CEO ARTICLE

ภาวะผู้นำ

Published on July 18, 2023


Follow Us :

    

หากผู้นำองค์กร หรือผู้นำประเทศมีภาวะผู้นำอย่างเดียวจะเพียงพอต่อการนำหรือไม่ ?

ผู้นำ (Leader) มีหลายระดับ เช่น ผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กร ผู้นำประเทศ และมีหลายชื่อให้เรียก เช่น หัวหน้า ผู้จัดการ ผู้อำนวยการ อธิบดี ปลัดกระทรวง รัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี
ผู้นำเป็นเรื่องของตัวบุคคล ใครก็ได้ที่ผ่านระบบคัดกรองอย่างถูกต้องก็เป็นผู้นำได้
ภาวะผู้นำ (Leadership) เป็นเรื่องความสามารถในการใช้เครื่องมือบริหารที่มีอยู่มากมายเพื่อเบี่ยงเบนคนทั้งที่อยู่เบื้องบนและเบื้องล่างที่มีพฤติกรรมต่างกันให้มุ่งไปสู่กลยุทธ์เดียวกัน
ผู้นำที่อยู่เบื้องบนอาจมีภาวะผู้นำมาก มีน้อย หรือไม่มีเลย ส่วนผู้ตามที่อยู่เบื้องล่างอาจมีมากกว่า ภาวะผู้นำจึงเกิดแก่ใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเกิดแก่ผู้นำฝ่ายเดียว และใครจะฝึกตนเองให้มีภาวะผู้นำก็ทำได้ง่าย ๆ เพียงยึดมั่น Keyword 2 คำ คือ “เครื่องมือบริหาร” และ “กลยุทธ์”
1. เครื่องมือบริหาร (Management Tools)
เครื่องมือบริหาร หรือเครื่องมือจัดการมีอยู่มาก หลายรูปแบบ เป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อเบี่ยงเบนคนที่มีพฤติกรรมต่างกันให้มุ่งไปในทางเดียวกัน ให้เข้าใจตรงกัน ผู้นำจะคิดเครื่องมือขึ้นเอง จะเลือกแนวคิดและทฤษฎีที่พิสูจน์แล้วว่าดี หรือจะนำทฤษฏีที่มีหลากหลายมาผสมกันก็ได้
ผู้นำที่มีภาวะผู้นำจะใช้เครื่องมือบริหารให้ได้ประโยชน์มากที่สุด เช่น การจัดการเชิงระบบ ขั้นตอนการทำงาน การประชุม การรายงาน การหมุนเวียนคน การให้ความสะดวก การทำงานเชิงรุก และอื่น ๆ อีกมากเพื่อมุ่งสู่ความเป็นทีม ประสิทธิภาพ และทิศทางที่ต้องการ
2.กลยุทธ์ หรือยุทธศาสตร์ (Strategy)
กลยุทธ์ คือ การทำสิ่งที่ยาก หรือทำในสิ่งที่เห็นว่า “เป็นไปไม่ได้” ให้เป็นไปได้
การสร้างกลยุทธ์ต้องเริ่มจากวิสัยทัศน์ก่อน ต้องมองจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และวิกฤติให้เห็น ให้ไกล ต้องมีทัศนคติดี มีความมุ่งมั่น มีความรู้ และมีประสบการณ์สูง
ผู้นำที่มีภาวะผู้นำจะสร้างโครงการมากมาย สร้างเจตนารมณ์ ภารกิจ เป้าหมาย และวิธีการให้เป็นกลยุทธ์เพื่อเบี่ยงเบนคนที่มีพฤติกรรมต่างกันให้มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน มีความเป็นทีม เกิดวัฒนธรรม ความจงรักภักดี ความเจริญก้าวหน้า และให้เป็นผลกำไรตอบแทนทีมงาน
ภาวะผู้นำจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์คู่กัน และเป็นคำตอบว่า ผู้นำที่ไม่รู้จักกลยุทธ์ เลือกใช้เครื่องมือไม่เป็น และปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับเครื่องมือไม่ได้ย่อมใช้ภาวะผู้นำได้ไม่ดี
ความเสียหายที่เกิดแก่องค์กรส่วนใหญ่จึงไม่ใช่เกิดจากทีมงานเป็นหลัก แต่เกิดจากผู้นำที่มีภาวะผู้นำไม่ดีมากกว่า ใครที่ฝึนตนเองจาก Keyword 2 คำจนเกิดความชำนาญก็จะได้ความสามารถ และในเบื้องต้นก็เพียงพอต่อการนำองค์กรแล้ว
แต่ในความเป็นประเทศ ภาวะผู้นำอย่างเดียวกลับไม่เพียงพอต่อการนำประเทศ

ประเทศมีประชาชนนับล้าน ๆ คน มีขนาดใหญ่โตกว่าองค์กรเป็นล้านเท่า มีระบบสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่ซับซ้อน มีเงินภาษี มีทรัพยากรมหาศาล มีวัฒนธรรม มีเอกลักษณ์แต่ละท้องถิ่น มีความเชื่อที่ต่างกัน มีความเป็น มีความตาย และมีอื่น ๆ ที่มองไม่เห็นอีกมาก
การนำประเทศจึงมีความซับซ้อน ยุ่งยาก และอาจเสียหายกว่าการนำองค์กรนับร้อยเท่า
ภาวะผู้นำอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ ผู้นำประเทศยังต้องมี “วุฒิภาวะ” ที่สูงมาก รู้กาลควรและไม่ควร ยอมรับกฎหมาย กติกาสังคม ยอมให้ตรวจสอบ แสวงหาความเห็นต่าง (2nd Opinion) ฟังความเห็นต่าง ยอมรับความพ่ายแพ้ด้วยหลักการ และเหตุผลอีกด้วย
หากผู้นำประเทศมีภาวะผู้นำ แต่ขาดวุฒิภาวะก็จะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางมากกว่า จะใช้เครื่องมือบริหาร สร้างยุทธศาสตร์ ภารกิจ และเป้าหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม
ยิ่งสังคมมีความแตกแยกมาก ผู้นำที่มีวุฒิภาวะต่ำจะแสวงหาประโยชน์จากความต่าง จะเบี่ยงเบนพฤติกรรมของคนที่มีความแตกต่างเพื่อคะแนนนิยมของตน จะเอาวัฒนธรรม เอาประเทศ และเอาประชาชนเป็นหมากเบี้ยเพื่อให้ได้ชัยชนะโดยไม่สนใจประชาชนที่เห็นต่าง
ผู้นำประเทศที่ขาดวุฒิภาวะจึงสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงได้ง่าย เว้นแต่ ผู้นำนั้นรู้ ต้องการความเสียหายให้เกิด ให้เป็นยุทธศาสตร์ และให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง
การนำประเทศจึงต้องมีวุฒิภาวะสูงมาก ควบคู่กับภาวะผู้นำเพื่อใช้เครื่องมือบริหาร สร้างยุทธศาสตร์ ใช้เงินแผ่นดิน และใช้องคาพยพของระบบราชการเพื่อเบี่ยงเบนพฤติกรรมของคนที่มีความคิดต่างกันให้สามัคคีกัน ลดความขัดแย้ง เกิดความจงรักภักดี สร้างความเจริญก้าวหน้า และความสงบสุขต่อประชาชน
ภาวะผู้นำอย่างเดียวของผู้นำประเทศจึงไม่เพียงพอ แต่ต้องมีวุฒิภาวะที่สูงมากร่วมด้วย.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
👉  Home and Health … https://www.inno-home.com
👉  Art and Design …… https://www.cose.life

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : July 18, 2023

Dr. Sitthichai Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

เริ่มแล้ว การชำระค่าสินค้าระหว่างบังกลาเทศและอินเดียด้วยเงินรูปีอินเดีย

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 บังกลาเทศและอินเดียได้จัดงานเปิดตัวการชำระค่าสินค้านำเข้าและการส่งออกด้วยเงินสกุลรูปี โดยการริเริ่มของทั้งสองประเทศ ที่ต้องการลดการพึ่งพาเงินเหรียญ สรอ. โดยเฉพาะบังกลาเทศที่มีปริมาณเงินเหรียญ สรอ. อย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม การชำระเงินค่าสินค้าส่งออก-นำเข้าสินค้าด้วยเงินรูปีนี้ จะเป็นธุรกรรมการค้าเพียงบางส่วน และทั้งสองประเทศยังคงต้องติดตามว่าจะประสบกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการเช่นไร

ในการชำระค่าสินค้า ทั้งสองประเทศได้อนุญาตให้ธนาคารของแต่ละฝ่ายเปิดบัญชีพิเศษที่จะมีเฉพาะธุรกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้การค้าด้วยเงินรูปีเท่านั้น โดยบังกลาเทศได้อนุมัติให้ธนาคาร Sonali Bank และธนาคาร Eastern Bank Limited (EBL) เปิดบัญชี nostro ในสกุลเงินรูปีอินเดียกับธนาคาร State Bank of India และ ICICI Bank ของอินเดีย

บัญชี nostro นี้จะมีธุรกรรมทางการค้า ได้แก่ รายรับ (Credit) สกุลเงินรูปีจากการส่งออกสินค้าและบริการของบังกลาเทศ และรายการหัก (Debit) เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการที่นำเข้าจากอินเดีย

บริษัท Tamim Agro และ Shahjahan Mia เป็น 2 บริษัทแรกของบังกลาเทศ ที่เปิด L/C เพื่อการส่งออกสินค้าไปยังอินเดียจำนวน 2 ฉบับมีมูลค่ารวม 28 ล้านรูปี และบริษัท Nita Company และ Abdul Matlub Ahmad เป็น 2 บริษัทแรกของบังกลาเทศ ที่เปิด L/C เพื่อการนำเข้าสินค้าจากอินเดียจำนวน 2 ฉบับมีมูลค่ารวม 12 ล้านรูปี L/C ทั้ง 4 ฉบับโดยได้รับการจัดการโดยธนาคารที่เข้าร่วมทั้งสี่แห่ง — Sonali Bank, Eastern Bank of Bangladesh ของบังกลาเทศ และ India’s State Bank of India และ ICICI Bank ของอินเดีย

สถานการณ์ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของบังกลาเทศ
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของบังกลาเทศขณะนี้ (16 กรกฎาคม 2566) อยู่ที่ 23.567 พันล้านเหรียญ สรอ. ซึ่งเป็นตัวเลขทุนสำรองที่คำนวณใหม่ตามสูตรของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และตัวเลขใหม่นี้ธนาคารกลางบังกลาเทศประกาศเผยแพร่เป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (หากคำนวณด้วยวิธีการดั้งเดิมของธนาคารกลางบังกลาเทศทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจะอยู่ที่ 29.97 พันล้านเหรียญ สรอ.) วิธีการคำนวณแบบใหม่ที่ IMF เสนอนี้ ให้ตัดเงินกู้และเงินช่วยเหลืออื่นๆ ออกไปจากทุนสำรองสุทธิ

อนึ่ง บังกลาเทศประสบปัญหาการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกชะลอ ซึ่งเริ่มต้นจากโรคระบาดและสงครามยูเครน-รัสเซีย ส่งผลต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าของบังกลาเทศ (ร้อยละ 80 มาจากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป) และเงินรายได้เงินตราต่างประเทศจากแรงงานโพ้นทะเล ส่งผลให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลง

ผลจากการขาดแคลนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ทำให้บังกลาเทศพยายามสกัดการไหลออก โดยวิธีการต่างๆ เช่น การจำกัดการออก L/C และการกำหนด L/C Margin สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของการนำเข้าสินค้า เนื่องจาก ผู้นำเข้าไม่สามารถขอ L/C จากธนาคารได้ รวมทั้งต้องเพิ่มต้นทุนการนำเข้าจากการเรียกเก็บ L/C Margin

การนำวิธีการค้าแบบใช้เงินท้องถิ่นจึงเป็นวิธีเดียวในการหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ดังนั้น บังกลาเทศจึงหันไปเจรจากับอินเดียเพื่อขอชำระค่าสินค้าเป็นสกุลเงินรูปี-ตากา โดยในระยะแรกทั้งสองฝ่ายตกลงให้ใช้สกุลเงินรูปีเพียงสกุลเดียวก่อน เพื่อศึกษาร่วมกันว่า มีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการอย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจและนักวิเคราะห์ชาวบังกลาเทศได้แนะนำให้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวัง และกล่าวว่าข้อตกลงนี้อาจสร้างปัญหาใหม่ให้กับบังกลาเทศ เนื่องจากแต่ละปีบังกลาเทศขาดดุลการค้าจำนวนมากกับอินเดีย ดังนั้นจึงอาจมีความเสี่ยงในการซื้อขายโดยใช้เงินรูปี อาจทำให้บังกลาเทศต้องหาเงินเหรียญ สรอ. มาแลกให้เป็นรูปีเพื่อจ่ายเงินค่าสินค้าให้กับอินเดีย

ความเห็นสำนักงาน
1. ผลจากการขาดแคลนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ทำให้บังกลาเทศประสบปัญหาในการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ และปัญหาการชำระเงินล่าช้า
2. ขณะนี้ สถานการณ์การขาดแคลนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศยังไม่ดีขึ้น เมื่อบังกลาเทศต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการคำนวณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศแบบใหม่ ส่งผลให้ทุนสำรองปัจจุบันเหลือเพียง 23.567 พันล้านเหรียญ สรอ. แทนที่จะเป็น 29.97 พันล้านเหรียญ สรอ. ส่งผลให้รัฐบาลบังกลาเทศมีแรงกดดันเพิ่มมากขึ้น
3. การนำเงินสกุลท้องถิ่นมาชำระค่าสินค้าส่งออกนำเข้า เป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบังกลาเทศขาดดุลการค้าเป็นจำนวนมากกับอินเดีย วิธีการนี้อาจเป็นการสร้างปัญหาใหม่ หลายฝ่ายในบังกลาเทศจึงประเมินว่า เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกังวลต่างๆ อย่างน้อยควรส่งสินค้าออกไปอินเดียและนำเข้าสินค้าจากอินเดียมูลค่าเท่ากับปริมาณส่งออกสินค้า-นำเข้าสินค้าของบังกลาเทศ
4. วิธีการชำระค่าสินค้าด้วยเงินของคู่ค้าแต่ละฝ่าย อาจช่วยลดการพึ่งพาเงินสกุลหลักของโลก ในระยะสั้น จึงต้องติดตามสถานการณ์การค้าในรูปแบบใหม่นี้ว่าจะประสบปัญหาอุปสรรคใดๆ หรือไม่ ในระยะยาว หากผลการดำเนินการเป็นไปได้ด้วยดี อาจมีการเปิดช่องทางการชำระเงินค่าสินค้าระหว่างกันหลายประเทศมากขึ้น
5. ปีงบประมาณ 2566-67 รัฐบาลบังกลาเทศจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล ส่งผลให้รัฐบาลต้องเพิ่มช่องทางการหารายได้เพิ่มมากขึ้น ตามเอกสารงบประมาณ วิธีการที่รัฐบาลบังกลาเทศวางแผนไว้ได้แก่ การเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้านำเข้า การเรียกเก็บเพิ่มมูลค่าสินค้านำเข้าขั้นต่ำ การเพิ่มจำนวนและฐานผู้เสียภาษี เป็นต้น

ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/138522

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.