CEO ARTICLE
ความไม่เท่าเทียม
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ “ความไม่เท่าเทียม” ไม่หมดไปจากแผ่นดินไทย ?
ความไม่เท่าเทียมเกิดจากมนุษย์ทุกคนเกิดมาไม่เหมือนกัน มีสติ และปัญญาไม่เท่ากัน
เมื่อแต่ละคนผ่านการเรียนรู้ และประสบการณ์ชีวิตไม่เท่ากัน ความสามารถในการช่วงชิงทรัพยากรจึงไม่เท่ากันจนกลายเป็นความไม่เท่าเทียม
หลายร้อยปีที่ผ่านมา มนุษย์แก้ไขความไม่เท่าเทียมโดยการใช้ “ภาษี” เป็นเครื่องมือ
ผู้ใดมีความสามารถมาก ช่วงชิงทรัพยากรได้มาก ได้ทรัพสินส่วนตัว ได้งาน รายได้ กำไร ผลิต นำเข้า ส่งออก ได้ประโยชน์จากทรัพยากร การบริการของรัฐ และอื่น ๆ ผู้นั้นต้องเสียภาษีมาก
ผู้ใดมีความสามารถน้อย ช่วงชิงได้น้อย ผู้นั้นก็เสียภาษีน้อย หรือไม่ต้องเสียเลย จากนั้นรัฐก็นำเงินภาษีที่ได้รับไปแก้ไขความไม่เท่าเทียมด้วยวิธีการหลัก ๆ 3 ทาง
1. คนไร้ความสามารถ ให้ได้ทรัพยากรฟรีเหมือนการให้ปลาฟรีโดยไม่ต้องจับ
2. คนมีความสามารถน้อย ให้มีโอกาสช่วงชิงทรัพยากรมากขึ้นเหมือนการสอนให้จับปลา
3. คนมีความสามารถปกติ ให้เพิ่มขีดความสามารถโดยการสร้างถนน ไฟฟ้า สาธารณูปโภค จ้างข้าราชการเพื่อคอยบริการ ทหาร ตำรวจ รักษาทรัพยากร และอื่น ๆ อีกมากเพื่อให้มีโอกาสช่วงชิงทรัพยากรได้มากขึ้น ดีขึ้น เหมือนการสร้างเครื่องมือให้จับปลา
ภาษีจึงเป็นเครื่องมือเบื้องต้นที่จะแก้ไขความไม่เท่าเทียม ประชาชนเกือบทั้งประเทศเป็นผู้จ่าย มากบ้าง น้อยบ้าง ผ่านหยาดเหงื่อ แรงกาย เต็มใจ ไม่เต็มใจ ผ่านความเป็น ความตาย และผ่านการสาปแช่งของคนมากมาย
ภาษีจึงเป็นเงินของแผ่นดินที่ศักดิ์สิทธิ์ มีกฎหมายคุ้มครอง ผู้ใดจะนำไปใช้ไม่ได้ง่าย ๆ
การใช้เงินแผ่นดินต้องเสนอเป็นกฎหมาย ยื่นผ่านตัวแทนประชาชน หรือ ส.ส. ที่ประชาชนเลือกมา พิจารณาข้อดี ข้อเสีย มีการลงมติ ให้ได้เกินกว่ากึ่งหนึ่งให้เป็น “พรบ. งบประมาณ”
นักการเมืองจึงเป็นบุคคลกลุ่มเดียวที่เข้าถึงเงินศักดิ์สิทธิ์ และเป็นผู้แก้ไขความไม่เท่าเทียม
แต่จากตัวเลขผู้มาขึ้นทะเบียนคนจนปลายปี 2565 มีมากถึง 22 ล้านคน
หากนับรวมคนจนที่ขึ้นทะเบียนไม่ได้จากจำนวนประชากร 66 ล้านคน แสดงว่าคนจนของไทยมีมากกว่า 1 ใน 3 ความไม่เท่าเทียมจึงมีมาก ฝังรากมานาน การแก้ไขจึงต้องยั่งยืน เป็นระบบที่ต้องเริ่มจากการพื้นฐานปัญหาก่อน แค่นี้ก็ฟังยาก เข้าใจยาก เห็นผลก็ยาก และนาน
การแจกเงินเข้าใจง่ายกว่า แม้เงินไม่มาก แต่ฟังแล้วชื่นใจ คนอยากได้เงินฟรีอยู่แล้วก็ชอบ
นักการเมืองรู้ เงินภาษีไม่ใช่ของนักการเมืองจึงแจกเงินเพื่อคะแนนนิยม แจกให้มากขึ้น ให้ทั้งคนจน คนรวย ให้ทั้งประเทศ ไม่สอนให้จับปลา ไม่สร้างโอกาส แต่ให้ปลาฟรี ๆ จนเสพติดไปทั่ว
บ้านโน้นได้เงินฟรี บ้านนี้ก็ต้องได้ ทุกคนอยากได้เงินแจกฟรี พอเงินภาษีไม่พอก็ต้องกู้ ต้องผ่อนคืน ผ่อนไม่ไหวก็ต้องเพิ่มภาษี เงินเฟ้อ ของแพง เพิ่มภาระประชาชนในอนาคต เพิ่มความไม่เท่าเทียมให้กว้างขึ้น เพิ่มการสาปแช่งของคนซื้อของแพง และไม่อยากเสียภาษีให้มากยิ่งขึ้น
การกู้ที่ดีคือ การกู้เพื่อการลงทุน การพัฒนา สร้างงาน หรือการสร้างโอกาสในการช่วงชิงทรัพยากรให้มากยิ่งขึ้น ส่วนการกู้ที่เลวคือ การกู้เพื่อบริโภค และเพื่อแจกที่ไม่จำเป็น
ผลเสียมีมาก นักการเมืองก็รู้ แต่ต้องได้จำนวน ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งเพื่อผ่านงบประมาณ เพื่ออำนาจ เพื่อเอาเงินภาษีออกมาใช้ ประชาชนอาจรู้ อาจไม่รู้ แต่ไม่สนคล้าย “คนตาบอดไม่กลัวเสือ”
แบบนี้ความไม่เท่าเทียม และความเหลื่อมล้ำจะหมดไปจากแผ่นดินไทยได้อย่างไร
นักวิชาการต่างท้วงกันมาก แต่กลับขัดใจคนที่อยากได้ปลาฟรี ๆ นักการเมืองที่ดีควรเสนอนโยบายเพิ่มขีดความสามารถ เพิ่มโอกาศ และสร้างวิธีการให้จับปลามากกว่าการแจกเงิน
แต่นี่กลับนำเงินภาษีนับแสนล้านบาทที่ผ่านการสาปแช่งมาทุ่มกับประชานิยมสุดโต่ง
นักการเมืองดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมไม่อยากทำ แต่นักการเมืองที่อยากได้แต่อำนาจ แต่ไม่รับผิดชอบอยากทำเพื่อคะแนนนิยมและอำนาจ ความเท่าเทียมจึงไม่หมดไปจากแผ่นดินไทย
การแก้ไขความไม่เท่าเทียมต้องเริ่มจากนักการเมืองดี นโยบายดี แข่งกันให้ประชาชนเลือก และไม่ว่าจะเลือกอย่างไรก็จะได้แต่สิ่งดี แต่เรื่องแบบนี้ในวันนี้ไม่ปัง ฟังยาก และไม่มีใครฟังแล้ว
ประเทศไทยจึงมีนักการเมืองที่ขาดความรับผิดชอบมากขึ้น แจกเงินมากขึ้น สร้างการเสพติดให้ประชาชนมากขึ้น และจมอยู่กับความไม่เท่าเทียมหนักขึ้น
“คนตาบอดไม่กลัวเสือ” อาจจริง หรือไม่จริง วันที่ 14 พ.ค. 2566 จะได้คำตอบเอง.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
👉 Home and Health … https://www.inno-home.com
👉 Art and Design …… https://www.cose.life
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : April 25, 2023
Logistics
เที่ยวบินชิงต่าว-กรุงเทพฯ พร้อมกลับมาให้บริการอีกครั้ง โอกาสเกิดการท่องเที่ยวแบบล้างแค้นของชาวซานตงมากน้อยเพียงใด?
วันนี้ BIC ชิงต่าว มีข่าวดีมาเรียนให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่า สายการบินซานตงแอร์ไลน์ จะกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินบินตรงชิงต่าว – กรุงเทพฯ และ กรุงเทพฯ – ชิงต่าว อีกครั้ง โดยจะเริ่มเปิดให้บริการเที่ยวบินปฐมฤกษ์หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในวันพฤหัสบดี ที่ 27 เมษายน ศกนี้ มีตารางบิน ชิงต่าว – กรุงเทพฯ ในทุกวันพฤหัสบดี และ กรุงเทพฯ – ชิงต่าว ในทุกวันศุกร์ของสัปดาห์
BIC ชิงต่าว ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลสถิติที่ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการสำรวจพบว่า ร้อยละ 90 ของ ประชากรชาวซานตง ซึ่งมีจำนวนกว่า 100 ล้านคน สนใจไปเที่ยวในเอเชียเมื่อจีนเปิดประเทศ และประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวอันดับแรกของชาวซานตง การเปิดเที่ยวบินบินตรงในครั้งนี้จึงเป็นปัจจัยที่จะส่งเสริมให้มีชาวซานตงเดินทางไปประเทศไทยมากขึ้น ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชากรทั้งสองประเทศที่ต้องการเดินทางระหว่างมณฑลซานตงและประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญอีกหนึ่งช่องทางในการแลกเปลี่ยนและไปมาหาสู่ของประชากรทั้งสองประเทศ รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการท่องเที่ยวของชาวจีนในทุกช่วงวัยซึ่งครอบคลุมชาวซานตงและชิงต่าว มีการใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น และเป็นที่ทราบกันดีว่า สินค้าไทย อาหารไทย นวดแผนไทย และอื่น ๆ ล้วนเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน ดังนั้น BIC ชิงต่าว เชื่อมั่นว่า เมื่อชาวซานตงไปเยือนประเทศไทยหลังการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ที่ล่วงเวลามากว่า 3 ปี พร้อมที่จะเพลิดเพลินและใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งนี้แน่นอน ซึ่งอาจจะมาในแบบ “Revenge Travel” หรือที่เรียกว่า “การเที่ยวล้างแค้น” เนื่องจากการไม่ได้เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศมาเกือบ 3 ปี รายได้เข้าประเทศไทยที่มาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนคงจะสร้างมูลค่าได้ไม่น้อย และสัดส่วนรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวชาวซานตงที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของจีน ก็จะสร้างมูลค่าได้ไม่น้อยทีเดียว
ที่มา: https://thaibizchina.com
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!