CEO ARTICLE

ทุนผูกขาด

Published on June 13, 2023


Follow Us :

    

ทุนผูกขาดคืออะไร ส่งผลเสียต่อส่วนรวมอย่างไร และรัฐบาลควรจัดการอย่างไร ???

“ทุนผูกขาด” เป็นคำผสมของคำว่า “เงินทุน” และ “การผูกขาด”
เงินทุน (Capital) เป็นคำง่าย ๆ ที่ทุกคนเข้าใจ เป็นเงินที่ธุรกิจหามา ใช้ลงทุน ใช้ในการทำกิจการ ใช้ขยายกิจการเพื่อให้ได้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า หรือให้ได้กำไรสูงสุด
การผูกขาด (Monopoly) เป็นรูปแบบการค้าที่มีผู้ขายรายเดียวหรือกลุ่มเดียว คู่แข่งเกิดได้ยาก ผู้ขายกลุ่มเดียวจึงกำหนดราคาสินค้าหรือบริการได้ง่าย
การผูกขาดอาจเกิดโดยธรรมชาติ เช่น ไม่มีผู้ผลิตรายอื่นเข้าแข่งขัน อุตสาหกรรมใช้เงินทุนสูง มีขนาดใหญ่ หรือใช้เทคโนโลยีสูง หรืออาจเกิดโดยกฎหมาย เช่น การมีสัมปทาน สิทธิบัตร หรือมีอำนาจรัฐอยู่เบื้องหลัง เป็นต้น
บางกิจการ รัฐอาจผูกขาดเองเพื่อให้เกิดการบริการแก่ประชาชน เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า รถขนส่ง และอาจให้กลับมาเป็นเสรีนิยมเมื่อสามารถมีการแข่งขันที่ให้ความเป็นธรรมต่อประชาชน
“เงินทุน” มีความสำคัญต่อธุรกิจทุกประเภท และเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ต้องการ
“การผูกขาด” ก็เป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องการ ทำกำไรได้มาก แต่ประชาชนไม่ต้องการเพราะขาดการแข่งขัน เป็นการค้าที่ไม่สมบูรณ์ ราคาสินค้าสูง และประชาชนถูกเอาเปรียบได้ง่าย
เมื่อนำ “เงินทุน” มารวมกับ “การผูกขาด” จึงกลายเป็น “ทุนผูกขาด” (Monopoly Capital)
ทุนผูกขาดเกิดจากระบบ “ทุนนิยมเสรี” ที่มีการแข่งขันแต่คู่แข่งสู้ไม่ได้ เป็นเรื่องของเอกชนที่สร้างแหล่งเงินทุนได้มาก รวมกระบวนการผลิตต่าง ๆ ให้กระจุกตัวอยู่ในกลุ่ม รวมศูนย์ไม่กี่บริษัท กีดกันคู่แข่งจนกลายเป็นทุนผูกขาดไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ และมีตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงนานาชาติ
ในทางประวัติศาสตร์ ทุนผูกขาดมีมานาน เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1870 (พ.ศ. 2413) ในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และสหรัฐทั้งที่ในทางทฤษฏี การเลือกใช้ระบบทุนนิยมเสรีก็เพื่อสร้างการแข่งขัน และลดทุนผูกขาดให้น้อยลง (วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองบูรพาปีที่ 3 ฉบับที่ 1)
ทุนผูกขาดเกิดจากทุนนิยม และส่งผลเสียจึงเป็นเรื่องระดับชาติที่รัฐบาลต้องจัดการ

การจัดการทุนผูกขาดมีหลายวิธี เช่น ส่งเสริมธุรกิจ SME ให้เงินกู้ ให้เข้าถึงเทคโนโลยี ให้มี Start Up มาก ๆ แก้ไขกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวก สร้างระบบภาษีให้ SME ได้ประโยชน์ พัฒนาระบบทุนนิยมเสรีให้เป็น “ทุนนิยมเสรี” อย่างแท้จริง หรือวิธีการอื่นที่มีทฤษฎีรองรับ
ทุก ๆ วิธีเป็นไปตามทฤษฏีที่นักเศรษฐศาสตร์ที่มีความรู้จริงต่างรู้ดี และทุก ๆ การจัดการย่อมเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องมีความรู้จริง รู้ลึก รู้กว้าง และต้องมีความจริงใจเป็นที่ตั้ง
พอมีคำว่า “รัฐบาล” ก็ต้องมีที่มาของรัฐบาล มีประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง มีการหาเสียง มีการคุยโม้โอ้อวด จริงบ้าง เท็จบ้าง สร้างความหวัง สร้างคะแนนนิยม และการระดมเงินทุน
พรรคการเมืองใดมีแนวโน้มจะได้เป็นรัฐบาล ทุนผูกขาดหน้าเดิมก็มักเข้าอุดหนุน และกลุ่มทุนหน้าใหม่ที่ต้องการเข้าสู่ธุรกิจก็มักหาทางเข้าอุดหนุนทั้งในทางแจ้ง และทางลับ
คำว่า “ทางลับ” คือ “ไม่มีใครรู้” เท่าที่ทำได้ในระบอบประชาธิปไตย
ภายหลังการเลือกตั้ง หากได้รัฐบาลเดิม ทุนผูกขาดเดิมก็ยิ้มร่า ยังอยู่ได้ แต่หากได้รัฐบาลใหม่ ทุนผูกขาดเดิมก็อาจยังอยู่ หรือมีทุนใหม่เพิ่มกลายเป็นคู่แข่งจนไม่เป็นทุนผูกขาดอีกต่อไป
แต่หากรัฐบาลใหม่ทำลายเครือข่ายทุนผูกขาดเดิมได้ กลุ่มทุนใหม่ย่อมเกิดแทน และหากไม่มีคู่แข่งใด ๆ ขึ้นสู้ กลุ่มทุนใหม่ก็จะกลายเป็นทุนผูกขาดรูปแบบใหม่แทนที่
บางกรณี การแข่งขันเสรีทำให้ควบรวมกิจการ (Merger) เข้าด้วยกัน เหลือหนึ่งเดียวกลายเป็นทุนผูกขาดก็มี ทุกอย่างเป็นไปตามระบบทุนนิยมเสรี และเป็นการจัดการของรัฐบาลที่มีเบื้องหน้า มีเบื้องหลัง มีการแย่งชิงอำนาจ และผลประโยชน์ตามระบอบประชาธิปไตย
รูปแบบทุนผูกขาดจึงมีหลากหลายในทางประวัติศาสตร์มีมานาน ไม่มีทางหมด หมุนเวียนเป็นวัฎจักรในทุกประเทศ การจัดการตามทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ข้างต้นย่อมถือว่าดีที่สุดแล้ว รัฐบาลเดิมอาจได้ทำวิธีการหนึ่งอยู่ รัฐบาลใหม่ก็อาจต้องการทำอีกวิธีการหนึ่ง และนำมาคุยโอ้อวดก็ได้
การโอ้อวด และการให้สัญญาเป็นเรื่องปกติของการเมืองที่คุยได้ทุกเรื่องตามคำของครุเซฟ อดีตประธานาธิบดีโซเวียต ท่านกล่าวไว้ว่า
“นักการเมืองเหมือนกันหมดไม่ว่าที่ไหน พวกเขาสามารถให้สัญญาที่จะสร้างสะพานได้แม้ในที่ที่ไม่มีแม่น้ำ” (Politicians are the same all over. They promise to build a bridge even where there is no river)

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
👉  Home and Health … https://www.inno-home.com
👉  Art and Design …… https://www.cose.life

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : June 13, 2023

Dr. Sitthichai Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

กว่างซีจับมือสิงคโปร์ พัฒนาพลังงานไฟฟ้า ดัน Green Port โอกาสที่น่าเรียนรู้ของไทย

ภายใต้ภูมิทัศน์โลกใหม่ที่นานาชาติกำลังตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมการใช้ชีวิต เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้แต่ละประเทศปรับกระบวนทัศน์ เบนเข็มการพัฒนาสู่ ‘ระบบเศรษฐกิจสีเขียว’ ในสาขาต่างๆ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงรัฐบาลจีน

ก่อนหน้านี้ บีไอซี ได้นำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาด (Green Energy) ในอ่าวเป่ยปู้ หรือที่คนไทยเรียกชื่อ ‘อ่าวตังเกี๋ย’ ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ไม่ว่าจะเป็นพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งบริษัท RATCH ของไทยถือหุ้นอยู่ด้วยที่เมืองฝางเฉิงก่าง และโครงการสาธิตด้านพลังงานลมนอกชายฝั่ง ซึ่งจะดำเนินการใน 2 เมืองชายฝั่ง คือ เมืองฝางเฉิงก่าง และเมืองชินโจว

ล่าสุด ในงานประชุมท่าเรือสีเขียวและปลอดภัย ปี 2566 และการประชุมว่าด้วยการพัฒนาท่าเรือสีเขียวอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ที่นครหนานหนิง บริษัท Guangxi Beibu-Gulf International Port Group Co.,Ltd. (广西北部湾国际港务集团有限公) เป็นหัวหอก นำทัพจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาท่าเรือปลอดคาร์บอน” ร่วมกับสถาบันวิจัยและบริษัทชั้นนำจำนวนมาก เพื่อร่วมกันผลักดันให้แวดวงธุรกิจที่เกี่ยวข้องเดินหน้าสู่การพัฒนาสีเขียว การพัฒนาคาร์บอนต่ำ และการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง

“ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุด (Emission Peak) เป็นทิศทางหลักในการพัฒนาท่าเรือสีเขียว หรือ Green Port ในอนาคต”

กล่าวได้ว่า… หลายปีมานี้ ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เป็นท่าเรือที่มีอัตราการขยายตัวสูงเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศจีน ปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้าเพิ่มสูงขึ้นด้วยตัวเลขสองหลักหลายปีติดต่อกัน ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของมณฑลทางภาคตะวันตกของจีน และยุทธศาสตร์การเปิดสู่ภายนอกผ่านการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่จีนตอนในกับต่างประเทศ ซึ่งมีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เป็น ‘ข้อต่อ’ สำคัญ

เมื่อกิจกรรมในท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เพิ่มขึ้นจากปริมาณการขนถ่ายสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่ตามมา คือ การสิ้นเปลืองพลังงานและปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม และสวนทางกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของจีน ด้วยเหตุนี้ ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ได้เร่งดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมในทุกขนาดธุรกิจในการลงทุน/ปรับใช้เทคโนโลยีสะอาดและ
เทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่

ล่าสุด บริษัท Guangxi Beibu-Gulf International Port Group Co.,Ltd. ได้จับมือกับบริษัทสายเรือ COSCO Shipping Lines นครเทียนจิน และบริษัท PSA International Pte.,Ltd. ของสิงคโปร์ ลงขัน 440 ล้านหยวน จัดตั้งบริษัทด้านการพัฒนาพลังงานสะอาดในพื้นที่ท่าเรือชินโจว มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 80 เมกะวัตต์ นับเป็นอีกโครงการที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนา ‘ท่าเรือปลอดคาร์บอน’

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ได้เร่งขานรับนโยบาย Go Green และความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนท่าเรือสู่ Green Port และ Smart Port โดยเฉพาะการสนับสนุนการใช้พลังงานไฟฟ้าแทนที่พลังงานเชื้อเพลิงในกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในเขตท่าเรือ

ที่ผ่านมา ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ได้สนับสนุนการจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจ “สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุก” ที่ทำงานด้วยระบบอัจฉริยะ การพัฒนารถเคลื่อนที่ให้บริการเปลี่ยนแบตเตอรี่ และการใช้งานรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทดแทนรถบรรทุกเติมน้ำมัน

บีไอซี ขอเน้นว่า ปัจจุบัน ประเทศจีนให้ความสำคัญกับคำว่า “เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม” เป็นอย่างมาก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รัฐบาลท้องถิ่นได้ตอบสนองนโยบายจากส่วนกลางเพื่อก้าวผ่านสู่ “เศรษฐกิจและสังคมสีเขียว” โดยเฉพาะการจำกัดและกำจัดอุตสาหกรรมที่สิ้นเปลืองพลังงานและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมและการบริการให้มีเทคโนโลยีคอนเทนต์สูง

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นต้นแบบการเรียนรู้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยในการนำไปต่อยอดการทำงาน หรือพัฒนาแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับท่าเรือในกว่างซีเพื่อยกระดับประสิทธิภาพงานขนส่งและโลจิสติกส์ของท่าเรือ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกของสองฝ่าย

ที่สำคัญ เป็นอีกโอกาสของภาคธุรกิจไทยที่กำลังมองหาลู่ทางการลงทุนในจีนโดยสามารถเรียนรู้แบบอย่างความสำเร็จจากโมเดลการร่วมลงทุนอย่างเช่น บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ที่เข้าถือหุ้น10% ในโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่าง เฟสที่ 2 หรือบริษัทร่วมทุนด้านการพัฒนาพลังงานสะอาดในพื้นที่ท่าเรือชินโจวที่กล่าวมาข้างต้น

ที่มา : https://thaibizchina.com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.