CEO ARTICLE

IncoTerms 2020

Published on December 19, 2023


Follow Us :

    

ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจและจำ IncoTerms ได้ง่าย ๆ ?

ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และคนทำงานเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศย่อมต้องรู้และต้องเคยใช้ IncoTerms มาบ้าง บางคนรู้ เข้าใจ และแยกเงื่อนไขที่มีมากมายได้
แต่ส่วนใหญ่แม้จะรู้ จะเข้าใจ แต่จำยากจนบางครั้งสับสนและใช้ผิด
การค้าระหว่างประเทศ หากไม่มี “ทะเล” ก็ต้องมี “ขอบแผ่นดิน” ขวางกั้น ในอดีตมีความขัดแย้งเรื่องราคาสินค้าจะรวมค่าส่งมอบถึงสถานที่ (Place of Delivery) แห่งไหน
ปี ค.ศ. 1936 (พ.ศ. 2479) สภาหอการค้านานาชาติ หรือ ICC (International Chamber of Commerce) จึงกำหนดให้มีเงื่อนไขการส่งมอบ หรือ IncoTerms (International Commercial Term of Delivery) เพื่อให้ผู้ขายและผู้ซื้อตกลงกันว่าจะใช้สถานที่ส่งมอบแห่งใดให้เป็นสากล
แต่โลกและการค้ามีวิวัฒนาการตลอดเวลา IncoTerms จึงต้องมีการปรับปรุงทุก ๆ 10 ปี การปรับปรุงล่าสุดในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) IncoTerms มี 11 เงื่อนไข (Term)
วิธีจำง่าย ๆ ให้สังเกตอักษรนำหน้าเงื่อนไขที่แบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่ม E, F, C, และ D แต่ละกลุ่มสื่อ “ขอบแผ่นดิน” ที่กฎหมายแต่ละประเทศกำหนดให้เป็นสถานที่ส่งมอบ (ผู้เขียน)
กลุ่มสถานที่ส่งมอบอยู่ “ในแผ่นดิน” ประเทศผู้ขาย เงื่อนไขขึ้นด้วยอักษร E
กลุ่มสถานที่ส่งมอบอยู่ “ขอบแผ่นดิน” ประเทศผู้ขาย เงื่อนไขขึ้นด้วยอักษร F
กลุ่มสถานที่ส่งมอบอยู่ “ขอบแผ่นดิน” ประเทศผู้ซื้อ เงื่อนไขขึ้นด้วยอักษร C
กลุ่มสถานที่ส่งมอบอยู่ “ในแผ่นดิน” ประเทศผู้ซื้อ เงื่อนไขขึ้นด้วยอักษร D

การกำหนด “ขอบแผ่นดิน” ให้เงื่อนไข 4 กลุ่มที่นำด้วย 4 อักษรทำให้จำและเข้าใจง่ายขึ้น
1. กลุ่ม E สถานที่ส่งมอบอยู่ “ในแผ่นดิน” ประเทศผู้ขาย
กลุ่ม E มีเพียง 1 เงื่อนไขคือ EXW (Ex-Works)
EXW หมายถึง ราคาสินค้าไม่มีค่าส่งมอบโดยผู้ขายส่งมอบ ณ สถานที่ของผู้ขาย (Seller’s Place) เช่น หน้าโรงงาน หน้าร้าน หน้าคลังสินค้าที่อยู่ “ในแผ่นดิน” ผู้ขาย
ผู้ซื้อมีหน้าที่มารับสินค้าหน้าที่ทำการผู้ขาย และจ่ายค่าขนส่งเองทั้งหมด
2. กลุ่ม F สถานที่ส่งมอบอยู่ “ขอบแผ่นดิน” ประเทศผู้ขาย
กลุ่ม F มี 3 เงื่อนไขคือ FCA, FAS, และ FOB
คำว่า “ขอบแผ่นดิน” คือสถานที่ที่กฎหมายแต่ละประเทศกำหนดให้เป็น “ขอบแผ่นดิน” ที่เตรียมพร้อมเดินทางเพื่อการส่งออก เช่น สนามบิน ท่าเรือ ท่าขนส่งที่มีศุลกากรประจำการ ผู้ขายนำสินค้ามาส่งมอบ ณ สถานที่ที่เป็น “ขอบแผ่นดิน” ประเทศผู้ขาย จากนั้นผู้ซื้อรับช่วงขนส่งต่อ
FCA (Free Carrier) หมายถึง ส่งมอบ ณ ที่ทำการของผู้ขนส่ง (Carrier’s Place)
FAS (Free Alongside Ship) หมายถึง ส่งมอบ ณ ข้างเรือเดินทะเลเพื่อเตรียมนำขึ้นเรือ
FOB (Free On Board) หมายถึง ส่งมอบ ณ บนดาดฟ้าเรือที่เตรียมการส่งออก
คำว่า “Free” หมายถึง ฟรีค่าใช้จ่ายให้ผู้ซื้อจนสินค้าถึง “ขอบแผ่นดิน” ประเทศผู้ขาย
3. กลุ่ม C สถานที่ส่งมอบอยู่ “ขอบแผ่นดิน” ประเทศผู้ซื้อ
กลุ่ม C มี 4 เงื่อนไข คือ CFR, CIF, CPT, และ CIP ที่กฎหมายกำหนดให้เป็น “ขอบแผ่นดิน” ในประเทศผู้ซื้อเพื่อเตรียมการนำเข้า ตัวอย่างท่านำเข้าเช่นเดียวกับกลุ่ม F
CFR (Cost and Freight) หมายถึง ส่งมอบ ณ ท่าเรือนำเข้า (Port of Arrival)
CIF (Cost, Insurance, and Freight) เหมือน CFR แต่รวมค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้ขายจ่าย
CPT (Carriage Paid To) หมายถึง ส่งมอบ ณ “ขอบแผ่นดิน” ประเทศผู้ซื้อเช่นเดียวกับ CFR แต่ CPT แยกใช้กับการขนส่งทุกประเภท ยกเว้นทางเรือ ส่วน CFR ใช้เฉพาะทางเรือเท่านั้น
CIP (Carriage, Insurance, and Freight) เหมือน CPT แต่รวมค่าเบี้ยประกันภัย
IncoTerms 2020 มีเจตนาแยก “การขนส่งทางเรือ” ออกให้แตกต่าง ชัดเจน ป้องกันความเข้าใจผิดโดยให้ใช้คำว่า “Freight” เฉพาะทางเรือเท่านั้น ส่วน “การขนส่งทางอื่น” เช่น เครื่องบิน รถไฟ รถบรรทุก และอื่น ๆ ที่จะมีในอนาคตให้ใช้คำว่า “Carriage”
4. กลุ่ม D สถานที่ส่งมอบอยู่ “ในแผ่นดิน” ประเทศผู้ซื้อ
กลุ่ม D มี 3 เงื่อนไข คือ DAP, DAT, และ DDP
DAP (Delivered At Place) หมายถึง ส่งมอบ ณ สถานที่ “ในแผ่นดิน” ที่ผู้ซื้อกำหนด
DAT (Delivered At Terminal) เหมือน DAP แต่เปลี่ยนจากสถานที่ (Place) มาเป็นสถานีขนถ่ายสินค้า (Terminal) ที่อยู่ “ในแผ่นดิน” ประเทศผู้ซื้อ และให้ความแน่นอนกว่า DAP
DDP (Delivered Duty Paid) หมายถึง ส่งมอบ ณ สถานที่ผู้ซื้อ (Buyer’s Place) ซึ่งผู้ขายต้องจ่ายค่าใช้จ่ายทุกอย่าง เช่น ค่าระวางขนส่ง (Freight) หรือค่าขนส่ง (Carriage) ค่าเบี้ยประกันภัย และค่าภาษีเพื่อการนำเข้าในประเทศผู้ซื้อ หรือที่เรียกว่า Door to Door
คำว่า “Delivered” หมายถึง การส่งมอบถึงสถานที่ที่ถูกกำหนดโดยผู้ซื้อ
เงื่อนไข DAP และ DAT ยังใช้กับการส่งมอบที่ต้องผ่านประเทศที่ 3 ที่การขนส่งต่อเดียวไปไม่ถึง ต้องใช้การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ตัวอย่างเช่น ขนส่งทางเรือไปประเทศที่ 3 จากนั้นผู้ซื้อขนส่งต่อผ่านทางรถไฟไปยังสถานที่ผู้ซื้อ (Buyer’s Place) เป็นต้น
คำว่า Door to Door ไม่มีความชัดเจนว่า ผู้ขายต้องรับผิดชอบค่าภาษีนำเข้า หรือผู้ซื้อ
ในอดีตจึงแยกเป็น DDU (Delivered Duty Unpaid) ที่ไม่รวมภาษี และ DDP (Delivered Duty Paid) ที่รวมภาษีเพื่อความชัดเจน
แต่พอถึงปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) โลกเข้าสู่ FTA (Free Trade Area) มากขึ้น ภาษีนำเข้าค่อย ๆ ลดบทบาทลง ปีนั้น Incoterms 2010 จึงยกเลิก DDU ให้เหลือแต่ DDP ที่ต้องรวมภาษีนำเข้าด้วย แต่ก็ยังมีผู้ซื้อและผู้ขายนำ DDU ที่ไม่รวมภาษีมาตกลงใช้เป็นการส่วนตัว
การแบ่ง IncoTerms 2020 โดยใช้ “ขอบแผ่นดิน” ออกเป็น 4 กลุ่ม มี 4 ตัวอักษรจึงทำให้เข้าใจและจำได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และผู้ขนส่งแต่ละคนจะใช้วิธีการสร้างความเข้าใจและจดจำอย่างไร.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
👉 Home and Health … https://www.inno-home.com
👉 Art and Design …… https://www.cose.life

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : December 19, 2023

Dr. Sitthichai Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์กำหนดเวลานำเข้าข้าวลดลงเหลือ 30 วัน

กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ (DA) เปิดเผยว่า นาย Francisco Tiu Laurel Jr. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ ได้ลงนามคำสั่ง Memorandum Circular (MC) 53 เนื่องจากตระหนักถึงความจำเป็นในการรับประกันอุปทานและปริมาณสต็อกข้าวที่เพียงพอ และเพื่อให้มั่นใจถึงความพร้อมในการเข้าถึง การเข้าถึง และความสามารถในการซื้อข้าวที่ปลอดภัย โดยได้แก้ไขคำสั่ง Memorandum Circular (MC) 43 กำหนดให้สินค้าข้าวต้องถูกส่งออก 30 วัน นับจากวันที่ออกใบรับรองการนำเข้าสุขอนามัยและ สุขอนามัยพืช (SPSICs) โดยไม่คำนึงถึงประเทศต้นทาง จากเดิมกำหนดให้ระยะเวลาการนำเข้าข้าวจากในอาเซียน (ยกเว้นเมียนมา) ต้องเดินทางมาถึงฟิลิปปินส์ภายใน 60 วัน และภายใน 90 วัน สำหรับข้าวที่นำเข้าจากประเทศเมียนมาและประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ การนำเข้ายังคงอยู่ภายใต้ขั้นตอนการกักกันพืช ณ ด่านขาเข้าเมื่อสินค้าเดินทางมาถึงท่าเรือในฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ในคำสั่งดังกล่าวยังระบุให้ผู้นำเข้าต้องใช้ใบอนุญาต SPSICs อย่างเต็มที่ หากมีการใช้ SPSICs ในระดับต่ำหรือไม่มีเลยอาจส่งผลให้เกิดการลงโทษและบทลงโทษตามหลักเกณฑ์ เนื่องจากทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการคาดการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความพร้อมในการจัดหาข้าว

กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ยังคาดการณ์ว่า การนำเข้าข้าวจะอยู่ภายใต้การคาดการณ์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ปริมาณ 3.8 ล้านตัน และเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดีย ได้จัดสรรโควตาการส่งออกข้าวปริมาณ 295,000 ตัน สำหรับข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติให้กับฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ยังได้แจ้งกับคณะกรรมการสภาผู้แทนราษฎร ก่อนหน้านี้ว่าได้สั่งการให้ผู้ค้าใช้ใบอนุญาตนำเข้าข้าวเพิ่มเติมอีก 1 ล้านตันภายใน 30 วันเช่นกัน เพื่อรองรับอุปทาน โดยข้อมูลของสำนักงานอุตสาหกรรมพืช (BPI) ระบุว่า ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ปริมาณนำเข้าข้าวอยู่ที่ 2.93 ล้านตัน และ ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ระบุว่า ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2566 มีปริมาณสต๊อกข้าวอยู่ที่ 2.04 ล้านตัน ขณะที่กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ได้ประมาณการปริมาณการเก็บเกี่ยวข้าวในปีนี้ที่ 20 ล้านตันซึ่งจะเกินกว่า 19.76 ล้านตันที่ประกาศไว้ในปี 2565
ที่มา: หนังสือพิมพ์ Business World ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม 2566

บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา
การออกคำสั่งของกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์เกี่ยวกับการปรับแก้ช่วงระยะเวลาการนำเข้าข้าวหลังได้รับใบอนุญาต SPSIC ใหม่ลงเหลือ 30 วัน คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ค้า/ผู้นำเข้าข้าวมีการนำเข้าข้าวเร็วขึ้นเพื่อช่วยเสริมอุปทานและปริมาณสต็อกข้าวในประเทศ ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มเสี่ยงที่สุดในเอเชียเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารและราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักพื้นฐานของประเทศที่มีความท้าทายหลายประการในด้านอุปทานข้าวในประเทศทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด พายุไต้ฝุ่น ที่ส่งผลต่อความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร รวมถึงความกังวลต่อผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่อาจทำให้ผลผลิตข้าวในประเทศลดลง ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานการณ์ราคาข้าวในประเทศฟิลิปปินส์ ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งหามาตรการต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีอุปทานและสต็อกข้าวที่เพียงพอในการรับมือกับสถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าว โดยการนำเข้าข้าวถือเป็นหนึ่งในแหล่งอุปทานสำคัญในการช่วยเสริมอุปทานข้าวในประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันฟิลิปปินส์ถือเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของโลกจำเป็นต้องนำเข้าข้าวมากว่า 3 ล้านตันต่อปี โดยไทยเป็นหนึ่งในแหล่ง นำเข้าข้าวสำคัญของฟิลิปปินส์รองจากประเทศเวียดนาม โดยในปี 2565 ไทยส่งออกข้าวมายังฟิลิปปินส์ปริมาณ 185,714 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีปริมาณส่งออก 146,239 ตัน และในปี 2566 (เดือนมกราคม – ตุลาคม)ไทยส่งออกข้าวมายังฟิลิปปินส์ 138,988 ตัน ลดลงร้อยละ 7.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณส่งออก 150,474 ตัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าฟิลิปปินส์จะมีแนวโน้มความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้าเพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศและเร่งสำรองข้าวไว้ใช้ในช่วงปลายปีและต้นปีหน้า ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับข้าวไทยที่จะขยายการส่งออกมายังตลาดฟิลิปปินส์ ซึ่งข้าวไทยยังคงมีข้อได้เปรียบสำคัญในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานที่เป็นที่เชื่อมั่นใจของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ และราคาข้าวไทยปัจจุบันอยู่ในระดับใกล้เคียงกับคู่แข่ง แต่ข้าวยังคงต้องแข่งขันกับประเทศคู่แข่งสำคัญคือ เวียดนามที่ครองส่วนแบ่งตลาดข้าวอันดับ 1 ในฟิลิปปินส์ที่มีพันธุ์ข้าวขาวพื้นนุ่มตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาและผลิตพันธุ์ข้าวให้มีความหลากหลาย โดยเฉพาะข้าวขาวพื้นนุ่มเพื่อตอบโจทย์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดฟิลิปปินส์จึงจะมีโอกาสในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวในฟิลิปปินส์ได้มากขึ้นต่อไป

ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/157218

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.