CEO ARTICLE
ค่าล้างตู้
ผู้นำเข้าจะจัดการอย่างไรกับค่าล้างตู้และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่มากขึ้นในปัจจุบัน ?
ค่าล้างตู้ (Cleaning Charge) มักเกิดกรณีที่ผู้นำเข้าลากตู้สินค้าไปขนย้ายสินค้าออกจากตู้ (Unstuffing) ณ ที่ทำการของตน เมื่อนำตู้สินค้ามาคืนก็ถูกกล่าวหาว่า ตู้สินค้าสกปรก
นอกจากค่าล้างตู้แล้วก็ยังมีค่าซ่อมตู้ และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ อีกมาก เช่น
1. ค่าขนย้ายสินค้าจากตู้ หรือ CFS Charge (Container Freight Station)
2. ค่าธรรมเนียมท่าเรือ หรือ THC (Terminal Handling Charge)
3. ค่าท่าเรือแออัด หรือ PCS (Port Congestion Surcharge)
4. ค่าความผันผวนสกุลเงิน หรือ CAF (Currency Adjustment Factor)
5. ค่าชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ BAF (Bunker Adjustment Factor)
ไม่ใช่แค่ข้อ 1-5 แต่ยังมีอีกมาก เท่านั้นยังไม่พอ ไม่กี่ปีที่ผ่านมาอยู่ ๆ ผู้นำเข้าก็เรียกเก็บค่าธรรมเนียมทั้ง ๆ ที่เกิดในประเทศต้นทางเพิ่มอีก คือ
6. ค่าสภาวะตู้สินค้าไม่สมดุล (ตู้ขาดแคลน) หรือ CIC (Container Imbalance Charge)
7. ค่าความผันผวนราคาน้ำมันเร่งด่วน หรือ EBS (Emergency Bunker Surcharge)
ทั้งที่ค่าระวางขนส่ง (Freight) จ่ายไปครบแล้ว แต่ทำไมยังต้องจ่ายค่าล้างตู้ ค่าซ่อมตู้ และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ทั้งหมดมีกฎหมายรองรับหรือไม่ หรือผู้ขนส่งเรียกเก็บตามอำเภอใจ
การจัดการค่าใช้จ่ายเหล่านี้ควรเริ่มจากการพิจารณากฎหมายก่อน ดังนี้
(1) พรบ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534
มาตรา 3 มีคำว่า “อุปกรณ์แห่งค่าระวาง” (เนื้อหาโดยย่อ) หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ผู้ขนส่งได้เสียไปโดยควรในระหว่างขนส่งซึ่งตามประเพณีในการขนส่งทางทะเลถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าระวาง ไม่อาจป้องกันได้ และให้ผู้ขนส่งเรียกเก็บเพิ่ม เช่น การขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายจากภาวะคับคั่งของท่าเรือ หรือการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างสกุล เป็นต้น
มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตาม พรบ. นี้
กฎหมายเรียกค่าธรรมเนียมที่เก็บเพิ่มว่า “อุปกรณ์แห่งค่าระวาง” ให้อำนาจผู้ขนส่งเก็บได้ แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดว่ามีรายการอะไรบ้าง และให้เก็บในอัตราเท่าไร
ด้านกฎหมาย หากเห็นว่ารายการใดไม่ใช่อุปกรณ์แห่งค่าระวาง และไม่ใช่ประเพณีในการขนส่งทางทะเล หรือจำนวนเงินสูงเกินไป ผู้นำเข้าควรร้องเรียนไปยังกระทรวงคมนาคมให้ช่วยเหลือ
(2) ค่าธรรมเนียมจากประเทศผู้ขาย
ค่าธรรมเนียมในตัวอย่างข้อ 6-7 หรือค่า CIC และ EBS เกิดจากวิกฤติในประเทศต้นทาง แม้จะเป็นอุปกรณ์แห่งค่าระวาง แต่เกิดในประเทศผู้ขาย ผู้นำเข้าก็ควรแจ้งผู้ขายให้รับผิดชอบ
กรณีเช่นนี้มักเกิดเมื่อผู้นำเข้าซื้อสินค้าในราคา CFR (Cost and Freight) ผู้ขายเป็นผู้จ่ายค่าระวางขนส่ง (Freight) จึงต้องเลือกผู้ขนส่งที่เสนอราคาต่ำเสมอ
จากนั้น ผู้ขายก็ทำเป็นไม่รู้ ยินยอม หรืออาจแจ้งผู้ขนส่งให้นำค่าธรรมเนียมที่เกิดประเทศต้นทางมารวมเป็นอุปกรณ์แห่งค่าระวางเพื่อเรียกเก็บจากผู้นำเข้าของไทยอย่างไม่รู้ตัว
การซื้อสินค้าราคา CFR ให้ความสะดวกจริง แต่ความสะดวกมีราคาต้องจ่าย หากผู้นำเข้าเปลี่ยนมาซื้อในราคา FOB (Free On Board) เพื่อขอจ่ายค่าระวางขนส่งเอง สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ
2.1 ผู้ขายจะถามสาเหตุ และมักกำชับผู้ขนส่งต้นทางมิให้เก็บค่าใช้จ่ายมากเกินไป
2.2 หากผู้ขายได้ผลประโยชน์จากค่าระวางขนส่ง ผู้ขายจะลดราคาเพื่อจูงใจให้ผู้นำเข้าซื้อในราคา CFR เช่นเดิมเพื่อรักษาผลประโยชน์นั้นไว้
2.3 แต่หากผู้ขายยินยอมเสนอราคา FOB ผู้นำเข้าก็เพียงนำข้อมูลสินค้าให้ผู้ขนส่งที่อยู่ในประเทศไทย เสนอราคาค่าระวางขนส่งและค่าธรรมเนียมที่จะเก็บเพิ่ม ต่อรอง หากพอใจก็ทำสัญญาที่ทำให้ผู้นำเข้าสามารถควบคุมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ก่อนการสั่งซื้อ
(3) ค่าซ่อมตู้ และค่าล้างตู้
ส่วนนี้ไม่น่าจะเป็นอุปกรณ์แห่งค่าระวาง แต่เพื่อความชัดเจน ผู้นำเข้าและสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องควรทำหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงคมนาคมให้แน่ชัด
หากไม่ใช่ ทุกฝ่ายจะได้รู้ และผู้ขนส่งจะได้ไม่เรียกเก็บอย่างไร้เหตุผล แต่หากผู้นำเข้าทำตู้เสียหาย หรือสกปรกจริงก็สมควรจ่าย ส่วนการป้องกันตนเองก็ง่าย ๆ ผู้นำเข้าก็เพียงถ่ายภาพหรือคลิป VDO ทั้งก่อน ขณะขนย้าย และภายหลังไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น
แต่ในกรณีที่ซื้อสินค้าในราคา FOB ผู้นำเข้าจะมีอำนาจต่อรองโดยขอผู้ขนส่งในไทยให้ส่งทีมงานมาดูแลขณะขนย้ายเพื่อเป็นพยาน
ค่าล้างตู้ ค่าซ่อมตู้ และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ มีทั้งที่กฎหมายรองรับ และอาจไม่รองรับ การจัดการภายใต้กรอบกฎหมาย และหลักเกณฑ์การขนส่งจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
👉 Home and Health … https://www.inno-home.com
👉 Art and Design …… https://www.cose.life
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : September 5, 2023
Logistics
ท่าเรือฝางเฉิงก่างพลิกโฉมงานขนส่งสินค้าทางรถไฟในท่าเรือสู่ “เส้นทางอัจฉริยะ” ต้นแบบการเรียนรู้ของท่าเรือในประเทศไทย
กล่าวได้ว่า หลายปีมานี้ กลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี หรือคนไทยเรียกว่า “อ่าวตังเกี๋ย” ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มท่าเรือน้องใหม่ในจีนที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจสูง ด้วยอานิสงส์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลในจีนตะวันตกที่ช่วยขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศ และนำมาซึ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งใหม่ หรือ ILSTC (New International Land and Sea Trade Corridor) กับโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” (Multimodal Transportation) ซึ่งมีท่าเรืออ่าวเป่ยปู้เป็น ‘ข้อต่อ’ ตัวสำคัญ
กลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี ประกอบด้วย 3 ท่าเรือ นอกจากท่าเรือชินโจวที่ค่อนข้างคุ้นหูกันแล้ว ยังมีท่าเรือเป๋ยไห่ และท่าเรือฝางเฉิงก่าง โดยรัฐบาลกว่างซีได้แบ่งหน้าที่ตามความถนัดให้กับแต่ละท่าเรือ ในข่าวฉบับนี้ บีไอซีจะขอนำท่านผู้อ่านไปจับตามองพัฒนาการใหม่ของ “ท่าเรือฝางเฉิงก่าง”
“ท่าเรือฝางเฉิงก่าง” ได้รับการกำหนดฟังก์ชันให้เป็นท่าเรือหลักในการขนถ่ายสินค้าโภคภัณฑ์ (แร่โลหะนอกกลุ่มเหล็ก แร่เหล็ก ถ่านหิน วัสดุก่อสร้าง ซัลเฟอร์ และปุ๋ยเคมี) และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็นแช่แข็ง ทั้งนี้ หากคิดตามน้ำหนัก ท่าเรือฝางเฉิงก่างเป็นท่าเรือที่มีปริมาณการขนส่งสินค้ามากที่สุดในกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ท่าเรือฝางเฉิงก่างได้เร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าภายในท่าเรือมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” เพื่อรองรับปริมาณสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หลังจากที่เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ท่าเรือฝางเฉิงก่าง ได้เริ่มใช้งานลานตู้คอนเทนเนอร์อัตโนมัติในท่าเทียบเรือหมายเลข 513 เป็นลานตู้สินค้าอัจฉริยะแห่งแรกของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ใช้ระบบเครนขนถ่ายตู้สินค้าอัจฉริยะ เชื่อมโยงกับระบบประตูไม้กั้นเข้า-ออกท่าเทียบเรือแบบอัจฉริยะ (ท่าเรือชินโจว เริ่มใช้งานท่าเทียบเรืออัจฉริยะเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ท่าเรือฝางเฉิงก่างได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ โดยการเปิดใช้งาน “ศูนย์ควบคุมสั่งการระบบรางอัจฉริยะ” (铁路智慧调度中心) หรือ Command Center ในท่าเรือเป็นแห่งแรกของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้
ศูนย์ควบคุมสั่งการระบบรางอัจฉริยะตั้งอยู่ในย่านสับเปลี่ยนรางรถไฟที่ 1 (Rail Yard) ในสถานีรถไฟท่าเรือฝางเฉิงก่าง สามารถควบคุมสั่งการการทำงานด้วยระบบอัจฉริยะไปยังอาคารสับเปลี่ยนรางรถไฟที่ 1 และ 2 อาคารอาณัติสัญญาณรถไฟ และอาคารควบคุมกลางจุดตัดทางรถไฟ ซึ่งจะช่วยประหยัดกำลังคนและลดภาระจากกระบวนการทำงาน (manual work) และเสริมประสิทธิภาพการทำงานด้านการขนส่งสินค้าทางรถไฟภายในท่าเรือให้สูงขึ้นอีกมาก
ความก้าวล้ำของเทคโนโลยีการควบคุมสั่งการระบบรางอัจฉริยะในสถานีรถไฟท่าเรือฝางเฉิงก่าง คือ การรวมศูนย์การทำงานของระบบอัจฉริยะหลายระบบไว้ด้วยกัน อาทิระบบการบังคับสัมพันธ์ด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer-Based InterlockingSystem – CBI) ระบบตรวจสอบควบคุมการสั่งการแบบไร้สาย (Shunting Train ProtectionSystem – STP) ระบบควบคุมจุดตัดทางรถไฟระยะไกลแบบรวมศูนย์ ระบบตรวจจับและอ่านเลขขบวนและโบกี้รถไฟอัตโนมัติ (Train Number Recognition System) รวมถึงระบบชั่งน้ำหนักรถไฟโดยระบบดังกล่าวพร้อมเชื่อมโยงกับย่านสับเปลี่ยนรางรถไฟที่ 3 ด้วย (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง)
ศูนย์ดังกล่าวสามารถบริหารจัดการหัวรถจักร จัดทำแผนการจัดขบวนรถไฟ รวมทั้งการสับเปลี่ยนขบวนแบบอัตโนมัติผ่านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big DataAnalytics)
หากเปรียบเทียบกับระบบเดิม (Manual work) แล้ว ระบบนี้ช่วยประหยัดแรงงาน เพิ่มผลิตภาพ หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการสับเปลี่ยนขบวนด้วยคน เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรและใช้งานหัวรถจักรและการสับเปลี่ยนขบวนรถไฟ
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน รัฐบาลกว่างซี(จีน)ให้ความสำคัญกับระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระบบงานขนส่งต่างๆ เข้ากับ “ระบบราง” ซึ่งมีต้นทุนต่ำ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีโครงข่ายครอบคลุมทั่วทั้งประเทศจีน
ปัจจุบัน เมืองฝางเฉิงก่างมีเส้นทางรถไฟลำเลียงสินค้าหลากหลายเส้นทาง ซึ่งรวมถึงขบวนรถไฟขนส่งสินค้าสดและแช่เย็นด้วย เชื่อว่า ผู้ค้าจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาและยกระดับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่เกิดขึ้นภายในท่าเรือฝางเฉิงก่างไม่มากก็น้อย รวมถึงผู้ค้าไทยด้วย
การค้าระหว่างเมืองฝางเฉิงก่างกับประเทศไทย ที่ผ่านมาพบว่า เมืองฝางเฉิงก่างมีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทย (ทุเรียน ลำไย มังคุด สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง ปลาดาบแช่แข็ง)และมีการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปไทย (กรดฟอสฟอริกเกรดอาหาร โปรตีนเข้มข้น เคมีภัณฑ์ ซัลเฟอร์)
ในบริบทที่ประเทศไทยก็กำลังส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับระบบงานขนส่งทางราง (อย่างโครงการศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟในท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และการเปิดใช้เส้นทางขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟท่าเรือแหลมฉบังเชื่อมท่าเรือกรุงเทพ)บีไอซี เห็นว่า ศูนย์ควบคุมสั่งการระบบรางอัจฉริยะของสถานีรถไฟท่าเรือฝางเฉิงก่างสามารถเป็นต้นแบบการเรียนรู้ของท่าเรือสำคัญในประเทศไทย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยสามารถแสวงหาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านวิชาการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์กับท่าเรือฝางเฉิงก่าง ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างสองฝ่ายได้ในอนาคต
ที่มา : https://thaibizchina.com
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!