CEO ARTICLE
เธอจะเลือกใคร
เธอจะเลือกใครในการเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. 2566 ?
หากเธอมีนักการเมือง หรือพรรคการเมืองในดวงใจอยู่แล้ว เธอคงไม่กังวลใด ๆ แต่สำหรับคนที่พิจารณาถึงผลที่จะตามมาในอนาคตภายหลังการเลือกก็อาจต้องมีข้อมูลครบทุกด้าน
ตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมา การเมืองไทยก็แตก 2 ขั้ว ประชาชนแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ขัดแย้ง เกียจชัง ต่อสู้ บาดเจ็บ ล้มตายไปมากเพียงเพื่อให้นักการเมืองที่ตนชื่นชอบชนะ
น่าเสียดาย การเลือกตั้งครั้งนี้คงไม่มีพรรคใดได้คะแนนมากพอ ตัวเลือกนายกรัฐมนตรีจึงจำกัดที่ตัวเต็ง 2 ลุงคือ ลุงตู่กับลุงป้อม 2 หลานคือพิธากับอุ๊งอิ๊ง ส่วนคุณเศรษฐาไม่มีใครฟันธงว่าจะเป็นตัวเลือกแทนอุ๊งอิ๊ง และอีกมี 1 อาคือคุณอนุทินที่อาจสอดแทรก รวมเป็น 5 ตัวเต็ง
ลุงตู่มีข้อเสียคือ เรื่องที่ยังไม่ได้ทำมีมาก ทำไม่ถูกใจคนก็มาก เรื่องที่ทำสำเร็จและถูกใจก็มีมาก อยู่ที่จะมองมุมไหน คนไม่ชอบลุงตู่อยากให้พัก แต่คนชอบก็อยากให้ลงต่อ ยิ่งมีข่าวยกเลิก ม. 112 และการกลับบ้านของลุงโทนี่ คนที่ไม่ชอบก็ยิ่งออกมาเชียร์ลุงตู่
ลุงตู่จะได้เป็นนายกฯ อีกรอบก็ต่อเมื่อลุงป้อมและคุณอนุทินยอมภายใต้เงื่อนไขที่ลุงตู่ต้องได้เสียง ส.ส. มากพอควร และพรรคอื่นในซีกนี้ยอมด้วย
ลุงป้อมจะได้เป็นนายกฯ เพียงเงื่อนไขเดียวคือ อุ๊งอิ๊งยอมซึ่งเงื่อนไขนี้มีการปฏิเสธแล้ว แต่คนไม่เชื่อมีมากเพราะเพื่อให้ได้อำนาจในทางการเมือง “อะไรก็เกิดขึ้นได้”
อุ๊งอิ๊งจะเป็นนายกฯ ได้ก็ต่อเมื่อลุงป้อมย้ายขั้วและพิธายอมซึ่งอาจมีคุณอนุทินร่วมกัน แต่คงยุ่งมากเพราะพิธากับ ม. 112 มีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน และจะถาโถมความขัดแย้งให้มากขึ้น
พิธาจะเป็นนายกฯ ได้ก็ต่อเมื่ออุ๊งอิ๊งและคุณอนุทินยอม แต่ดูแล้วคงยาก ทั้งอุ๊งอิ๊งและพิธายังขาดผลงานในการบริหารบ้านเมืองเชิงประจักษ์ ส่วนคุณอนุทินมีผลงาน แต่เป็นนายกฯ ได้ก็ต่อเมื่อลุงป้อม ลุงตู่ อุ๊งอิ๊งและพรรคอื่นยอม ตัวเต็ง 5 คนจึงพันกันจนแยกกันไม่ออก
นักการเมืองที่จะเป็นนายกฯ ต้องแสดงความสามารถเชิงบริหารให้เห็นมาก ๆ แต่ส่วนใหญ่กลับสาดโคลนใส่คู่แข่งให้เห็นมากกว่า คล้ายมีความสามารถน้อย เอาแต่จุดอ่อนคู่แข่งมามุ่งโจมตี เอาใจแฟนการเมือง แต่โถมความเกลียดชัง ทุกคนจึงเป็นได้ทั้งของจริงและของปลอม
นักการเมืองที่มีความสามารถน้อย คิดอะไรไม่ออกก็เอาเงินภาษีของประชาชมาทำประชานิยม ตอนนี้ทุกคนก็รู้แล้ว ประชานิยมยิ่งมาก ใช้เงินไม่เหมาะสมมาก ขัดต่อหลักเศรษฐศาสตร์มาก ประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวยอย่างไทยในอนาคตก็จะยิ่งลำบากมาก คนที่ลำบากก็หนีไม่พ้นประชาชน
ม. 112 มีทั้งคนอยากแก้ไข อยากยกเลิก อยากให้คงไว้ และอยากให้เพิ่มโทษ
แต่กลับไม่มีใครบอกเหตุผลที่แท้จริงที่ต้องการ “วิจารณ์สถาบันแบบข้อมูลไม่ครบ แบบเดา ๆ ถูก ๆ ผิด ๆ คืออะไรกันแน่ ?” ทั้งที่หลักกฎหมาย ทุกคนสามารถวิจารณ์ในสิ่งที่ถูกต้องได้
แต่ทำไมอยากวิจารณ์โดยไม่ไตร่ตรอง วิจารณ์ให้ผิดเพื่อให้ถูกฟ้อง … ทำไม ???
การเลือกตั้งไม่ใช่การเลือกนางงาม ไม่ได้เลือกคนสวย หุ่นดี แต่เลือกคนดีที่สามารถนำพาประเทศให้ก้าวหน้า ไม่ติดหล่มความขัดแย้งซ้ำซากจึงต้องมองให้ลึก ให้เห็นผลที่จะตามมา
ข้อดีของการเลือกตั้งคือ เลือกผิดก็รออีก 4 ปี เลือกใหม่ได้ แต่ข้อเสียคือ ความเสียหายที่ทุกคนในประเทศจะได้รับในอีก 4 ปีซึ่งหลายประเทศไม่สามารถแก้ตัวใหม่ได้เลย
ยูเครนเลือกผู้นำแล้วเป็นชนวนสงครามกับรัสเซีย ประชาชนบาดเจ็บ ล้มตายเป็นเบื่อ บ้านเรือนพังพินาศ เศรษฐกิจล้มกระทบไปทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ไทย
ส่วนไต้หวันที่ได้ผู้นำจากการเลือกตั้งก็กำลังปะทะกับจีน อาจเกิดสงครามที่ผลเสียทั่วโลกยกเว้นประเทศที่ขายอาวุธ ส่วนสหรัฐ รัสเซีย และจีนก็ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดสงครามเมื่อไหร่
สงครามทั่วโลกไม่แน่นอน ทหารและอาวุธยังจำเป็น ทุกอย่างจึงอยู่ที่วิธีการบริหารประเทศ และตัวนายกรัฐมนตรีที่เธอกำลังจะเลือก หรือไม่เลือกในครั้งนี้
เธอคงไม่ปฏิเสธว่า วิกฤติการเมืองที่ผ่านมาในไทยทุกเรื่องมีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง ส่วนใครมีวาระซ่อนเร้นอะไร มีผลประโยชน์ทับซ้อนอะไร หน้าไหว้หลังหลอกอย่างไร เธอคงดูออกแล้ว
วันนี้เธอกำลังจะเลือกเขา เมื่อเลือกแล้ว ไม่ว่าเขาจะดีหรือร้ายอย่างไร ทำให้ประเทศเจริญหรือเลวร้าย แตกแยกมากขึ้นหรือลดลงเพียงไหน อีก 4 ปีเขาก็จากไป
แต่เธอ และครอบครัวที่เธอรักต้องรับผลที่เธอเลือก และต้องสืบเผ่าพันธ์กับผลนั้นต่อไป
เธอจึงควรมองคนและเรื่องราวให้รอบด้าน มองด้วยใจไม่เอนเอียง ฟังเสียงค้านเพื่อถ่วงดุล พิจารณาผลที่จะตามมาด้วยหลักการ และตัดสินใจด้วยเหตุผลเพื่อที่จะเลือกใครในครั้งนี้.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
👉 Home and Health … https://www.inno-home.com
👉 Art and Design …… https://www.cose.life
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : May 9, 2023
Logistics
ปริมาณการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือ Antwerp-Bruges ลดลงในไตรมาสแรกของปี 2566
ท่าเรือ Antwerp-Bruges มีปริมาณการขนส่งสินค้าในไตรมาสแรกของปี 2566 รวม 68.7 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และบริบทของเศรษฐกิจมหภาคที่ยังคงมีความซับซ้อน แม้ว่าความท้าทายในการปฏิบัติงานที่ท่าเรือ โดยเฉพาะที่ท่าเทียบเรือ (Container Terminal) อาทิ ความหนาแน่นของท่าเทียบเรือ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้นกว่าปีที่แล้วมาก แต่ท่าเรือ Antwerp-Bruges ต้องเผชิญกับปริมาณการขนส่งสินค้ารวมถึงจำนวนตู้ขนส่งสินค้าที่ลดลง และการเปลี่ยนแปลงในการขนส่งสินค้าหรือการไหลเวียนของสินค้าที่สำคัญ อาทิ การขนถ่ายสินค้าเหล็กที่ลดลงร้อยละ 22
ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อส่งผลให้อุปสงค์ในการขนส่งสินค้าทางตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลกชะลอตัว และมีการยกเลิกเส้นทางการเดินเรือในบางเส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางที่มาจากตะวันออกไกล สถานการณ์สงครามในยูเครนส่งผลกระทบอย่างมาก การขนส่งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับรัสเซียในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ลดลงต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึงสองในสาม
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งมีความแข็งแกร่งมากจากการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไตรมาสแรกของปี 2566 การขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์มีน้ำหนักลดลงร้อยละ 6.6 และมีจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตลดลงร้อยละ 5.7 ปริมาณการขนถ่ายสินค้าทั่วไป (สินค้าที่ขนส่งในกล่องและไม่ใช่ตู้คอนเทนเนอร์) ลดลงถึงร้อยละ 19.8 กลุ่มสินค้าที่เป็น Dry Bulk ลดลงเช่นกันที่ร้อยละ 7.3 ในขณะที่กลุ่มสินค้าที่เป็น Liquid Bulk เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5 และการขนส่งแบบ Roll-on/Roll-Off ยังคงอยู่ในระดับเดิม
บทวิเคราะห์และความเห็น สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก
ในปี 2565 ที่เต็มไปด้วยความท้าทายมากมายสำหรับท่าเรือ Antwerp-Bruges ทั้งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ วิกฤตพลังงาน การหยุดชะงักอย่างต่อเนื่องในห่วงโซ่อุปทาน และการเปลี่ยนแปลงของกระแสสินค้าต่างๆ ทำให้เกิดแรงกดดันอย่างต่อเนื่องสำหรับการขนส่งสินค้าทางตู้คอนเทนเนอร์และส่งผลกระทบต่อปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมด ซึ่งในปี 2565 มีปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมด 286.9 ล้านตัน ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีความตึงเครียดและยืดเยื้อ การคว่ำบาตรรัสเซีย และวิกฤตพลังงาน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระแสพลังงานในยุโรปอย่างมาก มีปริมาณการขนส่งสินค้าถ่านหินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 210 หรือ 3 เท่า เนื่องจากมีความต้องการใช้ถ่านหินในการผลิตพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก และมีปริมาณการขนส่งก๊าซ LNG เพิ่มสูงขึ้นมากเช่นกัน เนื่องจากก๊าซ LNG เป็นทางเลือกแทนก๊าซธรรมชาติที่ส่งผ่านทางท่อส่งก๊าซจากรัสเซีย แต่ปริมาณการขนส่งก๊าซหุงต้ม น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และแนฟทาทั้งปีลดลงร้อยละ 1 เนื่องจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นสร้างแรงกดดันต่อภาคส่วนเคมีภัณฑ์ในยุโรปค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการของแพลตฟอร์มท่าเรือ Antwerp และท่าเรือ Zeebrugge เมื่อเดือนเมษายนปี 2565 เป็นท่าเรือ Antwerp-Bruges เป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก ทำให้ท่าเรือ Antwerp-Bruges เป็นท่าเรือส่งออกสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป มีความยืดหยุ่นมากขึ้นต่อความท้าทายในอนาคต และจะเป็นท่าเรือที่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นท่าเรือแห่งแรกของโลกที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจ สังคม ผู้คน และสภาพอากาศ กับส่วนอื่นๆ ของโลกเข้าไว้ด้วยกัน กระแสการลงทุนและโครงการใหม่ๆ ตั้งแต่การควบรวมกิจการเป็นการยืนยันความสามารถในการแข่งขันและมูลค่าเพิ่มของท่าเรือแบบครบวงจร และด้วยความยืดหยุ่นของแพลตฟอร์มท่าเรือ ทำให้สามารถดำเนินการขั้นตอนสำคัญในโครงการต่างๆ ที่มีส่วนสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนและทำให้ท่าเรือ Antwerp-Bruges เป็นผู้บุกเบิกในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยมีโครงการที่พร้อมจะต่อยอดในปี 2566 โดยการผนึกกำลังกับพันธมิตร เช่น กลยุทธ์ไฮโดรเจนที่จะเปลี่ยนท่าเรือให้เป็นศูนย์กลางไฮโดรเจนของยุโรปสำหรับการนำเข้า การผลิตในท้องถิ่น และปริมาณไฮโดรเจนสีเขียว นอกจากนี้ ยังจะมีการใช้เรือ Hydrotug และ Methatug ซึ่งเป็นเรือไฮโดรเจนและเมทานอลลำแรกของโลก และเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน และมีการใช้ระบบ Digital Twin สำหรับพื้นที่ท่าเรือพร้อมข้อมูล Real Time โดรน และกล้องอัจฉริยะบนทั้งสองแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างให้ท่าเรือ Antwerp-Bruges เป็นท่าเรืออัจฉริยะที่มีความปลอดภัยและราบรื่น และคาดหวังว่าการดำเนินกลยุทธ์และโครงการต่างๆ ของท่าเรือ Antwerp-Bruges จะส่งผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้า รวมถึงจำนวนตู้ขนส่งสินค้าทั้งปี 2566 สามารถฟื้นตัวและกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นได้
ที่มา : https://www.ditp.go.th/post/81573
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!