CEO ARTICLE

ค่าระวางต้องจ่าย

Published on October 3, 2023


Follow Us :

    

หากใบตราส่งสินค้าไม่ระบุจำนวนเงินค่าระวางขนส่ง ผู้นำเข้ายังคงต้องจ่ายหรือไม่ ?

ค่าระวางขนส่ง (Freight) เป็นสิ่งที่สามารถเลือกจ่ายได้ทั้งที่ท่าเรือต้นทาง หรือปลายทาง
ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกทราบเงื่อนไขข้างต้นดี หากผู้นำเข้าซื้อสินค้าเงื่อนไข CFR (Cost and Freight) ผู้ขายจะจ่ายค่าระวางขนส่งให้ ณ ท่าเรือต้นทาง ผู้นำเข้าไม่ต้องจ่าย แต่หากซื้อในเงื่อนไข FOB (Free On Board) ผู้นำเข้าจะเป็นผู้จ่ายค่าระวางขนส่งเอง ณ ท่าเรือปลายทาง
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ผู้นำเข้าซื้อสินค้าในเงื่อนไข CFR ค่าระวางขนส่งจ่ายแล้วที่ต้นทาง
แต่เมื่อเรือเทียบท่าปลายทางกลับถูกตัวแทนสายการเดินเรือ (Shipping Agent) หรือผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) หรือผู้ขนส่งอื่นเรียกเก็บค่าระวางซ้ำอีก
เมื่อตรวจสอบก็พบผู้ขายลืม คิดว่าขายสินค้าในราคา FOB จึงไม่ได้จ่ายค่าระวางขนส่งที่ต้นทางก็มี หรือผู้ขนส่งสั่งให้ตัวแทนที่ปลายทางเรียกเก็บค่าระวางซ้ำอย่างผิดพลาดก็มี ฯลฯ
ข้อผิดพลาดทำให้ผู้นำเข้าเสียเวลา บางกรณีอาจต้องจ่ายระวางไปก่อน ขอคืนภายหลัง ได้คืน หรือไม่ได้ก็มี ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า ใบตราส่งสินค้า หรือ B/L (Bill of Lading) บางฉบับไม่ระบุให้ชัดว่าค่าระวางขนส่งจ่ายแล้ว (Freight Prepaid) หรือให้เรียกเก็บปลายทาง (Freight Collect) และไม่ระบุจำนวนเงินที่จะเรียกเก็บให้ผู้นำเข้าทราบล่วงหน้าอีกด้วย
ผู้นำเข้าเจอเรื่องแบบนี้ก็ต้องเหนื่อย ต้องวุ่นวาย แต่ใน พรบ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 18 (6) และ มาตรา 22 ได้กำหนดถ้อยคำไว้ชัดเจนแล้ว
มาตรา 18 (6) ใบตราส่งสินค้า หรือ B/L ต้องแสดง “ค่าระวางเท่าที่ผู้รับตราส่งจะต้องจ่าย หรือข้อความแสดงว่าผู้รับตราส่งเป็นผู้จ่ายค่าระวางและค่าเรือเสียเวลาในการบรรทุกของลงเรือ ณ ต้นทาง”
มาตรา 22 “ใบตราส่งใดไม่มีข้อความตามมาตรา 18 (6) ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับตราส่งไม่ต้องจ่ายค่าระวางและค่าเรือเสียเวลาในการบรรทุกของลงเรือ ณ ท่าต้นทาง แต่ถ้าใบตราส่งนั้นได้โอนไปยังผู้รับตราส่งหรือบุคคลภายนอกซึ่งได้กระทำการโดยสุจริตโดยเชื่อใบตราส่งนั้น ห้ามมิให้ผู้ขนส่งพิสูจน์เป็นอย่างอื่น”
“ผู้รับตราส่ง” ตามความหมายในมาตรา 3 วรรค 4 หมายถึง ผู้รับของ หรือผู้นำเข้า
กฎหมายเข้าใจยาก แต่สรุปได้ว่า ค่าระวางขนส่งที่เรียกเก็บปลายทาง (Freight Collect) หากในใบตราส่ง (B/L) ไม่แสดงจำนวนเงินและรายจ่ายอื่น ผู้นำเข้าไม่ต้องจ่าย

แม้กฎหมายกำหนด แต่ผู้ขนส่งจำนวนมากไม่ทราบ ไม่ระบุจำนวนเงินค่าระวางขนส่งที่จะเรียกเก็บ หรือแจ้งจำนวนเงินก่อนเรือเทียบท่าไม่กี่วันทำให้ผู้นำเข้าตกอยู่ในภาวะจำยอม
แต่จากข้อเท็จจริง สินค้าที่ซื้อขายระหว่างประเทศไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีการขนส่ง และไม่ว่าอย่างไรค่าระวางขนส่ง (Freight) ก็ต้องจ่ายโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
หากผู้ขายจ่าย ผู้ขายก็ต้องนำมาบวกในราคาสินค้า ทำให้ราคา FOB กลายเป็น CFR และเรียกเก็บจากผู้นำเข้า บางกรณีผู้ขายอาจบวกเพียงเท่าค่าระวางขนส่งที่จ่าย และบางกรณีอาจบวกเพิ่มค่าความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น อัตราแลกเปลี่ยน ค่าบริหารจัดการระวางสินค้า และอื่น ๆ
ในที่สุด ผู้นำเข้าก็ต้องเป็นผู้จ่ายค่าระวางขนส่งไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
จากข้อเท็จจริงนี้ หากผู้นำเข้าเปลี่ยนมาซื้อสินค้าในราคา FOB และนำเรื่องระวางขนส่งมาจัดการที่ประเทศไทยเอง ประสานงานกับตัวแทนขนส่งเอง ผู้นำเข้าจะได้ประโยชน์ ดังนี้
1. ได้เลือกเรือบรรจุสินค้าที่เห็นว่าดี เลือกตารางเรือให้เดินทางและเทียบท่าในเวลาที่ต้องการ เลือกท่าเรือที่จะนำเข้าที่มีหลายแห่ง และเลือกเครื่องมือขนย้ายที่ท่าเรือให้เหมาะสมกับสินค้า
2. ได้เลือกศุลกากรที่คุ้นเคย และเข้าใจลักษณะสินค้าที่ประจำ ณ ท่าเรือนำเข้า
3. ได้ต่อรองค่าระวางขนส่ง ค่าเรือเสียเวลา ค่าใช้จ่ายอื่นที่ต้องจ่ายปลายทางก่อนการขนส่ง
4. ได้ลดความวุ่นวายกรณีค่าระวางขนส่งต้องจ่าย หรือไม่ต้องจ่าย ณ ท่าเรือปลายทางเพราะผู้นำเข้ารู้ล่วงหน้าว่า ตนเองเป็นผู้จัดระวางขนเองเอง จ่ายเอง และต้องจ่ายจำนวนเท่าไร
ไม่ว่ากฎหมายจะระบุค่าระวางขนส่งอย่างไร สุดท้ายผู้นำเข้าก็ต้องจ่ายอยู่ดี
ดังนั้น ผู้นำเข้าจึงควรใช้ทุก ๆ โอกาสสร้างประสบการณ์ ฝึกฝนการจัดการระวางขนส่งโดยการซื้อสินค้าในราคา FOB เว้นแต่จะเห็นโดยชัดเจนว่า การซื้อสินค้าในราคา CFR และมอบสิทธิ์การจัดการระวางขนส่งให้ผู้ขายจะให้ประโยชน์ต่อผู้นำเข้ามากกว่าเท่านั้น.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
👉 Home and Health … https://www.inno-home.com
👉 Art and Design …… https://www.cose.life

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : October 3, 2023

Dr. Sitthichai Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

อาร์เจนตินาเตรียมเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ในปี 2567

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 อาร์เจนตินาจะเข้าร่วมกลุ่ม BRICS อย่างเป็นทางการพร้อมกับอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ เอธิโอเปีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเป็นการตัดสินใจของกลุ่มระเบียบภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจซึ่งส่งผลต่อนโยบายต่างประเทศของอาร์เจนตินา

BRICS เป็นสมาคมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่ก่อตั้งโดยพันธมิตรหลัก ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ โดยกลุ่มเศรษฐกิจการค้านี้เป็นการรวมตัวกันของ 5 ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ซึ่งมีแนวโน้มดีที่สุดในโลกในช่วงปี 2543 กลุ่ม BRICS มีจำนวนประชากร ร้อยละ 42  ของโลก หรือคิดเป็น ร้อยละ 31.6 ของ GDP จากทั่วโลก (ซึ่งเกิน ร้อยละ 29.9 จากกลุ่มเศรษฐกิจ G7 แล้ว) และผลิตธัญพืชมากกว่า 1 ใน 3 ของโลก มีอัตราการการค้าระหว่างประเทศ ร้อยละ 18

บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อประเทศไทย
อาร์เจนตินานำเข้าสินค้าโดยมีมูลค่ารวมกว่า 44,676 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566 (มกราคม-กรกฎาคม) ซึ่งนำเข้าจากประเทศผู้จำหน่ายหลัก 5 รายได้แก่ : บราซิล ร้อยละ 25.1 จีน ร้อยละ 17.8 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 12.3 ปารากวัย ร้อยละ 5.6 และเยอรมนี ร้อยละ 3.7 ประเทศไทยมีความเกี่ยวข้องกับบรรดาผู้จำหน่ายของอาร์เจนตินา โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 7 ในรายชื่อประเทศ และครองอันดับที่ 2 ในกลุ่มประเทศในเอเชียรองจากจีน ประเทศไทยคิดเป็น ร้อยละ 2.3 จากการนำเข้าทั้งหมดของอาร์เจนตินา โดยมีมูลค่ากว่า 1,017 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566 ในส่วนของกลุ่มประเทศ BRICS นั้น บราซิลและจีนยังคงเป็นผู้จำหน่ายหลักของอาร์เจนตินา ส่วนอินเดียมีความสำคัญเป็นอันดับที่ 9 ในรายชื่อประเทศ

สินค้าหลัก 5 รายการที่อาร์เจนตินานำเข้าจากไทยในปี 2566 ได้แก่

1) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ ร้อยละ 22.4
2) เครื่องยนต์ดีเซลและชิ้นส่วน ร้อยละ 18
3) ยางและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ร้อยละ 4.8
4) เหล็กและเหล็กกล้า ร้อยละ 4.5
5) พลาสติก ร้อยละ 3.3
สินค้าหลัก 5 รายการที่อาร์เจนตินาส่งออกมายังประเทศไทยในปี 2566 มีดังนี้:
1) อาหารทะเลแช่แข็ง ร้อยละ35.5
2) หนังสัตว์ ร้อยละ16.5
3) เครื่องในวัว ร้อยละ 6
4) วัตถุดิบจากวัว ร้อยละ 3.1

5) เภสัชกรรม ร้อยละ 2.5

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
ตามที่รัฐบาลได้ระบุ การที่อาร์เจนตินาจะเข้าร่วม BRICS ในปี 2567 ถือเป็นข่าวดีอย่างมาก เนื่องจากอาร์เจนตินาจะมีโอกาสมากขึ้นในการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิก จากเดิมที่บราซิลและจีนเป็นผู้จำหน่ายหลักให้แก่อาร์เจนตินาอยู่แล้ว อินเดียก็จะเข้ามาเป็น 1 ในผู้จำหน่ายหลัก และการที่รัสเซียและแอฟริกาใต้ยังเป็นส่วนหนึ่งของ BRICS ก็จะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ทางรัฐบาลยังกล่าวอีกว่า การเข้าร่วม BRICS นี้อาจนำมาซึ่งการลงทุนครั้งใหญ่ให้กับอาร์เจนตินา แม้ว่าผลลัพธ์ของอาร์เจนตินาในกลุ่ม BRICS ยังไม่มีความชัดเจน แต่ข่าวดีก็คือผู้ผลิตและสายการผลิตในอุตสาหกรรมต้องการนำเข้าและส่วนประกอบต่างๆ จากต่างประเทศ ดังนั้นการนำเข้าสินค้าขั้นกลางและชิ้นส่วนยังคงมีความสำคัญ และประเทศไทยจะยังคงเป็นผู้จำหน่ายหลักสำหรับสินค้าเหล่านี้

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.