CEO ARTICLE
MOU กับ MOA
MOU ที่ฮิตในเวลานี้คืออะไร ต่างจาก MOA อย่างไร ???
MOU ย่อมาจากคำว่า Memorandum of Understanding
Memorandum มีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า Memo คือบันทึกที่คนทำงานในองค์กรต่าง ๆ รู้จักกันดี เป็นหนังสือที่ทุกหน่วยงานใช้เพื่อสั่งงาน เตือนความจำ และป้องกันการหลงลืม
เมื่อนำ Memo มารวมกับคำว่า Understanding จึงเป็น MOU ซึ่งหมายถึง “บันทึกแสดงความเข้าใจเพื่อเตือนความจำ” เป็นหนังสือที่แสดงความต้องการจะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง และผู้ลงนามทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน
MOU ส่วนใหญ่จะทำระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 กลุ่มขึ้นไปที่แสดงเจตนารมณ์จะทำอะไรร่วมกันด้วยความเต็มใจ และผู้ลงนามทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกันขณะลงนาม
ขอย้ำว่า ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันขณะลงนาม แต่ในภายหลังอาจตีความไปคนละทางก็ได้
เนื้อหาและเงื่อนไขใน MOU จึงเป็นแบบกว้าง ๆ ไม่ระบุรายละเอียดให้ชัดเจน และไม่มีผลผูกมัดในทางกฎหมาย (Non-Legally Binding Agreement)
ด้วยเหตุนี้ เมื่อธุรกิจ เอกชน และองค์กรภาครัฐได้บรรลุข้อตกลงกันเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ไม่สามารถลงรายละเอียดได้ และยังทำสัญญต่อกันไม่ได้จึงนิยมทำ MOU ที่ดูจะยืดหยุ่นมากกว่า คุยกันใหม่ง่ายกว่า เปลี่ยนแปลง หรือฉีกทิ้งได้ง่ายกว่า
MOA ย่อมาจากคำว่า Memorandum of Agreement
MOA มีคำว่า Agreement หมายถึง ข้อตกลง หรือสัญญา MOA จึงเป็น “บันทึกข้อตกลง” มีลักษณะเป็นสัญญา มีการระบุกิจกรรมที่จะทำชัดเจน มีรายละเอียด มีหลักเกณฑ์ มีข้อบังคับ มีการลงนาม และเป็นข้อผูกมัดบุคคลให้ปฏิบัติตามที่ตกลง
MOA มีสภาพบังคับตามกฎหมาย (legally binding agreement) ฝ่ายใดผิดสัญญา อีกฝ่ายสามารถฟ้องร้องได้ (พิสิษฐ์ วงศ์เธียรธนา http://law.disaster.go.th/)
MOU และ MOA มีคำว่า Memo นำหน้าเหมือนกันจึงดูคล้ายกัน แต่ที่ต่างกันคือ ความหนักแน่น และผลทางกฎหมายที่ผู้มีความรู้จะเลือกใช้เพื่อผลประโยชน์ที่ตนเล็งเห็น
MOU กลายเป็นคำฮิตในเวลานี้คงเนื่องมาจากการจัดตั้งรัฐบาล
การเมืองเป็นเรื่องแย่งชิงอำนาจ และผลประโยชน์ทั้งในทางแจ้งและทางลับ ในอดีตการจัดตั้งรัฐบาลส่วนใหญ่จะหารือกันในทางลับมากกว่า จะมีขั้น มีตอน เรื่องใดที่ผลประโยชน์ลงตัวก็จะประกาศในที่แจ้ง ไม่มีการทำ MOU แต่หากผลประโยชน์ยังไม่ลงตัวก็เก็บนิ่งไว้ก่อน
การออกมาคุยในที่แจ้งด้วย MOU จึงน่าจะมีความหมายที่พอจะเดาได้ เช่น
1. ต้องการประกาศชัยชนะทันทีภายหลังการเลือกตั้ง
2. ต้องการต้องชิงการนำจัดตั้งรัฐบาล
3. ต้องการแสดงความเป็นคนรุ่นใหม่ ไฟแรง มีความเป็นมืออาชีพ
4. ต้องการให้ประชาชนรู้ว่ารัฐบาลใหม่จะทำอะไรกว้าง ๆ ไม่มีความลับ
5. ต้องการผูกมัดขั้วการเมืองทั้งที่รู้ว่าไม่มีผลทางกฎหมาย
6. ผู้ลงนามที่ไม่ทำตาม MOU จะเสื่อมเสียเพราะประชาชนที่เข้าใจ MOU กับ MOA มีน้อย
7. ในทำนองเดียวกัน หากต้องการทำมากกว่าหรือทำน้อยกว่าที่ลงนามก็เพียงนำข้อแตกต่างระหว่าง MOU กับ MOA มาอธิบาย ประชาชนที่สนับสนุนอยู่แล้วจะยอมรับ
8. ผู้ร่วมลงนามทุกฝ่ายมีความรู้ดี และรู้ข้อแตกต่างระหว่าง MOU กับ MOA เป็นอย่างดี แต่ที่เลือกทำ MOU ก็เพราะเล็งเห็นผลประโยชน์บางอย่างจึงไม่เลือกทำ MOA
ไม่มีใครตอบได้ว่า แต่ละคนที่ร่วมลงนามใน MOU ครั้งนี้คิดอะไร มีเจตนารมณ์อะไร ซ่อนเร้นอะไร แต่ที่แน่นอนคือ MOU ซ่อนเงื่อนง่าย พลิกแพลงง่าย เขียนอย่าง และทำอีกอย่างก็ง่าย
ทุกอย่างเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ที่นักการเมืองระดับนี้ต่างซ่อนกันไปมา
การเมืองไม่ใช่เรื่อง 1 + 1 แล้วได้ 2 หลายเรื่องบวกแล้วได้ 10 หรือพบกับความหายนะจนเหลือ 0 ก็มีให้เห็นมาก ครั้งนี้ก็เช่นกันที่อาจมีใครบางคนกำไรมหาศาลจาก MOU ครั้งนี้ หรือพังพินาศจนเหลือ 0 ก็ได้
ในทางการเมือง เรื่องอำนาจ และเรื่องผลประโยชน์ คนรู้มากไปไม่ดี ตีโง่ให้เห็นก็มาก คนรู้น้อยไปก็ไม่ดี เสียค่าโง่ก็มาก การเมืองที่ดีจึงควรอยู่ในความพอดี มีความจริงใจ มีผลประโยชน์ของประเทศเป็นศูนย์กลาง ไม่หลงตัวเอง และไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางจนเกินไป.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
👉 Home and Health … https://www.inno-home.com
👉 Art and Design …… https://www.cose.life
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : May 30, 2023
Logistics
มาตรการจำกัดการออก L/C ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจบังกลาเทศ
มาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องที่รัฐบาลบังกลาเทศดำเนินการเพื่อบรรเทาแรงกดดันต่อทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ สถิติจากธนาคารกลางบังกลาเทศบ่งบอกว่า ใน 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565-66 (กรกฎาคม 65- เมษายน 66) การเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต (L/C) ลดลงร้อยละ 27
นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า การลดลงของการเปิด L/C ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้เกิดการหดตัวของการนำเข้าสินค้าเป็นอย่างมาก โดยคำสั่งซื้อ/การนำเข้าสินค้าที่ลดลงอย่างมากส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมในประเทศเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ เครื่องจักรกล และสินค้าขั้นกลางลดลงอย่างมาก
ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบันการเปิด L/C ทั้งหมดอยู่ที่ 56.36 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 26.80 เมื่อเทียบกับจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการเปิด L/C มูลค่า 76.65 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
โดยมีรายละเอียดของข้อมูลสินค้าที่มีการเปิด LC ในช่วง 10 เดือนดังกล่าว ดังนี้ สินค้าขั้นกลางลดลงร้อยละ 30.39 เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ลดลงร้อยละ 56.91 วัตถุดิบใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 31.85 สินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 18.19 เครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ร้อยละ 45.59 และอื่นๆ ร้อยละ 19.53 โดยมีเพียงปัจจัยการผลิตซึ่งได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งราคาในตลาดโลกยังคงผันผวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.38
ผู้เชี่ยวชาญต่างให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า การเข้มงวดในการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าอื่นในระยะที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในบังกลาเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้า ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าที่จำหน่ายในประเทศสูงขึ้น
Anwar-Ul Alam Chowdhury Pervez ประธานหอการค้าอุตสาหกรรมแห่งบังกลาเทศ (BCI) กล่าวว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อของประชาชนและส่งผลให้การบริโภคลดลง ซึ่งหากการบริโภคลดลง การผลิตก็จะลดลง และนักอุตสาหกรรมทั้งหลายย่อมรู้สึกไม่สบายใจที่จะขยายธุรกิจหรือนำเข้าวัตถุดิบเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้า โดยเน้นว่า ในปัจจุบัน (21 พฤษภาคม 2566) สถานการณ์ไม่ได้ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนลดลง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากการยื่นขอสินเชื่อของภาคเอกชนเพื่อการขยายธุรกิจ สถิติของธนาคารกลางบังกลาเทศบ่งชี้ว่า การเติบโตของสินเชื่อภาคเอกชนลดลงเหลือร้อยละ 12.03 ในเดือนมีนาคม 2566 ประธาน BCI เสนอแนะว่า ผู้กำหนดนโยบายภาครัฐควรพิจารณาอนุญาตออก L/C ให้อุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ เพื่อให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบเพื่อเพิ่มการผลิตได้
กรรมการผู้จัดการของธนาคารพาณิชย์เอกชนแห่งหนึ่งกล่าวว่า คำสั่งซื้อนำเข้าที่ลดลงมีสาเหตุหลักมาจากมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล ท่ามกลางความผันผวนอย่างมากของสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคทั้งในระดับโลกและในประเทศ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว นายธนาคารผู้นี้กล่าวว่า การใช้เครื่องจักรที่มีอยู่แล้วในฐานอุตสาหกรรมมีความสำคัญมากกว่าการนำเครื่องจักรใหม่เข้ามาท่ามกลางการขาดแคลนสินค้าวัตถุดิบอุตสาหกรรมนำเข้า “นั่นเป็นสาเหตุที่คำสั่งซื้อเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ลดลงอย่างมาก สิ่งเหล่านี้จะไม่เพียงขัดขวางการผลิตภาคอุตสาหกรรม แต่ยังรวมถึงการลดลงของการจ้างงานในระยะต่อไปอีกด้วย”
นาย โมฮัมหมัด อาลี กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Pubali Bank Limited กล่าวว่า สาเหตุสำคัญการชะลอตัวการลงทุนในเครื่องจักรกล เนื่องมาจากการชะลอตัวทุนของการส่งออกสินค้าเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม คำสั่งซื้อนำเข้าที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากมาตรการรัดเข็มขัดช่วยผ่อนคลายเศรษฐกิจบังกลาเทศ ซึ่งกำลังเผชิญกับความตึงเครียดเนื่องจากวิกฤตอัตราแลกเปลี่ยนและการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ
โดยสถิติจากธนาคารกลางบังกลาเทศชี้ว่า อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 อยู่ที่ 107.45 ตากาต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ อ่อนตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 87.50 ตากาต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ และทุนเงินตราต่างประเทศ ลดลงเหลือ 30.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 42.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ที่มา : https://www.ditp.go.th/post/104909
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!