวียนเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจแน่
หลายประเทศเคยเกิดวิกฤติ ประเทศไทยก็เคยเกิดในปี พ.ศ. 2540
เวลานั้น รัฐบาลถูกเจ้าหนี้บังคับให้ขึ้นภาษีเพื่อให้รัฐมีรายได้เพิ่ม ของก็แพงขึ้น คนตกงาน เดือดร้อนไปทั่ว วิกฤติในปีนั้นคนจึงฆ่าตัวตายมาก และประเทศก็เกือบล้มละลาย
“ภาษี” คือรายได้เดียวของรัฐ เงินที่แจกฟรีให้กับคนที่ไม่ควรได้ก็คือภาษี ผลเสียจึงมีมาก
ตอนนี้ คนมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์และสถาบันทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น TDRI ต่างออกมาเตือนทุกพรรคที่จะแจกมโหฬารอย่างนี้ ผู้รู้บางท่านประชดให้เตรียมขึ้นภาษี ภาษีขึ้นของก็แพงขึ้น แต่จะมีนักการเมืองที่ไหนฟัง และจะมีประชาชนที่อยากได้เงินที่ไหนฟัง
วันนี้ ทุกอย่างจึงลงตัว พรรคที่แจกเงินย่อมได้คะแนน ประชาชนหวังได้เงินก็ให้คะแนน
ภาษีไม่ใช่ของนักการเมือง แต่เป็นของประชาชนที่จ่ายภาษี นักการเมืองเป็นเพียงผู้แจกให้ มันจึงอยู่ที่ประชาชนส่วนใหญ่จะเลือกรับเงินจากนโยบายของพรรคการเมืองไหน
ประชาชนส่วนใหญ่เลือกนักการเมืองอย่างไร ประเทศก็จะเป็นอย่างนั้น วันนี้ทุกอย่างอยู่ที่ประชาชน เงิน 10,000 บาทที่เหมือนกัน แต่ในทางการเมืองจึงให้ผลต่างกันมากขนาดนี้.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
👉 Home and Health … https://www.inno-home.com
👉 Art and Design …… https://www.cose.life
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : April 18, 2023
Logistics
ท่าเรือกวนตันของมาเลเซียจะกลายเป็นศูนย์กลางการค้าเชิงกลยุทธ์ของประเทศ
ท่าเรือกวนตันเป็นท่าเรือที่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของมาเลเซียมีการเติบโตจากท่าเทียบเรือขนาดเล็กไปสู่ศูนย์กลางการค้าที่สำคัญขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งท่าเรือดังกล่าวเป็นตัวเชื่อมโยงประเทศมาเลเซียกับตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ท่าเรือกวนตันมีความแตกต่างจากท่าเรือหลักของมาเลเซียที่จะตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของประเทศที่หันหน้าเข้าหาช่องแคบมะละกา ซึ่งท่าเรือแห่งนี้จะเติบโตขึ้นด้วยแรงสนับสนุนจากการค้าที่เชื่อมต่อกับเขตอุตสาหกรรมมาเลเซีย-จีนกวนตัน (MCKIP) และจะเชื่อมต่อกับทางรถไฟชายฝั่งตะวันออก East Coast Rail Line (ECRL) โครงการรถไฟขนาดใหญ่ของมาเลเซียสร้างโดย China Communications Construction Company (CCCC)
นาย Vino Kumar Selvabalakrishnan ประธานเจ้าหน้าที่บริหารท่าเรือกวนตันสัมภาษณ์ว่าการเชื่อมต่อระหว่างกันมากขึ้นกับศูนย์กลางอุตสาหกรรม MCKIP และ ECRL ทำให้ท่าเรือสามารถเข้าถึงตลาดเอเชียตะวันออกที่กำลังเฟื่องฟูแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ซึ่งสินค้าที่ผลิตในมาเลเซียเป็นที่ต้องการสูงในตลาดจีน อีกทั้งการขยายและการปรับปรุงท่าเรือให้ทันสมัยจะช่วยส่งเสริมการค้าอย่างมากโดยอนุญาตให้เรือขนาดใหญ่เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือ ซึ่งจากการศึกษาอุตสาหกรรมการเดินเรือของจีนโดยตรงเขาเน้นย้ำถึงความสำคัญของท่าเรือที่มีต่อการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอ้างถึงการก่อสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ของจีนที่เปิดทางเข้าสู่ตลาด และอนุญาตให้สินค้าที่ผลิตของจีนสามารถจัดส่งไปยังตลาดโลกได้ซึ่งแน่นอนว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจของมาเลเซียได้อย่างแน่นอน
อีกทั้ง Malaysia–China Kuantan Industrial Park (MCKIP) เป็นโครงการความร่วมมือ Belt and Road ที่สำคัญของความร่วมมือด้านกำลังการผลิตอุตสาหกรรมข้ามพรมแดน รวมไปถึง โครงการ MCKIP ได้ร่วมกับสวนอุตสาหกรรมจีน-มาเลเซีย ฉินโจวที่ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ได้สร้างตัวอย่างนวัตกรรมของความร่วมมือทางเศรษฐกิจทวิภาคีภายใต้โมเดล “Two Countries, Twin Parks.” หรือ “สองประเทศ สองอุทยาน”
ความเห็น สคต.
รัฐบาลมาเลเซียได้ขยายและการปรับปรุงท่าเรือกวนตันให้ทันสมัยเตรียมรับเรือขนาดใหญ่เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย โดยท่าเรือแห่งนี้จะสอดรับกับเส้นทางการค้าที่เชื่อมต่อกับเขตอุตสาหกรรมมาเลเซีย-จีนกวนตัน (MCKIP) และจะเชื่อมต่อกับทางรถไฟชายฝั่งตะวันออก East Coast Rail Line (ECRL) เป็นไปตามกลยุทธ์การสร้างความมั่นคงให้กับมาเลเซียที่เดินหน้าผลักดันมาเลเซียให้เป็น Logistic Hup ของภูมิภาคอาเซียน สำนักงานฯ มีความเห็นว่าโครงการดังกล่าวที่มาเลเซียกำลังพัฒนาอยู่นี้ สามารถเป็นช่องทางการกระจายสินค้าและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยที่ไม่ใช่แค่อาหารเท่านั้น แต่รวมไปถึงสินค้าอุปโภคที่ฮาลาล ซึ่งหากสินค้าใดได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาลของมาเลเซียจะสามารถต่อยอดตลาดและส่งออกได้ทั่วโลก
ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/1000079/1000079.pdf&title=1000079&cate=413&d=0
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!